“หนาวแล้วเที่ยวเลย!”
ประโยคนี้ไม่ใช่แค่ชวนไปเที่ยว...แต่ยังหมายถึงว่า ไปเที่ยว “เลย” กันเถอะ!
“ตะลอนเที่ยว” จะพาไปเที่ยว “นาแห้ว” เป็นอำเภอเล็กๆ ของจังหวัดเลย ที่มีอาณาเขตทางตอนเหนือติดต่อกับประเทศลาว โดยมีแม่น้ำเหือง แม่น้ำสายเล็กๆ กั้นเป็นเส้นแบ่งพรมแดน
หน้าหนาวที่ผ่านๆ มา หลายคนอาจมุ่งหน้าไปยัง “ภูเรือ” สัมผัสความหนาวสุดในสยาม หรือไปปีน “ภูกระดึง” ภูยอดฮิตของนักเดินป่า หรือไปพักผ่อนชิลๆ ริมน้ำโขงที่ “เชียงคาน” แต่หนาวนี้ “ตะลอนเที่ยว” อยากให้ลองแบ่งใจมาเที่ยว “นาแห้ว” ดู แล้วจะรู้ว่าที่นี่มีอะไรให้ชมอีกเยอะ แต่ที่แน่ๆ มานาแห้วไม่ได้เจอแห้ว แต่กลับเจอสตรอเบอร์รี่-แมคคาเดเมียแทน เอ๊ะ! ยังไง...งง
แหล่งท่องเที่ยวซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดของอำเภอนาแห้วต้องยกให้ “อุทยานแห่งชาติภูสวนทราย” (ต.แสงภา) อุทยานแห่งชาติชายแดนไทย-ลาว ที่มีน้ำตกมากถึง 6 แห่ง หนึ่งในหกแห่งนั้นมีความน่าสนใจตรงที่เป็น “น้ำตกสองแผ่นดิน” หรือชื่อจริงๆ ว่า “น้ำตกตาดเหือง” ซึ่งเป็นน้ำตกที่ไหลผ่ากลางแนวรอยต่อของไทย-ลาว เกิดเป็นน้ำตกมิตรภาพที่น่าสัมผัสเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนั้น ที่อุทยานฯ ยังมีจุดชมวิวอีกหลายแห่ง อาทิ “เนิน 1408” บนภูตีนสวนทราย ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นจุดกางเต็นท์ที่สูงสุดในภาคอีสาน ณ ระดับความสูงตามชื่อ คือ 1,408 เมตรจากกระดับน้ำทะเล ที่นี่มองลงไปจะเห็นวิวทิวทัศน์และทะเลภูเขาอันกว้างไกล “ภูหัวฮ่อม” เป็นอีกหนึ่งจุดชมวิวที่มองเห็นทิวเขาของไทย-ลาว และในวันที่ฟ้าเป็นใจ ที่นี่ก็จะมีทะเลหมอกที่สวยงามให้ได้ชมกันอีกด้วย
แต่ในตัวอำเภอนาแห้วเองก็มีจุดชมวิวที่เข้าถึงง่าย เดินสบาย(?) แถมยังสวยงามไม่แพ้ที่ไหน คือที่ “ภูผาหมวก-ผาหนอง” (บ้านนาโพธิ์ ตำบลนาแห้ว) เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ถือว่าค่อนข้างใหม่ อยู่ในความดูแลของเทศบาลตำบลนาแห้ว
สำหรับผาหมวกและผาหนองนั้นอยู่บนเขาลูกเดียวกัน มีทางเดินขึ้นทางเดียวกัน แต่เมื่อขึ้นไปแล้วจะมีทางแยกให้เลี้ยวไปคนละชะง่อนผา โดยเขาลูกนี้เดิมทีเป็นฐานที่มั่นทหารสมัยสงครามร่มเกล้า ที่ยังคงเหลือร่องรอยอย่างสนามเพลาะ และบังเกอร์ให้เห็น
“ตะลอนเที่ยว” เดินทางมาถึงที่นี่ในช่วงเย็น เราจึงขึ้นไปที่ผาหมวกกันก่อน เพราะที่นี่สามารถชมพระอาทิตย์ตกในยามเย็นได้ (และสามารถชมทะเลหมอกยามเช้าได้ด้วยเช่นกันหากอากาศเป็นใจ) โดยจากบริเวณจุดจอดรถมายังผาหมวกนั้นมีระยะทางประมาณ 800 เมตร ซึ่งเป็นทางดินเดินขึ้นเขา แม้ไม่ชันมากนักแต่ก็ทำให้หอบได้เหมือนกัน เราเดินไปพักไปใช้เวลาราว 20 นาทีก็ถึงผาหินที่มีรั้วรอบพร้อมป้าย “ผาหมวก” แล้ว
ลมพัดเย็นๆ ด้านบนผาหมวกช่วยทำให้เหงื่อและความเหนื่อยค่อยๆ จางไป วิวเบื้องหน้า “ตะลอนเที่ยว” ตอนนี้คือแปลงนาบริเวณกว้างที่ถูกเก็บเกี่ยวไปแล้วเหลือแต่ตอซังสีเหลืองทอง มองไกลไปอีกเห็นกลุ่มบ้านเรือนกระจุกตัวกันอยู่สองฝั่งของคลองเล็กๆ สายหนึ่ง ซึ่งดูเผินๆ ก็เหมือนหมู่บ้านต่างจังหวัดที่มีบรรยากาศสงบโดยทั่วไป แต่แท้จริงแล้วคลองเล็กๆ นั้นคือ “แม่น้ำเหือง” อันเป็นพรมแดนกั้นระหว่างไทย-ลาว โดยแม่น้ำในช่วงนี้แคบจนดูเหมือนคลองมากกว่า ส่วนหมู่บ้านทั้งสองฝั่งที่อยู่คนละประเทศนั้นมีชื่อเดียวกันคือ “บ้านเหมืองแพร่” ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นญาติพี่น้องที่ข้ามฝั่งไปมาหาสู่กันอย่างอิสระมาแต่ไหนแต่ไร ก่อนจะถูกแบ่งให้กลายเป็นคนละชาติด้วยแม่น้ำสายนี้
