เป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจในวงการสถาปนิกเมืองไทย เมื่อ “กชกร วรอาคม”ภูมิสถาปนิกหญิงไทย ผู้ก่อตั้ง และ CEO บริษัท Landprocess และ Porous City Network ได้รับรางวัล “2020 UN Global Climate Action Awards”สาขา Women for Results โดยกล่าวว่าเป็น Nature-Based Solutions to Increase Urban Adaptability| Thailand: A landscape architect who is building innovative landscape solutions, making Bangkok more resilient to climate change. ซึ่งมอบให้จากผลงานการออกแบบภูมิทัศน์ของสวนที่โดดเด่นในด้านการแก้ปัญหาด้วยธรรมชาติ เพิ่มความสามารถในการปรับตัวของเมือง ทำให้กรุงเทพฯ มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
รายละเอียดจากเว็บไซต์ unfccc.int/ ยังได้กล่าวถึงโครงการที่กชกร วรอาคม ได้แสดงฝีมือการออกแบบภูมิทัศน์ที่มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ดีต่อชาวเมือง ได้แก่ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี และสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา ซึ่งทั้งสามแห่งนี้ล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่สาธารณะที่ตอบโจทย์คนเมืองที่ต้องการพื้นที่สีเขียว และแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่มากขึ้น ซึ่งเราจะพาไปรู้จักสถานที่ทั้ง 3 แห่งกัน
สำหรับ “อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ” ตั้งอยู่บนพื้นที่ 28 ไร่ ใจกลางเมือง บริเวณข้าง I’m Park จุฬาฯ ซอย 5 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ใกล้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นี่ไม่ได้เป็นเพียงสวนสาธารณะที่มีพื้นที่สีเขียวที่ช่วยฟอกปอดให้ชาวกรุงเพียงอย่างเดียว แต่ยังออกแบบเน้นให้มีพื้นที่ที่สามารถทำกิจกรรมได้หลากหลาย เช่น ออกกำลังกายในยามเช้า-เย็น เป็นจุดนัดพบหรือนัดรวมตัวของกลุ่มเพื่อน เป็นสถานที่สำหรับเดินเล่นสูดอากาศ หรือพาสัตว์เลี้ยงมาเล่น
นอกจากนั้นยังสร้างเป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิดกับนิสิตและคนในชุมชน เมื่อมองไปรอบๆ ที่นี่จะเน้นปลูกต้นไม้ท้องถิ่น เช่น ไม้มะค่า ไม้เต็ง ไม้ตะเคียน แต่ต้นไม้ที่ถือได้ว่าเป็นต้นไม้หลักของอุทยานฯ อย่างต้นจามจุรี สัญลักษณ์ของจุฬาฯ ก็ได้ปลูกไว้ที่นี่ด้วย เพื่อง่ายต่อการดูแล และกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ ตามแนวคิด ป่าในเมือง
ที่นี่ยังสร้างให้มีสระรับน้ำฝนด้านหน้าเพื่อกักเก็บน้ำ เป็นต้นแบบสวนสาธารณะในเมืองในฐานะพื้นที่หน่วงน้ำในเมืองเพื่อเพิ่มน้ำซึมสู่ดิน โดยน้ำทั้งหมดที่กักเก็บได้ จะถูกนำไปใช้ในการหล่อเลี้ยงต้นไม้ในบริเวณสวนทั้งหมด นอกจากนี้สระน้ำนี้ยังมีระบบบำบัดน้ำเสียตามธรรมชาติ โดยน้ำที่ไหลผ่าน Rain Garden จะผ่านกระบวนการบำบัดน้ำเสียโดยรากไม้ของต้นไม้ในสวนจะช่วยกรองน้ำหนึ่งรอบก่อนที่จะไหลลงสระน้ำ และระบายออกไปยังพื้นที่ชุ่มน้ำด้านข้าง ซึ่งกระบวนการนี้ก็จะผ่านการบำบัดโดยธรรมชาติอีกรอบ
