เวลาเดินชมภาพจิตรกรรมฝาผนัง หรือหุ่นปูนปั้นรูปร่างหน้าตาแปลกๆ เคยสงสัยกันหรือไม่ว่าเจ้าตัวเหล่านั้นคืออะไร ไม่รู้ว่าจินตนาการของคนที่ได้เห็น กับจิตนาการของช่างฝีมือที่สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมานั้นเหมือนกันหรือไม่ แล้วสัตว์เหล่านี้มีต้นกำเนิดมาจากอะไร
ชวนไปเดินเลาะเลียบพระนคร เดินเข้าวัดหลวง ตามหา “สัตว์หิมพานต์” ที่บางตัวก็คุ้นๆ หน้า บางตัวก็ไม่เคยรู้จัก แต่สัตว์เหล่านี้ล้วนมาจากฝีมือของช่างสมัยโบราณ ที่สร้างสรรค์ผลงานส่งผ่านความงดงามและความเชื่อมาจนถึงยุคปัจจุบัน
ก่อนจะเข้าไปถึงเรื่องสัตว์หิมพานต์ ต้องมีความรู้พื้นฐานกันก่อนเพื่อการชมที่เพลิดเพลิน สัตว์หิมพานต์เหล่านี้ เป็นสิ่งที่อ้างองตาม “คติไตรภูมิ” ที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยได้รับอิทธิพความเชื่อมาจากอินเดียและศรีลังกา “คติไตรภูมิ” คือความเชื่อที่เกี่ยวกับโลกและจักรวาล
ในทางจิตวิสัย จักรวาลประกอบด้วย 3 ภูมิ คือ กามภูมิ (คือภูมิที่มนุษย์อยู่ คือผู้ที่ยังมีความรักโลภโกรธหลง) รูปภูมิ (เป็นชั้นที่อยู่ของผู้ปฏิบัติดี เทพ เทวดา หรือแม้แต่พระพุทธเจ้าที่ยังยึดติดอยู่ในรูป) และ อรูปภูมิ (คือชั้นแห่งการหลุดพ้น ไม่ยึดติดในรูป ไม่เวียนว่ายตายเกิด หรือผ่านการนิพพานมาแล้ว)
ส่วนในทางวัตถุวิสัย จักรวาลมีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง ล้อมรอบด้วยภูเขา 7 ชั้น แต่ละชั้นขั้นด้วยทะเลสีทันดร ถัดออกไปด้านนอกเป็นมหาสมุทรไปจนสุดขอบจักรวาล ท่ามกลางมหาสมุทรมีแผ่นดินใหญ่อยู่ที่ 4 ทิศของเขาพระสุเมรุ แผ่นดินที่รู้จักกันดีคือ ชมพูทวีป อันเป็นที่อยู่ของมนุษย์ และเป็นพื้นที่ของป่าหิมพานต์ ในป่าหิมพานต์นั้นประกอบด้วยพรรณไม้และสัตว์แปลกมากมาย
สำหรับ “สัตว์หิมพานต์” ที่ปรากฏตัวอยู่ในภาพจิตรกรรมฝาผนังและประติมากรรมต่างๆ นั้นก็อ้างอิงตามคติไตรภูมิ รวมถึงความเชื่อท้องถิ่น และประเพณีหลวง อีกทั้งยังมีสอดแทรกอยู่ในวรรณกรรมต่างๆ ด้วย ทั้งนี้ การสร้างสรรค์สัตว์หิมพานต์นั้นขึ้นอยู่กับจิตนาการของช่างด้วยเช่นกัน การเลือกใช้สัตว์หิมพานต์ชนิดไหนจึงไม่มีถูกผิด หรือการปรับเปลี่ยนสัตว์หิมพานต์ไปทำหน้าที่ต่างๆ หรือเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งใด ก็ขึ้นอยู่กับการสร้างสรรค์ด้วยเช่นกัน
พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
“พระที่นั่งพุทธไธสวรรย์” เดิมเป็นพระที่นั่งภายในพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธสิหิงค์” พระพุทธรูปประจำวังหน้าที่ถูกอัญเชิญมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และปัจจุบันอยู่ภายในพื้นที่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
สัตว์หิมพานต์ตัวแรกที่พบได้ก่อนเข้าไปด้านในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ก็คือ “นกทัณฑิมา” มีลักษณะคล้ายครุฑแต่ไม่ใช่ตัวเดียวกัน นกทัณฑิมาที่หัวจะมีหงอน มีจงอยปากใหญ่และงุ้ม มีแขนและลำตัวคล้ายคน ใต้ท้องแขนมีแผงขน มือมี 5 นิ้ว กลางหลังมีปีก มีหางแบบไก่ มีขาเป็นนก และมีกระบองคู่กาย มีลักษณะเป็นนักรบ มีหน้าที่ยืนถือกระบองเฝ้าอยู่เชิงเขาพระสุเมรุ มีอิทธิฤทธิ์และพละกำลังมาก ประติมากรรมส่วนใหญ่ที่เห็นจะยืนเฝ้าอยู่ด้านหน้าอาคารสำคัญ
