xs
xsm
sm
md
lg

"พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรฯ" รู้ลึกเรื่องราวแสตมป์ ย้อนรอย “แสตมป์นิทรรศน์ 100 ปี สถานีรถไฟไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“แสตมป์นิทรรศน์ 100 ปี สถานีรถไฟกรุงเทพ สนุก ฉุกฉัก ฉุกฉัก หัวลำโพง”
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันโลกเราวันนี้จะมีวิวัฒนาการไปอย่างรวดเร็ว และเทคโนโลยีสมัยนี้ก็ก้าวหน้า โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสาร ที่สามารถติดต่อกันผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คได้เพียงไม่กี่วินาที แต่ก็มีบางคนที่ยังคงชอบการสื่อสารด้วยการส่งไปรษณีย์ ที่ถือว่าเป็นมนต์เสน่ห์อย่างหนึ่ง โดยเฉพาะสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า แสตมป์ ที่มีลวดลายติดอยู่ตรงมุมด้านขวาบน จนทำให้ใครหลายๆ คนอาจจะชอบและสะสมแสตมป์เก็บไว้ รวมทั้งฉันด้วย วันนี้ฉันจึงขออาสาพาไปเที่ยวชม "พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนใน" เอาใจคนรักแสตมป์กันหน่อย
ภายใน พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรฯ
"พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรฯ" นั้นตั้งอยู่ในรั้วเดียวกับไปรษณีย์สามเสนใน ริมถนนพหลโยธิน ใกล้ๆ กับสะพานควาย หากเดินมาด้านหลังก็จะพบกับตึกหลังใหญ่สีขาว ซึ่งชั้นที่สองก็จะเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์แสตมป์ ด้านหน้าทางเข้าสู่ภายในนั้นจะมีตู้ไปรษณีย์ตั้งอยู่ เป็นมุมยอดฮิตที่ใครมาเยือนต้องทำท่าถ่ายรูปกัน
แสดงประวัติเรื่องราวความเป็นมา พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรฯ
ภายในพิพิธภัณฑ์นี้มีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่มีการจัดแสดงเรื่องราวต่างๆ ของแสตมป์ไว้อย่างครบถ้วน เริ่มตั้งแต่วิวัฒนาการของกิจการไปรษณีย์และแสตมป์ของไทย ที่เริ่มมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยในตอนเริ่มแรกนั้นกิจการไปรษณีย์เกิดขึ้นก็เพื่อนำมาใช้ติดต่อระหว่างสถานกงสุลของประเทศต่างๆ โดยประเทศที่เข้ามาวางรากฐานการไปรษณีย์ให้กับไทยก็คือประเทศอังกฤษนั่นเอง

กิจการไปรษณีย์ของไทยเริ่มชัดเจนมากยิ่งขึ้นก็ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อเจ้าหมื่นเสมอใจราช (มรว.เทวะหนึ่ง ศิริวงศ์) ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลแด่รัชกาลที่ 5 ขอให้จัดมี "การโปสต์" (Post) หรือการไปรษณีย์ขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์กับทั้งราชการและราษฎร ดังนั้นพระองค์จึงทรงให้เจ้าหมื่นเสมอใจราช และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ซึ่งมีความสนใจในการไปรษณีย์ กำกับดูแลในเรื่องนี้ร่วมกัน
 โสฬศ แสตมป์ชุดแรกของประเทศไทย
เมื่อจะมีการส่งไปรษณีย์ก็จำเป็นจะต้องมีบ้านเลขที่ ดังนั้นภารกิจถัดไปในการไปรษณีย์ก็คือการจัดทำเลขที่ของบ้านเรือนประชาชนขึ้น และถัดมาจึงมีการจัดพิมพ์ตราไปรษณียากรหรือแสตมป์ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นค่าธรรมเนียมในการฝากส่งจดหมาย ดังนั้นใน พ.ศ.2426 แสตมป์ชุดแรกของไทยจึงถูกจัดพิมพ์ขึ้นในประเทศอังกฤษ มีชื่อชุดว่า "โสฬศ" โดยเป็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในลักษณะที่ทรงหันด้านซ้าย เจ้าอยู่หัว ผินพระพักตร์เบื้องซ้ายภายในวงกรอบรูปไข่ ตัวหนังสือและตัวเลขใช้อักษรและเลขไทยล้วน ด้านหลังไม่มีกาวและไม่มีลายน้ำมีทั้งหมด 6 ราคาด้วยกัน คือ 1 โสฬศ 1 อัฐ 1 เสี้ยว 1 ซีก 1 เฟื้อง และ 1 จัดพิมพ์ที่บริษัท Waterlow and Sons Ltd. ประเทศอังกฤษ จำนวนพิมพ์ชนิดราคาละ 5 แสนดวง เริ่มนำออกใช้วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2426
จัดแสดงรวบรวมแสตมป์มากมายหลายดวงให้ได้ชมกัน
ช่วงแรกนั้นก็ยังนิยมใช้ภาพของพระมหากษัตริย์เป็นรูปในแสตมป์ จนต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็เริ่มมีการนำภาพอื่นมาใช้ในแสตมป์มากขึ้น จนกลายมาเป็นของสะสมอย่างหนึ่งของคนเราเลยทีเดียว เรื่องราวของวิวัฒนาการแสตมป์ไทยยังมีรายละเอียดมากกว่านี้ ถ้าสนใจสามารถไปหาอ่านกันได้ในที่พิพิธภัณฑ์เลย

