xs
xsm
sm
md
lg

10 สิ่งน่ารู้ “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” สวนลอยฟ้าข้ามแม่น้ำแห่งแรกในไทยและในโลก!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา สวนลอยฟ้าข้ามแม่น้ำแห่งแรกในไทยและในโลก (ภาพ : เพจ Urban Design and Development Center)
ใกล้เสร็จสมบูรณ์เต็มทีสำหรับ “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” พื้นที่สีเขียวกลางกรุง กลางสะพานพระปกเกล้า และกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ได้ชื่อว่าเป็น “สวนลอยฟ้าข้ามแม่น้ำแห่งแรกของประเทศไทย และแห่งแรกของโลก” ที่ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์พร้อมเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการกันในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้

ในวันนี้เราจึงขอนำ 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” มาฝากกันก่อนไปเที่ยวชมสถานที่จริง

1.

ที่ตั้งของสวนลอยฟ้าเจ้าพระยานั้นเดิมคือ “โครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน” ที่ได้ชื่อว่าเป็น โครงการรถไฟฟ้าโครงการแรกของประเทศไทย ที่เริ่มต้นในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในปี 2522 ซึ่งบริษัท ลาวาลิน (SNC-Lavalin) ชนะการประมูลเมื่อปี 2533 แต่แล้วการก่อสร้างกลับยืดเยื้อยาวนาน และสุดท้ายก็พับโครงการไปเมื่อปี 2535 ในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน เนื่องจากปัญหาด้านเงินทุนและการประเมินค่าใช้จ่ายผิดพลาด

คงเหลือทิ้งไว้เพียงโครงสร้างทางวิ่งของรถไฟฟ้าที่สร้างไว้พร้อมกับสะพานพระปกเกล้าในปี 2527 ที่สุดท้ายไม่ได้ใช้งาน และถูกปล่อยทิ้งร้างอยู่กลางสะพานพระปกเกล้ามาเป็นเวลามากกว่า 30 ปี จนคนในย่านนี้ต่างเรียก “สะพานด้วน”

2.

จนมาถึงปี 2559 ทางกรุงเทพมหานครและศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ได้จัดทำแผนแม่บทโครงการ “กรุงเทพ 250” ซึ่งเป็นโครงการฟื้นฟูเมืองของกรุงเทพฯ ในวาระครบ 250 ปี กรุงเทพมหานคร ในปี 2575 มีเป้าหมายเพื่อพลิกฟื้นย่านเมืองเก่า 17 เขตให้น่าอยู่ มีประสิทธิภาพและเป็นมหานครระดับโลก โดยมี “โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางสัญจรบนโครงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา สะพานพระปกเกล้า” อยู่ในพื้นที่นำร่องของโครงการย่านกะดีจีน-คลองสาน ที่จะนำโครงสร้างของรถไฟฟ้าลาวาลินมาปรับปรุงให้เป็นทางเดิน-ทางจักรยาน เชื่อมการสัญจรระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี



ภาพเก่าของโครงสร้างรถไฟฟ้าลาวาลิน (ภาพ : www.renderthailand.com)
3.

แต่บุคคลที่เป็นผู้จุดประกายให้เห็นถึงประโยชน์ของสะพานด้วนนี้ ต้องยกเครดิตให้ “ประดิษฐ์ ห้วยหงษ์ทอง” ประธานชุมชนบุปผาราม โดย ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการ UddC และหัวหน้าโครงการกรุงเทพฯ 250 ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในบทความเกี่ยวกับสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาในเว็บไซต์ theurbanis.com ว่า “...ช่วงที่วางผังแม่บทอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน อันเป็นโครงการนำร่องของโครงการกรุงเทพฯ 250 คุณลุงประดิษฐ์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานชุมชนบุปผารามแห่งย่านกะดีจีน เดินมาทักว่า ทำไมอาจารย์แดงไม่เอาสะพานด้วนที่ทิ้งไว้เฉยๆ มาทำอะไรให้เกิดประโยชน์ พอพูดขึ้นมาเท่านั้น ความเป็นนักผังเมืองของพวกเราก็ทำงานทันที ภาพการเชื่อมเมือง เชื่อมการสัญจร เชื่อมพื้นที่สีเขียว เชื่อมชุมชนก็ผุดขึ้นมา นี่คือการจุดประกายครั้งสำคัญจากคนจริงในพื้นที่...”

