ชวนไปรู้จักกับ “บุปผาราชินี” ซึ่งได้แก่ ดอกไม้ที่มีนามตามพระนามาภิไธย ดอกไม้นามพระราชทาน และดอกไม้ทรงโปรดของ “สมเด็จพระพันปีหลวง” ซึ่งล้วนต่างเป็นพรรณไม้มงคลทรงคุณค่างดงาม ควรค่าแก่การอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ รวมถึงพืชพรรณไม้ ดอกไม้ และกล้วยไม้ที่ใกล้จะสูญพันธ์ไว้เป็นจำนวนมาก อันเป็นที่มาของ “บุปผาราชินี” ซึ่งเป็นเรื่องราวของพรรณไม้มงคลที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ท่าน
บุปผาราชินี แบ่งพรรณไม้ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ดอกไม้ที่มีนามตามพระนามาภิไธย “สิริกิติ์”, ดอกไม้นามพระราชทาน และดอกไม้ทรงโปรดของสมเด็จพระพันปีหลวง
1.ดอกไม้พระนามาภิไธย
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยในด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอันมาก ทำให้มีสถาบันในต่างประเทศ ชื่นชมและเทิดพระเกียรติคุณขอพระราชทานพระราชานุญาต อัญเชิญพระนามาภิไธย “สิริกิติ์” ไปตั้งเป็นชื่อดอกไม้งาม 3 ชนิด ดังนี้
-“กุหลาบควีนสิริกิติ์” : ดอกกุหลาบขนาดใหญ่สีเหลือง ระเรื่อด้วยสีส้มแดงตรงปลายกลีบเมื่อกระทบกับแสงแดด กลิ่นหอมอ่อนๆ ซึ่งเริ่มนำออกเผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2511 และได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดกุหลาบที่กรุงเบลฟาสต์ ประเทศไอร์แลนด์ โดยนาย Andre' Hendricx ขอพระราชทานพระราชานุญาตเชิญพระนามาภิไธย “สิริกิติ์” เป็นชื่อของกุหลาบเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2514 ครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จประภาสประเทศเดนมาร์ก
-“กล้วยไม้คัทลียาควีนสิริกิติ์” : กล้วยไม้ลูกผสมตระกูลคัทลียากลีบดอกขาวนวล แต่งแต้มด้วยสีเหลืองทองตรงกลาง ด้วยความงามอันโดดเด่นนี้ทำให้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจาก The Royal Horticulture Society ประเทศอังกฤษ ซึ่งบริษัทแบล็กแอนด์ฟลอรี (Black & Flory) บริษัทกล้วยไม้เก่าแก่ของอังกฤษ ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตเชิญพระนามาภิไธย “สิริกิติ์” เป็นชื่อของกล้วยไม้ โดยจดทะเบียนเมื่อ พ.ศ. 2501 นอกจากนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทาน แคทลียา ควีนสิริกิติ์ เป็นดอกไม้ประจำวันสตรีไทย
-“ดอนญ่า ควีนสิริกิติ์” : ไม้พุ่มประดับ ดอกรูปดาวสีเหลืองสดขนาดเล็กออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อมีกลีบรองสีชมพูอ่อนตัดด้วยขอบสีชมพูเข้มเกือบแดง เป็นพันธุ์ลูกผสมที่มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ผสมขึ้น ในปี พ.ศ. 2506 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนประเทศฟิลิปปินส์อย่างเป็นทางการ ทางมหาวิทยาลัยจึงได้กราบบังคมทูล สมเด็จพระพันปีหลวง ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเชิญพระนามาภิไธย “สิริกิติ์” เป็นชื่อของดอนญ่าลูกผสมพันธุ์ใหม่นี้
-“บัวควีนสิริกิติ์” : บัวลูกผสมที่เกิดจากพันธุ์บัวสายเขตอบอุ่นพันธุ์ของสหรัฐอเมริกาและบัวสายเขตร้อนของไทย โดยกลีบดอก 2 สี คือส่วนปลายกลีบดอกมีสีม่วง โคนกลีบดอกมีสีขาว ส่วนกลีบเลี้ยงมีสีขาวอมเขียว สีดอกของบัวลูกผสมนี้มีสีม่วง ถือได้ว่าเป็น “สีใหม่” ที่ยังไม่เคยปรากฏมาก่อนในบัวเขตอบอุ่น จากความงดงามและมีลักษณะแตกต่างจากบัวพันธุ์อื่นๆ ทำให้สมาคมพฤกษศาสตร์ในพระบรมราชินูปถัมภ์ได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขอพระราชทานพระราชานุญาต เชิญพระนามาภิไธย “สิริกิติ์” เป็นชื่อของบัวลูกผสมพันธุ์นี้ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2555 เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาของสมเด็จพระพันปีหลวง
2.ดอกไม้นามพระราชทาน
