xs
xsm
sm
md
lg

เชียงรายชายแดน “แม่สาย-เชียงแสน-เชียงของ” ล่องน้ำโขงเชื่อมโยงการท่องเที่ยว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สะพานมิตรภาพไทย-พม่า ณ อำเภอแม่สาย
“เชียงราย” เป็นจังหวัดทางตอนเหนือสุดของประเทศไทยที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านถึง 2 ประเทศ คือ พม่า และลาว และยังอยู่ใกล้กับเมืองสิบสองปันนาของประเทศจีนแบบใกล้แค่เอื้อม การเดินทางก็ทำได้สะดวกเพราะมีแม่น้ำโขงที่เชื่อมโยงกันในหลายๆ ประเทศ รวมไปถึงมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว/ไทย-พม่า ทำให้เชียงรายจึงเป็นดังเมืองการค้าเชื่อมโยงชายแดนที่มีความสำคัญยิ่ง และมีเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนถึง 3 เขตอำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน และอำเภอเชียงของ

สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงจัดโครงการ "เปิดประตูเชื่อมโยงการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงรายสู่ GMS และ ASEAN (Chiang-Rai Gateway) และพาไปท่องเที่ยวเดินทางสำรวจแหล่งท่องเที่ยวในเขตเศรษฐกิจพิเศษของเชียงราย อันได้แก่พื้นที่ของอำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน และอำเภอเชียงของ โดยเราจะเริ่มท่องเที่ยวกันจากอำเภอแม่สาย มุ่งหน้าไปยังตะวันออกเลาะเลียบแม่น้ำรวกและแม่น้ำโขงไปยังอำเภอเชียงแสน และเชียงของตามลำดับ

เริ่มต้นกันที่ “แม่สาย” ซึ่งเป็นอำเภอที่อยู่เหนือสุดของประเทศไทย มีอาณาเขตติดกับจังหวัดท่าขี้เหล็กของพม่า โดยมีแม่น้ำสายเป็นพรมแดน ที่แม่สายนี้มีด่านพรมแดนไทย-พม่า และมีสะพานมิตรภาพเชื่อมเมืองทั้งสองเข้าด้วยกัน ทั้งชาวไทยและชาวพม่าเดินทางไปมาหาสู่ค้าขายกันได้โดยเสรี โดยมี “ตลาดแม่สาย” เป็นตลาดการค้าชายแดน ที่มีสินค้าพื้นเมืองของพม่าและสินค้าจากประเทศจีนวางจำหน่ายให้เลือกชอปกัน 
ซุ้มถ่ายรูปสวยงามที่จินนาลักษณ์กระดาษสา
ที่แม่สายมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอย่าง “จินนาลักษณ์กระดาษสา” ที่ตั้งอยู่บ้านปางห้า ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย ห่างจากด่านพรมแดนแม่สายราว 14 กม. และเป็นแหล่งเรียนรู้แห่งหนึ่งของโฮมสเตย์บ้านปางห้าอีกด้วย ที่นี่เป็นแหล่งผลิตกระดาษสามานานกว่า 20 ปี โดยมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่นี่นอกจากจะเป็นแหล่งผลิตกระดาษสาเพื่อส่งขายต่างประเทศและทำเป็นผลิตภัณฑ์จากกระดาษสาต่างๆ แล้ว ยังเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้เกี่ยวกับกระดาษสา เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกวัสดุไปจนถึงกระบวนการผลิตจนออกมาเป็นกระดาษสาอันสวยงาม โดยเปิดโอกาสให้ผู้มาเยือนได้ร่วมทดลองทำกระดาษสาด้วยตัวเอง นับเป็นผลงานที่เกิดจากไอเดียและการสร้างสรรค์ของแต่ละคนที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลกเท่านั้น
นักท่องเที่ยวทดลองทำกระดาษสาของตัวเอง
นอกจากนั้นที่จินนาลักษณ์ยังมีผลิตภัณฑ์เสริมความงามโดดเด่นอย่างแผ่นมาสก์หน้าไหมทองคำ ที่นำเอาเส้นใยไหมบริสุทธิ์สีเหลืองทองจากธรรมชาติมาทำเป็นแผ่นมาสก์ รวมถึงมีผลิตภัณฑ์เสริมความงามต่างๆ อีกมากมาย

