xs
xsm
sm
md
lg

15 กันยายน “วันศิลป์ พีระศรี” ครูฝรั่งผู้นำพาไทยสู่ศิลปะสมัยใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


15 กันยายน วันศิลป์ พีระศรี
15 กันยายน ถือเป็น “วันศิลป์ พีระศรี" วันสำคัญที่เหล่าศิลปินและคนที่อยู่ในแวดวงศิลปะจะมาร่วมรำลึกถึง “อาจารย์ศิลป์ พีระศรี" หรือ “ครูฝรั่ง” ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ครูผู้เป็นที่รักของลูกศิษย์ และเป็นผู้นำพาเมืองไทยให้ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ของโลกศิลปะร่วมสมัย

เพื่อตามรอยอาจารย์ฝรั่ง ผู้มีคุณูปการกับวงการศิลปะของเมืองไทย เราชวนไปเยี่ยมชม 3 สถานที่ที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับศิลป์ พีระศรี

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์
สถานที่แรกที่ทำให้เราได้ทราบเรื่องราวของครูฝรั่งอย่างละเอียดต้องมาที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์”ในกรมศิลปากร ซึ่งอยู่ติดกับมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ซึ่งเป็นอาคารสีเหลืองสดใส แม้มีพื้นที่เล็กๆ แต่ภายในอบอวลไปด้วยบรรยากาศที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ

ที่นี่ทำให้เราทราบว่า อ.ศิลป์ หรือ คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2435 ณ นครฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เติบโตและร่ำเรียนวิชาศิลปะจากสถาบันศิลปะซานตาโครเซ่ และเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่สถาบันศิลปะที่เมืองฟลอเรนซ์ ก่อนที่โชคชะตาจะนำพาให้จากบ้านเมืองมาไกล 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ มีพระราชประสงค์จะได้ช่างปั้นผู้เชี่ยวชาญในการสร้างอนุสาวรีย์ นายคอร์ราโดจึงได้รับเลือกให้เข้ามารับราชการในตำแหน่งช่างปั้นประจำกรมศิลปากร และได้นำเอาความรู้เกี่ยวกับศิลปะของตะวันตกมาถ่ายทอดผ่านลูกศิษย์ลูกหาชาวไทย

ห้องทำงาน อ.ศิลป์
ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นห้องทำงานของ อ.ศิลป์ ที่ท่านออกแบบเองให้มีเพดานสูงโปร่ง มีหน้าต่างกระจกใสบานใหญ่เพื่อรับแสงธรรมชาติได้ตลอดวัน ภายในทาผนังห้องด้วยสีเหลืองสดใส เพดานเป็นสีเขียวอ่อนดูอบอุ่น

ปัจจุบันนี้ภายในพิพิธภัณฑ์ยังคงรักษาสภาพของห้องทำงานเดิมไว้ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนคือ ด้านนอกเป็นห้องจัดแสดงผลงานจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ทั้งของ อ.ศิลป์เองและบรรดาลูกศิษย์ใกล้ชิดเช่น เฟื้อ หริพิทักษ์, ประยูร อุลุชาฎะ, ชลูด นิ่มเสมอ, จำรัส เกียรติก้อง, เขียน ยิ้มศิริ, สวัสดิ์ ตันติสุข, ทวี นันทขว้าง ฯลฯ ซึ่งผลงานเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นงานศิลปกรรมในยุคแรกเริ่มของศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย ซึ่ง อ.ศิลป์เป็นผู้สอนและวางรากฐานไว้ให้

ผลงานศิลปะของ อ.ศิลป์ และลูกศิษย์
ส่วนห้องด้านในจัดจำลองบรรยากาศโต๊ะทำงานเมื่อครั้ง อ.ศิลป์ ยังมีชีวิตอยู่ มีโต๊ะกลางห้อง จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ของ อ.ศิลป์ ซึ่งมีทั้งเครื่องพิมพ์ดีด เครื่องเล่นแผ่นเสียง เครื่องมือปั้น และข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวต่างๆ นอกจากนั้นในห้องนี้ยังจัดแสดงแบบร่างอนุสาวรีย์และประติมากรรมชิ้นสำคัญ เช่นแบบร่างพระบรมรูปรัชกาลที่ ๖ แบบร่างพระศรีศากยทศพลญาณ พระประธานพุทธมณฑล และต้นแบบพระเศียรรัชกาลที่ ๘ แบบร่างภาพจิตรกรรมฝาผนังในหอพุทธรัตนสถาน พระบรมมหาราชวัง รวมไปถึงหนังสือหายากที่ใช้ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับศิลปะตะวันตก และสมุดรวมภาพเก่าของท่านขณะทำงานในสถานที่ต่างๆ อีกด้วย

เศียรพระศรีศากยทศพลญาณฯ แห่งพุทธมณฑล
สำหรับผลงานอันโดดเด่นของ อ.ศิลป์ ส่วนใหญ่คือการออกแบบอนุสาวรีย์ ดังนั้นหากอยากทราบว่าท่านออกแบบอนุสาวรีย์อะไรบ้างนั้น ขอเชิญให้มาชมกันต่อที่ “หอประติมากรรมต้นแบบ” ที่อยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์เพียง 50 เมตร ที่นี่แต่เดิมเป็นโรงปั้นหล่อและหลอมโลหะของกรมศิลปากรมาตั้งแต่ปี 2499 แต่ภายหลังได้ย้ายโรงปั้นหล่อไปที่ศาลายา พื้นที่ตรงนี้จึงจัดทำเป็นหอประติมากรรมต้นแบบ ซึ่งเป็นแหล่งให้ความรู้ด้านประติมากรรมและศิลปกรรมให้คนที่สนใจได้เข้ามาชมกัน

ประติมากรรมต้นแบบที่จัดแสดงส่วนใหญ่จะหล่อด้วยปูนปลาสเตอร์และบางส่วนหล่อด้วยโลหะ ซึ่งใช้เป็นแบบเพื่อหล่อโลหะสำหรับนำไปประดิษฐานเป็นอนุสาวรีย์ต่างๆ ที่คุ้นตากันดี และหลายชิ้นก็ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ เช่น พระบรมราชานุสาวรีย์พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเชิงสะพานพุทธฯ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่ และพระบรมราชานุสาวรีย์พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สวนลุมพินี เป็นต้น

ประติมากรรมต้นแบบนับร้อยชิ้น
นอกจากนั้นก็ยังมีรูปหล่อต้นแบบของพระศรีศากยทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรสน์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่พุทธมณฑล พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี อนุสรณ์ดอนเจดีย์ และอีกหลายอนุสาวรีย์ ซึ่งก็ไม่ได้มีแต่ผลงานของ อ.ศิลป์เพียงคนเดียว แต่ยังมีผลงานของลูกศิษย์ลูกหาของท่าน รวมๆ แล้วนับร้อยชิ้นให้เราเดินชมได้อย่างใกล้ชิด

ผลงานโดดเด่นของ อ.ศิลป์ ส่วนใหญ่คือการออกแบบอนุสาวรีย์

พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ หอศิลป
อีกหนึ่งสถานที่ที่อยากให้มาชมเพื่อจะได้เห็นถึงพัฒนาการของศิลปะในเมืองไทยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นั่นคือ "พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ หอศิลป" หรือที่เรียกกันติดปากว่า "หอศิลป์เจ้าฟ้า" ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเชิงสะพานพระปิ่นเกล้าฝั่งพระนคร อาคารหอศิลป์เคยเป็นโรงกษาปณ์สิทธิการที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากโรงงานเครื่องจักรที่เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ จึงมีความเป็นตะวันตกแสดงให้เห็นผ่านอาคารทรงปั้นหยา กรอบหน้าต่างตกแต่งด้วยปูนปั้นเป็นซุ้มวงโค้ง สันหลังคาและเชิงชายตกแต่งด้วยลายฉลุลูกไม้งดงาม

หอศิลป์เจ้าฟ้าจะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือห้องจัดแสดงถาวร และห้องจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน ซึ่งในห้องจัดแสดงถาวรก็เต็มไปด้วยงานระดับมาสเตอร์พีซที่ไม่ควรพลาดชม เริ่มตั้งแต่งานศิลปะไทยแบบประเพณีคือ “ภาพพระบฏ” ซึ่งเป็นงานจิตรกรรมพุทธศาสนาบนผืนผ้า วาดเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าเพื่อเป็นพุทธบูชา ก่อนที่อิทธิพลของศิลปกรรมตะวันตกจะเข้ามา ทำให้เริ่มมีการวาดภาพเหมือนบุคคล โดยเฉพาะพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ รวมถึงเชื้อพระวงศ์ ซึ่งมาแทนที่ความเชื่อที่ว่าการวาดภาพหรือถ่ายภาพเหมือนบุคคลนั้นเป็นเหมือนการดึงวิญญาณออกจากร่าง

“ภาพพระบฏ” งานจิตรกรรมพุทธศาสนาบนผืนผ้า

ห้องแสดงงานประติมากรรมในยุคศิลปะร่วมสมัย
ที่หอศิลป์เจ้าฟ้านี้ยังมีผลงานชิ้นสำคัญที่ไม่ควรพลาดชม นั่นคือภาพวาดฝีพระหัตถ์ของในหลวงรัชกาลที่ ๖ ซึ่งท่านโปรดเรื่องละครมาก ภาพสีน้ำฝีพระหัตถ์ของพระองค์จึงวาดขึ้นเพื่อประกอบบทละครเรื่อง "ศกุนตลา" นั่นเอง อีกทั้งยังมีภาพฝีพระหัตถ์ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็น นั้น เป็นภาพวาดบุคคลด้วยสีน้ำมัน และภาพแนวแอ๊บสแตร็ค ที่พระราชทานยืมมาจัดแสดงให้เราได้ชมกัน

อีกหนึ่งห้องสำคัญภายในหอศิลป์ก็คือห้องแสดงงานประติมากรรมของเหล่าศิลปินที่มีชื่อเสียงต่างๆ ของไทยอย่าง อ.ศิลป์ พีระศรี และเหล่าลูกศิษย์ อาทิ อ.เฟื้อ หริพิทักษ์, อ.เขียน ยิ้มศิริ, อ.ชลูด นิ่มเสมอ ฯลฯ ซึ่งงานศิลปะพัฒนามาเป็นศิลปะร่วมสมัยจากการเรียนการสอนของครูฝรั่ง ที่ทำให้วงการศิลปะของไทยก้าวเข้าสู่ยุคศิลปะสมัยใหม่ตามแบบตะวันตก จนเกิดกลุ่มศิลปินและปัญญาชนรุ่นใหม่ที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะอันหลากหลายให้กลายเป็นมรดกไทยจนปัจจุบัน

.........................................

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR

ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Travel MGR




กำลังโหลดความคิดเห็น