xs
xsm
sm
md
lg

"สด๊กก๊อกธม" ปราสาทหินแห่งสระแก้ว ใหญ่สุดในภาคตะวันออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

Facebook : Travel @ Manager
ปราสาทสด๊กก๊อกธม ปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก
หากพูดถึงปราสาทหินในประเทศไทย หลายคนคงนึกไปถึงปราสาทหินชื่อดังไม่ว่าจะเป็นปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทหินเมืองต่ำ ปราสาทหินพิมาย ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในภาคอีสาน

แต่ในจังหวัดสระแก้วซึ่งเป็นจังหวัดทางภาคตะวันออกก็มีปราสาทหินน่าชมอันได้ชื่อว่าเป็น “ปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก” นั่นก็คือ “ปราสาทสด๊กก๊อกธม” ตั้งอยู่ที่บ้านหนองหญ้าแก้ว ต.โคกสูง อ.โคกสูง จ.สระแก้ว โดยคำว่า “สด๊กก๊อกธม” เป็นภาษาเขมร มีความหมายว่า “กกกอใหญ่” หรือ “บึงต้นกกใหญ่” และในอดีตชาวบ้านเคยเรียกปราสาทแห่งนี้ว่า “ปราสาทเมืองพร้าว” โดยมีเรื่องเล่าว่ามีคนหลงทางเข้าไปในดงแล้วเห็นว่ามีต้นมะพร้าวขึ้นอยู่โดยรอบตัวปราสาท
เสานางเรียงยาวสู่กำแพงแก้ว
ทางเข้าสู่ตัวปราสาท
ปราสาทหินสด๊กก๊อกธมเป็นปราสาทหินในวัฒนธรรมขอมซึ่งเป็นศาสนสถานเกี่ยวเนื่องกับศาสนาฮินดูแบบไศวนิกายที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก สร้างขึ้นตามลักษณะศิลปะเขมรแบบคลังต่อบาปวนในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-16 มีการสำรวจพบศิลาจารึกสองหลักซึ่งตั้งชื่อว่าจารึกสด๊กก๊อกธมที่มีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ราชวงศ์เขมรเป็นอย่างมาก

ปราสาทสด๊กก๊อกธมปัจจุบันได้รับการบูรณะอย่างถูกต้องและสวยงามด้วยวิธีอนัสติโลซิสหรือการพยายามค้นหาชิ้นส่วนหินที่กระจัดกระจายมาทดลองประกอบกลับคืนตำแหน่งเดิม ทำเครื่องหมายไว้แล้วรื้อออกเพื่อเสริมฐานรากและความแข็งแรงใหม่ จากนั้นจึงนำชิ้นส่วนกลับขึ้นไปประกอบใหม่อีกครั้งหนึ่ง จนทำให้เราได้เห็นสภาพของตัวปราสาทได้อย่างชัดเจน

สิ่งแรกที่เราจะได้เห็นเมื่อจะเดินเข้าสู่ตัวปราสาทก็คือ “เสานางเรียง” เสาหินทรงสี่เหลี่ยมยอดเสาสลักคล้ายรูปดอกบัวตูมจำนวน 86 ต้น ตั้งเรียงรายเป็นระยะทั้งสองข้างเชื่อมไปยังประตูทางเข้าสู่ตัวปราสาท แต่ก่อนจะถึงตัวปราสาทก็จะเจอกำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลง ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทางเข้ามีโคปุระ (ซุ้มประตู) ชั้นนอกและชั้นใน หน้าบันยังคงปรากฏลวดลายแกะสลัก
มีจักรยานให้เช่าปั่นรอบๆ
บรรณาลัยสองหลังด้านหน้าปราสาทประธาน
ผ่านซุ้มประตูด้านนอกเข้ามาจะเจอคูน้ำรูปปีกกาสองด้านซ้ายขวาล้อมปราสาทชั้นในไว้ ยังคงมีเสานางเรียงเชื่อมไปสู่ระเบียงคดซึ่งก่อด้วยศิลาแลงและหินทรายล้อมรอบตัวปราสาทและสิ่งก่อสร้างชั้นใน มีระเบียงคดชั้นในตรงกลางระเบียงคดทั้งสี่ด้าน โดยโคปุระชั้นในด้านทิศตะวันออกมีขนาดใหญ่ที่สุดแสดงถึงความสำคัญ

จากนั้นเมื่อผ่านระเบียงคดเข้ามาเราจะพบกับ “บรรณาลัย” ทั้งสองด้าน ด้านละ 1 หลัง สันนิษฐานว่าเป็นอาคารที่ใช้เก็บคัมภีร์หรือเป็นวิหารเทพชั้นรอง

จากนั้นก็มาถึงสิ่งก่อสร้างสำคัญคือ “ปราสาทประธาน” ซึ่งเปรียบเสมือนยอดเขาพระสุเมรุที่ประทับของเทพเจ้า มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ความสูงกว่า 20 เมตร มีบันไดขึ้นลงทางด้านหน้า ฐานก่อด้วยศิลาแลงซ้อนกัน 2 ชั้น ส่วนตัวปราสาทก่อด้วยหินทรายมีทางเข้าด้านทิศตะวันออกและประตูหลอกอีกสามด้าน
ปราสาทประธานสามารถขึ้นไปชมได้
ช่องหน้าต่างจากระเบียงคด
ยอดปราสาทประธานเรียงซ้อนลดหลั่นกัน 5 ชั้น แต่ละชั้นแสดงถึงรูปจำลองอาคารหรือชั้นวิมาน ตรงกึ่งกลางมีหน้าบันและกรอบหน้าบันแกะสลักลวดลายพันธุ์พฤกษา มีเศียรนาคประดับอยู่ที่ปลายทั้งสองด้าน หน้าบันชั้นล่างสุดด้านทิศตะวันออกเป็นภาพเล่าเรื่อง “พระศิวนาฎราช” ส่วนด้านทิศตะวันตกเล่าเรื่อง “กูรมาวตาร”

ในห้องครรภคฤหะของปราสาทมีฐานโยนีขนาดใหญ่สำหรับประดิษฐานศิวลึงค์ รูปเคารพแทนองค์พระศิวะ ด้านทิศเหนือมีร่องรอยของท่อโสมสูตรหรือรางรับน้ำศักดิ์สิทธิ์จากการประกอบพิธีกรรมให้ไหลออกไปสู่ภายนอกตรงกึ่งกลางช่องประตูหลอก
ลวดลายบนหน้าบัน
สลักเสลาอย่างปราณีต
ส่วนรอบปราสาทประธานมีเสานางเรียงขนาดเล็กปักล้อมรอบจำนวน 18 ต้น เพื่อแสดงให้เห็นความสำคัญของปริมณฑลอันศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นลักษณะเฉพาะของปราสาทสด๊กก๊อกธมนั่นเอง

ด้วยความสำคัญและความงดงามมีเสน่ห์ของปราสาทหินแห่งนี้ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทสด๊กก๊อกธมเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติใน พ.ศ.2478 และประกาศขอบเขตพื้นที่โบราณสถานจำนวน 641 ไร่ 2 งาน 82 ตารางวา
สระน้ำรูปปีกกาล้อมตัวปราสาทสองด้าน
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น