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยในธรรมชาติรอบพระวรกายอยู่เสมอ แม้ครั้งเมื่อเสด็จฯ ไปทรงงาน ณ พื้นที่แห่งใด ก็จะทรงชื่นชมความงามของพันธุ์ไม้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ไม้หายากหรือแม้เพียงดอกไม้ป่าต้นเล็ก ๆ พระองค์ก็ทรงให้ความสำคัญและยังทรงโปรดพระราชทานชื่อให้เพื่อสร้างคุณค่าให้กับพันธุ์ไม้เหล่านั้นได้เป็นสมบัติทางธรรมชาติที่ล้ำค่าของประเทศไทยตลอดไป ได้แก่
-“ดุสิตา” : มีชื่อเรียกที่แตกต่างไปแต่ละท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็น หญ้าข้าวก่ำน้อย หญ้าเข็ม หรือดอกขมิ้น เป็นพืชล้มลุกที่พบตามพื้นที่โล่งและชุ่มชื้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ดอกเป็นช่อสีม่วงเข้ม มีใบที่เปลี่ยนเป็นถุงสำหรับดักจับแมงขนาดเล็ก ออกดอกช่วงตุลาคม - ธันวาคม
-“มณีเทวา” : มีชื่อเรียกทั่วไปอาทิ กระดุมเงิน หญ้าตุ้มหู หญ้าผมหงอก เป็นไม้ล้มดอกกลมสีขาวออกเป็นช่อ พบมากในภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ออกดอกช่วงเดือนตุลาคม - กุมภาพันธ์
-“สร้อยสุวรรณา” : มีชื่อเรียกทั่วไป คือ เหลืองพิศมร หญ้าสีทอง สาหร่ายดอกเหลือง เป็นไม้ล้มลุกกินแมลงกอเล็ก ๆ ออกดอกเป็นช่อสีเหลืองงามสะพรั่งช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม ในประเทศไทยพบตามพื้นที่โล่งและชุ่มชื้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
-“ทิพเกสร” : มีชื่อเรียกทั่วไป ได้แก่ หญ้าฝอยเล็ก มีดอกสีม่วงอ่อนแกมชมพู ออกดอกช่วงสิงหาคม - ธันวาคม ในประเทศไทยพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
-“สรัสจันทร” : มีชื่อเรียกทั่วไป คือ หญ้าแลไข่กา จำปีบะ ดอกดิน กล้วยเล็บมือนาง กล้วยมือนาง หญ้าหนวดเสือ เลื้อมนกเขา หญ้านกเขา ไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ดอกสีชมพูจนถึงสีม่วงอ่อนอมฟ้า ส่วนปลายมีสีเหลืองหรือสีครีม พบตามบริเวณทุ่งหญ้าเปิด ริมหนองน้ำและบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม
-“นิมมานรดี” กล้วยไม้อิงอาศัย ดอกขนาดกลีบเล็กสีขาว มีเส้นตามยาวสีแดงเข้ม กลีบปากที่ปลายมีพื้นสีเหลืองเข้มและมีแต้มสีแดงเข้มที่โคนกลีบ โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงพระราชทานนาม “นิมมานนรดี” เมื่อครั้งเสด็จฯ ทอดพระเนตรพรรณไม้ ณ บริเวณโคกนกกะบา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย เดือนมีนาคม พ.ศ. 2534
นอกจากนี้ก็ยังมี ชื่อพรรณไม้ที่ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้พระนามาภิไธยเป็นชื่อพรรณไม้ ได้แก่
-“ต้นโมกราชินี” (โมกสิริกิติ์) : อยู่ในสกุลโมกมัน ลักษณะเป็นช่อดอกสีขาวหรือขาวปนเขียวอ่อน มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ถือเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ถูกค้นพบโดย ศาตราจารย์ ดร.ธวัชชัย สันติสุข บริเวณภูเขาหินปูน จ.สระบุรี และกรมป่าไม้ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาต ใช้ชื่อพรรณไม้นี้ตามพระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อปี พ.ศ.2544
-“ต้นมหาพรหมราชินี” : ถูกค้นพบโดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ลักษณะเป็นดอกเดี่ยวส่งกลิ่นหอม กลีบชั้นนอกสีขาว กลีบชั้นในสีม่วงแดง มีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณยอดเขาสูง ในเขต อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้พระนามาภิไธย เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547
3.ดอกไม้ทรงโปรด
-“สัตตบงกช” เป็นดอกไม้ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงโปรด เป็นบัวหลวงพันธุ์ดอกสีชมพูซ้อน รูปทรงดอกตูม ป้อมกว่าบัวหลวงธรรมดา เป็นพันธุ์ไม้ที่รู้จักกันดี นิยมใช้ในพิธีทางศาสนา และแทบทุกส่วนของบัวหลวงใช้ประโยชน์ได้ทั้งราก ใบ กลีบดอก เมล็ด และเกสร บัวทั้งสองสี เป็นพันธุ์ที่พบเฉพาะในประเทศไทย
และนี่ก็คือบุปผาราชินี ซึ่งล้วนต่างเป็นพรรณไม้มงคลทรงคุณค่างดงาม ควรค่าแก่การอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline