xs
xsm
sm
md
lg

มองไปข้างหน้า“ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน” หลังปรากฏการณ์(ช่วย)หมูป่าสร้างชื่อก้องโลก/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

ถ้ำหลวง(บริเวณปากถ้ำ) ที่วันนี้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
ใครเลยจะคิดว่า “วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน” จะดังเป็นพลุแตก เป็นที่รู้จักของคนทั้งโลกจากเหตุการณ์ช่วยเหลือนักฟุตบอลและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี่ เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายนจนถึงต้นเดือนกรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมานั้น ทำให้ใครๆ ก็รู้จักชื่อวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้วนอุทยานแห่งนี้ แทบไม่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวหรือคนเดินทางเลย ถ้ำปุ่ม ถ้ำปลา ที่อยู่ไม่ไกลกัน ยังเป็นที่ท่องเที่ยวที่รู้จักกันมากกว่า

แล้วแท้จริง ก่อนนี้วนอุทยานแห่งนี้เป็นอย่างไร?

รู้จักถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน

จากข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช บอกไว้ว่า “...วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนอยู่ในท้องที่ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยนางนอน มีเนื้อที่ประมาณ 5,000 ไร่ กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2529 เป็นภูเขาขนาดใหญ่หลายลูกติดต่อกันสลับซับซ้อน สูงโดยเฉลี่ยประมาณ 779 เมตร โดยลาดชันมาทางทิศตะวันออก ....”
ดอยนางนอน
วนอุทยานแห่งนี้ครอบคลุมพื้นที่ภูเขาหินปูนที่เป็นดอยนางนอนทั้งหมด ป่าจึงเป็นป่าเบญจพรรณ มีป่าไผ่ชนิดเล็ก ขึ้นบนปกคลุมบนภูเขาหินปูน มีไม้ยืนต้นขึ้นห่างๆ ขนาดไม่สูง สัตว์ป่าขนาดใหญ่ไม่มี มีหมูป่า ไก่ป่า ไก่ฟ้า เก้ง นก กระรอก กระแต ฯลฯ

ลักษณะดอยนางนอนเป็นภูเขาหินปูนช่วงปลายยุคของมหายุคพาลิโอโซอิกต่อยุคเพอร์เมียน มีอายุอยู่ประมาณ 300 ล้านปี คุณสมบัติของถ้ำหินปูนคือมีรอยแตกในเนื้อหินและละลายน้ำได้ เมื่อถูกน้ำในลำห้วยไหลเซาะฐานภูเขามากๆเข้า จะเป็นโพรงกลายเป็นอุโมงค์น้ำขนาดใหญ่ ถ้ำนี้เกิดทีหลัง มีอายุประมาณหมื่นปี หน้าปากถ้ำหินย้อยส่วนมากจะตายแล้ว หมายถึงรอยแตกด้านบนถูกปิดจากสารละลายหินปูน
วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ที่วันนี้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
วนอุทยานแห่งนี้มีพื้นที่ต่อเนื่องกัน 2 แห่งคือถ้ำหลวงและขุนน้ำนางนอน บริเวณถ้ำหลวง เป็นที่ทำการวนอุทยาน โดยทั่วไปแล้วถ้ำแห่งนี้จะมีนักท่องเที่ยวมาไม่มาก ราว 10 คนต่อวัน มีป้ายบอกถึงอันตรายในช่วงฤดูฝนทั้งภาษาไทย-ภาษาอังกฤษ ละแผนที่ถ้ำติดด้านหน้า เมื่อนักท่องเที่ยวไปถึงก็จะไปติดต่อเจ้าหน้าที่ให้พาเที่ยวหรือถามข้อมูล และมักจะเข้าไปจากปากถ้ำหรือโถงปากถ้ำไกลสุดแค่ 300 เมตร ก็จะมีป้ายเตือนเรื่องอันตรายถ้าจะไปต่อ นักท่องเที่ยวทั่วไปก็จะไปได้เต็มที่แค่นี้ ถ้ำนี้ถือเป็นที่เที่ยวของชาวบ้าน ในฤดูแล้งเด็กในพื้นที่มาเล่นไถลลงทางลาดตรงปากถ้ำกัน การขี่จักรยานเข้าถ้ำของทีมหมูป่า จึงเป็นเรื่องปกติมาก

โดยปกติพื้นที่บริเวณวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จะเป็นพื้นที่เข้าค่ายของนักเรียน ลูกเสือต่างๆในช่วงฤดูหนาว มีกิจกรรมเข้าถ้ำหลวง โดยมีเจ้าหน้าที่นำทาง (เข้าไปเต็มที่แค่ 300 เมตร เท่านั้น) ซึ่งช่วงเข้าค่าย(ฤดูหนาว)จะมีคนมาใช้บริการมาก(นักเรียน)
ลำธารสีฟ้าสวยใสที่หน่วยฯขุนน้ำนางนอน
ส่วนขุนน้ำนางนอน อยู่ทางทิศใต้ของถ้ำหลวงห่างกันราว 2.5 กม. เป็นหน่วยพิทักษ์อีกแห่งของวนอุทยาน มีลำธารไหลออกมาจากภูเขาสองสาย น้ำที่ไหลออกมาเป็นสีฟ้าสวยงามตามรูปแบบของลำธารน้ำหินปูนทั่วไป มีต้นไม้ขึ้นในบริเวณหน่วยพิทักษ์อย่างร่มรื่น ลำธารน้ำขุนน้ำนางนอนนี้จะไหลออกไปทางตะวันออกเข้าสู่บ้านจ้อง ลำธารน้ำที่ไหลออกกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่น มีเพิงขายอาหารริมลำธาร นักท่องเที่ยวจะมากในช่วงฤดูแล้ง

นักท่องเที่ยวที่มาจากตัว เมืองเชียงราย มุ่งหน้าแม่สาย บริเวณนี้จะถึงก่อนตัวอำเภอแม่สายประมาณ 10 กม. จะผ่านทางเข้าถ้ำปุ่ม-ถ้ำปลาทางซ้ายมือ ถึง บ.จ้อง เลี้ยวซ้ายเข้าไปจะถึงหน่วยฯขุนน้ำนางนอน แล้วถ้าไปตามถนนสายย่อยหน้าหน่วยฯขุนน้ำนางนอนไปอีก 2.5 กม. ถึงทางแยกเข้าวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน หรือจากถนนพหลโยธินจะเข้าทางที่ทำการ อบต.โป่งผา ตรงข้ามโรงเรียนบ้านน้ำจำ ก็ได้จะตรงถึงที่ทำการวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนโดยตรง

ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ในปัจจุบัน
ภารกิจช่วยชีวิต 13 ทีมหมูป่าของ จนท. ในส่วนของกรมอุทยานแห่งชาติฯ
อย่างที่รู้กันและเป็นข่าวไปทั่วโลกกับ“ปรากฏการณ์(ช่วย)หมูป่า”ที่การช่วยเหลือของผู้เชี่ยวชาญและชำนาญการการกู้ภัยในถ้ำทั้งหลายจากทั่วโลก สามารถช่วยชีวิต 13 ทีมหมูป่า ได้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ซึ่งภารกิจครั้งนี้ที่แทบจะเป็นตัวอย่างของการกู้ภัยที่ล้วนไม่เคยมีที่ไหนที่โหดหินเท่านี้มาก่อน อันเกิดจากการร่วมมือจากหน่วยงานราชการและภาคเอกชนของไทย การช่วยเหลือจากมิตรประเทศ และผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ประกอบกับการบริหารจัดการที่เยี่ยมยอดจนได้รับการชื่นชมจากทั่วโลกอย่างมาก
อีกหนึ่งภารกิจช่วยเหลือชีวิต 13 ทีมหมูป่าของ จนท. จากกรมอุทยานแห่งชาติฯ
เมื่อการกู้ภัยดำเนินการจนแล้วเสร็จแล้ว มีการถอนกำลังของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ กลับไป เหลืออยู่ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เจ้าของพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการเก็บกวาด ซึ่งในตอนนี้สภาพของพื้นที่ที่ถ้ำหลวงนั้นภายในถ้ำที่ยังคงมีเครื่องมือ สายไฟ อุปกรณ์หลายอย่างติดอยู่ภายใน น้ำท่วมเข้ามาจนถึงโถงถ้ำด้านนอก ปิดการเข้าพื้นที่วนอุทยานตั้งแต่ทางแยกด้านนอก บริเวณหน้าถ้ำเอง มีการล้อมรั้วเหล็ก ล็อกกุญแจ มีเจ้าหน้าที่เฝ้า บริเวณใกล้เคียงยังมีร่องรอยของการขุดทางน้ำ พื้นที่ที่เคยเป็นสนามหญ้าให้เด็กนักเรียนมากางเต็นท์ออกค่าย ถูกเทหินคลุกในบางส่วน

ส่วนที่บริเวณหน่วยฯขุนน้ำนางนอน ก็ถูกปิดเช่นกัน บริเวณหน้าธารน้ำที่ลอดออกมาจากถ้ำยังคงเลอะเทอะจากการปรับพื้นที่สูบน้ำช่วยจากท่อซิ่ง

