งานศิลปะปูนปั้นนับว่าเป็นอีกหนึ่งงานฝีมือที่มีการสืบทอดกันมานานกว่าร้อยปี ถือได้ว่าเป็นสมบัติทางศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่าของช่างไทย โดยสามารถชมงานปูนปั้นได้ตามศาสนสถานในลักษณะต่างๆ ที่ประดับเป็นลวดลายประติมากรรมรูปพระพุทธรูป เทวดา และบุคคล ในบริเวณเมืองโบราณสำคัญ วันนี้จึงนำ 5 ผลงานปูนปั้นอันโดดเด่นของวัดต่างๆ ที่อ่อนช้อย และงดงามมาให้ทุกคนได้ยลกัน
วัดมหาธาตุวรวิหาร จ.เพชรบุรี
เริ่มกันที่ “วัดมหาธาตุวรวิหาร” ตั้งอยู่ใจกลางอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เป็นวัดเก่า ไม่มีหลักฐานแน่นอนว่าสร้างสมัยใด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในสมัยทวาราวดี เนื่องจากมีการค้นพบซากอิฐสมัยทวาราวดีอยู่ นอกจากความเก่าแก่แล้ว ที่วัดนี่ยังมีพระปรางค์ห้ายอด ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทันแพร่หลายระดับจังหวัด และเรื่องศิลปะปูนปั้น
หากใครได้มองแหงนหน้าขึ้นมองพระปรางค์สีขาวขนาดใหญ่ จะต้องสะดุดตากับลวดลายปูนปั้นที่อ่อนช้อยงดงาม ที่ประดับประดาอยู่บริเวณหน้าบันของวิหารต่างๆ ซึ่งลวดลายปูนปั้นนี้ถือเป็นเอกลักษณ์สกุลช่างเมืองเพชรบุรี ผู้ที่เดินทางมาวัดแห่งนี้ นอกจากกราบสักการะสิ่งศักดิ์แล้ว ยังสามารถชมศิลปะปูนปั้นได้อย่างละลานตา เพราะแต่ละจุดแตกต่างกัน นับว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปะปูนปั้น ที่บรมครูได้สร้างสรรค์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้
วัดเจ็ดยอด จ.เชียงใหม่
นอกจากความงดงามสกุลช่างเมืองเพชรบุรีแล้ว ในไทยยังมีงานประติมากรรมปูนปั้นที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “ศิลปะล้านนา” งานปูนปั้นที่ปรากฎอยู่ในศิลปะสกุลช่างหนึ่ง ซึ่งมีอายุร่วมสมัยกับอยุธยา เป็นงานปูนปั้นที่งดงามและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี โดยเป็นงานปูนปั้นรูปเทวดาประดับพระวิหารเจ็ดยอด “วัดมหาโพธารามมหาวิหาร” หรือ “วัดเจ็ดยอด”
รูปเทวดา หรือ รูปบุคคลชั้นสูงในศิลปะล้านนา หลักฐานที่มีอยู่ส่วนใหญ่ สร้างตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 20 หรือพุทธศตวรรษที่ 21 ลงมา พระพักตร์รูปเทวดา ของหน้าวิหารเจ็ดยอด แสดงถึงเค้าความนิยมในศิลปะสุโขทัย ที่ยังหลงเหลืออยู่ เครื่องทรงมงกุฎ ภูษาผ้านุ่ง มีแบบมากมายหลายแบบ มีความวิจิตรงดงาม อันสะท้อนการสืบทอดจากศิลปะที่มีอยู่ก่อน งานปูนปั้นประดับผนังด้านนอกของวิหารนี้แบ่งไว้ 2 แถว แต่ละแถวแบ่งช่องสำหรับรูปเทวดานั่ง ที่ยืนพนมมือประดับในส่วนของพื้นที่อันเหมาะสม ตรงหลืบที่เป็นมุมจากการยกเก็จ พื้นหลังของรูปเทวดาเหล่านี้ประดับลายโปร่งประเภทพันธุ์พฤกษา นอกจากประดับผนังให้งดงามแล้ว ยังมีความหมายคือ เล่าเรื่องราวในเรื่องพุทธประวัติ ที่กล่าวถึงเหล่าเทวดาพากันมาชุมนุม ท่ามกลางดอกไม้สวรรค์ที่โปรยปรายลงมา เพื่อแสดงความชื่นชมยินดี
วัดพระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง
“วัดพระธาตุลำปางหลวง” ตั้งอยู่ในเขตตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง อยู่ห่างจากตัวเมืองลำปาง ไปทางทิศตะวันตก เฉียงใต้ประมาณ 18 กิโลเมตร วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองลำปางมาแต่โบราณ ตามตำนานกล่าวว่ามีมา ตั้งแต่สมัย พระนางจามเทวี ในราวพุทธศตวรรษที่ 20 ตอนปลายเป็นวัดไม้ที่สมบูรณ์ที่สุด แห่งหนึ่งของไทย งดงามด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่ มากมาย
