หลังจากที่มีข่าวว่า “วัดเอี่ยมวรนุช” แห่งย่านบางขุนพรหมบางลำพู จะถูกเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน "สถานีบางขุนพรหม" ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ จนสร้างความตกใจให้แก่ทางวัด รวมถึงประชาชนในละแวกใกล้เคียง ก่อนที่ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเข้ามาชี้แจงคลายข้อกังวลประเด็นเวนคืนที่ดินเพื่อทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ กับทางท่านเจ้าอาวาส และย้ำว่า รฟม. ไม่เคยกำหนดเวนคืนพื้นที่วิหารและเจดีย์เก่าของวัดตามที่ปรากฏในข่าว รวมทั้งจะมีการพิจารณาหาแนวทางลดผลกระทบในระหว่างการก่อสร้างที่อาจเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ชื่อของ “วัดเอี่ยมวรนุช” เป็นที่รู้จักขึ้นมา และทำให้มีพุทธศาสนิกชนที่ได้ยินได้ฟังข่าว ต่างเดินทางมาเยี่ยมเยือนและกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดเอี่ยมวรนุชแห่งนี้เป็นจำนวนมากดังนั้นวันนี้จึงจะขอพาไปทำความรู้จักกับ “วัดเอี่ยมวรนุช” ผ่านไฮไลต์ 10 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดแห่งนี้กัน
สำหรับประวัติของวัดเอี่ยมวรนุช เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ.2327 เดิมชื่อ "วัดท้องคุ้ง" ต่อมาปลัดนุชได้เป็นผู้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ ชาวบ้านจึงเรียกว่า “วัดปลัดนุช” และต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ยายเอี่ยมได้รวบรวมศรัทธาสร้างพระอุโบสถ พระองค์จึงมีพระราชดำรัสว่าควรมีชื่อผู้สร้างร่วมอยู่ในวัดนี้ด้วย วัดนี้จึงมีชื่อว่า “วัดเอี่ยมวรนุช” นับแต่บัดนั้น โดยวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2490 ทั้งนี้ ไฮไลต์หรือจุดสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดเอี่ยมวรนุชนั้นมีมากถึง 10 จุดน่าสนใจด้วยกัน ได้แก่
1. “หลวงพ่อบางประสิทธิโชค” หรือ “พระอีบาง” ซึ่งประดิษฐานอยู่บริเวณด้านหน้าอุโบสถ เล่ากันว่าพระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ที่เสียชีวิตจากการจมน้ำตาย ผู้สร้างได้ตั้งจิตอธิษฐานขออย่าได้มีน้ำมาคร่าชีวิตมนุษย์อีก จึงมีความเชื่อว่าหากพระอีบางประดิษฐานอยู่ที่ไหนที่นั่นจะแห้งแล้ง ต่อมาพระอีบางได้มาประดิษฐานอยู่ที่วัดเอี่ยมวรนุชตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2527 ซึ่งวันนั้นฝนฟ้าก็ตกกระหน่ำ ไม่มีวี่แววว่าจะแล้งและพระอีบางหรือหลวงพ่อบางประสิทธิโชคก็ได้ประดิษฐานอยู่คู่วัดเอี่ยมวรนุชมานับแต่นั้น
2. “หลวงพ่อสารพัดช่าง” ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ โดยเป็นพระพุทธรูปองค์รองประธาน หลวงพ่อสารพัดช่างแต่เดิมนั้นเป็นพระประธานของวัดสารพัดช่าง ที่ตั้งอยู่บริเวณวังบางขุนพรหม เมื่อจะมีการสร้างวังบางขุนพรหมขึ้น ก็ได้ใช้พื้นที่ของวัดสารพัดช่างในการสร้างวัง และได้อัญเชิญหลวงพ่อสารพัดช่างมาประดิษฐานไว้ที่วัดเอี่ยมวรนุชแทน
3. “พระสีวลี” ประดิษฐานอยู่ทางขวาของพระอุโบสถ (หันหน้าออกจากพระอุโบสถ) โดยคนที่มากราบสักการะพระสีวลีมีความเชื่อกันว่า จะได้รับโชคลาภ เนื่องจากพระสีวลีนั้นเป็นพระอรหันต์ที่ได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ให้เป็นเอตทัคคะผู้เลิศในทางผู้มีลาภมากนั่นเอง
4. "วิหารหลวงปู่ทวด" ซึ่งภายในประดิษฐาน “หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” อันเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วไป วิหารหลวงปู่ทวดนี้เปิดทุกวัน ใครผ่านไปผ่านมาก็สามารถแวะเข้ามากราบไหว้เพื่อเป็นสิริมงคลกับตัวเองได้
5. “พระโพธิสัตว์กวนอิม” ประดิษฐานอยู่ในวิหารเจ้าแม่กวนอิมซึ่งมีผู้สร้างถวายให้วัดเอี่ยมวรนุช องค์เจ้าแม่เป็นสีทองงามสง่า เป็นที่เคารพศรัทธาโดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีน
6. “พระศรีอริยเมตไตรย” ประดิษฐานในวิหารเจ้าแม่กวนอิมโดยชาวพุทธเชื่อว่าพระศรีอริยเมตไตรยหรือพระศรีอาริย์จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ 5 และองค์สุดท้ายแห่งภัทรกัปป์นี้
7. “พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต” ประดิษฐานในวิหารเจ้าแม่กวนอิมเช่นเดียวกัน ท่านเป็นพระพุทธเจ้าในนิกายมหายาน พระนามของท่านหมายถึงพระตถาคตเจ้าผู้เป็นบรมครูแห่งยารักษาโรค ผู้มีรัศมีสีน้ำเงินดังไพลิน องค์พระจึงเป็นสีน้ำเงินดังที่เห็น
8. “พุทธเจดีย์ปรินิพพาน” หรือเจดีย์ถวายพระเพลิงพระศาสดาลักษณะเป็นมณฑปเล็กๆ สีขาว ภายในประดิษฐานพระเจ้าเข้านิพพานซึ่งอาจจะไม่ค่อยได้เห็นเจดีย์ลักษณะนี้กันสักเท่าไรนักที่วัดอื่นๆ
9. “พระพรหม” หนึ่งในเทพเจ้าสูงสุดตามคติในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยพระพรหมแห่งวัดเอี่ยมวรนุชเป็นพระพรหม 5 พระพักตร์ 10 กร โดยตำนานพราหมณ์ฮินดูเล่ากันว่า แต่เดิมพระพรหมมี 5 หน้า แต่ครั้งหนึ่งได้กล่าววาจาสบประมาทพระศิวะ พระศิวะจึงบันดาลอิทธิฤทธิ์ใช้ดวงตาที่ 3 เพ่งที่หน้าพระพรหมจนเหลือเพียง 4 หน้า
10. “หลวงปู่ชีวกโกมารภัจจ์” บรมครูแห่งการแพทย์แผนโบราณตำนานเล่าว่าท่านเป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าและพระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธ ได้รับยกย่องให้เป็นแพทย์ต้นแบบของแพทย์แผนโบราณในหลายประเทศแถบเอเชีย
ผู้ที่อยากมาเยี่ยมเยือน “วัดเอี่ยมวรนุช” สามารถเดินทางมาได้ตามศรัทธา โดยวัดตั้งอยู่บนถนนสามเสน แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กทม.ติดกับสี่แยกบางขุนพรหม ใกล้กับธนาคารแห่งประเทศไทย หากมาจากเทเวศร์ให้ใช้ถนนสามเสนมุ่งหน้ามาทางบางลำพู ผ่านแยกบางขุนพรหมมาเล็กน้อยจะเห็นวัดตั้งอยู่ทางซ้ายมือ