xs
xsm
sm
md
lg

“ชาวผาหมี” เริ่มผวา แผนยกระดับ “ถ้ำหลวง” กระทบที่อยู่-ที่ทำกิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - ชาวบ้านผาหมี ชายแดนไทย-พม่าเริ่มผวา..แผนยกระดับ “ถ้ำหลวง” เป็นอุทยานแห่งชาติฯ-แหล่งท่องเที่ยวระดับโลก หวั่นกระทบที่อยู่อาศัย-ที่ทำกิน บอกขอดูข้อดี-ข้อเสีย รวมถึงขอบเขตพื้นที่ก่อน

หลังเกิดเหตุการณ์นักเตะ-โค้ช ทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สายติดถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย และมีนักดำน้ำ-จิตอาสานานาชาติเข้ามาร่วมค้นหา-ช่วยเหลือออกมาได้อย่างปลอดภัยทั้ง 13 ชีวิต จนกลายเป็นข่าวดังได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ก็มีแผนผลักดันให้วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ยกระดับเป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก แต่ชาวบ้านในพื้นที่บางส่วนเริ่มวิตกเกี่ยวกับผลกระทบกันบ้างแล้ว

ทั้งนี้ ตามข้อมูลสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) เมื่อปี 2529 ระบุว่า วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนมีเนื้อที่ 5,448.81 ไร่ เป็น 1 ใน 36 เขตวนอุทยานฯ ที่อยู่ในความรับผิดชอบ และถือเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยนางนอน แต่อยู่ในความดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติฯ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชันหลายลูกติดชายแดนไทย-พม่า

น.ส.ศรินรัตน์ พฤกษาพันธ์ทวี อายุ 43 ปี ลูกสาวของนายมนตรี พฤกษาพันธ์ทวี หรือพ่อหลวงซาเจ๊ะ ที่เปิดร้านกาแฟ "ภูฟ้าซาเจ๊ะ" ในหมู่บ้านผาหมี หมู่ 6 ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย ติดกับวนอุยานถ้ำหลวงฯ กล่าวว่า ชาวบ้านผาหมีส่วนใหญ่ยังไม่ทราบเรื่องที่จะประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวงฯ รวมทั้งขอบเขตพื้นที่ที่จะจัดตั้งด้วย จึงอยากจะทราบข้อมูลเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียเพื่อพิจารณาหรือปรับตัวก่อน

รวมทั้งไม่ทราบเนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในความรับผิดชอบของหลายหน่วยงาน จึงไม่แน่ใจว่าหากเป็นเขตอุทยานแห่งชาติจะครอบคลุมหรือขยายไปมากน้อยเพียงใด

น.ส.ศรินรัตน์กล่าวอีกว่า ถ้ามีการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติชาวบ้านอาจจะได้รับผลกระทบเรื่องที่อยู่-ที่ทำกิน เพราะบางส่วนเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ชาวบ้านเช่าอาศัย-ทำกินอยู่ จึงไม่มีเอกสารสิทธิ แต่ก็อยู่มานานตั้งแต่บรรพบุรุษก่อนการประกาศเป็นเขตวนอุทยานเมื่อปี 2529 ด้วยซ้ำ จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลหรือรายละเอียดก่อนจะดำเนินการใดๆ ด้วย เพื่อให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจหรือปรับตัวได้ทัน

ด้านนายอนุภาส ปฏิเสน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย เขต อ.แม่สาย กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวประกาศเป็นเขตวนอุทยานมานานมากกว่า 30 กว่าปีแล้ว แต่ได้รับงบประมาณเพียงปีละประมาณ 450,000 บาท ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับขนาดพื้นที่ ทำให้ที่ผ่านมาการพัฒนาเป็นไปด้วยความยากลำบาก หรือแทบเดินหน้าไม่ได้เลย แม้ อบจ.และ อบต.อยากจะเข้าไปช่วยพัฒนาก็ทำไม่ได้เต็มที่ เพราะต้องนำเสนอเรื่องผ่านกรมอุทยานฯ ก่อน ทำให้พื้นที่มีสภาพที่ไม่ได้รับการพัฒนา กระทั่งเกิดเหตุการณ์นักเตะ-โค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมีทั้ง 13 คนติดถ้ำ

ดังนั้นจึงเห็นว่าแนวทางการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติฯ ก็ถือเป็นทางเลือกที่ดี เพราะจะได้มีการจัดสรรงบประมาณเข้าไปพัฒนาฟื้นฟูสภาพพื้นที่ได้มากขึ้น และยังสามารถจัดเก็บรายได้มาบริหารจัดการภายในอีกด้วย โดยเฉพาะในอนาคตเชื่อว่าหากมีการเปิดให้เข้าชมถ้ำได้อีกครั้ง จะมีผู้คนจากทั่วโลกมาเที่ยว ชาวบ้านที่อยู่รายรอบก็สามารถจำหน่ายสินค้าสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามก็ถือเป็นเพียงแค่ทางเลือกหนึ่งเท่านั้น อาจมีวิธีการอื่นๆ ที่เหมาะสมกว่า หากการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติฯ มีผลกระทบเกินไป


กำลังโหลดความคิดเห็น