xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.-อย.เอาจริงลงโทษโฆษณาถั่งเช่าโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสทช.-อย. จับมือฟันโฆษณาถั่งเช่าเกินจริง ย้ำดำเนินการเอาผิดมาตลอดตั้งแต่ปี 2561 ทำให้การอวดอ้างสรรพคุณทางสื่อวิทยุ และโทรทัศน์น้อยลง ส่วนอำนาจเอาผิดการโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหน้าที่ของ อย. กับกระทรวงดีอีเอส

พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า จากการที่ กสทช. ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ในการจัดการปัญหาการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์มาตั้งแต่กลางปี 2561 มีการพัฒนากระบวนการทำงานร่วมกัน ได้แก่ การบูรณาการบังคับใช้กฎหมาย โดย กสทช. ทำการตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาทางโทรทัศน์ และ อย. เป็นผู้วินิจฉัยข้อความการโฆษณานั้น ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีและมีการขยายผลการดำเนินการไปยังส่วนภูมิภาค โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในการตรวจวินิจฉัยเนื้อความการโฆษณาทางสื่อวิทยุกระจายเสียง

ปรากฏผลการดำเนินการจนถึงปัจจุบันคือ ตรวจจับการโฆษณาทางโทรทัศน์ดิจิทัลได้ 17 ราย 77 กรณีโฆษณา โทรทัศน์ดาวเทียม 90 ราย 190 กรณีโฆษณา และวิทยุ 2,150 ราย 4,058 กรณีโฆษณา กสทช. มีอำนาจในการกำกับดูแลการโฆษณาทางสื่อโทรทัศน์ และวิทยุกระจายเสียงเท่านั้น ในส่วนของการโฆษณาทางสื่ออินเทอร์เน็ต และสื่อสังคมออนไลน์จะมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมมือกับ อย. ในการจัดการปัญหาการโฆษณา

จากความร่วมมือก่อให้เกิดการปรับตัวของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ และวิทยุกระจายเสียงอย่างกว้างขวาง บางรายที่เคยโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโดยมีอาจารย์ภาษาจีนชื่อดังเป็นพรีเซ็นเตอร์ มีการใช้ตัวแสดงลักษณะคล้ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง นอนติดเตียง หรือไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวก แต่เมื่อรับประทานถั่งเช่าของอาจารย์ มีอาการดีขึ้น เดินได้ ลุกไปเข้าห้องน้ำเองได้ ใช้ยาแผนปัจจุบันน้อยลง หรือ การโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เห็ดหลินจือโดยพรีเซ็นเตอร์นักแสดง-พิธีกรสาวสองพันปี ที่กล่าวอ้างว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง กล้ามเนื้ออ่อนแรง เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์แล้วจะมีอาการดีขึ้น ถึงขั้นปีนต้นไม้ และขี่จักรยานได้ ซึ่งเป็นการจัดฉากการโฆษณาลวงโลก เพื่อหลอกลวงผู้บริโภคนั้น โดนจับ ปราบ ส่งดำเนินคดีจนเข็ดหลาบ และได้เลิกการโฆษณาในลักษณะดังกล่าวไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม กสทช. ตรวจสอบพบว่า การจัดฉากโฆษณาลวงโลกในลักษณะดังกล่าว ได้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง โดยผู้โฆษณารายใหม่ คือการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารถั่งเช่าซึ่งมีบุคคลในแวดวงบันเทิงเป็นพรีเซ็นเตอร์ จัดฉากลวงโลกแบบเดิม อ้างว่าผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าดังกล่าว สามารถรักษาได้สารพัดโรค เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต และโรคเรื้อรังต่างๆ มีนักแสดง แสดงเป็นผู้ป่วยอาการหนัก สภาพร่างกายทรุดโทรม แต่เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้วกลับหายจากอาการป่วยได้อย่างมหัศจรรย์ ซึ่งไม่เป็นความจริง

"เรื่องนี้ กสทช. ไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อการโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภคครั้งใหญ่กลับมา เราจะจับมือกับ อย. ให้แน่นกว่าเดิมและร่วมกันกวาดล้างการโฆษณาอีกครั้ง เพื่อกำจัดโฆษณาลวงโลกเหล่านี้ให้สิ้นซาก"

พล.ท.พีระพงษ์ กล่าวอีกว่า ผู้ประกอบกิจการเหล่านี้ขาดจิตสำนึก ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ประสงค์ต่อรายได้ และประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม แม้จะได้รับคำสั่งเตือนให้ระงับการโฆษณาไปแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กสทช. จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ลงโทษโดยการปรับสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเป็นเงิน 5 แสนบาท ไปแล้ว 1 ราย และมีอีก 2 ราย ที่ อย. วินิจฉัยมาแล้วว่าเป็นการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย และคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เตรียมเสนอต่อบอร์ด กสทช. เพื่อลงโทษปรับอีกรายละ 5 แสนบาท

นอกจากจะดำเนินการปรับสถานีโทรทัศน์แล้ว กสทช. จะส่งเรื่องไป อย. เพื่อดำเนินคดีกับพิธีกร พรีเซ็นเตอร์ และพิจารณาเกี่ยวกับการเพิกถอนทะเบียนตำรับอาหารด้วย เนื่องจากกฎหมายของ กสทช. ให้อำนาจในการกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์เท่านั้น มิได้ครอบคลุมถึงพิธีกร และเจ้าของผลิตภัณฑ์