ด้าน "อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี" สร้างอยู่บนพื้นที่กว่า 100 ไร่ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยสร้างขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นอาคาร 3 ชั้นที่สร้างเป็นรูปตัว H สื่อความหมายถึงคำว่า Humanity หรือความเท่าเทียมเสมอกันของพลเมืองไทยทุกคน เปิดเป็นสาธารณะประโยชน์ให้คนทั่วไปได้เข้าใช้ ไม่เฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาคารสูง 3 ชั้นนี้มีความลาดเอียงไล่ระดับเหมือนเนินดินขนาดยักษ์ มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 60,000 ตารางเมตร ภายในเปิดให้บริการทางวิชาการและเปิดให้คนทั่วไปเข้าใช้บริการ ประกอบด้วย co-working space ห้องประชุม ศูนย์อาหาร concert hall ห้อง theater ห้องสมุดประชาชน หอจดหมายเหตุ และนิทรรศการหมุนเวียน
แต่ความโดดเด่นนั้นอยู่ที่ "สวนป๋วย" หรือ Puey Park for the People ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นสวนบนหลังคาของอาคาร โดยเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้า (green roof urban farm) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย และใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ประกอบด้วยนาข้าวขั้นบันได แปลงปลูกผักออแกนิก พืชสมุนไพร เปิดให้นักศึกษา คณาจารย์ บุคลากรมหาวิทยาลัย และผู้มีรายได้น้อยได้มาทดลองปลูกพืชผักปลอดสารพิษ เพื่อนำผลผลิตไปรับประทานเอง หรือจะขายเป็นรายได้เสริมให้กับโรงอาหารของมหาวิทยาลัยก็ได้
และ "สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา" ซึ่งอยู่ระหว่างกลางสะพานพระปกเกล้าและสะพานพุทธยอดฟ้า ถือเป็นสวนลอยฟ้าข้ามแม่น้ำแห่งแรกของประเทศไทย และแห่งแรกของโลก เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางสัญจรทางเท้าและจักรยานระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร พร้อมจุดชมวิวที่แสนสวยงามกลางแม่น้ำเจ้าพระยา มีความยาวเพียง 280 เมตร และกว้างเพียง 8.50 เมตร ซึ่งถือว่าไม่ได้กว้างใหญ่นัก แต่ก็เป็นทั้งทางเดิน-ทางจักรยานสัญจร เป็นทั้งมุมพักผ่อน และเป็นจุดชมวิว ทำเป็นสโลปทางเดินต่างระดับให้สามารถใช้พื้นที่กันได้อย่างเต็มที่ โดยได้มีการติดตั้งราวกันตกความสูงประมาณ 2-3 เมตร รวมทั้งติดตั้งลิฟต์สำหรับผู้พิการบริเวณทางขึ้นลงสองฝั่ง ทั้งฝั่งสวนสมเด็จพระปกเกล้าฯ เขตพระนคร และสวนป่าเฉลิมพระเกียรติ เขตคลองสาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการและผู้สูงอายุ
ด้วยข้อจำกัดของโครงสร้างพื้นที่ ต้นไม้บนสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาจึงมีพอประมาณ เน้นการบำรุงรักษาง่าย เหมาะกับสภาพอากาศของกรุงเทพฯ จึงใช้ต้นมะกอกน้ำเป็นไม้ยืนต้นหลัก และพันธุ์พืชไม้ประดับอีกนานาชนิด อาทิ ชาข่อย ใบต่างเหรียญ รัก หญ้าหนวดแมว ยี่โถ ชงโค ต้อยติ่ง เอื้องหมายนา ฯลฯ อาจไม่ร่มรื่นหรือมีร่มเงามากนัก แต่เน้นให้ประชาชนได้เดินเท้า-ขี่จักรยานสัญจร และชมวิวเมืองกรุงเทพฯ งามๆ กันบนสวนลอยฟ้าแห่งนี้
บริเวณโดยรอบสวนลอยฟ้าเจ้าพระยายังเต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างงดงามและเก่าแก่ อาทิ สะพานพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบรมธาตุมหาเจดีย์วัดประยุรวงศาวาส วัดซางตาครูส วัดกัลยาณมิตร ชุมชนกุฎีจีน พระปรางค์วัดอรุณ อาคารไปรษณียาคาร ศาลเจ้าพ่อกวนอูคลองสาน รวมไปถึงสิ่งก่อสร้างใหม่ อาทิ ตลาดยอดพิมาน ห้างไอคอนสยาม เป็นต้น ถือเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กน่าชมของกรุงเทพฯ
.........................................
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR
ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Travel MGR