4.

ดังนั้นจากสะพานด้วน จึงได้กลายมาเป็น “โครงการพระปกเกล้าสกายพาร์ค" ก่อนจะมีชื่อใหม่เป็นทางการว่า “โครงการสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” (Chao Phraya Skypark) โดยสำนักการวางแผนผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร ร่วมกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) และภาคีพัฒนา ซึ่งถือเป็นสวนลอยฟ้าข้ามแม่น้ำแห่งแรกของประเทศไทย และแห่งแรกของโลก ซึ่งข้อมูลจาก ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล กล่าวว่า ในประเทศอื่นก็มีการสร้างสวนลอยข้ามแม่น้ำเช่นกันแต่ยังไม่แล้วเสร็จ อีกทั้งสวนลอยฟ้าเจ้าพระยายังมีจุดเด่นคือทำได้ในงบประมาณที่น้อยกว่าโครงการแบบเดียวกันในเมืองอื่นหลายเท่า เพราะเอาโครงสร้างเดิมมาปรับใช้ ทั้งยังไม่กระทบกับชุมชนเดิม และยังเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางสัญจรทางเท้าและจักรยานระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร พร้อมจุดชมวิวที่แสนสวยงามกลางแม่น้ำเจ้าพระยา

5.

สวนลอยฟ้าเจ้าพระยานี้มีความยาวเพียง 280 เมตร และกว้างเพียง 8.50 เมตร ซึ่งถือว่าไม่ได้กว้างใหญ่นัก แต่ก็เป็นทั้งทางเดิน-ทางจักรยานสัญจร เป็นทั้งมุมพักผ่อน และเป็นจุดชมวิว ทำเป็นสโลปทางเดินต่างระดับให้สามารถใช้พื้นที่กันได้อย่างเต็มที่ โดยได้มีการติดตั้งราวกันตกความสูงประมาณ 2-3 เมตร รวมทั้งติดตั้งลิฟต์สำหรับผู้พิการบริเวณทางขึ้นลงสองฝั่ง ทั้งฝั่งสวนสมเด็จพระปกเกล้าฯ เขตพระนคร และสวนป่าเฉลิมพระเกียรติ เขตคลองสาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการและผู้สูงอายุ

ทิวทัศน์เมื่อมองจากบนสวนลอยฟ้า (ภาพ : เฟซบุค Daeng Niramon)

ต้นไม้บนสวนที่ค่อยๆ เติบโต (ภาพ : เฟซบุค Daeng Niramon)
6.

เพจ Urban Design and Development Center (UddC) ให้ข้อมูลเป็นตัวเลขสนุกๆ เกี่ยวกับสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาว่า

- 22,400 คือ ขนาดพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด (ตร.ม.)
- 200 คือ จำนวนสถานที่ท่องเที่ยว มรดกวัฒนธรรม ศาสนสถาน สาธารณูปโภคทางปัญญา ฯลฯ โดยรอบโครงการ
- 26 คือ จำนวนสถานศึกษาของฝั่งพระนคร-ฝั่งธนบุรีที่นักเรียนสามารถใช้สะพานเดินข้ามไปเรียน
- 76 คือ ค่าคะแนนการเดินเท้า (Walkscore) ที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 49 เมื่อสวนลอยฟ้าเปิดใช้งาน (คะแนนเต็ม 100)
- 15 คือ ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลง เนื่องจากอัตราการใช้รถยนต์ในพื้นที่ต่ำลงเมื่อสวนลอยฟ้าเปิดใช้งาน (ร้อยละ)
- 172 คือ จำนวนต้นไม้ที่ปลูกเพิ่มในโครงการ
- 0 คือ จำนวนต้นไม้เดิมในพื้นที่โครงการที่ถูกตัดทิ้ง

7.

บนสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาสามารถมองเห็นทิวทัศน์อะไรบ้าง? เนื่องจากสวนแห่งนี้ทอดยาวไปเกือบจะเป็นทิศเหนือ-ใต้ ทำให้สามารถชมได้ทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและตกท่ามกลางแม่น้ำเจ้าพระยาได้ทั้งสองฝั่ง อีกทั้งบริเวณโดยรอบยังเต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างงดงามและเก่าแก่ อาทิ สะพานพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบรมธาตุมหาเจดีย์วัดประยุรวงศาวาส วัดซางตาครูส วัดกัลยาณมิตร ชุมชนกุฎีจีน พระปรางค์วัดอรุณ อาคารไปรษณียาคาร ศาลเจ้าพ่อกวนอูคลองสาน รวมไปถึงสิ่งก่อสร้างใหม่ อาทิ ตลาดยอดพิมาน ห้างไอคอนสยาม เป็นต้น

เมื่อมองจากด้านล่างขึ้นไป (ภาพ : เพจ Urban Design and Development Center)

ทางเดินขึ้นสู่สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา
8.

บางคนอาจจะคาดหวังให้สวนลอยฟ้าแห่งนี้เต็มไปด้วยความร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่ แต่ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง อาทิ ข้อจำกัดเรื่องขนาดของพื้นที่ที่มีไม่มากและต้องแบ่งออกเป็นทั้งทางเดิน จักรยาน จุดนั่งชมวิว ข้อจำกัดเรื่องน้ำหนักของสิ่งก่อสร้างต้องไม่เกินมาตรฐานที่กำหนด หากใช้ต้นไม้ใหญ่ก็ต้องใช้ดินมากซึ่งจะเพิ่มน้ำหนักให้โครงสร้าง ข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อมโดยรอบที่อยู่กลางแจ้ง แดดจัด ลมแรง รวมไปถึงข้อจำกัดด้านมาตรฐานความปลอดภัยในการขับขี่ของผู้ใช้จราจรบนสะพานพระปกเกล้า จะให้มีกิ่งไม้ร่วงตกไปบนถนนก็คงไม่ดี

ดังนั้นร่มเงาจากต้นไม้บนสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาจึงมีพอประมาณ เน้นการบำรุงรักษาง่าย เหมาะกับสภาพอากาศของกรุงเทพฯ จึงใช้ต้นมะกอกน้ำเป็นไม้ยืนต้นหลัก และพันธุ์พืชไม้ประดับอีกนานาชนิด อาทิ ชาข่อย ใบต่างเหรียญ รัก หญ้าหนวดแมว ยี่โถ ชงโค ต้อยติ่ง เอื้องหมายนา ฯลฯ อาจไม่ร่มรื่นหรือมีร่มเงามากนัก แต่เน้นให้ประชาชนได้เดินเท้า-ขี่จักรยานสัญจร และชมวิวเมืองกรุงเทพฯ งามๆ กันบนสวนลอยฟ้าแห่งนี้

9.

ขณะนี้สวนลอยฟ้าเจ้าพระยาใกล้จะเสร็จสมบูรณ์พร้อมเปิดใช้งานแล้ว เหลือเพียงการเก็บรายละเอียดอีกเล็กน้อยเท่านั้น อาทิ การจัดทำป้ายชื่อสะพานให้เรียบร้อย และการบำรุงรักษาต้นไม้ให้สวยงาม คาดว่าจะเปิดอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ โดยทางกรุงเทพมหานครจะเรียนเชิญนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานในการเปิดสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาแห่งนี้ต่อไป

10.

การเดินทางไปยังสวนลอยฟ้า มีทางใดบ้าง? เราสามารถนั่งรถประจำทางสาย 3, 7ก, 9, 42, 8, 73, 73ก, 82 มาลงที่ใต้สะพานพุทธฯ (ฝั่งพระนคร) หรือนั่งเรือด่วนเจ้าพระยาธงส้ม มาขึ้นที่ท่าเรือสะพานพุทธ (ฝั่งพระนคร) แล้วเดินมายังสะพานพระปกเกล้าเพื่อขึ้นมายังสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาได้ หรือผู้ที่เดินทางมาโดยรถไฟฟ้า MRT สามารถลงสถานีสนามไชย ซึ่งอยู่ใกล้กับสะพานพุทธมากที่สุด แล้วเดินเท้าต่อมาประมาณ 800 เมตร
.....................

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR

ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Travel MGR



กำลังโหลดความคิดเห็น