จากจินนาลักษณ์กระดาษสา เราเดินทางกันเข้าสู่ “อำเภอเชียงแสน” มุ่งหน้ามายัง “สามเหลี่ยมทองคำ” ซึ่งหมายถึงพื้นที่รอยต่อชายแดนระหว่างสามประเทศ คือไทย พม่า และลาว โดยมีแม่น้ำโขงกั้นระหว่างไทย-ลาว และแม่น้ำรวกกั้นระหว่างไทย-พม่า จนกลายเป็นดินแดนสามเหลี่ยมทองคำที่มีทิวทัศน์งดงาม เป็นจุดรวมของสามประเทศที่เป็นศูนย์รวมการติดต่อเดินทางค้าขายกันมาช้านาน
รูปหล่อของพญาแสนภูที่สามเหลี่ยมทองคำ
บริเวณสามเหลี่ยมทองคำเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธนวล้านตื้อ ลือโลก” หรือ “พระเชียงแสนสี่แผ่นดิน” ซึ่งทำด้วยทองสัมฤทธิ์ขนาดหน้าตักกว้าง 10 เมตร ความสูงถึง 15 เมตร ประดิษฐานอยู่กลางแจ้งบนเรือนแก้วกุศลธรรม โดยพระพุทธนวล้านตื้อนี้สร้างขึ้นเพื่อแทนองค์พระเจ้าล้านตื้อที่มีตำนานเล่าขานว่าองค์พระจมอยู่ในลำน้ำโขง อีกทั้งยังมีรูปหล่อของ “พญาแสนภู” กษัตริย์ในราชวงศ์มังรายผู้ทรงสร้างเมืองเชียงแสนขึ้นเนื่องจากเห็นว่าบริเวณนี้มีตำแหน่งที่ตั้งทางชัยภูมิที่เหมาะสมแก่การทำกสิกรรม เพื่อเป็นเมืองท่าหน้าด่านที่คอยควบคุมดูแลการค้าขายตามลำน้ำโขงอีกด้วย
พระพุทธนวล้านตื้อ ลือโลก ประดิษฐานบนเรือนแก้วกุศลธรรม
อีกหนึ่งกิจกรรมการท่องเที่ยวยอดนิยมเมื่อมาเชียงแสนก็คือการลงเรือล่องเรือชมทัศนียภาพของสามเหลี่ยมทองคำจากกลางลำน้ำโขง หรือบางคนอาจเดินทางไปไกลล่องน้ำโขงไปจนถึงเมืองหลวงพระบางของ สปป.ลาว ก็ได้เช่นกัน โดยมีผู้ให้บริการเรือนำเที่ยวอยู่หลากหลายเจ้าบริเวณท่าเรือ แต่ครั้งนี้เราได้เลือกโดยสารไปกับเรือแม่โขงเดลต้า ล่องชมทิวทัศน์ของแม่น้ำโขงและจากสามเหลี่ยมทองคำไปยังเมืองโบราณเชียงแสนเท่านั้น แต่บริษัทแม่โขง เดลต้าฯ ยังมีเรือให้บริการนำเที่ยวจากเชียงแสนไปยังหลวงพระบาง รวมไปถึงเมืองสิบสองปันนาของประเทศจีนอีกด้วย ซึ่งหากมีโอกาสต้องลองมาใช้บริการในภายหลัง
ล่องเรือชมวิวแม่น้ำโขงกับเรือแม่โขงเดลต้า
มองเห็นกาสิโนบนฝั่งประเทศลาว
สำหรับการล่องเรือจากสามเหลี่ยมทองคำไปยังตัวอำเภอเชียงแสนนั้น เรือพาเราชมทิวทัศน์ของสามเหลี่ยมทองคำจากกลางลำน้ำโขง มองเห็นผืนแผ่นดินไทย พม่า ลาวตั้งประจันหน้ากัน บริเวณสบรวกหรือบริเวณที่แม่น้ำรวกซึ่งกั้นชายแดนไทย-พม่า ไหลลงสู่แม่น้ำโขงนั้นกลายเป็นแม่น้ำสองสี เนื่องจากสีของแม่น้ำโขงนั้นขุ่นแดง แต่แม่น้ำรวกเป็นสีออกเขียวใส ระหว่างทางล่องเรือยังได้เห็นบรรยากาศของเรือสินค้าจากจีน มองเห็นกาสิโนใหญ่โตหรูหราบนฝั่งประเทศลาว เห็นบรรยากาศบ้านเมืองเชียงแสนอันแสนสงบของไทย

