xs
xsm
sm
md
lg

จากเศษไม้...สู่ "บ้านปาร์คนายเลิศ" เล่าเรื่องผ่านเรือนไม้สักร้อยปี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ห้องรับแขกใหญ่ด้านบนบ้าน
"บ้านปาร์คนายเลิศ" คือบ้านเก่าใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ อย่างเพลินจิต เป็นมุมร่มรื่นท่ามกลางตึกสูงกลางกรุง โดยเป็นบ้านของ "พระยาภักดีนรเศรษฐ" หรือนายเลิศ เศรษฐบุตร คหบดีชาวสยามซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕-๘ เป็นนักธุรกิจในยุคแรกผู้ซึ่งเป็นคนเริ่มธุรกิจใหม่ๆ สารพัดสิ่งในไทย

ไม่ว่าจะเป็นกิจการน้ำหวานโซดาหรือน้ำมะเน็ด เจ้าของโรงน้ำแข็งแห่งแรกของสยาม เจ้าของอาคารพาณิชย์ 7 ชั้นสูงที่สุดแห่งแรกและเปิดกิจการเป็นห้างนายเลิศบนถนนเจริญกรุง โรงแรม Hotel de la paix โรงแรมแห่งแรกที่เจ้าของเป็นคนไทย เป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายจักรเย็บผ้าซิงเกอร์เป็นคนแรก เป็นผู้ริเริ่มกิจการเรือเมล์ กิจการรถเมล์ขาวนายเลิศ อันเป็นรถโดยสารประจำทางสายแรกของกรุงเทพฯ และอีกหลากหลายกิจการที่แสดงถึงวิสัยทัศน์ของนายเลิศ

บ้านปาร์คนายเลิศ เรือนไม้สักงดงาม
วันนี้เรามีโอกาสได้มาเยือน "บ้านปาร์คนายเลิศ" ที่เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนให้คนที่สนใจเรื่องราวชีวิตและงานของนายเลิศ ซึ่งในขณะนี้ทางบ้านปาร์คนายเลิศกำลังมีนิทรรศการ "เรื่องเล่าผ่านไม้"(The Story of Wood Exhibition) ที่จะจัดแสดงถึงวันที่ 31 ต.ค. โดยนิทรรศการนี้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ "ไม้"ที่ใช้สร้างบ้านปาร์คนายเลิศ ซึ่งเป็นบ้านไม้สักที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านลมฝนและแรงระเบิดในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มาจนถึงวันนี้นับอายุได้ 105 ปี แล้ว


วทัญญู เทพหัตถี สถาปนิกผู้เป็นทีมบูรณะเรือนไม้สักหลังนี้ เล่าให้ฟังถึงประวัติของบ้านปาร์คนายเลิศ รวมถึงเรื่องราวของไม้ที่ประกอบขึ้นเป็นบ้านหลังนี้ โดยเริ่มต้นจากท่านเจ้าของบ้าน “พระยาภักดีนรเศรษฐ” หรือ “นายเลิศ เศรษฐบุตร” คหบดีนักธุรกิจที่มีประวัติชีวิตอันน่าสนใจ โดยเป็นผู้ริเริ่มธุรกิจหลายอย่างที่กลายมาเป็นตำนานมาถึงปัจจุบันอย่างที่กล่าวไปตอนต้น

รูปหล่อนายเลิศ เศรษฐบุตร ในบ้านปาร์คนายเลิศ

ต้นไม้ใหญ่ร่มรื่นรอบบริเวณบ้าน
บ้านของนายเลิศเดิมอยู่ในย่านเจริญกรุงตลาดน้อย ต่อมาได้มาซื้อที่ดินในย่านสุขุมวิทในสมัยต้นรัชกาลที่ ๖ ซึ่งในยุคนั้นถือเป็นชานเมืองกรุงเทพฯ และเป็นส่วนหนึ่งของ “ทุ่งบางกะปิ” เพื่อทำเป็นบ้านตากอากาศ โดยขุดคลองเชื่อมกับคลองแสนแสบเข้าถึงที่ดิน ถมที่ให้สูงขึ้น จัดสวนและต้นไม้ให้สวยงาม แถมยังเปิดให้คนข้างนอกเข้ามาเที่ยวชม ปิคนิค พายเรือเล่นในวันเสาร์อาทิตย์ จนชื่อ “ปาร์คนายเลิศ” กลายเป็นที่รู้จักของคนกรุงในสมัยนั้น

