หลายปีที่ผ่านมานี้ “ถั่งเช่า” กลายเป็นที่พูดถึงในบรรดาคนที่อยากเสาะหาอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ว่าเป็นสิ่งที่มีสรรพคุณทางยา ช่วยบำรุงร่างกายได้ดี จึงมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหลากหลายยี่ห้อที่โฆษณาว่ามีส่วนผสมหลักคือถั่งเช่า
แต่ว่า “ถั่งเช่า” นั้นกินแล้วดีจริงหรือไม่ ต้องกินแบบไหนถึงจะปลอดภัย มาลองทำความรู้จักกันก่อน
รู้จัก “ถั่งเช่า”
“ถั่งเช่า” หรือ “หญ้าหนอน” เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง เกิดมาจากสปอร์เห็ดราที่ไปเจริญเติบโตบนตัวอ่อนหนอนผีเสื้อ (Cordyceps Sinensis) ซึ่งจำศีลอยู่ใต้ดินในฤดูหนาว แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนจึงทำให้สปอร์เห็ดเติบโตขึ้นโดยดูดสารอาหารจากตัวอ่อนหนอนและงอกขึ้นบริเวณส่วนหัวของตัวหนอน จึงพบว่าถั่งเช่าจะประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนที่เป็นตัวอ่อนของผีเสื้อ และอีกส่วนเป็นสปอร์เห็ด มักพบในเขตภูเขาสูงแถบเทือกเขาหิมาลัย ที่ราบสูงทิเบตและจีน
มีสรรพคุณเชิงเภสัชสมุนไพรหลายอย่าง อุดมไปด้วยสารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ได้แก่ โพลีแซคคาไรด์ (galactomannan), นิวคลีโอไทด์ (adenosine, cordycepin), cordycepic acid, กรดอะมิโน และสเตอรอล (ergosterol, beta-sitosterol) นอกจากนี้ ยังประกอบด้วยสารอาหารสำคัญอื่นๆ เช่น โปรตีน วิตามินต่างๆ ( Vit E, K, B1, B2 และ B12) และแร่ธาตุต่างๆ (โพแทสเซียม โซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี และซิลิเนียม) เป็นต้น
แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ถั่งเช่าที่พูดถึงเป็นส่วนใหญ่กันนี้หมายถึง “ถั่งเช่าทิเบต” ที่ได้รับการยอมรับกันมาอย่างยาวนาน แต่การเพาะเลี้ยงเพื่อให้ได้นำมาทำสมุนไพรนั้นค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อน
ด้วยวิวัฒนาการต่างๆ จึงทำให้เกิด “ถั่งเช่าสีทอง” ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงในขวด ควบคุมอุณหภูมิให้มีความเย็น และควบคุมความชื้น ซึ่งเมื่อเพาะเลี้ยงได้สะดวกกว่า ได้ผลผลิตมากกว่า ทำให้ราคาไม่แพงเท่าถั่งเช่าทิเบต จึงเป็นที่นิยมในการนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารเสริม ซึ่งก็มีสารสำคัญต่างๆ ใกล้เคียงกับถั่งเช่าทิเบต (ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเทคนิคการเพาะเลี้ยงด้วย)
สรรพคุณของถั่งเช่า
“ถั่งเช่า” ถือได้ว่าเป็นยาสมุนไพรที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศจีนนานนับศตวรรษ มีสรรพคุณทางยาแผนโบราณที่ใช้กันแพร่หลายในประเทศจีนในเรื่องของกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศ และใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงอวัยวะภายใน เช่น ปอด ตับ และไต เป็นต้น
จากการทดลองในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง พบว่า ถั่งเช่ามีฤทธิ์ปรับสมดุลของร่างกาย กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านมะเร็ง ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านการอักเสบ และกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการศึกษาทางคลินิกยังมีน้อยที่ศึกษาในคนอย่างเป็นระบบมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นกรณีศึกษาเท่านั้น
ข้อควรระวังในการใช้ถั่งเช่า
1.ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากถั่งเช่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ จะไปเสริมฤทธิ์กับยาลดน้ำตาลในเลือด
2.ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มป้องกันการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด เนื่องจากถั่งเช่ามีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด
3.ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressive) ทั้งนี้ เพราะว่าถั่งเช่ามีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน
4.ขนาดบริโภคของผู้ใหญ่ (อายุมากกว่า 18 ปี) ในแต่ละวัน ประมาณ 3-9 กรัม ชงกับน้ำร้อน หรือประกอบอาหาร ขนาดการใช้ที่มากเกินไปอาจจะก่อเกิดผลเสียได้
5.การใช้ในหญิงมีครรภ์ หญิงในนมบุตร และในเด็ก ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ
6.ห้ามใช้ในคนที่แพ้เห็ด Cordyceps ผู้ป่วยที่มีอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และผู้ป่วยที่มีการเต้นของหัวใจผิดปกติ
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลว่า ในกรณีของผู้ป่วยที่เป็นโรคไต สามารถรับประทาน “ถั่งเช่า” เพื่อช่วยบำรุงร่างกาย ช่วยปรับสมดุลการทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะให้ดีขึ้น เป็นการใช้ในลักษณะการช่วยเสริมการรักษาหลักให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น จึงห้ามละทิ้งการรักษาหลักโดยแพทย์ผู้รักษา และจะต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง อยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจต้องมีการตรวจติดตามการทำงานของไตอยู่เป็นระยะ
นอกจากนี้ กลุ่มผู้บริโภคทั่วไปที่ใส่ใจสุขภาพ ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างพร่ำเพรื่อ ควรใช้ด้วยความเข้าใจ จึงควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกร หรือผู้ประกอบวิชาชีพที่มีความรู้ด้านสมุนไพรทั้งก่อนและในระหว่างการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้นๆ อย่างสม่ำเสมอ
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com หรือชมคลิปต่างๆ ได้ที่ Youtube : Travel MGR