อีกราวสองชั่วโมงถัดมาก็ได้เวลาขึ้นฝั่งกันที่ตัวอำเภอเชียงแสน เพื่อมาท่องเที่ยวต่อยัง “เมืองโบราณเชียงแสน” อันถือเป็นเมืองโบราณที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของล้านนา เป็นที่ตั้งของวัดและซากโบราณสถานมากมาย ทั้งวัดร้างและไม่ร้างกว่า 76 วัดด้วยกัน
เจดีย์วัดป่าสัก ในเมืองโบราณเชียงแสน
เราใช้บริการรถรางของเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน ที่มีให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเป็นหมู่คณะ (สำหรับคนที่มาเที่ยวกันเองอาจขับรถเที่ยวหรือปั่นจักรยานก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ) นั่งชมบรรยากาศภายในกำแพงเมืองเก่าของเชียงแสนที่ผู้คนและชุมชนอยู่ร่วมกับโบราณสถาน พร้อมกับผู้บรรยายที่บอกเล่าเรื่องราวของเมืองเชียงแสนให้ฟัง

สำหรับเวียงเชียงแสนนั้น เราอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างในชื่อของ "อาณาจักรโยนกนาคพันธุ์" หรือ "เวียงปรึกษา" หรือที่คุ้นชินกันที่สุดอีกชื่อก็คือ "เมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน" ที่นี่เคยมีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาถึง 24 พระองค์จนถึงช่วงสมัยของพระยามังรายที่ได้ย้ายศูนย์กลางของเมืองมาที่เวียงเชียงราย ก่อนที่ภายหลังจะมีการสร้างบ้านแปงเมืองเชียงใหม่ขึ้นมา ให้กลายเป็นศูนย์กลางอาณาจักรล้านนา ดังปรากฏมาจนทุกวันนี้
องค์เจดีย์วัดป่าสักที่ผสมผสานศิลปะหลากหลาย
ส่วนโบราณสถานที่สำคัญที่เราได้ชมกันในวันนี้ก็คือ "วัดป่าสัก" วัดร้างที่มีองค์เจดีย์อันงดงามและค่อนข้างสมบูรณ์ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลมาจากหริภุญไชย รูปแบบฐานคล้ายกับองค์เจดีย์กู่กุด จ.ลำพูน มีศิลปกรรมผสมผสานทั้ง พุกาม ขอม สุโขทัย ลวดลายปูนปั้นที่อยู่เหนือกาลเวลาเนิ่นนานหลายร้อยปีแลดูงดงาม