ในส่วนของบ้านไม้สักหลังนี้สร้างขึ้นใน พ.ศ.2458 นายเลิศสร้างขึ้นโดยตั้งใจจะใช้เป็นสถานที่พักผ่อนในย่านชานเมือง โดยสร้างเรือนไม้หลังแรกขึ้นก่อน และเมื่อบ้านตากอากาศกลายเป็นสถานที่อยู่จริง จึงสร้างเรือนไม้อีกหลังเชื่อมต่อกัน เรือนแรกใช้เป็นเรือนนอน ส่วนหลังที่สองเป็นพื้นที่รับแขก

ระเบียงเชื่อมระหว่างบ้านสองหลัง
วทัญญูชี้ชวนให้ดูพื้นและเพดานของบ้าน ที่ไม่ได้เป็นไม้กระดานแผ่นใหญ่ๆ แต่กลับเป็นไม้ชิ้นเล็กๆ สั้นยาวไม่เท่ากัน วางต่อกัน พร้อมทั้งอธิบายว่า นอกจากเสาคานต่างๆ แล้ว ไม้ส่วนใหญ่ที่ใช้สร้างบ้านหลังนี้มาจากไม้ที่เหลือจากอู่ต่อเรือเดินสมุทร ซึ่งเป็นกิจการหนึ่งของนายเลิศนั่นเอง

กิจการอู่ต่อเรือเดินสมุทรนั้นใช้ไม้สักจำนวนมากเพื่อต่อเรือขนาดใหญ่ส่งขายให้กับต่างชาติ ดังนั้นวัสดุหลักที่ใช้ในการสร้างบ้านปาร์คนายเลิศก็คือไม้สักที่เหลือจากการสร้างเรือเดินทะเลเหล่านี้ โดยเป็นไม้หน้าหกขนาดยาวที่ใช้เป็นแปและอะเส หลายท่อนมีรอยถากด้วยมือ สันนิษฐานว่าเป็นไม้ยาวที่เอาไว้สร้างกงเรือ ไม้เหล่านั้นได้ถูกนำมาเรียงต่อเป็นพื้นลักษณะแบบพื้นปาร์เก้ ทำให้บ้านปาร์คนายเลิศเป็นบ้านไม้ของสยามบ้านแรกๆ ที่มีพื้นบ้านเป็นแบบปาร์เก้

ห้องจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ บุตรสาวคนเดียวของนายเลิศ
ในการก่อสร้างบ้านที่แต่แรกตั้งใจว่าจะทำเป็นบ้านตากอากาศ จึงไม่ได้มีการทำฐานรากแน่นหนามากนัก นานไปจึงทรุดทั้งหลัง อีกทั้งปัจจุบันเมืองโดยรอบเติบโตขึ้น อาคารแต่ละแห่งล้วนถมสูง บริเวณบ้านนายเลิศจึงกลายเป็นแอ่ง การปรับปรุงซ่อมแซมบ้านจึงต้องเริ่มด้วยการดีดบ้านทั้งสองหลังให้สูงขึ้นราว 1 เมตร เสริมฐานรากให้แข็งแรง และการซ่อมแซมนั้นก็ใช้ไม้เก่าทั้งหมด ทั้งใช้ไม้ของบ้านเดิมที่ยังคงใช้ได้ และไปซื้อไม้เก่าเพิ่มจากอยุธยา

หลังการบูรณะปัจจุบันบ้านปาร์คนายเลิศใช้เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์ สถานที่จัดงานเลี้ยงต่างๆ รวมถึงเจ้าของบ้านก็ยังใช้งานรับแขกส่วนตัว การจัดตกแต่งจึงต้องทำให้เหมาะสมกับการใช้งานในทุกๆ โอกาส

