xs
xsm
sm
md
lg

“พระธาตุช่อแฮ” พระธาตุปีขาล สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่เมืองแพร่ คนเกิดปีเสือไหว้จะได้อานิสงส์สูงล้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


พระธาตุช่อแฮ พระธาตุประจำคนเกิดปีขาล
ชวนไปไหว้ “พระธาตุช่อแฮ” สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองแพร่ และเป็นพระธาตุประจำคนเกิดปีขาล ซึ่งตามคติความเชื่อเรื่อง ไหว้ “พระธาตุประจำปีเกิด” ของล้านนาโบราณ เชื่อว่าคนที่เกิดปีขาลเมื่อมาไหว้พระธาตุช่อแฮ จะได้รับอานิสงส์ผลบุญที่สูงล้น

ปีเก่า (64) ปีฉลูจากไป ปีใหม่ (65) ปีขาลมาแทน

สำหรับชาวล้านนาโบราณ มีคติความเชื่อในเรื่อง “พระธาตุประจำปีเกิด” โดยเชื่อว่าก่อนที่วิญญาณจะมาปฏิสนธิในครรภ์ของผู้เป็นมารดา วิญญาณจะลงมา “ชุธาตุ” ซึ่งหมายถึงการที่ดวงวิญญาณจะลงมาพักอยู่ที่เจดีย์แห่งใดแห่งหนึ่ง โดยมี ตั๋วเปิ้ง (สัตว์ประจำนักษัตร) พามาพักไว้ ครั้นเมื่อได้เวลา ดวงวิญญาณก็จะเคลื่อนจากพระเจดีย์ ไปสถิตอยู่บนกระหม่อมของผู้เป็นบิดาเป็นเวลา 7 วัน ก่อนที่จะเคลื่อนเข้าสู่ครรภ์ของมารดา และเมื่อเสียชีวิตลงแล้ว ดวงวิญญาณก็จะกลับไปพักอยู่ที่เจดีย์นั้น ๆ ตามเดิม

ด้วยเหตุนี้ชาวล้านนาโบราณจึงมีความเชื่อว่า การได้มีโอกาสไปกราบไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตนอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต จะเป็นการเสริมสิริมงคลครั้งใหญ่ ได้รับอานิสงส์ผลบุญสูงล้น อีกทั้งเชื่อว่าเมื่อตายไป ดวงวิญญาณจะได้กลับไปยังพระธาตุองค์นั้น ไม่ต้องเร่ร่อนไปในทุคติภพ

พระธาตุช่อแฮสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองแพร่
ปัจจุบันความเชื่อเรื่องไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของชาวล้านนา ยังคงได้รับการสืบต่อกันมาของผู้มีจิตศรัทธาทั่วไทย อีกทั้งยังมีการต่อยอดเป็นกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาหรือทั่วธรรมะ ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในบ้านเรา

สำหรับในปีนี้ 2565 เป็นปีนักษัตร “ปีขาล” หรือ “ปีเสือ” (ตามคติดั้งเดิมจะถือเอาวันปีใหม่ไทยในช่วงสงกรานต์ ส่วนตามความเชื่อปัจจุบันก็จะนับวันปีใหม่ตามแบบสากล) ตามความเชื่อของชาวล้านนา ผู้ที่เกิดในปีนักษัตรนี้จะต้องไปกราบไหว้บูชา “พระธาตุช่อแฮ” ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายใน “วัดพระธาตุช่อแฮ” ต.ช่อแฮ อ.เมือง จ.แพร่

พระธาตุช่อแฮ เป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองบุด้วยทองดอกบวบ องค์พระธาตุสูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร เป็นศิลปะแบบเชียงแสน ภายในเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระเกศาธาตุ และพระศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า

เชื่อกันว่าคนเกิดปีขาลหากได้สักการะพระธาตุช่อแฮ จะได้อานิสงส์ผลบุญสูงล้น
พระธาตุช่อแฮ เป็นโบราณสถานอายุเก่าแก่กว่าพันปี ที่อยู่คู่เมืองแพร่มาช้านาน สำหรับตำนานความเป็นมาของพระธาตุแห่งนี้ มีอยู่ 2 ตำนานหลักด้วยกัน ได้แก่

-ตำนานพระธาตุช่อแฮในพระราชพงศาวดารว่าด้วยกรุงสุโขทัย ระบุว่า วัดพระธาตุช่อแฮว่า สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1879-1881 โดย “ขุนลัวะอ้ายก้อม” ได้สร้างเจดีย์ขึ้นที่ “ดอยโกสิยธชัคบรรพต” (สถานที่ตั้งพระธาตุช่อแฮ) และได้นำพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับพระราชทานจาก “พระมหาธรรมราชา (ลิไท)” (เมื่อครั้งเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย) มาบรรจุไว้ใต้ฐานเจดีย์แห่งนี้ ซึ่งก็คือพระธาตุช่อแฮในปัจจุบัน

-ตำนานพระธาตุช่อแฮในตำนานพระเจ้าเลียบโลก ระบุว่า ในอดีตเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จมาที่เมืองพล (เมืองแพร่) ได้ประทับที่ “ดอยโกสิยธชัคคะบรรต” หัวหน้าชาวลัวะคือ “ขุนลัวะอ้ายก้อม” ได้มากราบไหว้ พระพุทธองค์ได้แสดงปาฏิหาริย์ และได้ประทานพระบรมสารีริกธาตุ (พระเกศาธาตุ) เป็นที่ระลึก พร้อมทั้งรับสั่งว่าหลังพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพานไปแล้ว ให้นำพระบรมสารีริกธาตุพระข้อศอกข้างซ้าย มาบรรจุไว้ ณ สถานที่นี้ ที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพระธาตุช่อแฮ