ความโดดเด่นของวัดพระธาตุแห่งนี้อยู่ที่ “ซุ้มประตูโขง” เป็นฝีมือสกุลช่างล้านนาที่มีความสวยงาม ก่ออิฐถือปูนทำเป็นซุ้มยอดแหลมเป็นชั้น ๆ มีสี่ทิศ ประดับตกแต่งด้วยลวดลาย ปูนปั้น รูปดอกไม้ และสัตว์ในหิมพานต์ ประตูโขงแห่งนี้ใช้เป็นสัญลักษณ์เมืองลำปางในตราจังหวัดลำปาง
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช
“วิหารพระทรงม้า” ถือเป็นวิหารสำคัญลำดับหนึ่งของ “วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร” จ.นครศรีธรรมราช เพราะภายในวิหารมีมีประติมากรรมปูนปั้นว่าด้วยพุทธประวัติตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชาโดยม้าพาหนะชื่อ “กัณฐกะ” ที่จัดสร้างขึ้นอย่างประณีตบรรจง ถือได้ว่าเป็นงานปูนปั้นอีกหนึ่งแห่งที่สวยงามที่สุดในภาคใต้ วิหารนี้มีชื่อเป็นทางการว่า “วิหารพระมหาภิเนษกรมณ์” แต่คนทั่วไปมักเรียก “วิหารพระม้า” ประติมากรรมปูนปั้นชิ้นนี้ถือได้ว่ามีความโดดเด่นที่สุดของแหล่งมรดกวัฒนธรรมแห่งนี้
ภาพแผงปูนปั้นนูนสูงนี้ เป็นภาพพุทธประวัติตอนออกมหาภิเนษกรมณ์ แสดงภาพของเจ้าชายสิทธัตถะทรงม้ากัณฐกะ มีเทวดาเหาะตามส่งเสด็จและพระยาวัสวดีมารยืนยกมือห้ามอยู่ด้านหน้า เครื่องทรงของรูปบุคคลและลวดลายประดับเทียบได้กับศิลปะอยุธยาในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 22-23
โดยภาพเล่าเรื่องตอนมหาภิเนษกรมณ์เป็นภาพตอนเจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดสินใจละทางโลกออกบวชโดยทรงลักหนี จากพระราชวังในตอนกลางดึก ทรงม้ากัณฐกะที่มีนายฉันนะควบคุมออกจากเมือง ระหว่างทางเหล่าเทวดาคอยส่งเสด็จท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 คอยรองรับเท้าม้า และมีเทวดาปิดปากม้ามิให้ส่งเสียงดังให้ผู้คนรู้ เมื่อพระยาวัสวดีมารทราบก็ออกมายืนขวางมิให้เจ้าชายสิทธัตถะออกบวช
วัดปริวาสราชสงคราม กรุงเทพฯ
นอกจากนี้ที่กรุงเทพฯ มีวัดแห่งหนึ่งที่มีประติมากรรมปูนปั้นร่วมสมัยที่โดดเด่น มีลักษณะดึงดูดใจแก่ผู้ที่พบเห็น ซึ่งวัดที่กำลังกล่าวถึงนั่นก็คือ “วัดปริวาสราชสงคราม” มีงานปูนปั้นร่วมสมัยที่งดงามแปลกตาแตกต่างจากวัดอื่น ซึ่งวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งพระนครและถนนพระรามที่ 3 เดิมชื่อว่า “วัดปริวาส” ซึ่งแต่ก่อนนั้นอาจจะเป็นเพียงสำนักสงฆ์หรือวัดเล็กๆ โดยสันนิษฐานว่าสร้างราวปลายกรุงศรีอยุธยาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาได้รับการบูรณะใหม่แล้วตั้งชื่อว่า “วัดปริวาสราชสงคราม”
ด้านนอกและภายในอุโบสถได้รับการออกแบบใหม่ ด้วยการนำศิลปะร่วมสมัยมาใช้ประดับตกแต่ง อย่างตัวการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่และบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ทั้งหลาย แต่ที่ประชาชนให้ความสนในมากที่สุดคงเป็น ประติมากรรมตัวการ์ตูนและซูเปอร์ฮีโร่ ทั้งสไปเดอร์แมน ซูเปอร์แมน มิกกี้เม้าส์ ผู้เฒ่าเต่า และหมีพูห์ เป็นต้น กลายมาเป็นส่วนประกอบของลวดลายปูนปั้นประดับสีเบญจรงค์งดงามให้ชวนตามหากันอย่างสนุกสนาน โดยไม่ได้ทิ้งแนวคิดหลักเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุ พุทธปรัชญาที่มีในไตรภูมิฯ รวมถึงอดีตชาติของพระพุทธเจ้าที่ยังคงอยู่ผสมผสานกัน
สำหรับความเป็นมาของรูปปั้นแปลกตาเหล่านี้ เกิดขึ้นในช่วงของการก่อสร้างพระอุโบสถ ซึ่งรองเจ้าอาวาสมีแนวคิดและต้องการให้มีความเข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน จึงมีการปั้นตัวการ์ตูนต่าง ๆ ผสมผสานเข้าไปด้วย เพื่อเป็นการดึงดูดให้กลุ่มวัยรุ่น เยาวชน หรือผู้ที่สนใจ มาเรียนรู้พระพุทธศาสนา ซึ่งทุกรูปปั้นล้วนแฝงคติธรรมสอนใจคน
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR