สำนักข่าวซินหัวสื่อทางการของจีน เผยเรื่องราวเกี่ยว “ชุดผ้าไหมโบราณ” ของจีน ซึ่งเป็นโบราณวัตถุประเภทเครื่องแต่งกายที่เก่าแก่ที่สุด มีสภาพสมบูรณ์ที่สุด และมีน้ำหนักเบาที่สุดในบรรดาเครื่องแต่งกายยุคเดียวกันที่ถูกค้นพบ
หากไม่เคยเห็นด้วยตาตนเอง จะเชื่อหรือไม่ว่าในสมัยโบราณ มีการถักทอชุดที่มีความยาวกว่า 1 เมตร แต่กลับมีน้ำหนักไม่ถึง 50 กรัมได้สำเร็จ และหากนำชุดดังกล่าวจำนวน 10 ชุดมาเรียงซ้อนกันบนหนังสือพิมพ์ ความโปร่งใสของมันก็ทำให้คุณยังสามารถอ่านข้อความบนหนังสือพิมพ์ได้อย่างชัดเจนอีกด้วย
ชุดดังกล่าวที่ในภาษาจีนเรียกว่า “ซู่ซาตันอี” ถือเป็นสมบัติล้ำค่าของประเทศจีนถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์มณฑลหูหนาน มันถูกถักทอขึ้นอย่างประณีต บางราวปีกจักจั่น เบาราวกับควัน ทั้งยังเป็นโบราณวัตถุประเภทเครื่องแต่งกายที่เก่าแก่ที่สุด มีสภาพสมบูรณ์ที่สุด และมีน้ำหนักเบาที่สุดในบรรดาเครื่องแต่งกายยุคเดียวกันที่ถูกค้นพบ
ช่วงปี 1972-1974 นักโบราณคดีได้ค้นพบสุสานยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตก 3 แห่งที่หม่าหวังตุย หรือเนินหม่าหวัง ในย่านชานเมืองฝั่งตะวันออกของฉางซา โดยมีการขุดพบวัตถุโบราณทางวัฒนธรรมที่ประณีตงดงามหลายพันชิ้น รวมถึงซากศพสตรีในสมัยราชวงศ์ฮั่นที่ยังคงสภาพดี นับเป็นการค้นพบทางโบราณคดีครั้งสำคัญในศตวรรษที่ 20 ของทั้งประเทศจีนและของโลก
ชุดคลุมผ้าไหมโบราณดังกล่าวถูกขุดพบในสุสานหม่าหวังตุย หมายเลข 1 ซึ่งเป็นสุสานของสตรีนามว่าซินจุย ผู้เคยมีชีวิตอยู่เมื่อ 2,200 กว่าปีก่อน มีบันทึกทางประวัติศาสตร์เขียนไว้ว่าเธอเป็นภรรยาของลี่ชาง อัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐฉางซาในสมัยฮั่นตะวันตก โดยเธอเสียชีวิตลงด้วยวัยราว 50 ปี
ต้วนเสี่ยวหมิง ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์มณฑลหูหนาน อธิบายว่าภายในสุสานหมายเลข 1 มีห้อง 4 ห้องประจำ 4 ทิศ ได้แก่ ตะวันออก ตะวันตก ใต้ และเหนือ โดยห้องทางทิศตะวันตกของสุสานแห่งนี้เป็นห้องเก็บสิ่งของของท่านผู้หญิงซินจุย ภายในเต็มไปด้วยกล่องไม้ไผ่ที่บรรจุอาหาร เสื้อผ้า และของใช้ ซึ่งชุดดังกล่าวถูกพบในกล่องไม้ไผ่ในห้องนี้นั่นเอง นอกจากนี้ยังพบเสื้อคลุมผ้าฝ้าย เสื้อคลุมชั้นเดียว กระโปรง และถุงเท้า รวมทั้งสิ้น 14 ชิ้น
