xs
xsm
sm
md
lg

กรมคุมประพฤติจับมือ “กรมอุทยานฯ” ส่งผู้ถูกคุมประพฤติทำงานบริการสังคมในพื้นที่ของกรมอุทยานฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - กรมคุมประพฤติ-กรมอุทยานแห่งชาติฯ ประสานความร่วมมือส่งผู้ถูกคุมความประพฤติฐานความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ทำงานบริการสังคมในพื้นที่ของกรมอุทยานฯ

วันนี้ (29 มิ.ย.) ณ ห้องรับรองกระทรวงยุติธรรม ชั้น 2 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ พร้อมด้วยนายเฉลิมชัย ปาปะทา รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือในการจัดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ เพื่อให้ผู้กระทำผิดดังกล่าวได้เรียนรู้การสร้างคุณค่าและความภาคภูมิใจให้แก่ตนเอง และตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นไปในทางที่เหมาะสมและไม่กระทำความผิดซ้ำ

นายประสารกล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 มีคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติ ในฐานความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เช่น การบุกรุกป่า แผ้วถาง การทำไม้หวงห้ามหรือเก็บของป่า เข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือกระทำด้วยการอื่นใดอันเป็นการทำลายป่า การมีสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวนทั้งสิ้น 526 คดี โดยจังหวัดที่มีสถิติคดีสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดนครราชสีมา สาขาสีคิ้ว จำนวน 31 คดี สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดลำปาง จำนวน 26 คดี สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดสุรินทร์ จำนวน 22 คดี

“จากสถิติดังกล่าวล้วนเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าไม้จำนวนมาก ดังนั้น กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ถือโอกาสเปิดมิติในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยจัดส่งผู้ถูกคุมความประพฤติทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด เพื่อกระตุ้นให้ผู้กระทำผิดตระหนักถึงความรับผิดชอบและมีจิตสำนึกต่อสังคมมากขึ้น และได้ชดเชยความเสียหายที่ก่อขึ้นด้วย” อธิบดีกรมคุมประพฤติกล่าว

ด้านนายเฉลิมชัยเปิดเผยว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ยินดีให้ความร่วมมือในการจัดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติที่อยู่ในความดูแลของกรมคุมประพฤติ เข้ามาทำงานบริการสังคม หรือสาธารณประโยชน์ต่างๆ เช่น การทำแนวป้องกันไฟป่า การซ่อมหรือสร้างฝายชะลอน้ำ การเพาะพันธุ์กล้าไม้และปลูกต้นไม้ ในพื้นที่ดูแลของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค จำนวน 21 แห่ง ประกอบด้วย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และศูนย์ศึกษาธรรมชาติ เพื่อช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นการส่งเสริมและพัฒนาสถานที่ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกทางหนึ่งด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น