xs
xsm
sm
md
lg

เปิดความลับมหัศจรรย์หินทรายอีสาน ...แอ่งมหานทีบรรพกาล จ.อุบลฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เสาเฉลียงรูปแก้วไวน์-เสาระเบียง ที่ภูจันทร์แดง
กรมทรัพยากรธรณี จัดโครงการ ธรณีสัญจร ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 4-5 สิงหาคม 2559 โดยการเปิดความลับของอาณาจักรหินทรายในภาคอีสาน ภายใต้หัวข้อ..แอ่งมหานทีบรรพกาล โดยใช้พื้นที่ ภูจันทร์แดง ภูอานม้า ผาแต้ม แก่งตะนะ ถ้ำเหวสินไชย จ.อุบลราชธานี เป็นพื้นที่ศึกษา เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องกับดินแดนที่มีโครงสร้างเป็นหินทราย ทำให้พื้นดินเป็นดินทรายเกือบทั้งภูมิภาค

กรมทรัพยากรธรณีเผยให้เห็นที่มาของหินทรายที่มาจากธารน้ำโบราณที่นำพาตะกอนทรายกวาดพัดมาสะสมไว้ในแอ่งต่างๆ นานวันเข้าตะกอนทรายถูกอัดทับและมีตัวเชื่อมประสานจนเป็นชั้น พอถูกแรงเคลื่อนที่ของเปลือกโลกดันให้ชั้นหินทรายยกตัวขึ้นมาบนผิวโลก เป็นที่ราบสูงภาคอีสาน และภูเขาหินทรายอย่างที่ปรากฏ ไม่ใช่เฉพาะที่ไทย ในเอเชียหินทรายมีมาตั้งแต่ตอนใต้ของจีน ตะวันตกของลาว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยทั้งภูมิภาค กัมพูชาทั้งประเทศ และตะวันตกบางส่วนของเวียดนามตอนใต้ ตะกอนทรายมีตัวเชื่อมประสานจนกลายเป็นภูเขาหินทรายที่มีอายุต่างกันจึงทำให้ภูเขาหินทรายต่างๆมีความทนทานแตกต่างกันไปด้วยตามชนิดของตัวประสาน แต่พื้นที่เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีพื้นดินเป็นดินทราย และภูเขาเป็นภูเขาหินทรายเกือบทั้งหมด
ลำธารน้ำบนลานหินที่ภูจันทร์แดง
ปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดบนหินทรายล้วนอาศัยปัจจัยของตัวเนื้อหินทรายที่มีความแข็งแรงทนทานที่ต่างกัน กับน้ำเป็นตัวทำให้เกิดเป็นรูปร่างต่างๆ โดยมีรอยแตกซึ่งอาจจะเกิดจากแผ่นดินขยับตัว น้ำใช้เวลานับล้านๆ ปีในการกัดกร่อนรอยแตกของหินทราย ส่วนที่แข็งแรงทนทานก็สึกกร่อนน้อยและคงรูปร่างจนเห็นในปัจจุบัน ส่วนที่แข็งแรงน้อยกว่าก็ถูกกัดกร่อน ปรากฏการณ์นี้สามารถแยกหน้าผาฝั่งผาแต้มและฝั่งลาวที่เคยเป็นแผ่นเดียวกันออกจากกันได้ ทั้งยังสามารถสร้างภูกระดึงขึ้นมา รวมทั้งภูหอ ภูหลังตัดทั้งหลายในภาคอีสานอีกด้วยด้วย กระทั่งปรากฏการณ์เสาเฉลียง เสาระเบียง หลุมกุมภลักษณ์ ลานหินสมอง ลานหินปุ่ม ก็ล้วนแล้วเกิดจากหลักการเหล่านี้ทั้งสิ้น

ภูจันทร์แดงในเขต อ.ศรีเมืองใหม่ มีเสาเฉลียงทรงแก้วไวน์และเสาระเบียงที่เป็นเหมือนป้อมปราการ และรอยธารน้ำโบราณที่ปรากฏบนลานหิน
รอยเกวียนโบราณที่ภูอานม้า
ภูอานม้า นอกจากจะมีปรากฏการณ์หินทรายที่กัดกร่อนจนหินดูเหมือนอานม้าแล้วยังมีร่องรอยของเกวียนโบราณที่ใช้สัญจรกันไปมาเมื่อนับร้อยนับพันปีและกุมภลักษณ์ขนาดใหญ่ที่คนในพื้นที่บอกว่าคือปากรูพญานาค

ภาคตัดขวางของผาแต้มเผยให้เห็นชั้นหินทรายและชั้นดินเหนียวที่สลับกันไปมาบ่งบอกถึงการสะสมของตะกอนต่างๆในอดีต และเมื่อชั้นดินเหนียวที่หนุนแผ่นหินทรายผุพังลงและแผ่นหินทรายมีรอยแตก จึงเกิดการถล่มขึ้นมาที่ผาท่าล้ง เช่นเมื่อปลายปี พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมานั่นเอง
ถ้ำเหวสินไชย
ส่วนถ้ำเหวสินไชยเผยให้เห็นชั้นดินเหนียวที่พังหายจนเป็นเวิ้งถ้ำทิ้งไว้แต่ตะกอนทรายตามเพดานถ้ำที่เป็นแผ่นหินทรายขนาดใหญ่

ส่วนแก่งตะนะเผยให้เห็นกุมภลักษณ์ในแม่น้ำอย่างโดดเด่น

แอ่งมหานทีบรรพกาลที่เป็นดินทรายไม่ใช่ผืนดินที่ไร้ค่า หากแต่มีความสำคัญทั้งแหล่งเกลือขนาดใหญ่ อัญมณี หินก่อสร้าง ปิโตรเลียมและที่สำคัญคือแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม และโดดเด่นต่างๆ ที่แอ่งมหานทีบรรพกาลสร้างไว้ให้ทั้งสิ้น...
ผาแต้มที่ถูกแม่น้ำโบราณกัดแยกเป็นสองฝั่ง
*****************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น