xs
xsm
sm
md
lg

ยลสถานที่ประวัติศาสตร์ เปิดประตูวังสระปทุม ที่ “พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาฯ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“พระตำหนักใหญ่” ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ในย่านใจกลางเมือง ที่เต็มไปด้วยศูนย์การค้าและโรงแรมในเขตปทุมวันนั้น มีผู้คนมากหน้าหลากตาเดินขวักไขว่กันอยู่นั้น ใครจะรู้ว่ายังมีสถานที่แห่งหนึ่งที่เงียบสงบ ปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่นานาชนิด ตั้งอยู่ สถานที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของ “วังสระปทุม” วังในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ประทับของเจ้านายหลายพระองค์ ซึ่งบางส่วนในวังสระปทุมนั้น ได้ก่อตั้งเป็น “พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า” เปิดให้ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมชมได้ เมื่อฉันได้ยินดังนั้นฉันจึงไม่สามารถที่จะพลาดโอกาสนี้ขอเข้าเยี่ยมชมสักครั้งในชีวิต

โดยวังสระปทุมนั้น เริ่มมาจากที่ ร.5 มีพระราชดำริจะพระราชทานที่ดินบริเวณถนนปทุมวันหรือถนนพระรามที่ 1 ให้เป็นสถานที่สร้างวังของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (ในขณะนั้นดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์) พระราชโอรสซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า แต่เนื่องจากพระองค์ได้เสด็จไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา จึงยังไม่มีการสร้างพระตำหนักขึ้นตราบกระทั่งร.5เสด็จสวรรคต ร.6 จึงได้พระราชทานสิทธิ์ในที่ดินให้เป็นของพระบรมราชชนกในเวลาต่อมา

หลังจากการเสด็จสวรรคตของ ร.5 สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้เสด็จออกมาประทับภายนอกพระบรมมหาราชวัง พระองค์โปรดฯ ที่ดินบริเวณนี้มาก ถึงแม้ว่าในขณะนั้นบริเวณปทุมวันถือว่าเป็นที่ดินที่อยู่ห่างไกลจากความเจริญ รวมทั้งการคมนาคมก็ลำบากมาก พระองค์ทรงเตรียมการปลูกพระตำหนักที่เรียกว่า “พระตำหนักใหญ่” เพื่อจะเสด็จมาประทับอยู่เป็นการถาวร โดยพระองค์ทรงคิดผังพระตำหนักเอง  ทรงไม้ขีดไฟบ้าง หางพลูบ้าง ทำเป็นผัง แล้วจึงทรงให้สถาปนิกออกแบบถวายตามราชประสงค์
พระตำหนักใหญ่ นั้นมีสีเหลือง
ในระหว่างการก่อสร้างพระตำหนักใหญ่นั้น พระองค์ได้เสด็จมาประทับ ณ พลับพลาไม้ริมคลองแสนแสบ ซึ่งเป็นที่ประทับชั่วคราวบ่อย ๆ เมื่อพระตำหนักใหญ่สร้างเสร็จแล้ว สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้เสด็จเข้าประทับ ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม เป็นการถาวรตราบจนเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2498

สำหรับ “พระตำหนักใหญ่” ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้านั้น เป็นตำหนัก 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน รูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีระเบียงพื้นคอนกรีตยื่นออกมาโดยรอบพระตำหนัก องค์พระตำหนักยกพื้นสูงกว่าระเบียงโดยรอบ หันหน้าออกไปทางทิศเหนือ (คลองแสนแสบ) มีมุขเฉลียงยื่นออกนอกองค์พระตำหนัก 4 ทิศ โดยมีบันไดหลักขึ้นสู่ตัวอาคารขึ้นจากทางทิศเหนือและมีบันไดขึ้นได้อีก 2 ทิศ บริเวณมุขด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออก ทาสีเหลืองทั้งองค์พระตำหนัก

อย่างไรก็ตาม วังสระปทุมยังคงใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเรื่อยมาจนกระทั่งพระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2538 หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสระปทุมให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจนถึงปัจจุบัน
และเนื่องมาจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า วังสระปทุมเป็นสถานที่สำคัญแห่งพระราชวงศ์และแห่งชาติ ด้วยเป็นตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และได้เป็นที่ประทับของสมเด็จย่าในเวลาต่อมา สมควรที่จะจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ แสดงพระราชกรณียกิจอันเป็นแบบอย่างอันดีงามแห่งการดำรงชีวิตที่อำนวยประโยชน์สุขแก่คนหมู่มาก สมเด็จพระเทพฯ จึงทรงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นสนองพระราชดำริ
ห้องพิธี
โดยสมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินไปในการเปิด “พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า” เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2551

