“ท่าช้างวังหลวง” เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่มีชื่อเสียงและนิยมอย่างมากทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งที่แห่งนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ มีอาคารแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิม และอาหารการกินที่อร่อยขึ้นชื่อและมีชื่อเสียง แต่เมื่อไม่นานมานี้เอง บริเวณตึกอาคารท่าช้างนั้นได้มีการปรับปรุงฟื้นฟูอาคารที่มาอย่างยาวนานจนเป็นสัญลักษณ์ของท่าช้าง และปรับปรุงทัศนวิสัยบริเวณรอบๆ ใหม่ วันนี้ฉันจึงขอไปเดินสำรวจว่า "ท่าช้าง" สถานที่ที่ทุกคนคุ้นเคยนั้นมีสภาพเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง และยังมีความสวยงามและคึกคักอย่างเดิมหรือเปล่า
ท่าช้างวังหลวง"หรือที่คนทั่วไปนิยมเรียกสั้นๆว่า "ท่าช้าง" เหตุที่เรียกย่านนี้ว่าท่าช้าง เพราะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บริเวณนี้เป็นบริเวณประตูเมืองที่ใช้สำหรับนำช้างจากวังหลวง หรือพระบรมมหาราชวัง ออกมาลงอาบน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา จึงได้รับการเรียกขานว่า "ท่าช้างวังหลวง"
ต่อมาใน พ.ศ.2351 รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระศรีศากยมุนีจากสุโขทัยมาทางแพเพื่อมาประดิษฐานที่วัดสุทัศนเทพวราราม และพักแพที่ท่าช้างวังหลวงเพื่อประกอบพระราชพิธีสมโภชเป็นเวลา 3 วัน แต่พระพุทธรูปไม่สามารถผ่านประตูเมืองบริเวณนี้ได้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อประตูและกำแพงบางส่วนออก แล้วสร้างประตูใหม่พระราชทานนามว่า "ประตูท่าพระ" ด้วยเหตุนี้ชื่อ "ท่าพระ" จึงเป็นอีกชื่อหนึ่งที่คนเรียกขานบริเวณนี้ แต่ว่าก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าชื่อดั้งเดิมอย่างท่าช้าง
ล่วงถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้ตัดถนนมหาราช และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ที่ดินด้านทิศเหนือของถนนมหาราช ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทำเป็นที่พักพระราชทานแก่เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม (สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา) เพื่อเป็นเรือนพำนักรักษาตัว ส่วนที่เหลือได้ให้ราษฎรเช่าปลูกเรือน และเมื่อเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม ได้เสด็จไปประทับที่วังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการแล้ว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พื้นที่แบ่งเป็นที่ทำการของกรมการทหารเรือ โรงพยาบาลที่ทำการแพทย์และโรงเลี้ยงอาหารของทหารรักษาวัง พร้อมทั้งให้รื้ออาคารเรือนแถวไม้ริมถนนมหาราชออก ก่อสร้างเป็นอาคารตึกแถวแทน
ตึกแถวท่าช้างวังหลวง นั้น มีผังเป็นรูปตัวแอล (L) โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระคลังข้างที่สร้างอาคารด้านติดกับท่าช้างวังหลวงขึ้นใน พ.ศ. 2452 จำนวน 27 คูหา เพื่อให้เช่า แต่สามารถสร้างจริงได้เพียง 22 คูหา เนื่องจากไม่สามารถรื้อย้ายโรงพยาบาลที่ปลูกติดกับกำแพงพระนครออกได้ทัน ต่อมาในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อโรงพยาบาลย้ายออกไปแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อกำแพงพระนครที่ริมถนนมหาราชลง และสร้างอาคารลักษณะเดียวกันต่อมาทางทิศเหนือเพิ่มเติมอีก จำนวน 12 คูหา ตึกแถวท่าช้างวังหลวงจึงมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 34 คูหา จนถึงปัจจุบัน