ในพิพิธภัณฑ์แสตมป์ยังมีการจัดแสดงรวบรวมแสตมป์มากมายหลายดวงให้ได้ชมกัน โดยมีตั้งแต่ชุดแรก คือชุดโสฬศมาจนถึงชุดปัจจุบัน และยังมีสำเนาชุดสะสมแสตมป์ของนักสะสมแสตมป์ของประเทศไทย อย่างบุญชัย เบญจรงคกุล ดร.ประกอบ จิรกิติ และอีกมากมายหลายคนมาแสดงให้ได้ชมกัน และไม่ใช่เฉพาะแสตมป์ของไทยเท่านั้น แต่ยังมีแสตมป์จากต่างชาติทั่วโลกกว่า 200 ประเทศที่เข้าร่วมสหภาพสากลไปรษณีย์ (The Symbol of Universal Union) ซึ่งประเทศต่างๆ ก็จัดมีการส่งแสตมป์ชุดใหม่ๆ มาแลกเปลี่ยนกันทุกปี ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีรูปแบบและสีสันของแสตมป์แตกต่างกันไป เป็นอีกอย่างที่แสดงถึงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ ผ่านพื้นที่แสตมป์อีกด้วย
หุ่นของบุรุษไปรษณีย์ที่แต่งเครื่องแบบแตกต่างกันไปในแต่ละยุค
นอกจากบรรดาแสตมป์มากมายที่ดูกันได้ทั้งวันก็ยังไม่หมดนี้แล้ว ก็ยังมีอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในกิจการไปรษณีย์สมัยเก่าๆ อย่างเช่นเครื่องชั่งน้ำหนักไปรษณียภัณฑ์ หรือตู้ไปรษณีย์รุ่นเก่าใบเล็กๆ น่ารักไม่ใหญ่โตเหมือนสมัยนี้ รวมทั้งยังมีหุ่นของบุรุษไปรษณีย์ที่แต่งเครื่องแบบแตกต่างกันไปในแต่ละยุคแต่ละสมัยคอยยืนคุมเชิงในแต่ละมุมอยู่ด้วย เดินดูแสตมป์อยู่ดีๆ พอมาเจอหุ่นนี้จ้องอยู่ก็ทำเอาฉันสะดุ้งไปเหมือนกัน
ห้องสมุดที่ให้ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับแสตมป์ทั้ง
อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในกิจการไปรษณีย์สมัยเก่า
นอกจากนี้ ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังมีห้องสมุดที่ให้ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับแสตมป์ทั้งภาษาไทยและต่างประเทศมากมาย รวมทั้งด้านหน้าจะมีนิทรรศการหมุนเวียน ที่ตอนนี้จัดเกี่ยวกับ “แสตมป์นิทรรศน์ 100 ปี สถานีรถไฟกรุงเทพ สนุก ฉุกฉัก ฉุกฉัก หัวลำโพง” ในโอกาสครบรอบ 100 ปี สถานีรถไฟหัวลำโพง โดยภายในนิทรรศการมีการจำลองขบวนรถไฟ ที่อยู่อาศัย ตลอดจนวิถีชีวิต เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ให้ได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของรถไฟตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันผ่าน 4 หัวข้อ ได้แก่ หัวลำโพงมีชีวิต เกร็ดน่ารู้คู่รถไฟ ชีวิตคน รถไฟ และไปรษณีย์ขี่รถไฟ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีก อาทิ การให้เด็กๆ สวมบทบุรุษไปรษณีย์ลองส่งจดหมายในสมัยที่ยังไม่มีเลขที่บ้าน การต่อโมเดลรถไฟ รวมถึงสามารถซื้อหาแสตมป์ สิ่งสะสม และสินค้าที่ระลึกที่จัดทำขึ้นเฉพาะนิทรรศการนี้ได้ที่ "พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรฯ"
ภายในนิทรรศการหมุนเวียน 100ปี สถานีรถไฟไทย
ตู้จดหมาย ยืนถ่ายรูปได้
แสตมป์ต่างประเทศที่เกี่ยวกับรถไฟมาถูกจัดแสดง
ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ฟรี ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 ธันวาคม 2559 แสตมป์นิทรรศน์ 100 ปี สถานีรถไฟกรุงเทพ สนุก ฉุกฉัก ฉุกฉัก หัวลำโพง” ณ พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสะพานควาย ในวันพุธถึงวันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์-วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 08.30 - 16.00 น. สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0- 2271-2439, 0-2831-3722, 0-2831-3810 หรือเฟซบุ๊ก Thai Stamp Museum หรือ Stamp in love และไลน์ stampinlove
* * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น