ในโลกนี้มีภาษาพูดที่ใช้กันอยู่ราว ๓,๐๐๐ ภาษา แต่ภาษาเขียนมีไม่ถึง ๕ เปอร์เซ็นต์ ภาษาใดมีตัวอักษรที่ใช้เป็นภาษาเขียน จึงถือได้ว่าเป็นภาษาของสังคมที่เจริญแล้ว ทำให้การพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว แต่สังคมที่ไม่มีภาษาเขียน การดำเนินชีวิตจึงเป็นไปตามประเพณีที่สืบทอดกันมา สังคมจึงพัฒนาไปได้อย่างเชื่องช้า
ไทยเราอยู่ในกลุ่มที่ไม่ถึง ๕ เปอร์เซ็นต์นี้ด้วย เพราะพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ “ลายสือไทย” ขึ้นในราว พ.ศ.๑๘๒๕ และโปรดเกล้าฯให้ใช้จารึกเรื่องราวของกรุงสุโขทัยมาตั้งแต่ศิลาจารึกหลักที่ ๑ โดยได้เค้ารูปมาจากภาษามอญและขอมซึ่งเป็นชาติที่เจริญและครอบครองถิ่นนี้มาก่อน ซึ่งก็รับรูปแบบมาจาก “อักษรฟินิเซียน” ซึ่งเป็นอักษรเก่าแก่ที่สุดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในยุโรปในยุค ๑,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล และเป็นแม่แบบของอักษรชาติต่างๆทั้งยุโรปและเอเชีย
อักษรไทยในสมัยแรก สระและพยัญชนะจะอยู่บรรทัดเดียวกัน สระอยู่หน้าพยัญชนะ มีวรรณยุกต์เพียง ๒ เสียง คือเสียงเอกและเสียงโท ต่อมาได้มีการปรับปรุงโดยนำสระเขียนไว้ทั้งข้างล่าง ข้างบน และข้างหน้า ข้างหลังพยัญชนะ เพิ่มวรรณยุกต์เป็น ๕ เสียง ออกเสียงได้ครบตามภาษาพูด และยังไพเราะเหมือนเสียงดนตริ เป็นกาพย์กลอนที่เสนาะ
แต่ภาษาพูดนั้นก็เปลี่ยนแปลงมาตลอดตามยุคสมัย อย่างเช่นสรรพนามในสมัยสุโขทัยใช้ กู-มึง สมัยอยุธยา ข้า-เจ้า ออเจ้า สมัยปัจจุบันเป็น ผม-ฉัน-คุณ เธอ ของใช้อย่างหนึ่ง สมัยสุโขทัยเรียก หน้าแว่น สมัยอยุธยาเรียก คันฉ่อง ปัจจุบันเรียก กระจก หรือสถานที่ซื้อขาย สมัยอยุธยาเรียก ปสาน สมัยอยุธยาเรียก ป่า ปัจจุบันเรียก ตลาด
ในสมัยปัจจุบัน ภาษาไทยได้เพี้ยนไปมาก นอกจากจะมีคำต่างประเทศเข้ามาปนแล้ว ยังมีคำแสลงที่ฟังแสลงหู อย่าง จิ๊กโก๋ จิ๊กกี๋ แม้จะใช้กันอยู่ในช่วงสั้นๆ นิยมได้ไม่นาน ก็เหมือนเป็นขยะอยู่ในภาษา ในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๒ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคมของทุกปีเป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ” ตามข้อเสนอของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เหตุผลที่เลือกวันที่ ๒๙ กรกฎาคมเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ก็เพราะวันนี้ตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานและทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย ที่คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ในหัวข้อ “ปัญหาการใช้คำไทย” ซึ่งทรงอภิปรายและสรุปคำอภิปรายแสดงถึงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยห่วงใยในภาษาไทย เป็นที่ประทับใจของผู้ที่เข้าร่วมประชุมในวันนั้นเป็นอย่างยิ่ง
ทรงมีพระราชดำรัสในครั้งนั้นมีความตอนหนึ่งว่า
“เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษาก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้...สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก...”
และในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๑๒ มีพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า
“ในปัจจุบันนี้ปรากฏว่า ได้มีการใช้คำออกจะฟุ่มเฟือยและไม่ตรงกับความหมายอันแท้จริงอยู่เนืองๆ ทั้งออกเสียงไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นไปดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เองเป็นสิ่งอันประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึง เราทุกคนจึงมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้ ฉะนั้นจึงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิต ตลอดจนครูบาอาจารย์ ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษาไทย ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกันเพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ”
นี่คือความสำคัญของ “วันภาษาไทยแห่งชาติ” ที่จะเตือนใจให้เราภูมิใจและรักษามรดกที่ล้ำค่าของชาติอย่างหนึ่งไว้ให้บริสุทธิ์ด้วยความงดงามและไพเราะตลอดไป