ส่วนที่ "วัดพระธาตุเจดีย์หลวง" ซึ่งเป็นเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่โตที่สุดของเมืองเชียงแสน สร้างโดยพระเจ้าแสนภูสำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุกระดูกหน้าอก เจดีย์ประธานเป็นทรงระฆังกลมฐานสูงแปดเหลี่ยมแบบล้านนา ถือได้ว่าเป็นวัดที่สำคัญแห่งหนึ่งของเชียงแสน
เจดีย์ขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองเชียงแสน ที่วัดพระธาตุเจดีย์หลวง
ชมโบราณสถานกันจนอิ่มตาแล้ว เราเดินทางต่อไปยัง “อำเภอเชียงของ” อันเป็นที่ตั้งของ “สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4” ซึ่งเป็นแห่งล่าสุดกันบ้าง จากเชียงแสนไปสู่ตัวอำเภอเชียงของนั้นสามารถเลือกเดินทางได้หลักๆ สองเส้นทาง เส้นหนึ่งเลาะเลียบริมแม่น้ำโขง กับอีกเส้นหนึ่ง (เส้นทางหมายเลข 1129) ซึ่งเป็นเส้นทางที่ใกล้กว่า ตัดขึ้นเขาผ่านไปยังอำเภอเชียงของตรงๆ ดังนั้นจึงมีความลาดชันและคดเคี้ยวอยู่บ้าง แต่ระยะทางจะสั้นกว่า และได้ชมทิวทัศน์ของภูเขาสูงลดหลั่น
แปลงปลูกผักริมแม่น้ำโขงของไร่แสงอรุณ
แต่วันนี้เราใช้เส้นทางเลาะริมแม่น้ำโขง เพราะนอกจากจะได้ชมวิวแม่น้ำโขงแบบชิลๆ แล้ว ก็เพื่อต้องการแวะไปยัง “ไร่แสงอรุณ” รีสอร์ตน่ารักริมแม่น้ำโขงในเขตอำเภอเชียงของ ที่โดดเด่นในเรื่องของทิวทัศน์ที่งดงามหลากหลาย บ้านพักมีทั้งแบบริมแม่น้ำโขง บ้านพักริมนา ริมบึง ให้เลือกพักได้ตามชอบ แม้บ้านพักจะไม่ใหญ่โต แต่ใกล้ชิดและกลมกลืนกับธรรมชาติ อีกทั้งภายในรีสอร์ตยังมีแปลงปลูกผักไว้ทำอาหารให้ผู้ที่มาพักได้กินผักสดๆ ปลอดสาร การมาพักที่ไร่แสงอรุณจึงเป็นการพักผ่อนทั้งกายและใจอย่างแท้จริง
สะพานไม้ทอดผ่านทุ่งนาที่กำลังเริ่มปลูก
จากนั้นจึงเดินทางต่อไปยังตัวอำเภอเชียงของ ระหว่างทางผ่าน “จุดชมวิวห้วยทรายมาน” ซึ่งเป็นจุดแวะพักชมวิวโค้งแม่น้ำโขงที่สวยงามมาก และจากนั้นไม่นานนัก เราก็เดินทางถึงตัวอำเภอเชียงของกันแล้ว ตัวเมืองเชียงของยังมีบรรยากาศที่สบายๆ ผู้คนดูยิ้มแย้มแจ่มใส เราขับผ่านตัวเมืองออกมาสักหน่อยก็ถึงทางแยกซ้ายเพื่อไปยังสะพานมิตรภาพไทย-ลาว
อาคารด้านหน้าสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4
สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) เป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่เชื่อมต่อระหว่าง บ้านดอนมหาวัน อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กับบ้านดอน เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว เปิดใช้เมื่อปี 2556 เป็นการเชื่อมต่อกับเส้นทาง R3A ที่เชื่อมต่อระหว่างจีน ลาว และไทย เพื่อให้การคมนาคมระหว่างประเทศสะดวกมากยิ่งขึ้น และยังเป็นการรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่เริ่มต้นขึ้นแล้วอีกด้วย
หุ่นจัดแสดงผ้าทอไทลื้อล้ำค่าภายในพิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ
จากสะพานมิตรภาพ มาปิดท้ายแหล่งท่องเที่ยวของสามเมืองเศรษฐกิจพิเศษแม่สาย เชียงแสน เชียงของกันที่ “พิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ” ใน อ.เชียงของ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เล่าเรื่องราวของชาวไทลื้อจากสิบสองปันนาที่อพยพมาตั้งรกรากที่บ้านศรีดอนชัย อ.เชียงของ ก่อตั้งขึ้นโดยคุณสุริยา วงค์ชัย ลูกหลานไทลื้อรุ่นใหม่ที่รวบรวมเอาผืนผ้าที่มีลวดลายงดงามของชาวไทลื้อหลากหลายแบบมาจัดแสดงไว้ เพื่อเก็บรักษาผ้าทอไทลื้อไว้สืบทอดให้เป็นมรดกของลูกหลานสืบไป
บริเวณร้านกาแฟซังวา ในพิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ
นอกจากจะมีพิพิธภัณฑ์ที่น่าชมแล้ว ภายในบริเวณยังเปิดเป็น “ร้านกาแฟซังวา” (ซังวาเป็นภาษาไทลื้อแปลว่า อะไร) ซึ่งเป็นร้านกาแฟที่มีวิวงามที่สุดแห่งหนึ่งอีกด้วย โดยร้านกาแฟที่อยู่ด้านหลังพิพิธภัณฑ์นั้นสามารถชมทิวทัศน์ของทุ่งนาเขียวขจียาวไปจดภูเขาได้อย่างสวยงาม เพิ่มเสน่ห์ด้วยสะพานไม้ไผ่ทอดยาวไปยังศาลานั่งเล่นกลางทุ่งนา น่านั่งเล่นเป็นที่สุด
ทุ่งนาเขียวขจีสบายตาด้านหลังพิพิธภัณฑ์
ได้ชมแหล่งท่องเที่ยวในเขตเศรษฐกิจทั้งสามอำเภอกันไปแล้ว เดินทางเข้าตัวเมืองเชียงรายก็ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอารามงดงามต่างๆ ในเมืองเชียงราย หรือจะออกไปนอกเมืองทาง อ.เทิง ก็มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมอย่าง “ไร่เชิญตะวัน” ที่ได้ทั้งความสวยงามและความสงบในจิตใจ หรือจะไปชิมอาหารเพื่อสุขภาพที่ไร่เกษตรอินทรีย์อย่าง “ไร่รื่นรมย์” ที่อยู่ไม่ไกลกันนัก หรือจะยาวไปเที่ยว “ภูชี้ฟ้า” ภูสูงเสียดฟ้าที่เป็นดังสัญลักษณ์ของ อ.เทิง ก็จะทำให้การมาท่องเที่ยวเชียงรายในครั้งนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับที่เที่ยว ที่พัก ที่กินในจังหวัดเชียงรายได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงราย (พื้นที่รับผิดชอบ เชียงราย, พะเยา) โทร.0 5371 7433, 0 5374 4674-5 หรือ www.facebook.com/tatchiangrai/
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น