xs
xsm
sm
md
lg

“ราชพฤกษ์” โรงพยาบาลในฝัน สวยหรูดูเหมือนโรงแรม ดีกรีรางวัลสถาปนิกสยาม 63

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โรงพยาบาลราชพฤกษ์ จ.ขอนแก่น รางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น Silver Award ประจำปี 2563 (ภาพ : เพจ Page สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ : โดย W WORKSPACE)
สมาคมสถาปนิกสยามฯ เผยความโดดเด่น “โรงพยาบาลราชพฤกษ์” จ.ขอนแก่น เจ้าของรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นปี 63 สร้างด้วยแนวคิด โรงพยาบาลในฝัน จากโรงพยาบาล สู่ โรงพยาบ้าน ใช้ธรรมชาติบำบัด ต้อนรับด้วยพื้นที่สีเขียวแมกไม้ ให้ร่มกายเย็นใจก่อนเข้าพื้นที่รักษา ซึ่งมีบรรยากาศไม่ต่างจากโรงแรม

ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่ยอดผู้ติดเชื้อในบ้านเรายังสูงมาก โรงพยายาลคือสถานที่สำคัญทั้งในการตรวจและรักษาโควิด-19 และโรคอื่น ๆ จนทำให้วันนี้โรงพยายาลหลาย ๆ แห่งมีคนรักษาจนล้น เตียงไม่พอ

อย่างไรก็ดีหากพูดถึงพยาบาล ภาพจำของคนทั่วไปคือสถานที่รักษาผู้ป่วยที่มีบรรยากาศไม่ค่อยโสภาสักเท่าไหร่

โรงพยาบาลราชพฤกษ์ จ.ขอนแก่น รางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น Silver Award ประจำปี 2563 (ภาพ : เพจ Page สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ : โดย W WORKSPACE)
แต่กระนั้นก็มีโรงพยาบาลแห่งที่ให้บรรยากาศที่น่าเข้าไปใช้บริการ เนื่องจากมีบรรยากาศสวยหรูไม่ต่างจากโรงแรมดูน่าชม น่าถ่ายรูป ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “โรงพยาบาลราชพฤกษ์” จ.ขอนแก่น หนึ่งในโรงแรมยุคใหม่ที่ไม่ธรรมดา จนสามารถคว้ารางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น Silver Award ประจำปี 2563 มาครอง

โรงพยาบาลราชพฤกษ์” (RACHAPRUEK HOSPITAL) จ.ขอนแก่น สร้างด้วยแนวคิด โรงพยาบาลในฝัน จากโรงพยาบาล สู่ โรงพยาบ้าน ใช้ธรรมชาติบำบัด ต้อนรับด้วยพื้นที่สีเขียวแมกไม้ ให้ร่มกายเย็นใจก่อนเข้าพื้นที่รักษา

โรงพยาบาลราชพฤกษ์ จ.ขอนแก่น รางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น Silver Award ประจำปี 2563 (ภาพ : เพจ Page สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ : โดย W WORKSPACE)
ทั้งนี้เพจ “Page สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์” ของสมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้ออกมาโพสต์เรื่องราวของโรงแรมดังกล่าว ดังนี้

ตามที่สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ดำเนินการจัดการคัดเลือกผลงานสถาปัตยกรรมดีเด่น 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผลงานสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าในประเทศไทย ให้เผยแพร่เป็นที่รู้จักต่อสาธารณะ วันนี้จะมาแนะนำให้รู้จักงานสถาปัตยกรรมดี ๆ ที่ได้รับรางวัล สถาปัตยกรรมดีเด่น Silver Award ประจำปี 2563

RACHAPRUEK HOSPITAL
แนวความคิดในการออกแบบ
เราเริ่มต้นการทำโรงพยาบาลหลังนี้ด้วยการตั้งคำถามสำคัญว่า

“ โรงพยาบาลในฝันของคุณเป็นอย่างไร ”
คำตอบมากมายจากหลากหลายผู้คนหลากหลายอาชีพ อาทิเช่น
“ ไม่วุ่นวาย ไม่แออัด ไม่น่ากลัว ” “ มีสวน มีพื้นที่สีเขียว ” “ มีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับทำกิจกรรม ” “ มีสัญลักษณ์สร้างแรงบันดาลใจ” “ ไม่หลงทาง ” “ โรงพยาบาลเหมือนอยู่บ้าน ” “ ให้ความสำคัญกับคนที่ดูแลผู้ป่วย ” “ สร้างกิจกรรมเหมือนอยู่บ้าน ” “มีการจัดวางโซนที่ชัดเจน กำหนดเส้นทางของเตียงเข็น ศพ ให้ชัดเจนไม่ปะปนกัน”

