xs
xsm
sm
md
lg

เผยภาพหาชมยาก! “พะยูนร้องไห้” หลังนอนเกยตื้น ชาวบ้านช่วยลงทะเลปลอดภัย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


น้ำตาพะยูน หลังเกยตื้นที่หาดแหลมโต๊ะชัย จ.ตรัง
กรมอุทยานฯ เผย พบพะยูนนอนร้องไห้ หลังเกยตื้นหาดแหลมโต๊ะชัย คาดกินหญ้าทะเลเพลินจนน้ำลดกลับไม่ได้ ด้านชาวบ้านลิบงสุดน่ารักช่วยเหลือลงทะเลได้อย่างปลอดภัย

เพจ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยภาพหายากของพะยูนนอนเกยตื้นที่หาดแหลมโต๊ะชัย บนในหน้าพะยูนดูคล้ายมีน้ำตา โดยเพจดังกล่าวโพสต์ข้อความไว้ดังนี้

พะยูนนอนเกยตื้นที่หาดแหลมโต๊ะชัย
ชาวบ้านลิบงช่วยพะยูนเกยตื้น หลังพบนอนเกยตื้นคล้ายมีน้ำตาบริเวณหาดแหลมโต๊ะชัย คาดกินหญ้าเพลินจนน้ำทะเลลด ด้านเขตห้ามล่าหมู่เกาะลิบงมอบรางวัลแก่ชาวบ้านที่ช่วยพะยูนจนปลอดภัย

18 ต.ค.63 นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง รายงานเข้ามาว่า เมื่อเวลา 07.40 น. นายเลิศ ยอดศรี ชาวบ้าน ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง พบพะยูนเกยตื้นบริเวณหาดแหลมโต๊ะชัย สภาพนอนร้องไห้บนสันหาดสูง เป็นพะยูนเพศเมีย น้ำหนักประมาณ 220 กก. ความยาวประมาณ 1.80 ม. แต่เนื่องจากพะยูนตัวโตไม่สามารถพาลงทะเลได้ นายเลิศ ยอดศรี จึงได้ขอความช่วยเหลือจากพี่น้องชาวบ้านเกาะลิบงมาช่วยชีวิตพะยูน และได้ทำการช่วยเหลือลงทะเลได้อย่างปลอดภัย

ต่อมาเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่พบว่าบริเวณแหลมโต๊ะชัย ได้มีหญ้าทะเลใบมะกรูด และหญ้ามะขาม ซึ่งเป็นอาหารที่พะยูนชอบ พะยูนจึงเข้ามาหากินเป็นประจำ ซึ่งจากเหตุการณ์พะยูนเกยตื้นคาดว่าน่าจะกินอาหารเพลินช่วงน้ำลง จึงลงทะเลกลับไม่ทัน เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จึงมอบใบประกาศตอบแทนคุณงามความดี พร้อมมอบรางวัลให้กับนายเลิศ ยอดศรี เพื่อเป็นขวัญกำลังใจต่อไป

พะยูนนอนเกยตื้นที่หาดแหลมโต๊ะชัย บนในหน้ามีน้ำตาไหลออกมา
พะยูน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในทะเล และเป็นสัตว์อายุยืน (ถ้าไม่เสียชีวิตจากน้ำมือมนุษย์เสียก่อน) โดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 70 ปี มีน้ำหนัก 230-300 กิโลกรัม มีขนาดประมาณ 2.5-3 เมตร

พะยูนเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งปัจจุบันมีสถานะสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากแหล่งหญ้าทะเลอาหารหลักของพะยูนมีปริมาณลดลง

พะยูนนอนเกยตื้นที่หาดแหลมโต๊ะชัย ก่อนชาวบ้านลิบงช่วยลงทะเลได้อย่างปลอดภัย
นอกจากนี้ยังมีความเชื่อผิด ๆ ว่า "น้ำตาพะยูน" สามารถนำไปทำเสน่ห์คล้ายกับน้ำมันพราย รวมถึง เนื้อ กระดูก และเขี้ยวพะยูน หรือที่ในตลาดมือเรียกกันว่า “งาช้างน้ำ” มีคุณสมบัติทางเมตตามหานิยม ทำให้ในอดีตมีการล่าพะยูนตามความเชื่อดังกล่าวจนปัจจุบันตกอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วง

พะยูนนอนเกยตื้นที่หาดแหลมโต๊ะชัย ก่อนชาวบ้านลิบงช่วยลงทะเลได้อย่างปลอดภัย
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก เพจ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช






กำลังโหลดความคิดเห็น