ก่อนที่จะมาเป็น “อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่” อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ ใครจะรู้บ้างว่า...ในอดีต “เขาใหญ่” เคยเป็น “เขาหัวโล้น” มาก่อน
เขาใหญ่ หลังผ่านยุคดงพญาไฟ ดงพญาเย็น ที่เป็นผืนป่าดงดิบอันรกชัฎ เข้าสู่ยุคหักร้างถางพง ทำไร่ ทำสวน จับจองที่ทำกิน เขาใหญ่ในช่วงก่อน พ.ศ.2505 พบว่ามีชาวบ้านทั้งจากนครนายก นครราชสีมา สระบุรี ขึ้นมาบุกรุกป่า ซึ่งบางส่วนก็เป็นพวกหนีคดีขึ้นมาหลบกฎหมายบ้านเมือง โดยเฉพาะทางด้าน อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ที่โดนชาวบ้านขึ้นมาถากถางป่า ทำไร่ และปลูกบ้าน กันเป็นบริเวณกว้าง ตลอดจนลำห้วยตะคร้อ ลึกเข้าไปถึงแก่งกฤษณา หรือจนถึงตาดหินยาว (ทุ่งนาปรัง) เพราะบริเวณนี้มีภูเขาไม่สูงมากกั้น
จากนั้นมีการประกาศให้เขาใหญ่เป็นอุทยานแห่งชาติใน พ.ศ.2505 จึงได้ทำการอพยพชาวบ้านที่บุกรุกออกจากเขตอุทยานฯ พื้นที่บริเวณนี้จึงถูกปล่อยทิ้งร้าง หน้าดินที่ถูกถางจนเปิดออกได้มี “หญ้าคา” เป็นพืชกลุ่มแรกเกิดขึ้นมา
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จึงมีทุ่งหญ้าคามากมาย แต่ก็ต้องเผชิญกับ “ปัญหาไฟป่า” ที่เกิดขึ้นเกือบทุกปีในช่วงฤดูหนาว และในช่วงฤดูฝนธรรมขาติจะซ่อมแซมตัวเองโดยการค่อยๆ มีลูกไม้เกิดขึ้นใหม่ แต่พอเมื่อเข้าฤดูหนาวก็ถูกทำลายโดยไฟป่าวนไปเช่นนี้เสมอ อีกหนึ่งปัญหาที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ต้องพบเจอในสมัยนั้นก็คือ "พื้นดินมีความแข็งจนกลายเป็นดินดาน" น้ำไม่สามารถซึมลงใต้ดินได้
นอกจากนั้นสภาพป่าแนวกันชนรอบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทางด้าน อ.วังน้ำเขียว ก็ถูกบุกรุกหนักเช่นกัน มีการถากถางป่าเพื่อทำการเกษตร จนเข้ามาชิดเชิงเขากำแพงซึ่งเป็นภูเขาสูงทางทิศเหนือของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
จนเมื่อ พ.ศ.2539 ที่เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครองสิริราชสมบัติครบรอบ 50 ปี ทางรัฐบาลจึงมี “โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ” ขึ้นทั่วประเทศ โดยมีภาคเอกชนให้การสนับสนุน สำหรับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ทางด้าน อ.วังน้ำเขียว มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้เข้ามาร่วมปลูกป่า บริเวณที่เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้าด้วย
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้มีการแบ่งแนวเขตการจัดการที่ชัดเจนทั้งหมด 8 เขตจัดการ และช่วยดูแลพื้นที่ต่างๆ ปัจจุบันนี้ผ่านไป 20 ปีแล้ว ผืนป่าที่ได้ร่วมกันปลูก ได้กลายเป็นป่าที่เขียวขจี มีต้นไม้ขึ้นสูงคลุมทุกพื้นที่เขตอุทยานฯ
นายกิตติชัย รุ่งไพบูลย์วงศ์ หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากร อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่เป็นหนึ่งในทีมฟื้นฟูสภาพป่า ได้กล่าวว่า การที่ผืนป่ากลับคืนมายังทำให้สัตว์ป่าคืนกลับมาด้วยเช่นกัน ทั้ง เก้ง, กวาง, หมี เป็นต้น
โดยเฉพาะ “กระทิง” ที่ออกมาหากินจำนวนมากทั่วบริเวณ ประมาณ 200-300 ตัว ซึ่งทางอุทยานฯ ได้จัดทำแนวถนนไว้เป็นเส้นทางส่องสัตว์ป่า และกั้นแนวรั้วไฟฟ้าไม่ให้กระทิง-สัตว์ที่อยู่ในเขตอุทยานฯ ลงไปที่เขตชาวบ้าน และกั้นไม่ให้สัตว์ของชาวบ้านหรือตัวชาวบ้านเองเข้ามาลักลอบบุกรุกป่าด้วย
โดยบริเวณ “ป่าเขาแผงม้า” เป็นจุดที่สามารถส่องกระทิงได้มากที่สุด ทางอุทยานฯ จะปลูกหญ้าลูซี่ที่เป็นอาหารของกระทิงเพิ่มเติม รวมถึงสร้างโป่งไว้เป็นแหล่งอาหารของกระทิง และในบริเวณนี้ยังมีลานกางเต็นท์สำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบบรรยากาศสบายๆ ตื่นมาดูสายหมอกในตอนเช้าอีกด้วย
ส่วนทางด้าน อ.ประจันตคาม ก็มีโครงการปลูกป่าด้วยเช่นกัน โดยมีหน่วยจัดการน้ำห้วยตะคร้อเป็นผู้รับผิดชอบ คอยดูแลไม่ให้ไฟป่าเข้าไหม้ทุ่งหญ้าคา และปลูกพืชชนิดแรกคือ “ต้นติ้ว” ที่เป็นพืชที่ทนต่อสภาพแวดล้อม เจริญเติบโตและขยายพันธุ์ง่าย ไว้ทั่วบริเวณ
"ต้นติ้ว" มีลักษณะใบเล็กเรียว ลำต้นมีหนาม แล้วยังสามารถนำใบมากินได้อีกด้วย จะมีรสเปรี้ยว อาจนำมาจิ้มกับน้ำพริกหรือต้มเป็นแกงก็ได้ จากนั้นจึงปลูกพันธุ์ไม้ยืนต้นพื้นเมืองต่างๆ เช่น ฝาง ประดู่ มะขามป้อม ตะแบก พะยูง มะค่า ยาง เป็นต้น
โดยจะปลูกเป็นแนวแถว เว้นระยะห่างที่เท่ากัน แต่เมื่อกล้าไม้เริ่มโตขึ้น บริเวณด้านล่างจะเกิดลูกไม้ขึ้นตามมาจนดูไม่เป็นแนว ช่วงแรกๆ ที่กล้าไม้เริ่มโตนี้ จะต้องมีคนคอยเฝ้าดูแลไม่ให้ไฟป่าเข้าเผาไหม้ และคอยกันวัวควายที่ชาวบ้านพาขึ้นมากินหญ้าเหยียบเอา
เมื่อกล้าไม้สูงประมาณ 2-3 เมตร ถึงจะเลิกการเฝ้าดูแล เพราะหลังจากนี้ “ป่าจะทำหน้าที่ของมันเอง” เริ่มมี “ไผ่” ขึ้นเองตามธรรมชาติ พอเมื่อป่าโตจนกล้าไม้กลายเป็นต้นไม้สูงแล้ว พ.ศ.2547 จึงเริ่มปลูก “ป่าหวาย” ตาม
นายวิจัย สอนวิชา จากศูนย์ปราบปรามไม้พยูง ได้พาเยี่ยมชมความอุดมสมบูรณ์ของ “ป่าปลูก” ที่ได้ร่วมมือกันปลูกเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ระหว่างทางก่อนที่จะถึง “น้ำตกเหวอีอ่ำ” (ฝั่ง อ.ประจันตคาม) ยังได้เห็น “ดอกดินแดง” ที่ขึ้นอยู่ตามรากไม้ มีสีสันสวยงาม ซึ่งสามารถนำมากินเป็นผัก ทำเป็นขนม หรือคั้นน้ำออกมาทำเป็นสีผสมอาหารได้อีกด้วย
นายวิจัย ให้ข้อคิดดีๆ ว่า “กว่าจะได้เพชรงาม ย่อมต้องผ่านความลำบากมาก่อน เช่นเดียวกับถ้าอยากเห็นความงามที่ซ่อนอยู่ในป่า ก็ต้องไม่กลัวอุปสรรคที่ขวางอยู่ข้างหน้า”
ก็เหมือนกับ “น้ำตกเหวอีอ่ำ” ที่เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ซ่อนตัวอยู่ในป่า มีน้ำเยอะตลอดปี ซึ่งหากได้ไต่เชือกลงไปบริเวณด้านล่างของน้ำตก จะยิ่งเห็นความงามของน้ำที่ตกลงจากด้านบนมากระทบกับผืนน้ำด้านล่าง สวยงามมากจริงๆ
น้ำจากน้ำตกเหวอีอ่ำจะไหลลงสู่ “น้ำตกธารทิพย์” ที่อยู่ด้านล่างและยังเป็นอีกจุดท่องเที่ยวหนึ่งที่น่าสนใจของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อีกด้วย นอกจากนั้นใกล้ๆ กับการทางขึ้นน้ำตกเหวอีอ่ำ ยังมี “น้ำตกสาวน้อย” ที่เกิดจากการสร้างฝายชะลอน้ำให้แวะพักเล่นน้ำ-หาของกินจากร้านค้ากันอีกด้วย
“ป่า” สามารถ “ปลูกได้” หากเราเริ่มปลูกตั้งแต่วันนี้ เพียงแค่ 10 ปี 20 ปี หรือภายในชั่วอายุของเรา ย่อมได้เห็นพื้นที่สีเขียว ที่ปกคลุมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ได้ใช้ประโยชน์จาก “ป่า” ที่เป็นแหล่งต้นน้ำ กำเนิดพลังงาน ช่วยสร้างอากาศบริสุทธิ์ และอีกหลายชีวิตในระบบนิเวศ...”ไม่มีป่า ไม่มีเรา”
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com