บ้านเหมืองแพร่ทางฝั่งลาวนั้นอยู่ในเขตเมืองบ่อแตน แขวงไชยะบุรี ซึ่งปัจจุบันก็มีจุดผ่อนปรนที่บ้านเหมืองแพร่ทางฝั่งไทย ที่อนุญาตให้คนทั้งสองฝั่งได้ข้ามมาแลกเปลี่ยนสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคและผลผลิตการเกษตรเฉพาะวันพระของทุกสัปดาห์บริเวณจุดผ่อนปรนแห่งนี้ ถ้าใครอยากชมบรรยากาศการข้ามแดนแบบง่ายๆ ด้วยวิธีเดินลุยน้ำข้ามมา (ในช่วงที่น้ำไม่เยอะ) ก็มาชมกันได้ทุกวันพระเลย
กลับมาสู่บรรยากาศบนผาหมวกยามเย็นกันต่อ “ตะลอนเที่ยว” นั่งรอพระอาทิตย์ตก มองนกบินกลับบ้านเป็นทิวแถว ถ่ายรูปไปเรื่อยๆ อย่างเพลิดเพลิน แม้สุดท้ายแล้วฟ้าจะไม่เป็นใจ ไม่ยอมเปิดให้เห็นพระอาทิตย์ตกเป็นไข่แดง แต่ก็ส่งแสงส้มอมทองฉาบท้องฟ้าอย่างน่าประทับใจมาให้แทน
คืนนั้นเราเข้าที่พักในตัวอำเภอนาแห้ว ก่อนจะตื่นแต่เช้ามืด เตรียมเดินขึ้นเขาลูกเดิมอีกครั้งเพื่อไปยัง “ภูผาหนอง” เพื่อหวังจะชมพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอกงามๆ บนยอดภู
สำหรับ “ผาหนอง” นั้น อยู่สูงขึ้นไปจากผาหมวกที่เราเดินขึ้นไปเมื่อวานเป็นระยะทางอีกราว 500 เมตร ระหว่างทางก็จะมีบังเกอร์หลบภัยของทหารสมัยสงครามร่มเกล้า (ช่วงปี 2531) ให้เห็นเป็นระยะ จากนั้นไม่นาน เราก็มาถึงลานหินกว้างซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และหนองน้ำธรรมชาติบนลานหินอันเป็นที่มาของชื่อผาหนอง ซึ่งจากจุดนี้ต้องปีนบันไดลิงขึ้นไปยังก้อนหินใหญ่อันเป็นจุดชมวิวสูงสุดของผาหนองแห่งนี้
ลมแรงที่พัดมาตลอดเวลา รวมถึงสภาพความชื้นที่ไม่เป็นใจ “ตะลอนเที่ยว” ก็เลยอดเห็นทะเลหมอกสวยๆ อย่างที่เคยเห็นจากภาพของนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ แอบผิดหวังเล็กน้อย แต่ก็ไม่เสียใจ เพราะวิวของทิวเขาสูงต่ำเบื้องหน้าและอากาศเย็นสดชื่นก็ทำให้ฟินได้เหมือนกัน และทำให้ตั้งเป้าไว้ในใจว่าวันหลังจะต้องกลับมาเก็บภาพทะเลหมอกสวยๆ บนผาหนองและผาหมวกอีกครั้งให้จงได้
เที่ยวแบบสมบุกสมบันเดินเขาปีนบันไดกันไปแล้ว คราวนี้ไปเที่ยวแบบชิลๆ ไปเก็บสตรอเบอร์รี่สวยๆ กันบ้างดีกว่า ที่นาแห้วนี่เขามีไร่สตรอเบอร์รี่ขึ้นชื่ออยู่ที่บ้านห้วยน้ำผัก และบ้านบ่อเหมืองน้อย ในตำบลแสงภา ทางเดียวกับอุทยานแห่งชาติภูสวนทรายนั่นเอง ที่นี่เป็นหมู่บ้านที่เพิ่งจัดตั้งใหม่เมื่อปี 2534 เพื่อเป็นพื้นที่แนวกันชนสำหรับความมั่นคงของประเทศ เนื่องจากอยู่ติดชายแดนลาว
ในวันนี้ “ตะลอนเที่ยว” มาเยือนแค่ที่ “บ้านห้วยน้ำผัก” เพียงแห่งเดียว และได้เห็นแปลงสตรอเบอร์รี่กว้างใหญ่ ขอบอกว่าการปลูกสตรอเบอร์รี่ในภาคอีสานไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะที่นี่ก็มีอากาศหนาวเย็นเหมือนทางภาคเหนือ แต่ที่นาแห้วนี้เป็นแห่งเดียวที่ปลูกสตรอเบอร์รีได้ครบวงจร ตั้งแต่การผลิตไหล (ต้นอ่อน) ได้เองโดยใช้ต้นอ่อนจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่นำมาจาก จ.เชียงใหม่ ไปจนถึงการปลูก เพราะได้รับการสนับสนุนจากนักวิจัยของสำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ สวทช.
การปลูกสตรอเบอร์รี่ที่นี่เป็นการปลูกในช่วงที่ว่างเว้นจากการทำนา ซึ่งให้กำไรมากกว่าการทำนาเสียอีก แถมยังมีรสชาติเปรี้ยวอมหวานสดชื่น ในทุกๆ ปีชาวจังหวัดเลยต่างก็รอที่จะได้ชิมสตรอเบอร์รี่จากนาแห้ว แต่นักท่องเที่ยวที่ผ่านมาทางนี้ก็สามารถขึ้นมาชมแปลงปลูกและเลือกซื้อเลือกเด็ดสตรอเบอร์รี่แบบสดๆ จากต้นได้เลยอีกด้วย
ไม่เพียงสตรอเบอร์รี่เท่านั้น ที่นี่ยังมีการปลูกต้นแมคคาเดเมียอีกต่างหาก น่าทึ่งไม่น้อยเลย โดยชาวบ้านที่บ้านบ่อเหมืองน้อยได้รับพันธุ์ต้นแมคคาเดเมียมาปลูกตั้งแต่ปี 2533 หลังจากที่ทหารรับชาวบ้านเข้าไปอยู่เป็นหมู่บ้านเพื่อความมั่นคง และได้นำนักวิชาการเข้ามาสำรวจพื้นที่และพบว่าที่นี่สามารถปลูกต้นแมคคาเดเมียได้ แต่เนื่องจากกว่าต้นจะโตและให้ผลผลิตได้ต้องใช้เวลากว่า 10 ปี หลายครอบครัวจึงไม่ได้ดูแลตัดทิ้งปลูกอย่างอื่นไปบ้าง แต่เมื่อต้นแมคคาเดเมียที่เหลือรอดนั้นให้ผลผลิต ก็พบว่าคุ้มค่าเหลือเกินที่ปลูกมา เพราะเมื่อกะเทาะเปลือกคัดเกรดอย่างดีแล้ว ขายได้สูงสุดถึงกิโลกรัมละ 1200 บาทเลยทีเดียว
“ตะลอนเที่ยว” ไม่ได้เข้าไปชมแมคคาเดเมียถึงต้น แต่ได้มาชิมและหาซื้อของฝาก รวมถึงลงไปชมกระบวนการแปรรูปกันที่ “ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง การปลูกและแปรรูปแมคคาเดเมีย” ที่บ้านบ่อเหมืองน้อย จึงได้เห็นการกะเทาะเปลือกแมคคาเดเมียกันแบบแมนนวล คือการใช้ค้อนตอกแมคคาเดเมียบนก้อนหิน ไม่ใช้เครื่องกะเทาะแบบที่อื่น เพราะการทำวิธีนี้แทบจะไม่ทำให้เมล็ดในเสียหายเลย สามารถส่งขายแบบเกรดเอได้สบาย ไม่เสียราคา งานนี้เลยกระจายรายได้กันสนุกสนาน หิ้วมาเป็นของฝากกันเสียหลายถุง
พามาเที่ยว “นาแห้ว” กลับไม่เจอแห้ว แต่ได้เจอทั้งสตรอเบอร์รี่ ทั้งแมคคาเดเมีย ฟินกันไปเลย อย่าลืมนะ หนาวแล้วเที่ยวเลย...เลยมาเที่ยวนาแห้ว รับรองจะติดใจ!
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในอำเภอนาแห้ว และจังหวัดเลยได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเลย โทร. 0 4281 2812 หรือเฟซบุคแฟนเพจ : TAT Loei Office
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com