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมตักแถวท่าช้างนั้น เป็นอาคารเครื่องก่อ สูง 2 ชั้น มีรูปแบบเครื่องประดับสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิค หลังคาชั้นบนทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องว่าวซีเมนต์ ชั้นล่างด้านหน้า อาคารมีกันสาดมุงด้วยสังกะสีลอนลูกฟูก โดยมีค้ำยันเหล็กและแปไม้รับน้ำหนัก ผนังและเสาอิงภายนอกทั้งสองชั้น มีลวดบัวปูนปั้นตกแต่งและเซาะร่องผนังเป็นเส้นตามแนวนอน ทั้งหมด ประตูและหน้าต่างทำจากไม้สัก โดยประตูหน้าของชั้นล่างเป็นชุดบานเฟี้ยม ตอนบนมีช่องลม ส่วนด้านหลังเป็นบานลูกฟักทึบแบบเปิดคู่หน้าต่างชั้นบนด้านหน้าเป็นบานลูกฟักทึบแบบเปิดคู่ตอนบนมีช่องลมไม้ฉลุลายรูปโค้ง ส่วนหน้าต่างด้านหลังเป็นบานเปิดคู่รูปสี่เหลี่ยม ไม่มีช่องลม
บริเวณห้องริมสุดของอาคารแต่ละด้านรวมทั้งห้องมุมถนนมหาราชจะมีลักษณะพิเศษกล่าวคือ รูปด้านอาคารทำเป็นมุขยื่น มุขชั้นล่างมีเสาลอยขึ้นไปรับระเบียงชั้นบน กันสาดชั้นล่างเป็นรูปโค้ง ส่วนแผงหน้าจั่วประดับลวดลายปูนปั้น (เรียกซุ้มสกัดตัดตอน) และกรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ตึกแถวริมถนนมหาราชบริเวณท่าช้างวังหลวง จำนวน 34 คูหา เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2544
แต่เนื่องจากเป็นตึกโบราณและเก่าแก่ มีนักท่องเที่ยวและร้านค้าต่างๆ มากมาย ทำให้ตึกอาคารท่าช้างได้เสื่อมลงไปตามกาลเวลา จึงได้มีการปรับปรุงขนานใหญ่ โดยคงรูปแบบลักษณะเดิมไว้ ซึ่งเมื่อก่อนนั้นเราจะเห็นตึกในรูปแบบสีขาว มีร้านค้าตั้งขายมากมาย รวมไปถึงระบบสาธารณูปโภคไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย การติดตั้งป้ายโฆษณา การต่อเติมอาคารด้านหลัง ฯลฯ ส่วนบริเวณด้านหน้าอาคารมีการขายสินค้า การตั้งแผงขายของบริเวณทางเท้ายิ่งส่งผลให้อาคารมีสภาพเสื่อมโทรมมากขึ้น
แต่ตอนนี้ได้มีการปรับปรุงแล้วเสร็จ ตึกได้เปลี่ยนเป็นสีเหลือง มีสภาพสวยงาม ร้านค้าต่างๆ เริ่มทยอยกลับเข้ามา มีร้านอาหารมากมายให้เลือกกิน ซึ่งเมื่อก่อนร้านอาหารแถวท่าช้างถือว่าเป็นเสน่ห์ที่ผู้คนมากมายต่างมาที่นี่ต้องลิ้มลอง แต่เมื่อมีการปรับปรุงทำให้ร้านอาหารหลายๆ ร้านต่างต้องปิดตัวลงไปในช่วงสั้นๆ แต่ตอนนี้ร้านค้า เริ่มทยอยเปิดตัวทีละร้านสองร้าน เสน่ห์ของท่าช้างจึงเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง
ในที่สุดวันนี้การปรับปรุงตึกอาคารเก่าแก่ท่าช้างกว่า 2 ปี ได้เสร็จลง รวมไปถึงบริเวณลานท่าช้าง ที่ปรังปรุงทัศนียภาพใหม่ๆ มีการปลูกต้นไม้ประดับมากมาย ทำให้ความสวยงามได้กลับมาเยือนท่าช้างแห่งนี้อีกครั้ง หากใครอยากไปสัมผัส “ท่าช้างวังหลวง” ในตอนนี้รับรองว่าจะได้ทึ่งกับโฉมใหม่ไฉไลกว่าเดิมแน่นอน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว - อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com