เข้าไปภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ สักการะองพระพุทธสิหิงค์ แล้วสังเกตภาพจิตรกรรมฝาผนังส่วนบนรอบๆ จะเห็นเป็นภาพเทพชุมนุม ซึ่งทุกองค์หันหน้าเข้าสู่พระประธาน ฝาผนังด้านล่างจะเป็นจิตรกรรมเกี่ยวกับพุทธประวัติในตอนต่างๆ ในแต่ละภาพก็จะเห็นว่ามีความเชื่อไตรภูมิคติ รวมถึงสัตว์หิมพานต์เข้าไปอยู่ในภาพด้วย เช่น พุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าประสูติ ก็จะเห็นพระอินทร์อยู่ในภาพด้วย หรือตอนพระพุทธเจ้าทรงชนะมาร มีพระแม่ธรณีบีบมวยผมและเหล่าสัตว์หิมพานต์ ยักษ์ ลิง มนุษย์ อยู่ในภาพด้วย
ด้านหลังองค์พระพุทธสิหิงค์มีตู้เก็บพระไตรปิฎก เป็นตู้ลายรดน้ำ ลายทองพื้นดำ เกี่ยวกับมหากาพย์รามายณะ หรือรามเกียรติ์ ในตอนยกทัพสู้กัน ก็มีการใช้สัตว์หิมพานต์มาเป็นพาหนะ อย่างเช่น รสชสีห์ คชสีห์ และ กิเลน เรียกว่าเป็นรามเกียรติ์ฉบับไทยๆ ที่ผสมผสานความสร้างสรรค์ด้วยการดึงสัตว์หิมพานต์มาใช้ด้วย
และยังมีฉากลับแล เป็นลายรดน้ำ ภาพรามเกียรติ์ ตอนตัดศรพรหมมาศ อินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ยังประกอบไปด้วยสัตว์หิมพานต์หลายชนิด เช่น นกหัสดายุ ที่ถูกใช้เป็นพาหนะเช่นกัน
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
“วัดพระศรีรัตนศาสดาราม” หรือ “วัดพระแก้ว” เป็นวัดประจำพระราชวังหลวง แบบเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ สมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา
ด้านในวัดพระแก้ว จุดหนึ่งที่ถือว่าเป็นไฮไลต์ก็คือ “ฐานไพที” ที่ประกอบด้วย ปราสาทพระเทพบิดร พระมณฑป และพระศรีรัตนเจดีย์ หากใช้โลกสัณฐานตามคติไตรภูมิ ก็จะพบว่ามีเขาพระสุเมรุ (คือด้านบนฐานไพที) มีป่าหิมพานต์ล้อมรอบ (เป็นต้นไม้ที่อยู่รายล้อมก่อนขึ้นฐานไพที) และยังมีสัตว์หิมพานต์ที่คอยปกปักษ์รักษาฐานไพที นอกจากนี้ ด้านบนฐานไพทียังมีบุษบกพระราชลัญจกรของพระมหากษัตริย์ทั้ง 10 พระองค์ สัตว์หิมพานต์เหล่านี้ก็ยังช่วยดูแลอยู่ด้วยเช่นกัน
ประติมากรรมรูปสัตว์หิมพานต์ที่คอยดูเลบริเวณฐานไพทีมีอยู่หลายตัว ได้แก่ อัปสรสีห์ อสุรวายุภักดิ์ อสุรปักษี สิงหพานร กินนร กินรี เทพปักษี เทพนรสิงห์
บริเวณหอพระมณฑป ด้านบนฐานไพที ก็ยังมีสัตว์หิมพานต์ที่คอยดูแลด้วยเช่นกัน อย่าง ครุฑ ที่คอยดูแลอยู่รอบๆ ด้านบนจะเป็นเทพเทวดา มียักษ์ที่คอยดูแลฐานของอาคารหอพระมณฑป และเชื่อมต่อกับโลกมนุษย์ด้านล่างด้วยบันไดนาค ที่อยู่ในลักษณะของ มนุษยนาค คือพญานาคที่เนรมิตกายให้เป็นมนุษย์
นอกจากฐานไพที บริเวณ “พระอุโบสถ” วัดพระแก้ว ก็เปรี้ยบเสมือนโลกมนุษย์กับพระพุทธเจ้าเช่นกัน โดยรอบพระอุโบสถเป็นป่าหิมพานต์ เห็นได้จากภาพวาดต้นไม้และก้อนหินรอบๆ ด้านนอก จากนั้น ก่อนเข้าไปด้านในพระอุโบสถก็ยังมีสิงห์ (เป็นสิงห์ในแบบสิงห์เขมร) คอยเฝ้าพิทักษ์รักษาอยู่บริเวณทางขึ้น และรอบๆ ฐานของพระอุโบสถก็ยังมี ครุฑยุดนาค ในฐานะของสัตว์หิมพานต์ ประดับอยู่โดยรอบ
ด้านในพระอุโบสถประดิษฐาน “พระแก้วมรกต” เป็นพระประธาน ด้านหลังเป็นภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับคติไตรภูมิ จิตรกรรมด้านข้างเป็นภาพพระปฐมสมโพธิกถาและชาดก รวมทั้งภาพกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคและทางสถลมารค และจิตรกรรมด้านหน้าเป็นภาพมารผจญ
เหล่าสัตว์หิมพานต์ที่ปรากฏอยู่บนภาพจิตรกรรมฝาผนัง หรือเป็นประติมากรรมประดับตามสถานที่ต่างๆ ล้วนเกิดจากคติความเชื่อ ที่ถูกผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์ของช่างฝีมือในอดีต ก่อนจะกลายมาเป็นผลงานชั้นเลิศที่ควรคู่แก่การเดินชมเป็รอย่างยิ่ง และเพื่อให้งานศิลปกรรมเหล่านี้ยังคงอยู่ต่อไปนานๆ ก็ขอความร่วมมือทุกคน เมื่อไปชมแล้วอย่าจับต้องภาพจิตรกรรม หรือประติมากรรมต่างๆ เพราะอาจเกิดความชำรุดเสียหายได้
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline