xs
xsm
sm
md
lg

จาก"นาเกลือ"ถึง"เขาวัง" "เพชรบุรี" มีวันเดียวก็เที่ยวได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชาวบ้านกำลังเก็บเกลือสมุทรเพื่อเตรียมเข้าสู่โรงเกลือ
เมื่อพูดถึง เพชรบุรี หลายๆคนย่อมคิดถึง ขนมหวาน ที่เป็นของขึ้นชื่อของเมืองเพชร ที่ถึงกับมีอยู่ในคำขวัญประจำจังหวัดเลยด้วยว่า “เขาวังคู่บ้าน ขนมหวานเมืองพระ เลิศล้ำศิลปะ แดนธรรมะ ทะเลงาม” แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนคาดไม่ถึงว่าเป็นของขึ้นชื่อเมืองเพชรเช่นกัน ก็คือ เกลือ นั่นเอง แต่เมื่อพูดถึงเกลือก็พาให้นึกถึงสมุทรสาคร หรือสมุทรปราการ หารู้ไม่ว่าแหล่งผลิตเกลือที่ใหญ่และดีที่สุดในประเทศนั้น อยู่ที่เพชรบุรีนี่เอง
ชาวบ้านกำลังเก็บเกลือสมุทรเพื่อเตรียมเข้าสู่โรงเกลือ
โอกาสนี้ "ตะลอนเที่ยว" ขอพาทัวร์เมืองเพชรผ่านกลิ่นอายความเค็มของเกลือสมุทรเมืองเพชร ไปกับการเดินทางผ่าน เส้นทาง “ถนนสายเกลือ” อ.บ้านแหลม โดยเริ่มออกเดินทางจากรุงเทพฯทุ่งเข้าสู่ ถนนพระราม 2 พอถึงกม. 72 เลี้ยวซ้ายเข้าคลองโคน ใช้เส้นทางคลองโคลน-บางตะบูน-บ้านแหลม ตลอดเส้นทางที่ผ่านนั้น ถนนเส้นนี้ตัดเลียบไปกับนาเกลือ ที่เสมือนทุ่งที่ถูกย้อมไปด้วยความขาวของเกลือถือได้ว่าเป็นงามที่แปลกไปอีกอย่าง ในบางแปลงก็ยังมีน้ำขังอยู่บ้าง หรือบางแปลงก็มีเกลือมากอง มีชาวบ้านมาขนเข้าสู่โรงเกลือ
 
แต่ถ้าใครจะเที่ยวชมเส้นทางถนนเกลือนี้นั้น ขอแนะนำให้ไปช่วงที่ปลอดฝนจะดีที่สุด ยิ่งช่วงเดือนมีนา-เมษาจะเป็นช่วงที่มีเกลืออยู่เต็มพื้นที่สุดสายตา ซึ่งช่วงที่เราไปนั้นเป็นช่วงที่ขังน้ำทะเลไว้เพื่อรอให้แห้ง เลยไม่ค่อยจะได้เห็นความขาวโพลนของเกลือสักเท่าไรนัก 
การปรับหน้าดิน เพื่อเตรียมสำหรับทำนาเกลือ
การทำนาเกลือนั้น ต้องอาศัยพื้นที่ขนาดใหญ่พอเพื่อขังน้ำทะเลไว้ให้แห้งจนเป็นผลึกเกลือ และยังต้องมีขั้นตอนอีกมากมายตั้งแต่การปรับหน้าดิน การทิ้งน้ำทะเลไว้ในนาตาก แล้วเมื่อได้ที่ปล่อยเข้าสู่นาปลง จะเห็นได้ว่าการทำนาเกลือนั้นเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเวลารอคอยการแห้งของเกลือหรือการใช้แรงงานคนในการแบกหามท่ามกลางอากาศร้อน กว่าจะได้เกลือออกมาใช้ได้นั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
กลุ่มอาชีพเกลือทะเลกังหันทอง
นอกจากภูมิปัญญาในการทำนาเกลือแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเกลืออย่าง "ดอกเกลือ" นั้นก็ถือเป็นของดีอีกอย่างหนึ่งที่ชาวบ้าน ต.บางแก้ว อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี นำมาประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ที่ผสมผสานกับสมุนไพรไทย ภายใต้การรวมกลุ่มของชาวบ้านในชื่อ "กลุ่มอาชีพเกลือทะเลกังหันทอง" เป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่น และพัฒนาคุณภาพในชีวิต ถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่ได้ผ่อนคลายความเหนื่อยล้าจากการเดินทางด้วยสปาเกลือตามแบบฉบับท้องถิ่น
บ้านทรงไทย กังหันทอง
จากนาเกลือ เรามุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมืองเพชรบุรี เยี่ยมชม “พระนครคีรี”  หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า "เขาวัง" ซึ่งเขาวังนั้นเป็นพระราชวังฤดูร้อนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2402 บนยอดเขาสมณ และพระราชทานนามใหม่ว่า “เขามหาสวรรค์” โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค) บรรดาศักดิ์ในขณะนั้น เป็นแม่กองในการสร้าง และมีพระเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์ (ท้วม บุนนาค) ทำหน้าที่เป็นนายงานก่อสร้าง พระนครคีรีถือได้ว่าเป็นพระราชวังแห่งแรกของไทยที่ถูกสร้างขึ้นบนยอดเขา และที่พิเศษไปกว่านั้น คือเป็นยอดเขาสามยอดติดต่อกัน
บริเวณหน้ากลุ่มอาคารภายในประตูนารีปะเวศ
ได้ขึ้นชื่อว่าเขา แต่เราก็ไม่ต้องเดินขึ้นให้เหนื่อยให้เสียเหงื่อ เพราะทางอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี มีรถรางไฟฟ้าจัดไว้ให้กํบผู้มาเยี่ยมชมสามารถขึ้นได้ทางด้านหลังของเขาวัง เมื่อนั่งรถรางขึ้นมาถึงจะพบกับบรรยากาศที่ร่มรื่นของต้นลีลาวดีที่แผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาแก่ผู้มาเยี่ยมเยือนบริเวณหน้ากลุ่มอาคารภายในประตูนารีประเวศ 
หอพิมานเพชรมเหศวร์
เดินไปตามทางก็จะพบกับทางแยกไปหอพิมานเพชรมเหศวร์และพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ โดยขอเริ่มที่ “หอพิมานเพชรมเหศวร์” ซึ่งตั้งอยู่แยกออกไปจากหมู่มวลพระที่นั่ง ท่ามกลางบรรยากาศเงียบสงบ หอนี้เป็นหมู่อาคารเล็กๆ 3 หลัง มีแท่นประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่ภายในและกั้นเป็นห้อง เชื่อกันว่าเป็นห้องทรงศีลของรัชกาลที่ 4 
ลิงแสม เจ้าถิ่นแห่งเขาวัง บริเวณหอพิมานเพชรมเหศวร์
นอกจากนี้เรายังได้พบกับเจ้าถิ่นของเขาวัง ก็คือ “ลิงแสม” นั่นเอง ซึ่งปกติจะสามารถพบได้ชุกชุมทั่วบริเวณเขาวัง แต่ในวันที่ "ตะลอนเที่ยว" ไปนั้น ไม่รู้เป็นโชคดีหรือโชคร้ายที่ได้พบเจ้าถิ่นลิงแสมเพียงแค่ตัวเดียวเท่านั้น อาจจะด้วยเพราะความเงียบของบริเวณหอพิมานเพชรฯ หรือเป็นจังหวะที่จะได้เจอ เพราะหลังจากนั้นก็ไม่เจออีกเลย
บรรยากาศระหว่างทางไปพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์
บันไดทางขึ้นพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์
หลังจากนั้นก็เดินขึ้นสู่ “พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์” ซึ่งแม้ภายในพระราชฐานแห่งนี้จะมีอาณาบริเวณกว้าง มีบันไดและทางขึ้นที่สูงชัน แต่ก็ยังมีลิฟท์ขึ้นบันไดสำหรับผู้พิการหรือผู้สูงอายุ ถือได้ว่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้ทุกคนได้มีโอกาสขึ้นไปเยี่ยมชม
ลิฟท์ขึ้นบันไดสำหรับผู้พิการหรือผู้สูงอายุ
พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์
เมื่อขึ้นมาแล้วก็จะพบกับหมู่พระมหามณเฑียรและพระที่นั่งต่างๆ โดยองค์แรกคือ “พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์” ถือได้ว่าเป็นพระที่นั่งประธานของหมู่พระที่นั่ง เป็นสถาปัตยกรรมยุโรปผสมกับสถาปัตยกรรมไทยและจีน เดิมในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 นั้นใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับออกว่าราชการ ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงปรับเปลี่ยนให้เป็นที่รับแขกบ้านแขกเมือง ซึ่งเชื่อมต่อกับพระที่นั่งปราโมทย์มไหศวรรย์ เป็นอาคารแบบเก่งจีน 2 ชั้น 
พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท
และเมื่อเดินถัดไปด้านหลังจะพบกับ “พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท” ซึ่งถือเป็นแบบปราสาทยอดปรางค์ตามแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 ลักษณะเป็นปราสาทจตุรมุข ยอดปรางค์ 5 ยอด โดยมีปรางค์ใหญ่สุดอยู่ตรงกลาง ที่มุมทั้งสี่เป็นปรางค์ขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนฐาน3ชั้น โดยแต่ละชั้นมีระเบียงแก้วโดยรอบ ภายในประดิษฐานพระบรมรูปหล่อสำริดรัชกาลที่4
 
ใกล้ๆ กันคือ “พระที่นั่งราชธรรมสภา” เป็นพระที่นั่งชั้นเดียวยาวหลังคาแบบเก๋งจีน เป็นศิลปะที่ผสมผสานความเป็นยุโรป ไทย และจีน และที่สำคัญพระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ประชุมสาธยายธรรมในรัชกาลที่ 4 และเป็นที่เสวยสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ที่ตามเสด็จในรัชกาลที่ 5 
หอชัชวาลเวียงชัย หรือหอดูดาว
ต่อมาคือ “หอชัชวาลเวียงชัย หรือ หอดูดาว” มีลักษณะเป็นรูปโดมคล้ายกระโจมแก้ว มีบันไดวนขึ้นชั้นบน รอบนอกเป็นระเบียงมีลูกกรงทำด้วยกระเบื้องเคลือบจากประเทศจีน ในสมัยก่อนนั้นชาวประโมงอาศัยไฟจากหอดูดาวแห่งนี้นำทางเข้าสู่อ่าวบ้านแหลมตอนกลางคืน เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระปรีชาญาณทางด้านดาราศาสตร์และโหรศาสตร์ หอดูดาวแห่งนี้จึงเป็นสถานที่สำหรับส่องกล้องทอดพระเนตรดวงดาวต่างๆ
ยอดเขาทางทิศตะวันออก วัดพระแก้ว หรือ วัดพระแก้วน้อย
จุดๆ นี้ยังเป็นจุดที่เห็นทัศนียภาพรอบเมืองเพชรบุรีไปถึงชายทะเลได้แบบสุดสายตา และยังเห็นยอดเขาทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดประจำพระราชวัง คือ “วัดพระแก้ว หรือ วัดพระแก้วน้อย” โดยจำลองแบบมาจากวัดพระแก้วที่กรุงเทพฯ พระอุโบสถขนาดย่อส่วน ผนังประดับด้วยหินอ่อน หลังคามุงกระเบื้องสี ใบระกา ช่อฟ้า บราลี ประดับกระจกฝีมือช่างหลวง หน้าบันเป็นตราพระมหาพิชัยมงกุฎ ตราประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ส่วนประชาสัมพันธ์ของพิพิธภัณฑ์
 
“พระสุทธเสลเจดีย์” ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ มีเนื้อหินสีเทาอมเขียว ประกอบสำเร็จขึ้นที่เกาะสีชังแล้วถอดเป็นชิ้นขนขึ้นเรือมาเพชรบุรีเพื่อประกอบที่วัดพระแก้ว ส่วนศาลาและพระปรางค์แดง อยู่ด้านตรงข้ามกับพระอุโบสถ เป็นศาลาทรงโปร่งเล็กๆ 3 หลัง ส่วนพระปรางค์แดงเนื่องจากทาสีแดง ชาวบ้านจึงเรียกกันว่าพระปรางค์แดง เป็นปรางค์องค์โปร่งทั้งองค์ ผิดไปจากปรางค์ทั่วไปที่มักโปร่งในส่วนล่างและทึบในส่วนบน
ที่เตรียมเครื่องเสวยและกลุ่มอาคารภายในประตูนารีปะเวศ
กว่าจะเที่ยวชมได้โดยรอบพระราชฐานนั้นเวลาก็ล่วงเลยมาเย็นค่ำแล้ว ซึ่งโดยปกติอุทยานประวัติสาสตร์พระนครคีรีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนครคีรีนั้น เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9.00 น. - 16.00 น. ค่าเข้าชมชาวไทยคนละ 20 บาท และคนละ 40 บาทสำหรับชาวต่างชาติ 
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ
ก่อนเดินทางกลับ ลงมาด้านล่างเขาวัง ใกล้ๆกันก็จะพบอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งมี“พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4” ประดิษฐานอยู่ก็ขอแวะสักการะเพื่อเป็นสิริมงคลในการเดินทางกลับ
 
จะเห็นได้ว่าเพชรบุรี เมืองใกล้ๆ ที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก เดินทางเพียง 2 ชั่วโมงก็ถึงแล้ว ได้สัมผัสกลิ่นอายวิถีชาวบ้านในการทำนาเกลือ ดื่มด่ำกับศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมกับวังบนเขาที่เรียกกันว่า เขาวัง ตามอย่างที่กล่าวไปว่าเพชรบุรี มีวันเดียวก็เที่ยวได้
 
*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเพชรบุรี โทร. 0-3247-1005-6  Facebook : Tat Phetchaburi และที่ www.เที่ยวภาคกลาง.com
*****************************************
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com 

 

กำลังโหลดความคิดเห็น