ภายใน “พระตำหนักใหญ่” หรือ “พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า” ได้จัดแสดงเป็นห้องต่างๆ ไว้เป็น 3 ช่วงเวลา แต่ก่อนจะเข้าสู่ช่วงแรกฉันได้เดินเข้าชมสู่ห้อง “ยุววัฒน์รัชกรณีย์” ภายในจัดแสดงอ่างสรงของในหลวง ที่ใช้สรงเมื่อทรงพระเยาว์ จม.ลายพระหัตถ์ของพระบรมราชชนก จม.ของสมเด็จย่า โทรเลขของสมเด็จพระพันวัสสา เป็นต้น ซึ่งเป็นของบางชิ้นที่ไม่สามารถชมที่ไหนนอกจากที่นี่เท่านั้น
ห้องรับแขก
ต่อมาเป็นที่จัดแสดงในช่วงที่ 1 ซึ่งเป็นช่วงของการสร้างพระตำหนักแล้วเสร็จ และสมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จฯ กลับจากต่างประเทศมาประทับอยู่ ซึ่งจัดแสดงใน “ห้องพิธี” และ “ห้องรับแขก” โดยในช่วงนี้ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญอันเป็นมงคลยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย กล่าวคือ ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จพระบรมราชชนกกับสมเด็จย่า ครั้งยังทรงเป็น นางสาวสังวาล ตะละภัฏ รัชกาลที่6 เสด็จฯ มาพระราชทานน้ำสังข์ ณ พระตำหนักใหญ่ เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2463 นอกจากนั้น วันที่ 28 เม.ย 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุมที่แห่งนี้อีกด้วย
ห้องเทา
ห้องทรงพระอักษร
สำหรับการจัดแสดงในช่วงที่สอง จะเป็นช่วงที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงเสกสมรสและมีพระราชธิดาแล้วหนึ่งพระองค์ ทรงพาครอบครัวเสด็จฯ กลับจากประเทศอังกฤษและมาประทับอยู่ที่วังสระปทุมอีกวาระหนึ่ง การจัดสิ่งของเครื่องใช้ในห้องแสดงของพิพิธภัณฑ์ในช่วงนี้ ได้แก่ “ห้องเทา” และ “ห้องทรงพระอักษร” ในบริเวณชั้นที่ 2
ห้องทรงพระสำราญ
ส่วนในช่วงสุดท้าย จัดแสดงใน “ห้องทรงพระสำราญ” “ห้องทรงนมัสการ” และ “ห้องพระบรรทม” เป็นช่วงเวลาที่สมเด็จพระบรมราชชนกมีพระราชโอรสเพิ่มขึ้นอีก 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาแพทย์ เสด็จกลับจากสหรัฐอเมริกาพร้อมครอบครัว
“ห้องพระบรรทม”
“เฉลียงพระตำหนักใหญ่ชั้นบน”
และนอกจากนี้บริเวณ “เฉลียงพระตำหนักใหญ่ชั้นบน” ในช่วงปลายพระชนม์ชีพ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรดที่จะประทับตรงเฉลียงบนหน้าห้องพระบรรทม ซึ่งปัจจุบันจัดเป็นห้องทรงนมัสการ เมื่อทรงตื่นบรรทมแล้วจะเสด็จออกมาประทับที่เฉลียงตลอดทั้งวัน และเสวยพระกระยาหาร ณ ที่นี่ด้วย ซึ่งบริเวณนี้มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีอันเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า คือ ทรงเป็นประธานในพิธีราชาภิเษกสมรสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับดอกไม้ธูปเทียนแพ และพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนต์ และเจิมพระนลาฏแก่ทั้งสองพระองค์
หอนิทรรศการ
จัดแสดงนิทรรศการต่างๆ ให้ได้ชม
นอกจากการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ พระตำหนักใหญ่ ยังมีส่วนจัด ณ หอนิทรรศการ เกี่ยวกับพระราชประวัติสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า การบูรณะซ่อมแซมพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุมและจัดนิทรรศการในโอกาสพิเศษต่างๆ ในแต่ละปี

และนี้เองเมื่อฉันได้เยี่ยมชม “พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า” ทำให้ฉันได้รับรู้เรื่องราวต่างๆ ความเป็นมา พระราชประวัติพระราชวงศ์ ที่ฉันไม่เคยรู้ แต่ไม่สามารถพบเห็นที่ไหนได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสที่ดีที่ได้เข้าเยี่ยมชม หากใครอยากศึกษา เรียนรู้ และระลึกถึง ไม่ควรพลาด เพราะในปีหนึ่งนั้นจะเปิดให้ประชาชนเข้าชม “พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า” ณ วังสระปทุม ได้เพียงช่วงเวลาเดียวที่กำหนดไว้เท่านั้น และนั่นจึงเป็นโอกาสที่ดี ที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง
* * * * * * * * * * * * * * * * *
“พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า” ณ วังสระปทุม นี้ เปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้ - 31 มีนาคม 2559 ทุกวันจันทร์-เสาร์ เวลา 10.00 - 15.00 น. ค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 150 บ. นักเรียน/นักศักษา 50 บ. โดยการเข้าชมต้องทำการนัดหมายล่วงหน้า และจะจัดเป็นรอบในการเข้าชม โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เจ้าหน้าทีโทร. 0-2252-1965 - 67

นอกจากนั้น “พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า” มีร้านจำหน่ายอาหารว่างและของที่ระลึกถึง เปิดบริการทุกวันจันทร์-เสาร์ เวลา 10.00 - 17.00 น. ในวันเสาร์มีกิจกรรมฝึกการอบรมทำอาหาร และงานฝีมือ ทัศนศึกษา และอื่นๆ ดูได้ที่เว็บไซต์ของมูลนิธิฯ http://www.queensavang.org/ และทางเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/queensavangmuseum
* * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น