เราพบว่า หากเราสามารถ
“เปลี่ยนโรงพยาบาลที่น่ากลัว เป็นบ้านที่ผู้คนคุ้นเคย”
ก็จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการเยียวยาสำหรับผู้ใช้อาคารได้ จาก
โรงพยาบาล สู่ โรงพยาบ้าน ( บ้านในสวน สวนในบ้าน ) “ ธรรมชาติบำบัด ”
เราต้อนรับทุกคนด้วยพื้นที่สีเขียว ต้อนรับคนด้วยร่มไม้ ให้ร่มกายเย็นใจก่อนจึงค่อยเข้าสู่พื้นที่ของการบำบัดรักษา สร้างพื้นที่ธรรมชาติ โดยสร้างพื้นที่คอร์ทสีเขียวขนาดใหญ่ใจกลางอาคาร เป็นใจบ้านของโครงการ ร่วมกับพื้นที่สีเขียวที่กระจายอยู่ทุก ๆ จุดโดยรอบอาคาร

บ้านที่มีห้องรับแขกสำหรับปู่ย่าตายายพ่อแม่พี่น้องและเพื่อน “ มิตรภาพบำบัด ”
เตรียมพื้นที่รองรับญาติและมิตรสหาย เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับปฏิสัมพันธ์ “ ปรับทุกข์ผูกมิตร ” เป็นพื้นที่พักผ่อน ปล่อยใจ คลายทุกข์ ใกล้ชิดธรรมชาติ รองรับวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ของชาวไทยและชาวอีสาน
ห้องพระในบ้าน “ จิตวิญญาณบำบัด ”
ห้องพระคือพื้นที่ให้พลังใจ เป็นศูนย์รวมใจของผู้คน เป็นทั้งพื้นที่ที่มีรูปเคารพ หรือ พื้นที่ที่มีคำสำคัญเราเตรียมพื้นที่สำหรับศาลพระพรหมไว้ที่ชั้นหนึ่ง เตรียมห้องพระ ห้องคริสต์ ห้องละหมาด ไว้ที่ชั้นห้า มีพระพุทธรูปที่ประดิษฐานบนหัวเตียง ในห้องพักผู้ป่วย มีคำสำคัญของพระบิดา “ ฉันไม่ต้องการให้พวกเธอเป็นหมอเท่านั้น แต่ฉันต้องการให้พวกเธอเป็นมนุษย์ด้วย ” ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับหมอพยาบาล
ห้องนั่งเล่นในบ้าน “ กิจกรรมบำบัด ”
เตรียมพื้นที่รองรับกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยลดความเครียด เช่น พื้นที่ดนตรีบำบัด พื้นที่กิจกรรมในวาระสำคัญเช่นวันแม่ พื้นที่สำหรับรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่
บ้านบ้าน(บ้านในเชิงกายภาพ) “ สถาปัตยกรรมบำบัด ”

ปัญหาสำคัญคือจะทำอย่างไรให้อาคารขนาดใหญ่พิเศษ (40,000 ตร.ม.) และอาคารสูง(14ชั้น)หลังนี้ มีสเกลแบบบ้าน ๆ ได้
เราแก้ปัญหาด้วยการสร้างอาคาร2ชั้นล้อมคอร์ทที่ใช้ต้อนรับผู้ใช้งาน เพื่อสร้างความรับรู้ในเรื่องความเป็นอาคารขนาดเล็กแบบบ้านๆซึ่งเป็นภาพแรกที่ผู้มาเยือนรับรู้ได้ และเมื่อมองจากภายนอก อาคารจะค่อยๆถูกลดทอนสัดส่วนให้ลดหลั่นลงมาสู่พื้นดิน เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับสัดส่วนมนุษย์
บ้านของชาวบ้าน บ้านที่เขาคุ้นเคย
บ้านหลังนี้เชื่อมกับความเป็นพื้นถิ่น เป็นบ้านอีสาน ที่มีหลังคา มีจั่วพระอาทิตย์ มีลายสานโบราณ(ลายตะเหลว) เป็นบ้านที่ใช้ไม้เป็นวัสดุหลักอย่างหนึ่ง ที่คอร์ทต้อนรับเป็นบ้านที่ทิ้งชายคามาโอบกอดกับผู้คน เป็นบ้านที่มีชานมีระเบียง
เราไม่เคยหลงทางในบ้านของเรา