มาแอ่วแพร่ต้องไม่พลาดการไปสักการะพระธาตุช่อแฮ
สำหรับชื่อพระธาตุ “ช่อแฮ” สันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจาก “ช่อแพร” โดยคำว่า “แพร” ก็คือผ้าแพร ซึ่งเชื่อว่ามาจากชื่อของสถานที่ตั้งองค์พระธาตุคือ “ดอยโกสิยธชัคบรรพต” ที่หมายถึงดอยแห่งผ้าแพรอันงดงาม

ส่วนชื่อจังหวัดแพร่ หลายข้อมูลระบุว่ามาจาก “เมืองแพล” ที่น่าจะมาจากศรัทธาของชาวเมืองที่มีต่อพระธาตุช่อแพร หรือพระธาตุช่อแฮแห่งนี้ (เมืองแพล (ในอดีตคือเมืองพล หรือนครพล หรือพลรัฐนคร ซึ่งเป็นชื่อเก่าแก่ที่สุดของจังหวัดแพร่)

ด้วยเหตุนี้หลาย ๆ คนที่มาไหว้พระธาตุช่อแฮ จึงนิยมนำผ้าแพรเนื้อดีไปถวาย ด้วยเชื่อว่าจะทำให้มีชีวิตผาสุก มีความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน และมีพลังคุ้มครองป้องกันศัตรูได้

สักการะหลวงพ่อช่อแฮ พระประธานในพระอุโบสถ
ทุก ๆ ปี (หากสถานการณ์เป็นปกติ) ทางจังหวัดแพร่จะมีการจัดประเพณี “ไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง” ขึ้นในช่วง วันขึ้น 9 ค่ำ ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ใต้ เดือน 6 เหนือ (ราวปลาย ก.พ.-ต้น มี.ค.) ซึ่งถือเป็นประเพณีที่ทำสืบต่อกันมายาวนานจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็นงานประเพณีประจำปีของจังหวัดแพร่ในปัจจุบัน

ในช่วงประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ ฯ จะมีพุทธศาสนิกชนจากทุกสารทิศจะเดินทางมานมัสการพระธาตุช่อแฮเป็นจำนวนมาก ด้วยความเชื่อที่ว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว พระบรมสารีริกธาตุจะแสดงปาฏิหาริย์แผ่บารมีที่เป็นสิริมงคลยิ่งแก่ผู้มาสักการะพระธาตุช่อแฮ

หลวงพ่อช่อแฮ
นอกจากองค์พระธาตุช่อแฮแล้ว วัดพระธาตุช่อแฮยังมีสิ่งน่าสนใจอื่น ๆ อีก อาทิ

-“หลวงพ่อช่อแฮ” หรือ “พระเจ้าช่อแฮ” องค์พระประธานเก่าแก่อายุหลายร้อยปีในพระอุโบสถ สร้างด้วยศิลปะล้านนา เชียงแสน สุโขทัย (สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นหลังจากสร้างองค์พระธาตุช่อแฮแล้ว)

-หลวงพ่อทันใจ หรือพระเจ้าทันใจ (พระเจ้าตันใจ๋) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัดที่คนนิยมมาสักการะบูชา และเป็นหนึ่งในหลวงพ่อทันใจชื่อดังของเมืองไทย ด้วยเชื่อว่าถ้าใครมาขอพรก็จะได้สมดังปรารถนา

พระพุทธโลกนารถบพิตร
-“พระพุทธโลกนารถบพิตร” เป็นพระพุทธรูปปางพระนาคปรก ประดิษฐานอยู่ในวิหารศิลปะลานนาประยุกต์ ภายในมีภาพจิตกรรมฝาผนังอย่างสวยงาม

นอกจากนี้ก็ยังมี พระเจ้าไม้สัก, พระเจ้านอน, ธรรมมาสน์โบราณ, กู่อัฐิครูบาศรีวิชัย, เจ้ากุมภัณฑ์, แผ่นศิลาจารึก, สวนรุกขชาติช่อแฮ, บันไดนาคโบราณ ที่อยู่บริเวณทางขึ้นทั้ง 4 ด้าน

ส่วนใครที่เป็นผู้พิการ หรือผู้สูงอายุที่เดินเหินไม่สะดวก วัดแห่งนี้ก็มีลิฟต์ไว้บริการให้ขึ้นไปไหว้พระทำบุญกัน รวมถึงมี “ไม้เสี่ยงทาย” (อยู่หลังซุ้มหลวงพ่อทันใจ) ให้ลองเสี่ยงทายทำนายโชค ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์สีสันของวัดแห่งนี้

ปิดทององค์หลวงพ่อทันใจ
สำหรับพระธาตุช่อแฮ นอกจากจะเป็นพระธาตุประจำคนเกิดปีขาลหรือปีเสือแล้ว ยังเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองแพร่ โดยปรากฏอยู่คำขวัญประจำจังหวัดแพร่ ความว่า “หม้อห้อมไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมือง ลือเลื่องแพะเมืองผี คนแพร่นี้ใจงาม”ซึ่งว่ากันว่าถ้ามาจังหวัดแพร่แล้ว ไม่ได้สักการะพระธาตุช่อแฮก็เหมือนกับว่ายังมาไม่ถึงเมืองแพร่โดยสมบูรณ์

ทางเดินขึ้นผ่านบันไดนาคไปไหว้พระธาตุช่อแฮ (ด้านขวาเป็นลิฟต์)

รูปเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์บริเวณลานพระธาตุ

ระฆังตีเสริมมงคลที่ลานนอกโบสถ์


กำลังโหลดความคิดเห็น