การรถไฟออกคลิปชี้แจง นำรถไฟมือสองญี่ปุ่นมาวิ่งในไทยทำไม? หลังเกิดดราม่าหนัก งานนี้ชาวเน็ตเห็นต่างมีทั้งที่ชื่นชอบอยากนั่งเร็ว ๆ พวกที่ติชมโดยสุจริตต้องการให้ปรับปรุงดีขึ้น และพวกที่ด้อยค่าด่าด้วยอคติ
กรณี “การรถไฟแห่งประเทศไทย “ นำรถไฟมือสองของญี่ปุ่นที่บริจาคให้ฟรี มาปรับปรุงเพื่อวิ่งในประเทศไทย ได้แก่ ขบวนรถไฟดีเซลราง KIHA 183 จำนวน 17 คัน ที่ได้รับมอบจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR HOKKAIDO) ซึ่งล่าสุดขบวนรถทั้งหมดได้เดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.64 ที่ผ่านมา
สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ การรถไฟฯ จะนำรถไฟทั้งหมดไปซ่อมแซม ดัดแปลง ปรับปรุง และตกแต่งใหม่เพื่อนำมาวิ่งในประเทศไทย โดยเบื้องต้น การรถไฟฯ จะทดลองเปิดบริการเป็นขบวนรถในเส้นทางระยะสั้น ขบวนรถพิเศษพินิจงาน และขบวนพิเศษสำหรับการท่องเที่ยวในเส้นทางต่าง ๆ ซึ่งได้กำหนดไว้ 4 เส้นทาง ได้แก่ 1.อุดรธานี - หนองคาย – เวียงจันทน์ 2.นครราชสีมา – ขอนแก่น 3.กรุงเทพ – หัวหิน – สวนสนประดิพัทธ์ 4. 4. ขบวนรถท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภาคกลางที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ
อย่างไรก็ดีหลังมีข่าวว่าจะมีการนำรถไฟมือสองของญี่ปุ่นมาวิ่งในประเทศไทย ก็ได้เกิดดราม่าของชาวเน็ตที่มีทั้งเห็นด้วย ชื่นชอบอยากนั่งเร็ว ๆ และพวกที่เห็นต่างติเพื่อก่อโดยสุจริต รวมถึงพวกเครื่องด่าที่ตั้งใจด้อยค่าด่าด้วยอคติ ได้แสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งล่าสุดที่มีการส่งมอบรถไฟมือสองของญี่ปุ่นมาถึงเมืองไทยแล้ว กระแสดราม่าก็ยิ่งเพิ่มดีกรีความเข้มข้นมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย จึงออกคลิปชี้แจง อธิบายถึงเหตุผลในการนำรถไฟมือสองของญี่ปุ่นมาวิ่งในเมืองไทย ในหัวเรื่อง “ขนมาทำไมรถไฟมือสองจากญี่ปุ่น?” โดยได้เผยแพร่ผ่านทางเพจ ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งมีเนื้อหาชี้แจงเป็นข้อ ๆ สรุปได้ดังต่อไปนี้
Q : ทำไมขนรถไฟมือสองอายุ 40 ปีมา
A : เพราะรถไฟที่ได้รับมาเป็นรถไฟ 40 ยังแจ๋ว ปลดระวางไปเมื่อปี 2559 แต่ยังได้รับการบำรุงรักษาด้วยมาตรฐานที่ดีของญี่ปุ่น สามารถนำมาปรับปรุงเพื่อใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Q : ให้ฟรีทำไมมีค่าใช้จ่าย
A : ค่าใช้จ่าย 42.5 ล้านบาท เป็นค่าขนย้าย รวมภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่ม การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ประกาศผลการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเลือกบริษัทดอยโกร โพรเจคประเทศไทยจำกัดเป็นผู้ดำเนินการ
Q : รถไฟญี่ปุ่นวิ่งในไทยได้อย่างไร
A : รถไฟญี่ปุ่นมีขนาดความกว้างของเพลาล้อ 1.067 เมตร ส่วนรางรถไฟไทยมีความกว้างเพียง 1 เมตร แม้ขนาดจะต่าง แต่ถือเป็นรางมาตรฐานเดียวกัน แค่นำมาปรับฐานล้อด้วยเครื่องอัดไฮโดรลิคก็สามารถใช้งานได้
ที่โรงงานมักกะสันฝ่ายการช่างกลมีความเชี่ยวชาญเรื่องวิศวกรรมเครื่องกลอยู่แล้ว โดยเฉพาะการปรับปรุงความกว้างของฐานเพลาล้อ สามารถปรับได้ 2-3 คันต่อวัน
ก่อนหน้านี้การรถไฟแห่งประเทศไทยเคยได้รับตู้โดยสารรถไฟจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศออสเตรเลียมาแล้วโดยนำมาปรับปรุงและดัดแปลงก่อนนำมาใช้งาน ซึ่งสามารถสร้างรายได้และส่งเสริมการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
Q : ความคุ้มค่าอยู่ที่ไหน
A : ที่ผ่านมาการรถไฟแห่งประเทศไทยเคยนำรถดีเซลรางและรถโดยสารปรับอากาศที่ได้รับจากต่างประเทศ มาปรับปรุงดัดแปลงเป็นรถจัดเฉพาะเพื่อใช้ในกิจการรถไฟ อาทิเช่น ตู้ SRT Prestige และ SRT VIP Train รถไฟชั้นเฟิร์สคลาส นอกจากนี้ยังให้บริการกับประชาชนทั่วไปในรูปแบบขบวนรถท่องเที่ยว เช่น รถไฟ OTOP Train อีกด้วย ถือเป็นขบวนรถไฟที่มีคนจองเช่าใช้บริการมากที่สุด
รถไฟเหล่านี้เปิดให้บริการมาถึงปัจจุบัน รวมเป็นระยะเวลากว่า 25 ปี โดยในปีงบประมาณ 2562 การรถไฟแห่งประเทศไทยมีรายได้จากการให้เช่ารถไฟเหล่านี้รวม 10 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังนำรถไฟ JR West บางส่วนมาปรับปรุงเพื่อใช้งานในรูปแบบต่างๆ อย่างรถสำหรับผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ ซึ่งเป็นประโยชน์กับประชาชนอีกด้วย ส่วนรถไฟควีนแลนด์ยังใช้ในขบวนรถไฟชานเมืองเป็นประจำทุกวัน
หากเปรียบเทียบกับการจัดซื้อใหม่แล้ว จะเห็นว่าการปรับปรุงรถบริจาคสามารถช่วยประหยัดงบประมาณได้เป็นจำนวนมาก
Q : รถไฟทั้ง 17 คันจะนำมาทำอะไรต่อ
A : ทั้ง 17 คัน จะนำมาปรับปรุงตามเหมาะสมตามมาตรฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยคาดว่าจะสามารถนำออกมาใช้งานได้ภายในกลางปี 2565
และนี่ก็คือคำอธิบาย คำชี้แจง ต่อดราม่ารถไฟมือสองของญี่ปุ่นที่จะนำมาวิ่งในไทย ซึ่งอีกไม่นานเราคงได้เห็นขบวนรถไฟเหล่านี้ออกมาวิ่งอวดโฉมในบ้านเรากัน