เนื่องจากข่าวรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างชุมชนบริเวณป้อมมหากาฬ ในวันที่ 3 และ 4 กันยายน 2559 จำนวน 13 ครัวเรือน ที่ยอมถูกให้รื้อถอนออกไป เพื่อนำพื้นที่ไปสร้างเป็นสวนสาธารณะ ตามแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งในชุมชนตอนนี้เหลือเพียงแค่ 14 หลังคาเรือนเท่านั้น ที่ยังคงยืนยันที่ขอไม่ย้ายออกและอาศัยชีวิตอยู่หลังป้อมต่อไป แม้ว่าจะยืดเยื้อกันมานานหลายปี คราวนี้ฉันเลยขอมาเยี่ยมชมชุมชนเก่าแก่ที่ชาวบ้านได้ร่วมมือช่วยกันพัฒนาชุมชนป้อมมหากาฬ แสดงให้ภาครัฐกทม. เห็นว่า คนในชุมชน โบราณสถานและสวนสาธารณะสามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้ จึงได้จัดตั้ง “พิพิธภัณฑ์มีชีวิต” หรือ Living Heritage Museum เพื่อให้คนทั่วไปได้มาเยี่ยมชมและสัมผัสกับวิถีชุมชนดั้งเดิมอีกครั้ง
ชุมชนป้อมมหากาฬ แห่งนี้ถือเป็นย่าน "ชานกำแพงพระนคร" แหล่งชุมชนเก่าแก่ ที่แทบไม่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน แต่เดิมมีการขุดคลองรอบกรุงเพื่อขยายพระนครให้กว้างออกไป และอำนวยความสะดวกในการคมนาคมทำให้เกิดมีการลงหลักปักฐานอยู่อาศัยกันเป็นชุมชนริมน้ำตามย่านต่างๆ จนกลายมาเป็นย่านชานพระนครที่กระจายอยู่ทั่วไปในเขตเมืองชั้นในของเกาะรัตนโกสินทร์
ป้อมมหากาฬแห่งนี้เคยเป็นท่าเรือสำคัญสำหรับชาวบ้าน ขุนนาง และเจ้านายที่เดินทางมาตามลำคลองเข้าและออกไปนอกเมือง เพราะเป็นบริเวณที่จะต่อไปยังที่อื่นตามคลองมหานาค คลองแสนแสบ และตามคลองโอ่งอ่างไปยังรอบเมืองอื่นๆ รวมทั้งเป็นที่อยู่อาศัยของข้าราชการ และชาวบ้านมาหลายยุคสมัย มีการปลูกสร้างอาคาร เป็นแนวยาวตลอดตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศจรดแนวคูคลองวัดเทพธิดารามในปัจจุบัน ต่อมาเรียกกันว่า ตรอกพระยาเพชรฯ เพราะเคยเป็นบ้านพักของพระยาเพชรปาณี (ตรี) ข้าราชการกระทรวงวังและเป็นชาวปี่พาทย์โขนละคร ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดลิเกทรงเครื่องนั่นเอง
ฉันเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์มีชีวิตแห่งนี้ พบบรรยากาศอันอบอุ่นของชุมชนหลังป้อม โดยจะมีป้ายข้อมูลตามจุดสำคัญต่างๆ ที่ชาวบ้านได้ช่วยกันรวบรวมเรื่องราวที่น่าสนใจให้พวกเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับอาคารแต่ละหลัง และโบราณวัตถุต่างๆ ในชุมชน โดยเริ่มต้นกัน “บ้านไม้โบราณกลางลานชุมชน” เป็นบ้านไม้ที่มีประวัติศาสตร์และความสำคัญ เป็นเรือนเก่าที่ข้าราชบริพาธสมัยรัชกาลที่ 3 อาศัยอยู่กันมา และตกทอดกันสืบมา ซึ่งชาวชุมชนได้จัด “มหากาฬรามา” เป็นกิจกรรมสุดท้ายบ้านแห่งนี้ ก่อนที่ชาวบ้านร่วมกันปิดชุมชนเพื่อเจรจากับภารรัฐต่อไป ซึ่งมีภาพยนตร์ฉายเรื่องเกี่ยวข้องกับเคสป้อมมหากาฬและเป็นรากฐานของความคิด Mahakan MODEL ว่าชุมชนนั้นสามารถอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้