ทั้งหมดนี้รอการฟื้นฟูที่จะตามมาเมื่อหมดฤดูฝนเมื่อปริมาณน้ำในถ้ำจะลดลงจนกระทั่งเริ่มการดำเนินการต่างๆได้
สายไฟเครื่องมือจากการช่วยเหลือ
อนาคตของวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เดินทางไปมอบใบประกาศเกียรติคุณ เพื่อเป็นการขอบใจเจ้าหน้าที่ในสังกัดของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกรมอุทยานแห่งชาติ ที่มาช่วยในการกู้ภัยครั้งนี้ ที่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน โดยมีหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูเช่นกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรธรณี กรมทรัยพากรน้ำบาดาล กรมทรัพยากรชายฝั่ง มาร่วมกันวางแนวทางในการฟื้นฟู โดยได้ให้แนวทางในการฟื้นฟูและดำเนินการไปหลังจากนี้ไว้ 4 ประการคือ
การประชุมหารือการฟื้นฟูถ้ำหลวง
1. ให้มีความปลอดภัยในอนาคต คือต่อไปในถ้ำ จะมีการติดกล้องวงจรปิด มีไฟส่องสว่างเท่าที่จำเป็น มีการทำโมเดลทั้งภายในถ้ำและภายนอกที่เป็นภูเขาดอยนางนอน มีการลงทะเบียนการเข้าออก มีเจ้าหน้าที่นำเที่ยวภายในถ้ำ รวมทั้งการพัฒนา เช่นทำทางเดิน ติดไฟ อย่างไรเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในอนาคตนั้น หลังจากสำรวจภายในถ้ำแล้วจึงค่อยมาคิดหาวิธีการดำเนินการต่อไป

2.การฟื้นฟูระบบนิเวศ ต้องดำเนินการฟื้นฟูระบบนิเวศที่เคยมีการดำเนินการไปในระหว่างการกู้ภัย เช่นการเบี่ยงทางน้ำไม่ให้น้ำไหลเข้าไปเพิ่มปริมาณในถ้ำ มีการปรับสภาพคืนเช่นเดิมแล้ว การขุดเจาะน้ำบาดาลที่ขุดเจาะไปทั้งหมด 13 หลุมเจาะนั้น จะเหลือไว้ 2 หลุมเจาะเพื่อให้เป็นแหล่งน้ำใช้ในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนในช่วงฤดูแล้ง นอกนั้นจะทำการกลบอุด เพื่อป้องกันไม่ให้มีสิ่งเจอปนลงไปสู่แอ่งน้ำใต้ดิน ส่วนระบบนิเวศภายในถ้ำนั้น ตอนนี้น้ำท่วมมาจนถึงโถงถ้ำด้านนอกจึงยังทำอะไรไม่ได้ ต้องรอให้น้ำลด จึงจะเข้าไปดำเนินการสำรวจความเสียหายเพื่อจะได้มาวางแผนการดำเนินการฟื้นฟูในอนาคตต่อไป
บรรยากาศร่มรื่นของหน่วยขุนน้ำนางนอน
3.การปรับภูมิทัศน์ จากการที่มีการดำเนินการหลายอย่างในพื้นที่ทั้งบริเวณถ้ำหลวง และบริเวณขุนน้ำนางนอน ซึ่งอยู่ภายนอกถ้ำ จะต้องมีการปรับสภาพพื้นที่ให้คืนมาดั่งเดิม โดยไม่ต้องสร้างอะไรมากเกินความจำเป็นมากขอเพียงให้กลับสภาพเดิมมากที่สุด อาจมีการเพิ่มสนามหญ้า แปลงดอกไม้พื้นเมืองเข้ามาดูให้พื้นที่สวยงามและเป็นธรรมชาติดั่งเดิม

4.การเตรียมการต้อนรับ ที่จะมาหลังจากเมื่อถึงฤดูท่องเที่ยว ในช่วงที่ปริมาณน้ำลดลงไปแล้ว ซึ่งจะเกิดความต้องการเดินทางมายังพื้นที่ประวัติศาสตร์นี้อย่างมาก ซึ่งหัวข้อต่างๆที่ว่ามาก็ล้วนแล้วส่งเสริมข้อนี้ทั้งสิ้น ทางจังหวัดและหน่วยงานท่องเที่ยวต้องเข้ามาช่วยกันดำเนินการ
หินย้อยภายในถ้ำหลวงช่วง 300 เมตรแรก
ในส่วนของการที่มีข้อเรียกร้องว่าควรจะเป็นอุทยานแห่งชาติหรือไม่นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเห็นว่า ถ้าการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแล้วจะนำมาซึ่งความขัดแย้งของพี่นองประชาชนในพื้นที่อาจจะยังไม่จำเป็นต้องประกาศก็ได้ ขอเพียงแต่ทำพื้นที่ในสถานะของวนอุทยานให้มีความสมบูรณ์พร้อมก็เพียงพอในการรับนักท่องเที่ยวแล้ว อีกทั้งในถ้ำหลวงเองก็ไม่มีความสวยงามมาก ถ้าประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแล้วมีการเก็บค่าธรรมเนียมเมื่อนักท่องเที่ยวมาเห็นแล้วอาจจะตำหนิเอาได้ ในระยะนี้อยากให้มีการทำความเข้าใจกับชาวบ้านก่อนว่าถ้าเป็นอุทยานแห่งชาติเขาจะได้อะไรหรือเสียอะไรอย่างไร

พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้นำมาซึ่งความรัก ความสามัคคีของคนในชาติ รวมความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนไทยไว้ได้แล้ว ก็ไม่อยากให้การดำเนินการใดๆจากนี้ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีก
บริเวณศาลเจ้าแม่นางนอน
ด้านนายคมฉาน ตะวันฉาย นักเขียนสารคดีท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความเห็นว่า

“... จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทำให้คนทั่วโลกรู้จักชื่อของถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ว่าเป็นพื้นที่การกู้ภัยในถ้ำที่นักกู้ภัยทั่วโลกต่างลงความเห็นกันว่ายากที่สุดในโลก อีกทั้งการออกข่าวไปทั่วโลกในระยะเวลาครึ่งเดือนนั้น ย่อมนำมาซึ่งการอยากมาให้เห็นกับตาสักครั้งเห็น ก็ควรใช้โอกาสนี้ในการโปรโมทการท่องเที่ยวในพื้นที่ไปเลย

“สำหรับแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่เดิมในอำเภอแม่สายถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเก่าไปแล้ว ถ้าได้แห่งท่องเที่ยวใหม่มาก็จะเป็นการดี จะเพิ่มรายได้ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้น แม้ถ้ำหลวงไม่ใช่ถ้ำที่มีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม แต่สามารถทำเป็นที่เที่ยวเชิงผจญภัยได้ คนอยากมาเห็นว่าในถ้ำมันยากลำบากเพียงใด ทำไมนักกู้ภัยทั่วโลกจึงทึ่งเมื่อการกู้ภัยทำได้สำเร็จ โดยอาจมีการทำทางเดินที่ชัดเจน มีไฟฟ้าส่องสว่างเข้าไปได้เท่าที่เห็นสมควร”

นายคมฉานให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บริเวณขุนน้ำนางนอนเอง เป็นบริเวณที่น้ำไหลออกมาจากภูเขาเป็นลำคลองที่มีสีฟ้า ไหลวนไปมาในพื้นที่หน่วยพิทักษ์ยาวนับร้อยๆเมตรและมีบริเวณที่ร่มรื่นนั้น เป็นสิ่งที่มีไม่มากในบ้านเรา น่าจะเป็นจุดท่องเที่ยวที่จะได้รับความนิยมโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวแบบกางเต็นท์พักแรมอย่างมาก อีกทั้งการยกสถานะเป็นอุทยานแห่งชาตินั้น จะทำให้ได้รับงบประมาณมาดำเนินการจัดการพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขุนเขาเขียวขจีแห่งวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน
“ปัจจุบันวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนได้งบประมาณราวห้าแสนบาทต่อปีเท่านั้นจึงทำอะไรได้ไม่มาก การเก็บค่าธรรมเนียมอุทยานฯที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีสถานะเป็นอุทยานแห่งชาติ ถ้ามีความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวที่รับการจัดการแล้วค่าธรรมเนียมที่เสียไปก็ถือว่าคุ้ม และจะทำให้นักท่องเที่ยวได้เห็นศักยภาพอื่นๆของแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่นอกจากถ้ำหลวงอีกด้วย และการดำเนินการให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ย่อมมีการพูดคุยสอบถามความเห็นจากประชาชน มีการขีดวงพื้นที่ของประชาชนออกจากพื้นที่อุทยานฯ ซึ่งกระบวนการทั้งหลายต้องใช้เวลาอีกนานเป็นปีกว่าจะได้ประกาศ เมื่อมีโอกาสทำให้เป็นอุทยานแห่งชาติได้ก็ควรจะทำ ใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์กับส่วนรวม” นายคมฉานกล่าวทิ้งท้าย

สำหรับในวันนี้ เด็กๆนักฟุตบอลและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี่ ได้ออกมาจากถ้ำ มามีชีวิตใหม่แล้ว เหลือก็แต่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดในอนาคต ขึ้นอยู่กับผู้บริหารของบ้านเมือง รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ว่าจะอยากให้พื้นที่เป็นไปในทิศทางใด....


กำลังโหลดความคิดเห็น