xs
xsm
sm
md
lg

อันซีนญี่ปุ่น ชม“สัตว์แปลก”หายาก มีเฉพาะในแดนอาทิตย์อุทัย/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

แมวดาวทสึชิมะ (ภาพจาก: JNTO โดย : Tsushima Wildlife Conservation Center)
“องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวญี่ปุ่น”(Japan National Tourism Organization : JNTO) ชวนท่องเที่ยวเปิดประสบการณ์ที่แตกต่าง ผ่านการเที่ยวสวนสัตว์ สัมผัสความน่ารักของ“สิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่น” สัตว์แปลก ๆ หาดูยากและมีอยู่เฉพาะในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น

สำหรับสัตว์แปลกหาดูยากที่มีอยู่เฉพาะในประเทศญี่ปุ่นนั้นมีอะไรบ้าง ขอเชิญทัศนากันได้

สวนสัตว์คุชิโระ (Kushiro Zoo), ฮอกไกโด (Hokkaido)
เอโซะโมมงกะ (Ezo Momonga)
เอโซะโมมงกะ (ภาพจาก : JNTO โดย : PhotoAC)
เอโซะโมมงกะ (Ezo Momonga) มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กระรอกบินไซบีเรีย (Siberian Flying Squirrel) เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในฮอกไกโด (Hokkaido) ขนาดความยาวจากหัวถึงหางประมาณ 20 เซนติเมตร น้ำหนักตัวประมาณ 100 กรัม

เอโซะโมมงกะ โตเต็มที่เมื่อมีอายุ 1 ปี มีดวงตาใสปิ๊งน่ารักเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว กินเปลือกไม้ ใบไม้ และแมลงเป็นอาหาร
เอโซะโมมงกะ (ภาพจาก : JNTO โดย : flickr / harum.koh)
คำว่า “เอโซะ (Ezo)” เป็นชื่อที่คนสมัยก่อนใช้เรียกฮอกไกโด และในสวนสัตว์คุชิโระ (Kushiro Zoo) นั้นยังมีสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่มีชื่อเรียกด้วยคำนำหน้าว่า “เอโซะ (Ezo)” เช่น เอโซะชิกะ (Ezo Shika)หรือกวางฮอกไกโด และ เอโซะริซุ (Ezo Risu)หรือกระรอกฮอกไกโด เป็นต้น ซึ่งก็นับเป็นสัตว์ที่น่าไปชมเช่นกัน

ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์หมีสีน้ำตาลโนโบริเบ็ทสึ (Noboribetsu Bear Park), ฮอกไกโด (Hokkaido)
หมีสีน้ำตาลฮอกไกโด (Hokkaido Brown Bear)
หมีสีน้ำตาลฮอกไกโด (ภาพจาก : JNTO โดย : flickr / Jason)
หมีสีน้ำตาลฮอกไกโด (Hokkaido Brown Bear) อาศัยอยู่ในป่าในฮอกไกโด มีขนาดตัวใหญ่มาก มีส่วนสูงราว 190-230 เซนติเมตร และน้ำหนักถึง 150-250 กิโลกรัม เป็นสัตว์ที่จมูกไวเป็นพิเศษ สามารถได้กลิ่นที่ลอยอยู่ในอากาศได้ไกลหลายกิโลเมตร

ปัจจุบันหมีสีน้ำตาลฮอกไกโด มีจำนวนลดลงเรื่อยๆ และถูกกำหนดให้เป็น “สิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์” โดยสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature and Natural Resources)
หมีสีน้ำตาลฮอกไกโด (ภาพจาก : JNTO โดย : flickr / Jason)
ทั้งนี้เราสามารถชมลักษณะเด่นและการใช้ชีวิตในทางนิเวศวิทยาของหมีสีน้ำตาลฮอกไกโด นี้ได้อย่างใกล้ชิดที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์หมีสีน้ำตาลโนโบริเบ็ทสึ (Noboribetsu Bear Park) แห่งนี้

สวนสัตว์อุเอโนะ (Ueno Zoological Gardens), โตเกียว (Tokyo)
ลิงกังญี่ปุ่น (Japanese Macaque)
ลิงกังญี่ปุ่น (ภาพจาก : JNTO โดย : PhotoAC)
ลิงกังญี่ปุ่น (Japanese Macaque) หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ลิงหิมะ (Snow Monkey)นั้นเป็นลิงที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นตามแถบภูมิภาคฮอนชู (Honshu) ชิโกะคุ (Shikoku) และคิวชู (Kyushu)

ลิงกังญี่ปุ่น มีความยาวลำตัวประมาณ 50-70 เซนติเมตร เป็นสัตว์ที่มักปรากฏอยู่ในนิทานปรัมปราพื้นบ้านของญี่ปุ่นมาแต่โบราณ มีใบหน้าและก้นสีแดงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ลิงกังญี่ปุ่น (ภาพจาก : JNTO โดย : PhotoAC)
ในปีค.ศ. 1931 มีการสร้าง “ภูเขาลิง” ขึ้นมาเป็นแห่งแรกในญี่ปุ่นที่สวนสัตว์อุเอโนะ (Ueno Zoological Gardens) นักท่องเที่ยวสามารถชมฝูงลิงที่อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มนั่งทำความสะอาดขนหรือเลี้ยงลูกลิงตัวน้อย

สวนสัตว์โยโกฮามะ ซูราเชีย (Yokohama Zoological Gardens “Zoorasia”), คะนะงะวะ (Kanagawa)
แมวดาวทสึชิมะ (Tsushima Leopard Cat)
แมวดาวทสึชิมะ (ภาพจาก : JNTO โดย :  Tsushima Wildlife Conservation Center)
แมวดาวทสึชิมะ (Tsushima Leopard Cat) เป็นแมวดาวป่าที่อาศัยอยู่เฉพาะในแถบทสึชิมะ (Tsushima) ในจังหวัดนางาซากิ (Nagasaki) เท่านั้น

ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนเกาะมักเรียกกันว่า “โทะระยะมะ (Torayama)” ความยาวลำตัว 70-80 เซนติเมตร น้ำหนัก 3-5 กิโลกรัมซึ่งใกล้เคียงกับแมวทั่วไป แต่มีเอกลักษณ์อยู่ที่ลายจุดสีขาวด้านหลังใบหู และหางที่ยาวเป็นพวงอวบอ้วน
แมวดาวทสึชิมะ (ภาพจาก : JNTO โดย :  Tsushima Wildlife Conservation Center)
จากการตรวจสอบพบว่าแมวดาวทสึชิมะที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ และมีอยู่ไม่ถึง 100 ตัวในปัจจุบัน จึงเป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่น่ากังวลว่าจะใกล้สูญพันธุ์

อย่างไรก็ดีวันนี้ทางสวนสัตว์โยโกฮามะ ซูราเชีย (Yokohama Zoological Gardens Zoorasia) ได้ทุ่มเทความพยายามอย่างเต็มที่ในการอนุรักษ์แมวดาวทสึชิมะนี้ไว้พร้อมๆ กับการขยายพันธุ์ไปในขณะเดียวกัน

ศูนย์การเรียนรู้และจัดแสดงนิทรรศการระบบนิเวศวิทยานกยันบารุกุยนา (Rallus Okinawa)
“กุยนา โนะ โมริ (Kuina no Mori)”, โอกินาวะ (Okinawa)
นกยันบารุกุยนา (Rallus Okinawa)
นกยันบารุกุยนา (ภาพจาก : JNTO โดย :  PhotoAC)
นกยันบารุกุยนา”(Rallus Okinawa) เป็นนกที่มีถิ่นที่อยู่เฉพาะในแถบยันบารุ (Yanbaru) ทางตอนเหนือของจังหวัดโอกินาวะ (Okinawa) เพียงแห่งเดียวในโลกเท่านั้น

นกยันบารุกุยนา มีปีกขนาดเล็กเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวและไม่มีกล้ามเนื้อที่ใช้ในการขยับปีก จึงเป็นนกที่แทบจะบินไม่ได้เลย มีจุดเด่นอันเป็นเอกลักษณ์คือลายทางขาวดำบริเวณลำตัว และจะงอยปาก ตา รวมถึงขาสีแดงสด
ศูนย์การเรียนรู้และจัดแสดงนิทรรศการระบบนิเวศวิทยานกยันบารุกุยนา (ภาพจาก : JNTO โดย :  PhotoAC)
ศูนย์การเรียนรู้และจัดแสดงนิทรรศการระบบนิเวศวิทยานกยันบารุกุยนา (Rallus Okinawa) กุยนา โนะ โมริ (Kuina no Mori)” เป็นแหล่งที่เราจะได้เห็นลักษณะการใช้ชีวิตในระบบนิเวศวิทยาของนกยันบารุกุยนานี้ได้อย่างใกล้ชิด โดยมีทั้งโซนข้อมูลให้เราได้ศึกษาและทำความเข้าใจกับลักษณะทางนิเวศวิทยาและสภาพแวดล้อมของนก และยังมีโซนสำหรับเฝ้าสังเกตนกที่จำลองสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิตจริงของนกไว้อีกด้วย

และนี่ก็คืออีกหนึ่งมนต์เสน่ห์ของดินแดนอาทิตย์อุทัยที่หลาย ๆ คนไม่รู้ ถือเป็นอันซีนญี่ปุ่นที่น่าทึ่งไม่น้อยเลย
....................................................................................................

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น