หากใครยังไม่เข้าใจ Mahakan Model นั้นคืออะไร ฉันจะอธิบายอย่างง่ายๆ มหากาฬโมเดล นั้นเป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่บริเวณชุมชนป้อมมหากาฬด้วยการนำเสนอทางออกที่เหมาะสมและเป็นไปได้สำหรับทุกฝ่าย เพื่อเป็นตัวอย่างในการเปลี่ยนแปลงเมืองที่เป็นมิตรกับทั้งภูมิทัศน์และผู้คน สร้างสมดุลระหว่างแนวคิดของชุมชน รัฐบาล ภาคเอกชน และนักวิชาการ โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้คน ชุมชน เมือง อยู่ร่วมกับการพัฒนาได้จริง
ซึ่งอาทิตย์ที่ฉันเป็นอาทิตย์สุดท้ายที่ชาวบ้านจัดกิจกรรมนี้ขึ้น จึงมีกิจกรรมากมายหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการเขียนโปสการ์ด นวดแผนไทย หรืออาหารมากมายที่ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดขายให้ได้ลองชิม ซึ่งอาหารที่ขายดีที่สุดคงหนีไม่พ้น ผัดไทย ที่ใครๆ หลายคนติดใจไปตามๆ กัน
ต่อมาฉันได้เดินไปชมบ้านโบราณต่างๆ ตามจุด ซึ่งเป็นบ้านโบราณที่ตั้งอยู่นานเกือบร้อยปี เช่น บ้านตำรวจในวัง ร.5 ที่ได้พระราชทานพื้นที่บริเวณนี้ สร้างบ้านเรือนข้าราชบริพารให้ตำรวจวัง ต่อมีมีชาวบ้านเข้ามาสร้างอาศัยอยู่ตามมากมาย บ้านไม้แห่งนี้จึงถือว่าเป็นบ้านตำรวจวังหลวงท่านหนึ่ง มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นเรือนขนมปังขิง ด้วยแผ่นไม้ฉลุลวดลายต่างๆ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากตะวันตกในช่วง ร.4 นอกจากนั้น ยังมีศาลพระภูมิที่ตั้งอยู่อีกด้วย เพราะเชื่อว่าต้องศาลพระภูมิให้สูงกว่าตัวบ้าน ถือว่าจะอยู่เย็นเป็นสุขนั่นเอง
ไม่เพียงแต่บ้านโบราณต่างๆ ให้ชมเท่านั้น ที่นี่ยังเป็นแหล่งวิถีชีวิตที่น่าสนใจ เช่น เลี้ยงนกเขาชวาและการทำกรงนก ของไพบูลย์ ตุลารักษ์ หรือลุงติ่ง ที่ได้อาศัยอยู่ในชุมชนมานานกว่า 40 ปี ลุงติ่งใช้ฝีมือในการต่อกรงนกขึ้นมาขาย มีความสวยงาม จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของบรรดาคนเลี้ยงนก นอกจากนั้นยังมีอาชีพที่น่าสนใจอีกอาชีพในชุมชนแห่งนี้ นั่นคือ การปั้นเศียรพ่อแก่ เป็นงานศิลปหัตถกรรมที่ชุมชนป้อมมหากาฬภาคภูมิใจ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากลุงโอ่ง ศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะวิธีการปั้นเศียรพ่อแก่ให้เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน แม้ว่าลุงโอ่งจากไป สิ่งเหล่านี้กลายเป็นองค์ความรู้ที่ลูกหลานคนในชุมชนป้อมมหากาฬสืบสานต่อกันมา และเป็นหนึ่งในฐานการเรียนรู้ของชุมชน ที่มีพี่เล็ก พีระพล เหมรัตน์ ทำหน้าที่ เป็นครูภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดความรู้นี้ รวมทั้งผู้ที่สนใจเข้ามาชมอีกด้วย
ถือว่าเป็น พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ที่แสดงถึงความเป็นอยู่ วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านที่ได้ใช้อาศัยอยู่ร่วมกันในป้อมนี้ แม้ว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่ชาวบ้านเรียกร้องกับทางภาครัฐจะยังคงถูกยืดเยื้อต่อไป ไม่มีทีว่าสรุปลงได้ ถ้าหากการเจรจา ภาครัฐและชุมชน พบกันคนละครึ่งทาง เราคงได้เห็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตป้อมมหากาฬ ได้เป็นสถานที่ดีๆ ท่ามกลางบรรยากาศความวุ่นวายในเมืองหลวงแห่งนี้
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com