รูปลักษณ์ของชุดผ้าไหมแบบบางที่พบ 2 ชุดนั้นค่อนข้างเรียบง่าย โดยมีชิ้นหนึ่งเป็นชุดทรงตรง อีกชิ้นเป็นทรงบาน มีวิธีการใส่แบบด้านซ้ายทับออกข้างนอกเหมือนกัน “ชุดทรงตรงหนัก 49 กรัม ยาว 128 เซนติเมตร ส่วนชุดทรงบานหนัก 48 กรัม ยาว 160 เซนติเมตร” ต้วนเสี่ยวหมิงกล่าว
ซู่ซาตันอีทั้งสองได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดวิทยาการสิ่งทอในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ทั้งยังเป็นเครื่องแต่งกายที่เก่าแก่ เบาและบางที่สุดในปัจจุบัน ความถี่ในการทออยู่ที่ 62 เส้นไหมต่อ 1 เซนติเมตร ถือว่าห่างมากทีเดียว ในด้านความบางนั้น ชุดโบราณนี้ มีอัตราแสงทะลุผ่านเนื้อผ้าสูงถึงร้อยละ 75
สำหรับชุดทรงตรงนั้น มีการใช้ด้ายหรงชวนจิ่น ที่มีความหนาและหนักกว่าเส้นไหมถักทอบริเวณปลายแขนเสื้อและคอเสื้อ น้ำหนักของชุดเฉพาะบริเวณปลายแขนและคอเสื้อจึงรวมอยู่ที่ 8.8 กรัม ซึ่งหากหักลบน้ำหนักของสองส่วนนี้ออกไป จะพบว่าน้ำหนักรวมของชุดนี้ต่อตารางเมตรอยู่ที่ 15.4 กรัมเท่านั้น” ต้วนเสี่ยวหมิงกล่าว พร้อมเสริมถึงข้อมูลของเส้นไหมยาว 900 เมตร 1 เส้นที่มีน้ำหนักเพียง 1 กรัมเท่านั้น
ช่วงทศวรรษที่ 1980 การผลิตชุดโบราณจีนจากผ้าไหมแบบบางขึ้นใหม่เป็นหนึ่งในเป้าหมายของสำนักบริหารมรดกทางวัฒนธรรมระดับชาติของจีน โดยในเวลานั้น สถาบันวิจัยหนานจิงอวิ๋นจิ่นได้ผลิตผลงานขึ้นมา 2 ชุด แต่ชุดทั้งสองล้วนมีน้ำหนักเกิน 50 กรัม
จนกระทั่งปี 2019 พิพิธภัณฑ์มณฑลหูหนานและสถาบันวิจัยหนานจิงอวิ๋นจิ่น จึงประสบความสำเร็จในการผลิตชุดโบราณจีนแบบเดียวกันที่มีน้ำหนักราว 49 กรัม หลังใช้เวลาศึกษาอยู่นานถึง 2 ปี
นับเป็นครั้งแรกที่มีการทำซ้ำได้สำเร็จและได้รับการยอมรับจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญ หลังการขุดค้นพบชุดซู่ซาตันอีผ่านพ้นมานานกว่า 40 ปี
รายงานระบุว่าหลังจากชุดดังกล่าวซึ่งถูกฝังอยู่ใต้ผืนดินนานกว่า 2,000 ปี ถูกนำขึ้นมา ก็เกิดการเร่งกระบวนการแตกตัวของห่วงโซ่โมเลกุลในเส้นใย ทำให้ความแข็งแรงของเส้นใยลดลงอย่างมาก นอกจากนี้การจัดนิทรรศการประจำปียังทำให้ปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น แสงและออกซิเจน กระตุ้นการเสื่อมสภาพของเส้นใย แม้ว่าปัจจุบันเส้นใยดังกล่าวยังคงมีลักษณะมันวาวและยืดหยุ่นในระดับหนึ่ง แต่เมื่อพิจารณาทั้งเรื่องการเก็บรักษาวัตถุโบราณ การจัดแสดง และการสืบสานมรดกแล้วนั้น ก็ล้วนสรุปได้ว่าจำเป็นต้องมีการทำชิ้นงานจำลอง
กระบวนการทำซ้ำชุดดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย หยางจี้หยวน ผู้อำนวยการผู้อำนวยการศูนย์การออกแบบของสถาบันวิจัยหนานจิงอวิ๋นจิ่นกล่าวว่า เส้นไหมซานเหมียนฉาน ที่ถูกนำมาใช้ในสมัยฮั่นตะวันตกใช้มีน้ำหนักเพียง 10.2 ถึง 11.3 ดีเนียร์ (Denier, หน่วยขนาดเส้นด้ายหรือเส้นไหม, 1 ดีเนียร์แปลว่าเส้นด้ายหรือเส้นไหมน้ำหนัก 1 กรัมมีความยาว 9,000 เมตร) เท่านั้น ส่วนเส้นไหมซื่อเหมียนฉาน ที่ผู้คนยุคปัจจุบันใช้มีน้ำหนักอยู่ที่ 14 ดีเนียร์
หนอนไหมที่ถูกนำมาใช้ทอผ้าปัจจุบันมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ได้เส้นใยที่มีน้ำหนักมากขึ้น เพื่อทำซ้ำผลงานดังกล่าวให้สำเร็จ คณะผู้ผลิตจึงต้องฝ่าฟันอุปสรรคเหลือคณานับ เพื่อให้ได้เส้นไหมซานเหมียนฉาน ที่มีน้ำหนักเพียง 11 ดีเนียร์ ซึ่งเหมาะสำหรับเป็นวัตถุดิบในการถักทอชุดดังกล่าว”
แท้จริงแล้ว สาเหตุที่ชื่อเรียกชุดดังกล่าวมีคำว่า “ซู่” เพราะมันไม่มีสีสันและไม่มีส่วนซับใน อย่างไรก็ตาม สีเหลืองน้ำตาลที่ปรากฏบนชุดเกิดจากกาลเวลาที่ผันผ่านมาอย่างยาวนาน คณะผู้ผลิตจึงได้ทดลองการย้อมสีมาแล้วนับไม่ถ้วน เพื่อให้ได้สีที่ใกล้เคียงกัน
หลังจากทดลองใช้น้ำยาย้อมมาหลายชนิดและพบกับความล้มเหลว ท้ายที่สุด หยางจี้หยวน ก็พบว่าสีของชาแดงที่เธอดื่มในยามเช้านั้นมีความเป็นธรรมชาติและใกล้เคียงกับสีที่ปรากฏบนชุดดังกล่าวมาก น้ำชากับสารยึดเกาะจึงตอบโจทย์ปัญหานี้ได้อย่างลงตัว
สำหรับวิธีการสวมใส่ชุดดังกล่าวนั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ “ความคิดเห็นหนึ่งคือ ชุดดังกล่าวอาจถูกถักทอเพื่อสวมคลุมทับเสื้อคลุมผ้าฝ้าย เนื่องจากเสื้อคลุมผ้าฝ้ายมักมีลวดลายที่หรูหรา การใส่ชุดที่โปร่งใสดังกล่าวจึงสร้างเสน่ห์ให้กับลวดลายเหล่านั้น อย่างไรก็ตามความยาวของชุดดังกล่าวนั้นค่อนข้างสั้นเมื่อเทียบกับเสื้อคลุมผ้าฝ้าย” ต้วนเสี่ยวหมิงกล่าว นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการที่เชื่อว่าชุดดังกล่าวอาจถูกใช้ในพิธีศพในสมัยนั้น หรือคิดว่ามันอาจเป็นชุดชั้นในด้วย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่า ชุดนี้ถูกใช้สำหรับสวมใส่ทับเสื้อคลุมผ้าฝ้ายและมักสวมใส่ในโอกาสสำคัญเท่านั้น
ครั้งหนึ่ง ชุดโบราณจีนล้ำค่าชุดนี้เคย “ถูกขโมยไปและได้กลับคืนมา” เมื่อเดือนตุลาคมปี 1983 หลังสาธารณชนกดดันจน ทำให้ผู้ต้องสงสัยได้โยนชุดดังกล่าวทิ้งไว้ในอนุสรณ์สถานผู้พลีชีพ ซึ่งอยู่ติดกับพิพิธภัณฑ์มณฑลหูหนานก่อนจะถูกพบและส่งคืนให้พิพิธภัณฑ์
ภาพและข้อมูลจาก สำนักข่าวซินหัว
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline