ไม่นานนี้ เพจเฟซบุ๊ค Beach for life โพสต์ภาพชายหาดชะอำในวันนี้เริ่มเปลี่ยนโฉมไปแล้ว! กลายเป็น “อ่างเก็บน้ำทะเล” หลังทำการก่อสร้าง “โครงการ ฟื้นฟูบูรณะเเละปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดชะอำ”
ชายหาดชะอำ จ.เพชรบุรี หาดไม่ไกลจากกรุงเทพ เเละเชื่อว่าหลายคนคงเคยเเวะมาพักผ่อนริมหาดเเห่งนี้ หาดชะอำในความคิดของหลายคน คงคิดว่าเป็นหาดทรายขาว กว้าง ลงเล่นน้ำทะเลได้อย่างสนุก ปลอดภัย
แต่ในวันนี้ชายหาดชะอำ เปลี่ยนไป กรมโยธาธิการได้ดำเนินการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น โดยมีโครงการ 3 ระยะ ความยาวรวม 3 กิโลเมตร เเบ่งเป็น
ระยะที่ 1 ความยาว 1,438 เมตร งบประมาณ 102.974 ล้านบาท
ระยะที่ 2 ความยาว 1,219 เมตร งบประมาณ 74.963 ล้านบาท
ระยะที่ 3 ความยาว 318 เมตร งบประมาณ 48.5 ล้านบาท
เเละในอนาคต ชายหาดถัดไปด้านทิศใต้ ที่กำลังจะมีโครงการ ฟื้นฟูบูรณะเเละปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดชะอำ ความยาว 1,438 เมตร ภายใต้งบประมาณของกรมโยธาธิการและผังเมืองรวมทั้งสิ้นกว่า 102.924 ล้านบาท
โครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นหาดชะอำ ได้เปลี่ยนเเปลงสภาพชายหาดชะอำไปอย่างถาวร หาดทรายหน้ากำเเพงกันคลื่นหายไป มีชายหาดเฉพาะช่วงน้ำลง ชายหาดหน้ากำเเพงกันคลื่นลึกขึ้น เนื่องจากคลื่นปะทะกำเเพงกันคลื่น เเล้วตะกรุยทรายออกไป
บริเวณกำเเพงกันคลื่นในส่วนที่น้ำทะเลท่วมถึง มีสาหร่ายเเละตะไคร่น้ำเกาะจำนวนมาก ไม่สามารถลงเล่นน้ำ
ด้านท้ายของกำเเพงกันคลื่นเริ่มพบเห็นการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนเเรง ซึ่งคาดว่าอาจมีการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นไปเรื่อยๆ
หาดชะอำ จุดเด่นของหาดเเห่งนี้คือ เตียงผ้าใบที่วางตลอดเเนวชายหาด หากคุณนั่งอยู่บนเตียงผ้าใบ ใกล้สันเขื่อนในยามน้ำขึ้น คลื่นจะกระเซ็นเข้าหาคุณได้โดยง่าย
หากคุณไม่เคยมาเยี่ยมหาดชะอำเมื่อ 5-10 ปีที่เเล้ว ในวันนี้คงนึกสภาพหาดชะอำ ที่กว้างยาว ไม่ออกอีกเเล้ว เพราะสภาพชายหาดชะอำไม่ต่างอะไรกับ "อ่างเก็บน้ำทะเล"
เครดิตคลิป ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ
ด้าน ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติโพสต์คลิป พร้อมอธิบายว่า “กำแพงกันคลื่น” ยังคงเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายถกเถียงกัน ถึงผลดีและผลเสีย ยกตัวอย่างล่าสุดที่หาดชะอำ ซึ่งโซเชียลมีเดียมีการเผยแพร่ภาพของหาดชะอำด้านทิศใต้ ที่พบว่าเมื่อน้ำขึ้น หาดทรายจะหายไป และเมื่อน้ำลง จะเห็นได้ชัดเจนว่าบริเวณด้านหน้ากำแพงมีลักษณะคล้ายกับอ่างเก็บน้ำ ดูไม่หลงเหลือภาพจำของชายหาดอีกต่อไป
แม้จะมีคำยืนยันจากกรมโยธาธิการและผังเมืองว่า ก่อนก่อสร้าง ได้มีการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ทุกครั้ง และตัว"กำแพงกันคลื่น" มีประสิทธิภาพช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง แต่ ก็มีมุมมองจากนักวิชาการว่า"กำแพงกันคลื่น" เองยังมีจุดอ่อนในเรื่องของจุดสิ้นสุด หรือ End Effect อธิบายคือ การก่อสร้างโครงสร้างแข็งจะทำให้คลื่นที่มาปะทะกับกำแพงมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะจุดที่อยู่ด้านซ้ายและขวาของกำแพง ที่จะได้รับผลกระทบจากความรุนแรงของกระแสคลื่นที่หักเห มาปะทะ ส่วนนี้จึงถูกตั้งคำถามว่าการก่อสร้างดังกล่าวไม่ตอบโจทย์ รวมถึงอาจจะทำให้ต้องก่อสร้างไปอย่างไม่รู้จบ ที่สำคัญยังมองว่าแนวทางการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ยังมีวิธีการแก้ไขแบบชั่วคราวอื่น ๆ เช่น การเติมทราย, วางถุงทราย และการใช้ไม้ไผ่ปักชะลอคลื่น
อย่างไรก็ตาม มีความคาดหวังว่าในอนาคตเราอาจได้เห็นการทำงานร่วมกัน ของฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้าง"กำแพงกันคลื่น" เพื่อหาทางออกร่วมกัน และทำให้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งถูกแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือ การทำให้เกิดการออกแบบโครงสร้างของแต่ละโครงการให้ตอบโจทย์สภาพพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมที่สุด