แผ่นไม้แกะสลักเรื่องราวของชาติพันธุ์ และเฟอร์นิเจอร์ไม้ชิ้นงาม
สำหรับข้าวของที่จัดแสดงภายในบ้านนั้นล้วนเกี่ยวข้องกับนายเลิศและธุรกิจของท่าน ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายเก่าแก่ของครอบครัว โฉนดที่ดิน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างๆ รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ของทายาทผู้สืบทอดบ้านหลังนี้เป็นรุ่นที่ 2 คือท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ บุตรสาวคนเดียวของนายเลิศ ซึ่งอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้จนสิ้นอายุขัย

การจัดนิทรรศการ "เรื่องเล่าผ่านไม้" นี้ยังมีความพิเศษตรงที่ทางบ้านปาร์คนายเลิศได้รวบรวมข้าวของและเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจาก “ไม้” อันเป็นมรดกตกทอด และไม่เคยนำออกจัดแสดงมาก่อน ทั้งยังเป็นของหาชมได้ยาก นำมาจัดแสดงเฉพาะในช่วงนิทรรศการนี้เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น แผ่นไม้แกะสลักขนาดใหญ่เป็นเรื่องราววิถีชีวิต วัฒนธรรมและการแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในเมืองไทย ตู้ไม้เก็บยาสมุนไพรจีน มีลิ้นชักถึง 96 ช่อง หีบไม้สลักลวดลายศิลปะพม่า ภายในเป็นช่องเล็กๆ สำหรับใส่ของ นิยมใช้เป็นของขวัญแต่งงานที่เจ้าบ่าวมอบให้เจ้าสาว

ตู้ยาสมุนไพรจีน และหีบไม้ศิลปะพม่า
อีกทั้งยังมีเก้าอี้ไม้จีนโบราณสไตล์ตะวันออกสมัยราชวงศ์หมิง เป็นเก้าอี้พับของชนชั้นสูง ใช้ตกแต่งบ้านหรือสวน หรือใช้สำหรับการเดินทาง รวมถึงสัปคัปซึ่งเป็นที่นั่งบนหลังช้างด้วย

เรื่องราวของตัวท่านเจ้าของบ้าน ตัวบ้าน และความเป็นมาของการสร้างบ้าน ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องเล่าที่น่าสนใจ และถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของกรุงเทพฯ หากใครสนใจอยากฟังเรื่องราวเหล่านี้ พร้อมกับมาเดินชมบ้านที่สวยงามล้อมรอบด้วยต้นไม้ใหญ่กลางกรุง พร้อมกับของจัดแสดงสุดพิเศษเช่นนี้ ก็ต้องรีบมาชมภายในเดือนตุลาคม โดยนิทรรศการ "เรื่องเล่าผ่านไม้" จะเปิดให้ผู้ที่สนใจได้เข้าชมตั้งแต่วันนี้-31 ต.ค. 2563 ณ บ้านปาร์คนายเลิศ ซอยสมคิด ถนนเพลินจิต กรุงเทพฯ ก่อนที่ทางบ้านปาร์คนายเลิศจะหมุนเวียนนำเรื่องราวอื่นๆ มาจัดแสดงต่อไป

ห้องรับประทานอาหาร
การเดินทางมายังบ้านปาร์คนายเลิศ สามารถเดินทางมาได้โดยรถไฟฟ้า BTS สถานีชิดลมหรือเพลินจิต โดยจะเปิดให้เข้าชมในวันพุธถึงอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์และวันอังคาร) รอบเข้าชมเวลา 9.30 น. 11.30 น. 14.30 น. และ 16.30 น. ค่าเข้าชมท่านละ 250 บาท สามารถสอบถามหรือจองรอบเข้าชมได้ที่ 0 2253 0123 อีเมล museum@nailertgroup.com หรือ Facebook: Nai Lert Park Heritage Home

มุมนั่งเล่นบนบ้าน

มาฟังเรื่องเล่าของไม้ได้ที่บ้านปาร์คนายเลิศ


กำลังโหลดความคิดเห็น