กรมอุทยานแห่งชาติฯร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี เร่งสำรวจเพื่อประเมินเสถียรภาพ “เขาตาปู” หลัง รมว.ทส.สั่งเข้ม แลนด์มาร์ค จ.พังงา ต้องอยู่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย
เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) ลงพื้นที่ติดตามและรับฟังการดำเนินงานสำรวจทางธรณีวิทยา ธรณีเทคนิค และประเมินเสถียรภาพบริเวณพื้นที่เขาตาปู ในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จ.พังงา เพื่อประเมินเสถียรภาพและความเสี่ยงต่อการพังทลายจากการถูกกัดเซาะของน้ำทะเล จากกรมทรัพยากรธรณี และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยมีนายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา และหน่วยงานในพื้นที่ ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จ.พังงา
นายวราวุธ กล่าวว่า จากกรณีที่มีการพังทลายของแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีหลายแห่งของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา จึงมีความห่วงใยต่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และไม่อยากให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างทางธรณีที่มีคุณค่าความสำคัญทางประวัติศาสตร์เช่นนี้อีก จึงได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการสำรวจอย่างเร่งด่วนเพื่อหาแนวทางอนุรักษ์ต่อไป
การอนุรักษ์ ‘เขาตาปู’ ถือได้ว่าเป็นการสู้กับธรรมชาติ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำลังส่งผลกระทบต่อสภาพทางธรณีวิทยา และอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง จึงต้องมีการศึกษาอย่างจริงจัง เพื่ออนุรักษ์ให้ ‘เขาตาปู’ เป็นแลนด์มาร์คของ จ.พังงา และเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยไปให้ได้ยาวนานที่สุด และการศึกษาในครั้งนี้ จะเป็นการยกระดับการดำเนินงานด้านธรณีวิทยาของประเทศไทยอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้เร่งสำรวจแหล่งธรณีวิทยาที่สำคัญของประเทศไทย ที่มีความเสี่ยงต่อการพังทลายเช่นนี้ เพื่อวางแนวทางการป้องกันก่อนที่จะต้องสูญเสียแหล่งสำคัญทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ไป
ด้าน นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรธรณีได้ส่งทีมปฏิบัติภารกิจ "SAVE เขาตาปู" เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการพังทลาย โดยใช้วิธีการสำรวจธรณีเทคนิค ธรณีวิศวกรรม (การวัดรอยแตกรอยแตก คำนวณอัตราการกัดเซาะ โดยเครื่อง 3D Scanner) การสำรวจธรณีฟิสิกส์ ธรณีวิทยาโครงสร้างพื้นผิวท้องทะเล โดยเครื่องวัดคลื่นไหวสะเทือน (marine seismic) หยั่งน้ำลึก (echo sounder) และการสำรวจด้านอุทกศาสตร์ เพื่อวัดทิศทางการไหลของกระแสน้ำและความสูงคลื่น เป็นต้น
สำหรับมาตรการและแนวทางการดำเนินงานของกรมทรัพยากรธรณีเมื่อได้ข้อมูลแล้วจะวิเคราะห์หาแนวทางการอนุรักษ์ซึ่งอาจเป็นการเสริมความแข็งแรง เพิ่มเสถียรภาพของฐานราก โดยไม่ให้เสียทัศนียภาพ การใช้หลักเทคนิควิศวกรรมฐานราก ลดความรุนแรงของคลื่นที่จะเข้าปะทะหรือส่งผลต่อฐานราก ทั้งนี้ การดำเนินการจะเป็นแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวังติดตามการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
‘เขาตาปู’ เป็นอัตลักษณ์ที่สวยงามและมีความโดดเด่นทางธรณีวิทยาแห่งหนึ่งของประเทศไทย มีรูปร่างคล้าย "ตาปู" นับเป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญของ จ.พังงา และของประเทศไทย หลายคนรู้จักในนามเกาะเจมส์บอน ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากในแต่ละปี
ปัจจุบันโครงสร้างธรณีวิทยาของเขาตาปูแห่งนี้ อาจมีเสถียรภาพที่เสี่ยงต่อการพังทลายจากหินร่วง ที่ผ่านมาพบเหตุการณ์พังทลายปรากฏเป็นข่าวมาแล้วหลายครั้ง อาทิ บริเวณหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี เกาะทะลุ จ.พังงา และปราสาทหินพันยอด จ.สตูล
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline