พบจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทยดั้งเดิม สัตว์ป่าสุดหายากตัวใหม่มีขนาดใหญ่มากที่ต้นแม่น้ำเพชร แห่งผืนป่าแก่งกระจาน ถือเป็นสัญญานดีในการอนุรักษ์ธรรมชาติและการผลักดันผืนป่าแก่งกระจานสู่มรดกโลกแห่งใหม่ของไทย
นายมานะ เพิ่มพูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โพสต์ภาพ “จระเข้น้ำจืด” สายพันธุ์ไทยดั้งเดิม สัตว์ป่าหายากมาก ที่ถ่ายได้จากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า หัวหน้า อช.แก่งกระจานระบุ เป็นจระเขน้ำจืดตัวใหม่ที่พบเพิ่มเติมอีก 1 ตัวจากผืนป่าแห่งนี้
ทั้งนี้ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้โพสต์ข้อความและภาพการพบจระเข้น้ำจืดตัวใหม่ ผ่านเฟซบุ๊ก บัญชีรายชื่อ มานะ เพิ่มพูน ดังนี้
ความสุขของคนทำงาน
ในวินาที่ที่เปิดกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า เจอสัตว์ป่าที่หายยากมากในธรรมชาติและกำลังจะสูญพันธ์ุไปจากธรรมชาติ คือ จระเข้สายพันธ์ไทยดั้งเดิม ในต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี เหนือบ้านโป่งลึกและบ้านบางกลอย ยืนยันสถานะภาพ ยังคงอยู่ได้ ไม่ได้พบภาพใหม่มานานและยืนยันได้มากกว่าหนึ่งตัว ที่บันทึกภาพได้ จากที่เฝ้าติดตามมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ความพยายามในการอนุรักษ์พื้นป่าให้เป็นผืนป่าขนาดใหญ่เพื่อให้สัตว์ป่าสามารถดำรงอยู่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่เราต้องดำเนินการอยู่ต่อไป เสือโคร่งพวกเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นอีก 1 จระเข้น้ำจืด เจอเพิ่มขึ้นอีก 1 ส่งสัญญาญดีขึ้นในการอนุรักษ์ในพื้นอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
สำหรับจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย เป็นสัตว์ป่าที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากประชากรในธรรมชาติของจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยมีจำนวนน้อยมาก
ปัจจุบันพบจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยอาศัยอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์เพียง 6 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด
อย่างไรก็ดีจากการศึกษาและการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ในปี พ.ศ. 2548 และ พ.ศ. 2549 ได้มีการดำเนินโครงการนำร่องการปล่อยจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติที่อุทยานแห่งชาติปางสีดาโดยจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยที่ปล่อยสามารถอาศัยอยู่รอด และแพร่ขยายพันธุ์ได้ในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ถือเป็นความสำเร็จในการปล่อยจระเข้คืนถิ่น
โครงการนี้ทำให้ทราบข้อมูลพื้นฐานทางนิเวศที่เหมาะสมของจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย จึงนำไปสู่การดำเนินโครงการอนุรักษ์จระเข้พันธุ์ไทยในประเทศไทย เพื่อกำหนดทิศทางและแนวทางการอนุรักษ์จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย และสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนการอนุรักษ์จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยได้อย่างแท้จริง
สำหรับผืนป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และผืนป่าเชื่อมโยง เป็นหนึ่งในพื้นที่ประเทศไทยได้ผลักดันให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ซึ่งการค้นพบจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทยดั้งเดิมตัวใหม่ ถือเป็นสัญญานดีในการอนุรักษ์ธรรมชาติและการผลักดันผืนป่าแก่งกระจานสู่มรดกโลกแห่งใหม่ของไทย