“ค่าปรับของ กสทช.นั้นแพง กฎหมายกำหนดไว้สูงถึงไม่เกิน 5 ล้านบาท และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 1 แสนบาท ไม่เพียงแค่สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเท่านั้นที่โดนลงโทษปรับ แต่ยังมีสถานีวิทยุอีก 2 ราย ที่โดนลงโทษปรับรายละ 1 แสนบาท เนื่องจากมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริงซ้ำ ภายหลังได้รับคำสั่งเตือนด้วย อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า อัตราค่าปรับของ กสทช. นั้นสูง ยิ่งเป็นวิทยุรายเล็กๆ โดนปรับ ก็อาจส่งผลให้ยกเลิกการประกอบกิจการได้ มีข้อมูลว่า มีผู้ประกอบการวิทยุ ขอยกเลิกใบอนุญาตไปแล้วกว่า 260 ราย และนอกจากจะโดนปรับแล้ว ประวัติการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายเหล่านี้จะถูกบันทึกไว้ เมื่อมาขอต่อใบอนุญาตจะถูกลดอายุใบอนุญาตลง อย่างในกรณีของวิทยุ จะเหลืออายุใบอนุญาตเพียง 6 เดือน ซึ่งขณะนี้มีสถานีถูกลดอายุใบอนุญาตไปแล้ว 150 ราย”

นอกจากการโฆษณาถั่งเช่าแล้ว ยังมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกี่ยวกับดวงตา อ้างรักษาสารพัดโรคตา ทั้งโรคต้อทุกชนิด กระจกตาเสื่อม สายตาสั้น-ยาว ตาแห้ง เคืองตา แสบตา บ้างอ้างว่าเพียงแค่รับประทานอาหารเสริมเหล่านี้แล้ว สายตากลับมาเป็นปกติ ไม่ต้องผ่าตัด มองเห็นได้ชัดเจน ในกรณีนี้ กสทช. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ในการวินิจฉัยและให้ความเห็นเกี่ยวกับเนื้อความการโฆษณา จนนำไปสู่การลงโทษปรับ

เรื่องนี้ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ชี้ชัดว่า ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไม่สามารถรักษาโรคได้ การสูญเสียดวงตา และการมองเห็น ถือได้ว่าส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ เพราะถึงแม้ไม่เสียชีวิต แต่การสูญเสียดวงตานั้นทำให้เสียคุณภาพชีวิตทั้งชีวิต ซึ่งเข้าลักษณะความผิดตาม มาตรา 37 ของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 การลงโทษปรับในกรณีนี้สามารถดำเนินการได้เลย ไม่ต้องรอให้มีการสั่งเตือนก่อน เนื่องจากกฎหมายให้อำนาจไว้ และ กสทช. เข้มงวดกับเรื่องนี้มาก จึงได้ดำเนินการปรับสถานีวิทยุที่มีการโฆษณาในลักษณะนี้ไปแล้ว 6 ราย รายละ 5 หมื่นบาท และอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเสนอปรับอีก 3 ราย


ด้านเภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าที่ อย. อนุญาตมี 2 กลุ่ม คือ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ยาแผนโบราณ) และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีถั่งเช่าเป็นส่วนประกอบ เพื่อบำรุงร่างกายทั่วไป เสริมจากการรับประทานอาหารตามปกติ ดังนั้น การโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์จากถั่งเช่าสามารถรักษาสารพัดโรค ทั้งเสริมภูมิคุ้มกัน ลดระดับน้ำตาลในเลือด รักษาภูมิแพ้ เบาหวาน ไต ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็ง เป็นต้น จึงเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาโอ้อวดเกินจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในปี 2563 ที่ผ่านมา อย. ดำเนินคดีโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สุขภาพประเภทอื่นทางสื่อต่างๆ จำนวน 1,388 คดี

ทั้งนี้ ในส่วนความร่วมมือในการจัดการปัญหาโฆษณาผิดกฎหมาย อย. จะเป็นผู้วินิจฉัยความผิดที่พบทางสื่อ และดำเนินคดีกับผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย หรือผู้ทำการโฆษณา ตามกฎหมายที่ อย. รับผิดชอบ ส่วน กสทช. จะเป็นผู้ดำเนินการกับสถานีที่ออกอากาศตามกฎหมายที่ กสทช. รับผิดชอบ โดยตั้งแต่ปี 2561-2563 อย.ได้วินิจฉัยความผิดที่พบส่งให้ กสทช. ดำเนินการแล้ว 250 เรื่อง เป็นผลิตภัณฑ์จากถั่งเช่า 58 เรื่อง ซึ่งผู้โฆษณามักใช้จุดอ่อนของผู้ซื้อ นำเสนอภาพหรือคลิปวิดีโอสัมภาษณ์ผู้ป่วยให้ดูน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น จากที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าแล้วหายจากโรค สามารถกลับมาชีวิตได้เหมือนคนปกติ

"จึงขอเตือนไปยังผู้บริโภคโดยเฉพาะผู้ป่วย ผู้สูงอายุ อย่าหลงเชื่อโฆษณาเหล่านี้ เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้ว ยังอาจทำให้โรคหรืออาการที่เป็นอยู่แย่ลง เสียโอกาสในการรักษา เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องโดยแพทย์ เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง"


กำลังโหลดความคิดเห็น