เพื่อลดความเครียดจากเส้นทางสัญจรที่ซับซ้อน/สับสน/วุ่นวาย เราจึงกำหนดเส้นทางสัญจรที่ชัดเจน โดยใช้ทางเดินรอบคอร์ทเป็นแกนของการสัญจรหลัก ทำให้เกิดเส้นทางที่เข้าใจง่ายที่สุด รู้ตำแหน่งแห่งที่ ไม่หลงทาง เข้าง่าย/ออกสะดวก
เราไม่เห็นเตียงเข็นผู้ป่วยหนักในบ้านของเรา
กำหนดเส้นทาง แยกผู้ป่วยหนักออกไปจากผู้ป่วยทั่วไป ลดภาพอันน่ากลัว เหลือเพียงภาพผู้คนที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติ
บ้านหลังนี้ คือหม้อต้มยาขนาดใหญ่

โบราณ เขาปักลายตะเหลว บนหม้อต้มยา ด้วยความเชื่อว่า ช่วยปัดเป่าความอัปมงคล เมื่อต้มยาเสร็จ ยาหม้อนี้จึงเป็นยาวิเศษ ลายตะเหลวเป็นลายโบราณ แปรเปลี่ยนจากลายขวัญ ที่วิวัฒน์ในแถบอุษาคเนย์มาช้านาน เมื่อนำมาใช้ เราสานและขยายลายตะเหลวล้อมรอบอาคาร (Skin) ที่ชั้นสาม และ ชั้นสิบสอง ในนัยยะนี้ คือ ขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ความอัปมงคลทั้งปวง หม้อต้มยา(โรงพยาบ้าน)นี้ จึงกลายเป็น หม้อยาวิเศษ ในความรู้สึก
บ้านที่โปร่ง โล่ง อยู่สบาย PASSIVE APPROACH
สร้างคอร์ทขนาดใหญ่และเปิดช่องทางสำหรับทางลมเข้าออก เพื่อดึงลมเข้ามาในพื้นที่ ทำให้ลดการใช้เครื่องปรับอากาศบริเวณทางเดินภายในอาคารลงได้ทั้งหมด สร้างพื้นที่สีเขียว เพื่อกรองความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร วางอาคารและTOWER (ห้องพักผู้ป่วย) ในทิศทางที่รับลม หลบแดด มีชายคาที่ยื่นยาว กันแดดฝน

ชื่อโครงการ : โรงพยาบาลราชพฤกษ์
ประเภทอาคาร : โรงพยาบาล
สถานที่ตั้ง : ขอนแก่น
ปี : 2016-2018
พื้นที่ใช้สอย : 38,000 ตารางเมตร
ที่ดิน : 10 ไร่ (16,000 ตารางเมตร)
ราคาค่าก่อสร้าง : 711,600,000 บาท
สถาปนิก : ARSOMSILP COMMUNITY AND ENVIROMENTAL ARCHITECT AND SPACETIME ARCHITECT
สถาปนิกนักออกแบบ
งานศิลปะ : PIANGOR PATTAYAKORN, PONGSAPAT ARNAMNART
ภูมิสถาปนิก : P LANDSCAPE
นักออกแบบแสงสว่าง : LD49
วิศวกรโครงสร้าง : ANEK SIRIPANICHKORN
วิศวกรงานระบบ : PASS ENGINEERING CONSULTANT
สถาปนิกและที่ปรึกษาด้านการออกแบบโรงพยาบาล : VEERASAK THONGPAIBOON
ช่างภาพ : W WORKSPACE

โรงพยาบาลราชพฤกษ์ จ.ขอนแก่น รางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น Silver Award ประจำปี 2563 (ภาพ : เพจ Page สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ : โดย W WORKSPACE)

โรงพยาบาลราชพฤกษ์ จ.ขอนแก่น รางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น Silver Award ประจำปี 2563 (ภาพ : เพจ Page สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ : โดย W WORKSPACE)

โรงพยาบาลราชพฤกษ์ จ.ขอนแก่น รางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น Silver Award ประจำปี 2563 (ภาพ : เพจ Page สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ : โดย W WORKSPACE)






กำลังโหลดความคิดเห็น