xs
xsm
sm
md
lg

ชวนท่องไปในเมืองน่ารัก “นบพิตำ” สัมผัสวิถีคนกับป่าที่ “ป่าประ” ผืนใหญ่ที่สุดของไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Facebook :Travel @ Manager

ป่าประ
หากพูดถึง “เมืองคอน” หรือจังหวัดนครศรีธรรมราช อีกหนึ่งจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามและเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าที่นี่มีแหล่งพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ที่เป็นอีกหนึ่งรายได้เสริมที่ช่วยสร้างรายได้ สร้างอาชีพ เลี้ยงปากท้องคนในพื้นที่อีกด้วย

เมล็ดประ
พืชเศรษฐกิจที่ว่านี้ก็คือ “ป่าประ” ผืนไม้ป่าพื้นถิ่นยืนต้นขนาดใหญ่กว่า 5,000 ไร่ ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ในอุทยานแห่งชาติเขานัน อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ถือเป็น “ตลาดของป่า” ชื่อดังขนาดใหญ่ของคนในพื้นที่ ที่ใช้ “ต้นประ” เป็นแหล่งรายได้เสริมตลอดระยะเวลา 3 เดือน ในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ของทุกปี เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูกาลที่ประกำลังให้ผลผลิต

โดยป่าประที่นี่ถือเป็นป่าที่เก่าแก่และชาวบ้านอยู่ร่วมกับป่ามาเป็นเวลานาน ก่อนจะมีการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเขานัน ซึ่งเมล็ดประเป็น “ของป่า” ที่ชาวบ้านในพื้นที่นิยมเก็บมากินและแปรรูปเพื่อเป็นรายได้เสริมในครัวเรือน ซึ่งการแปรรูปที่ทำนั้นจะเป็นการดองเพื่อยืดอายุเท่านั้น

กลุ่มชาวบ้านเตรียมแปรรูปเมล็ดประ
ดังนั้นทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สกสว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จึงได้เข้ามาทำงานวิจัยจุดประสงค์เพื่อต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชน โดยใช้โจทย์เรื่องป่าประ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากบริเวณอุทยานแห่งชาติเขานัน เป็นแนวทางในการวิจัยใน 2 ประเด็น คือ 1. การจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วมและการสร้างคุณค่า มูลค่าป่าประ 2. การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ในอำเภอนบพิตำ

ผศ.สุรศักดิ์ แก้วอ่อน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช กล่าวว่า สำหรับโจทย์หลักที่ชาวบ้านอยากให้ทีมวิจัยเข้าไปพัฒนามากที่สุดคือ “ป่าประ” และรวมถึงรื้อฟื้นภูมิปัญญาต่าง ๆ เช่น พิธีเปิดป่าประ การละเล่นหรือเพลงที่เกี่ยวกับป่าประ ผ่านรำโทนนกพิทิด หรือการแปรรูปเมล็ดประให้เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่การดองอย่างเดียว

เมล็ดประแปรรูป
และผลจากการลงพื้นที่วิจัยพบว่าโจทย์ปัญหาหลักๆ คือ กระบวนการผลิตไม่ได้มาตรฐาน ประมีรสขม เนื่องจากการคงเหลือของสารประกอบไซยาไนด์ ผลิตภัณฑ์ประทอดเก็บได้ไม่นานพบการเหม็นหืน รูปแบบของสินค้ายังไม่โดนใจผู้บริโภค และทำอย่างไรให้สามารถมีสินค้าไว้กินนอกฤดูกาลได้ตลอดทั้งปี

ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลองค์ประกอบทางโภชนาการ Anchan Choonhahirun (2010) พบว่า เมล็ดประมีองค์ประกอบของกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว และกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนในปริมาณที่สูงและมีความหลากหลายของชนิดของกรดไขมันอิสระที่มีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งในกลุ่มกรดไขมันโอเมก้า 3, 6 และ 9 ในปริมาณสูง ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ “นมประ” ออกมาเป็นสินค้าใหม่ล่าสุด นอกจากนมประแล้ว ยังมีคุ้กกี้ประ ลูกประทอด น้ำพริกประ ลูกประดอง อีกด้วย

รำโทนนกพิทิด
ดร.เมธาวี จำเนียร หัวหน้าโครงการวิจัย การสร้างสรรค์การรำโทนนกพิทิดเพื่อสื่อสารและส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า อีกหนึ่งโจทย์วิจัยที่ชาวบ้านอยากให้พัฒนาก็คือเรื่องของการรื้อฟื้นภูมิปัญญาชาวบ้านอย่าง “รำโทนนกพิทิด” ซึ่งเคยได้รับความนิยมอย่างมากในอดีตของ ต.กรุงชิง อ.นบพิตำ โดยเป็นการร้องและรำด้วยบทเพลงสั้นๆ โดยใช้โทนเป็นเครื่องกำกับจังหวะเป็นหลัก มีฉิ่งและฉาบเป็นตัวเสริม เป็นการละเล่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับการเผยแพร่มาจากภาคกลางในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม

เมื่อเข้ามาสู่จังหวัดนครศรีธรรมราช “ครูแนบ ล่องลือฤทธิ์” ครูวัดเปียน ตำบลกรุงชิง ซึ่งมีพื้นฐานด้านหนังตะลุงและมโนราห์ ได้ประดิษฐ์คิดเพลงและท่ารำเพิ่มเติมกว่าร้อยเพลง โดยหนึ่งในนั้น คือ “เพลงนกพิทิด” ที่เน้นความสนุกสนาน เนื่องจากในอดีต ตำบลกรุงชิงมีนกพิทิดเป็นจำนวนมากอาศัยอยู่ในป่าใกล้แหล่งน้ำ “นกพิทิด” เป็นภาษาใต้บางที่เรียกว่า “นกถึดทือ” มีขนาดใหญ่คล้ายนกเค้าแมว ลำตัวสีนํ้าตาล มีลายกระสีขาว ขนคิ้วยาวเห็นได้ชัด ตาสีเหลือง หากินในเวลากลางคืน เพลงรำโทนนกพิทิดเป็นการเลียนแบบเสียงและท่าทางการเกี้ยวพาราสีของนกพิทิดตัวผู้และตัวเมีย ที่เป็นเสียงต่ำทุ้ม

การแต่งกายรำโทนนกพิทิด
จากการศึกษาโดยคณะนักวิจัย ซึ่งประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช และปราชญ์ชาวบ้านรำโทนนกพิทิด ทำให้ได้รวบรวมนักร้อง นักรำ ที่ยังหลงเหลืออยู่กลายเป็น “คณะรำโทนนกพิทิด” มีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 13 คนช่วยกันถ่ายทอดภูมิปัญญาที่ล้ำค่านี้ให้แก่เยาวชนและผู้สนใจทั่วไป

นอกจากการฟื้นบทเพลงจากปราชญ์ชาวบ้านแล้ว คณะวิจัยยังออกแบบเครื่องแต่งกายของการรำโทนนกพิทิดให้เหมาะกับบริบทเชิงพื้นที่และอัตลักษณ์ของชาวกรุงชิง โดยได้รับแรงบันดาลใจจากต้นประ มาสร้างสรรค์เป็นผ้าถุงลาย ผ้าสไบ เครื่องประดับ ส่งผลให้รำโทนนกพิทิดของกรุงชิงมีสีสันและได้รับความสนใจจากหลายๆ กลุ่มมากขึ้น

วาดผ้าบาติก
และอีกหนึ่งงานวิจัยในครั้งนี้ก็คือ การที่ทีมวิจัยได้เข้ามาเพิ่มมูลค่าและยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีจุดเด่นเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละกลุ่ม โดยใช้ “เรื่องราวจากป่าประเป็นตัวเดินเรื่อง” โดยมีกลุ่มชาวบ้าน 3 กลุ่มด้วยกันมาเข้าร่วมงานวิจัย ได้แก่ “กลุ่ม 4 ป.บาติก” ทำผ้าบาติก, “กลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านสะพานราง” และ “กลุ่มสตรีท้ายทุ่ง” ทำพรมเช็ดเท้า ซึ่งผลจากงานวิจัยก็ชาวบ้านได้ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการนำลวดลายของใบประ ผลประ ต้นประ มาพัฒนาสู่ชิ้นงานของกลุ่มตน

พรมเช็ดเท้า

เครื่องปั้นดินเผา

บ่อน้ำร้อนกรุงชิง
นอกจากใน อ.นบพิตำ จะมีเรื่องราวของ “ประ” ที่น่าสนใจแล้ว ที่นี่ยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและผจญภัยอีกมากมาย รอให้นักท่องเที่ยวได้มาทำความรู้จัก อย่าง น้ำตกกรุง ต.กรุงชิง, บ่อน้ำร้อนกรุงชิง ต.กรุงชิง, ถ้ำเขาตาปาน ต.นาเหรง, จุดชมทะเลหมอกเขาเหล็ก ต.กรุงชิง เป็นต้น

บ่อน้ำร้อนสำหรับแช่เท้า

ถ้ำเขาตาปาน
เรียกว่าหากได้มาเที่ยวที่นี่ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราชแล้ว นอกจากจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตพื้นบ้าน ที่คนอยู่ร่วมกับป่า รวมถึงได้อุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานของคนในชุมชนแล้ว ยังจะได้ตะลุยเที่ยวตามจุดต่างๆ อีกมากมาย มาเมืองคอนครั้งหน้า แวะมาเปลี่ยนบรรยากาศการเที่ยวที่นี่ไม่ผิดหวังแน่นอน
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager
กำลังโหลดความคิดเห็น