วัดวาอารามในเมืองไทย มีสถาปัตยกรรมอันงดงามแตกต่างกันออกไป อย่างที่ “วัดเตย” อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เป็นวัดมอญเก่าแก่ มีความโดดเด่นอยู่ที่โบสถ์เก่ากลางน้ำอายุนับร้อยปี
“วัดเตย” สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 หรือราวปี พ.ศ.2375 กล่าวกันว่าเดิมบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยามีต้นเตยกอใหญ่ขึ้นเป็นดง จึงเรียกว่า บ้านเตย วัดที่อยู่ในชุมชนจึงเรียกว่า วัดเตย สร้างขึ้นโดยคนมอญที่มาอาศัยอยู่ที่อ.ปากเกร็ด และได้สร้างวัดนี้ให้เป็นศูนย์กลางของชุมชน โดยมีพระสงฆ์มอญประจำอยู่ที่วัดนี้ตลอดมา
ในอดีตพื้นที่ของวัดเป็นที่ราบลุ่มมีน้ำท่วมขัง จึงได้มีการปรับถมพื้นที่ใหม่ให้สูงขึ้นเรื่อยมา จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2538 เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ทางวัดได้ถมพื้นที่อีกครั้ง ส่วนอุโบสถหลังเก่าอยู่ต่ำกว่าบริเวณวัด ทำให้มีน้ำท่วมขังอยู่บริเวณรอบโบสถ์ จนกลายเป็น “โบสถ์กลางน้ำ” จนมาถึงปัจจุบัน
บริเวณใกล้กับโบสถ์กลางน้ำจะเป็นที่ตั้งของโบสถ์หลังใหม่ ภายในประดิษฐานพระประธานปางสมาธิที่เคลื่อนย้ายมาจากอุโบสถหลังเก่า และสิ่งที่น่าสนใจก็คือ จิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างชั้นครูคือ ครูเทพเนรมิต จิตรกรรมคนไทยเชื้อสายมอญ ที่เริ่มลงมือเขียนภาพมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ใช้เวลามากกว่า 5 ปีในการเขียนภาพทั้งหมด
สำหรับภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดแห่งนี้ เป็นงานจิตรกรรมไทยสมัยใหม่ที่มีสีสันงดงาม ซึ่งภาพที่อยู่บริเวณผนังด้านหลังองค์พระประธานเขียนรูปพระมหาเกศธาตุเจดีย์มอญ เรียกว่า จย้าจก์เล้ะเกิ้ง หรือพระเจดีย์ชเวดากองขนาดใหญ่ปิดทองทั้งองค์ มีหมู่เทวดาต่างประโคมเสนาะดุริยางค์เหาะมาบูชาพระเกศธาตุเจดีย์ ระหว่างองค์พระเจดีย์มีธงด้านขวา 4 ธง ด้านซ้าย 4 ธง รวมเป็น 8 ธง ธงแต่ละผืนจารึก มรรค 8 เป็นภาษามอญ
ส่วนผนังด้านตรงข้ามพระประธานเป็นภาพเขียนของพระปฐมเจดีย์สีทองอร่ามงดงามเช่นกัน รายล้อมด้วยเหล่าเทพชุมนุม ส่วนผนังด้านข้างทั้งซ้ายและขวาบริเวณเหนือบานหน้าต่างเขียนภาพเรือพระราชพิธี ส่วนด้านล่างและบานหน้าต่างเขียนภาพพุทธประวัติ
นอกจากนี้ที่ฐานชุกชีพระประธานเป็นงานจำหลักไม้ปิดทอง มีผ้าประดับอยู่ด้านหน้า ตัวฐานไล่เรียงตามลำดับประกอบด้วย ฐานเขียง ฐานปัทม์ แท่นยกชั้นแข้งสิงห์ย่อมุม 12 มีราชสีห์ คชสีห์ประกอบ เหนือชั้นขึ้นไปมีครุฑยุดนาค เหนือขึ้นไปอีกชั้นเป็นเทพ ชั้นบนสุดเป็นกลีบบัว มีเทพประจำกลีบๆ ละครึ่งองค์
นอกจากฐานชุกชีที่สุดวิจิตรแล้ว ประตูอุโบสถก็มีความงามไม่แพ้กัน เพราะบานประตูทำจากไม้สัก สูง 3 เมตร กว้าง 90 เซนติเมตร แกะสลักลวดลายเป็นลายนูนสูง 2 ชั้น เป็นรูปทวารบาลยืนแท่นถือดอกไม้ มือขวาถือพระขรรค์ ส่วนบ้านหน้าต่างทำจากไม้แกะสลักเช่นกัน โดยเป็นไม้ที่นำมาจาก จ.แพร่
วัดเตย ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่3 ต.บางตะไนย์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี (เชิงสะพานพระราม 4 ฝั่งตะวันตก)
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline