xs
xsm
sm
md
lg

“เขาเย็น” ป่าผืนงามแห่งความอบอุ่น...ที่เที่ยวใหม่ให้ใจไปเต็มๆ/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
วิวทิวทัศน์ทะเลภูเขา เมื่อมองลงไปจากจุดชมวิวแคมป์(2)ยอดเขาเย็น
...“ใกล้ตา ไกลตีน” - เป็นความรู้สึกก่อนที่ผมจะเดินตะลุยป่าขึ้นไปพิชิตยอด“เขาเย็น” เมื่อได้เห็นยอดของขุนเขาลูกนี้ทอดตัวตระหง่านเงื้อมอยู่เบื้องหน้า...

...“ไกลตา ใกล้ใจ” - หลังจากเดินป่าขึ้นไปพิชิตยอดเขาเย็นกลับลงมาสู่ผืนป่าคอนกรีตแห่งเมืองหลวง ภาพความทรงจำของเขาเย็นที่ผมจากมา“ไกลตา” ยังคงอยู่“ใกล้ใจ”ในห้วงคิดคำนึง ชวนให้ระลึกถึง ยากลืมเลือน...

ใกล้ตา ไกลตีน

“เขาเย็น”

ชื่อนี้อาจมีบางคนเข้าใจผิดเป็น “ช่องเย็น” แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังแห่งอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.กำแพงเพชร

แต่เขาเย็นก็คือเขาเย็นไม่ใช่ช่องเย็นแต่อย่างใด
กางเต็นท์พักบนสันเขาเย็นที่แคมป์ 2 ยอดเขาเย็น
เขาเย็นอยู่ในพื้นที่ “อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า” จ.กำแพงเพชร เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติแห่งใหม่ที่ทางอุทยานฯคลองวังเจ้า “เปิดตัวอย่างเป็นทางการ”เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว(2558) ให้นักท่องเที่ยวผู้รักความท้าทายเดินป่าขึ้นไปพิชิตยอดเขาเย็น สัมผัสกับความงามจากธรรมชาติสรรค์สร้างและเรียนรู้วิถีแห่งป่าไพร โดยมี“การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานสุโขทัย”(พื้นที่รับผิดชอบสุโขทัย กำแพงเพชร)เข้ามาช่วยส่งเสริมประชาสัมพันธ์อีกแรง

เขาเย็น(หรือที่ชาวปกาเกอะญอในพื้นที่เรียกว่า “กะเจ้อคลิ”ที่แปลตรงตัวว่า“ภูเขาเย็น”) เป็นแนวขุนเขาที่มียอดสูงสุดในผืนป่าคลองวังเจ้า มียอดสูงสุดอยู่ที่กว่า 1,900 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่ยอด 1,900 นี้ทางอช.คลองวังเจ้ายังไม่เปิดให้ขึ้นไปเที่ยวชม ขณะที่ยอดสูงรองลงมาคือยอดเขาที่มีความสูงกว่า 1,800 เมตร(หรือยอด 1,800) ซึ่งทางอช.เพิ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปพิชิต(ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น)

ยอดเขาเย็นมีลมพัดแรงและเต็มไปด้วยเมฆหมอกลอยปกคลุม(โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนและหน้าหนาว) บนนั้นมีอากาศเย็นสมชื่อ มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ไม่เกิน 20 องศา โดยบางช่วงในบางปีมีอากาศหนาวเย็นอยู่ที่เลขตัวเดียว ให้ผู้ขึ้นไปพิชิตได้นอนหนาวกาย ยิ่งคนเดียวดายยิ่งนอนหนาวไปถึงหัวใจ
ถนนจากที่ทำการ อช.คลองวังเจ้า สู่ หน่วยฯขุนวังเจ้า
สำหรับทริปการเดินป่าพิชิตยอดเขาเย็น(ขึ้น-ลงเขา) ทางอุทยานฯกำหนดเส้นทางเดินป่าระยะกลาง “ขุนวังเจ้า-ยอดเขาเย็น” ระยะทาง 13 กม.(ขึ้น-ลง)ใช้เวลา 3 วัน 2 คืน และจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่อุทยานฯนำทาง ดังนั้นผมกับเพื่อนๆจึงมาตั้งหลักตั้งต้นกันที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อช.คลองวังเจ้า เพื่อพบปะกับพี่ๆพิทักษ์ป่าเจ้าหน้าที่นำทาง พร้อมๆกับฟังบรีฟข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเขาเย็นอุ่นเครื่องก่อนออกเดินจริง ซึ่งนอกจากการบอกข้อมูลคร่าวๆเกี่ยวกับเส้นทาง จุดพักแรม สิ่งน่าสนใจในระหว่างทางแล้ว ทางอช.คลองวังเจ้ายังเน้นเป็นพิเศษในเรื่องของ “การนำขยะคืนถิ่น” คือให้นักท่องเที่ยวนำขยะที่นำขึ้นไปกลับลงมาทิ้งที่เบื้องล่าง

หลังจบบรีฟ เราถือโอกาสทำความรู้จักกับพี่ๆพิทักษ์ป่าที่มาทำหน้าที่นำทาง นำโดย พี่ต้น พี่อดุลย์(อาดูน) พี่แขก ต้อม และโด่ง ซึ่งพวกเราจะต้องอยู่ด้วยกันไปตลอดทริป
วิวทิวทัศน์ท้องถนนระหว่างที่ทำการ อช.คลองวังเจ้าสู่ หน่วยฯขุนวังเจ้า
ครั้นเมื่อสัมภาระพร้อม คนพร้อม รถพร้อม คณะเราก็เริ่มเคลื่อนขบวนในทันที โดยจากที่ทำการอช.คลองวังเจ้า ในช่วงแรกเรานั่งรถกระบะโฟร์วีลไปในเส้นทางเดียวกับทางไปน้ำตกเต่าดำ ผ่านเส้นทางอันสมบุกสมบัน ก่อนจะไปถึงยัง 3 แยกที่จุดสกัดป่าคา

จากแยกจุดสกัดป่าคานี้ หากตรงไปจะไปยังน้ำตกเต่าดำ แต่งานนี้คณะเราเลี้ยวขวามุ่งหน้าสู่ “หน่วยจัดการต้นน้ำขุนวังเจ้า” ที่เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางเดินเท้าขึ้นสู่ยอดเขาเย็น ระหว่างทางมีทุ่งดอกไม้ริมทาง(ดอกวัชพืช) ท้องไร่ท้องนา และวิวทิวทัศน์สวยๆงามๆ 2 ข้างทางให้ยลในหลายจุดด้วยกัน
ทุ่งดอกวัชพืชที่กำลังบานระหว่างทาง ให้ผู้ผ่านทางได้ไปหามุมสวยๆถ่ายรูปกัน
จากนั้นก่อนจะถึงยังหน่วยฯขุนต้นน้ำ พี่อดุลย์ผู้รับหน้าที่โชเฟอร์แวะจอดรถชี้ให้พวกผมดู“ยอดเขาเย็น” ที่ทอดตัวตระหง่านเงื้อมอยู่เบื้องหน้า

ยอดเขาเย็นแม้จะมองดูเห็นอยู่“ใกล้ตา” แต่ว่ามันคือความ“ไกลตีน” ที่กว่าเราจะเดินเท้าขึ้นไปพิชิตยอดนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย...

ขุนวังเจ้า

หน่วยจัดการต้นน้ำขุนวังเจ้า อยู่ห่างจากสำนักงานที่ทำการอช.คลองวังเจ้า 34 กม.(ห่างแยกจุดสกัดป่าคา 7 กม.) ที่นี่เป็นจุดสิ้นสุดของการเดินทางด้วยรถยนต์ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางด้วย“เท้า”สำหรับผู้ที่จะขึ้นไปพิชิตยอดเขาเย็น

ที่หน่วยฯขุนวังเจ้า เราได้พบกับลุงๆลูกหาบชาวปกาเกอะญอจากบ้านโละโคะ ที่มารับจ้างเป็นลูกหาบหารายได้เสริม ซึ่งพี่ๆเจ้าหน้าที่ได้นัดให้มาเจอกันที่นี่
พี่ต้น จนท.อุทยานฯ(คนกลาง) นำทีมลูกหาบเดินนำหน้าไปก่อนจากจุดตั้งต้นเดินเท้าหน่วยฯขุนวังเจ้า
หลังกินข้าวเที่ยงตุนพลังที่หน่วยฯขุนวังเจ้าอิ่มหนำ พวกเราพากันลงมือจัดแพ็กสัมภาระข้าวของต่างๆที่ต้องน้ำขึ้นไป โดยสัมภาระหลักๆอย่างเช่น เต็นท์ อาหาร อุปกรณ์ทำอาหาร เราให้ลูกหาบแบกขึ้น ส่วนของใช้ส่วนตัว อย่าง น้ำดื่ม ของกินเติมพลังเล็กๆน้อยๆ กล้องถ่ายรูป และข้าวของสัมภาระจิปาถะที่เหลือ พวกเราแบกกันขึ้นไปเอง(ในกรณีที่หาลูกหาบไม่ได้ นักท่องเที่ยวจำเป็นต้องแบกสัมภาระต่างๆขึ้นยอดเขาเย็นด้วยตัวเอง)

ครั้นเมื่อทุกอย่างเสร็จสรรพก็ได้ฤกษ์ชีพจรลงเท้า โดยพี่ต้น ต้อม โด่ง กับกลุ่มลูกหาบเดินนำหน้าไปก่อน ส่วนคณะเรามี“พี่อดุลย์”พิทักษ์ป่าอารมณ์ดีมาทำหน้าที่“รพินทร์ ไพรวัลย์”เดินนำทาง ขณะที่ผู้ทำหน้าที่เป็น“แงซาย”เดินปิดท้ายขบวนคือ“พี่แขก”ที่มาคุมหลังคอยเก็บตกพวกสโลว์ไลฟ์ (รพินทร์-แงซาย เป็น 2 ตัวละครเอกในอมตะนิยายเรื่อง “เพชรพระอุมา”)
ทางเดินช่วงแรกสู่คลอง 1 เป็นทางราบและชันเล็กน้อยเดินสบาย
สำหรับเส้นทางเดินในวันแรกมีระยะทางโดยรวมประมาณ 4.5 กม. โดยเส้นทางในช่วงแรกมีสภาพเป็นป่าดิบชื้น หนาแน่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยร่มรื่นเขียวครึ้ม เส้นทางเดินสบายเพราะเป็นทางราบและทางชันบ้างเล็กน้อยถึงปานกลาง

เราเดินกันไปเรื่อยๆ ก่อนจะมาหยุดพักที่จุดพักแรก คือ “คลองเขาเย็น 1”(คลอง 1) เพื่อดื่มน้ำ ล้างหน้าล้างตากับน้ำใสไหลเย็นในลำคลองให้ชื่นใจ แล้วจึงออกเดินทางต่อไปในเส้นทางสบายๆอีกไม่นานก็มาถึงยัง “คลองเขาเย็น 2”(คลอง 2) ซึ่งเป็นจุดแวะพักจุดที่ 2 และเป็นแหล่งน้ำจุดสุดท้ายของการเดินป่าในวันแรก เพราะแหล่งน้ำจุดต่อไปจะอยู่บริเวณจุดกางเต็นท์ของแคมป์วันแรก(ไปห่างๆ) ดังนั้นใครน้ำดื่มในขวดเหลือน้อย ให้เติมจากที่คลอง 2 แห่งนี้ไปให้เต็มขวด เพื่อจะได้มีดื่มกินเพียงพอไปตลอดทางเดินของวันแรกแบบไม่ต้องไปเบียดเบียนคนอื่น
แวะพักล้างหน้าล้างตาที่คลองเขาเย็น 1
ของจริง

ที่คลอง 2 หลังแวะเดิมน้ำ แวะพักเหนื่อยกันเล็กน้อย พี่อดุลย์ให้กำลังใจด้วยการบอกว่าทางเดินต่อจากนี้ไปเป็นเส้นทาง“ชัน” ถือเป็น“ของจริง”สำหรับผู้พิชิตยอดเขาเย็นทั้งหลาย

จากคลองสองเราเดินแบบกึ่งผสมปีนป่ายไต่ความชันขึ้นไปเรื่อยๆสู่จุดพักที่ 3 คือ“ผาหิน” ซึ่งพี่อดุลย์ให้กำลังใจอีกครั้ง(ตรงไหน)ด้วยการบอกว่า ทางเดินนับจากจุดผาหินขึ้นไปเป็นเส้นทาง “ชันมาก” เพราะฉะนั้นต้องเดินด้วยความระมัดระวังไม่ประมาท เพราะหากพลั้งพลาดอาจลื่นล้มฟกช้ำถลอกปอกเปิกได้
นับจากคลอง 2 ขึ้นไป เส้นทางโหดขึ้นและชันขึ้นมาก
ครับ จริงดังพี่อดุลย์ว่า ทางเดินนับจากจุดผาหินขึ้นไปนั้นชันมาก อย่างที่ภาษาเด็กแว้นบ้านผมเรียกว่า“ชันโคตรๆ” ซึ่งพวกเราต้องเดินกันแบบกึ่งปีนป่ายแบบสโลว์ไลฟ์ค่อยเป็นค่อยไปไม่เร่งรีบ งานนี้หลายคนเลือกที่จะเดิน 4 ขา เพื่อความมั่งคง ส่วนบางคนก็มาแบบไทยแลนด์ก็อตทาเล้นท์กับการ“เล่นท่ายาก”ด้วยการ“คลานเข่า”ขึ้นเขาอันถือเป็นความสามารถพิเศษ ยากที่ใครจะลอกเลียนแบบ

จุดต่อมาเป็นจุดที่ 4 คือ “กำลังเลือดม้า”(ชื่อต้นไม้ที่มีขึ้นอยู่หลายต้นในบริเวณนั้น เป็นพืชสมุนไพรมีสรรพคุณบำรุงร่างกาย) ซึ่งในระหว่างทางเดินขึ้นเขาชันมากประมาณ 1 กม.ที่ผ่านมา พวกเราได้แวะพักกันตลอดเกือบทุกๆ10 นาที โดยจากจุด 3 ไปจุด 4 เส้นทางยังคงเหมือนเดิมคือชันมาก แถมบางช่วงยังชันเป็นพิเศษกับ“ทางชันเป็นพิเศษ” คะเนดูน่าจะราวๆ 70-80 องศาเห็นจะได้
กึ่งเดินกึ่งปีนป่าย เพื่อให้ไปถึงยังจุดหมาย
สำหรับเส้นทางในช่วงจุดผาหินสู่จุดกำลังเลือดม้านั้น การเดินขึ้นเขามีอีกหนึ่งข้อพึงระวังเพิ่มเติมคือ หินหลายๆก้อนที่อยู่ข้างทางเดิน มันวางอยู่บนดินอย่างไม่มั่นคง ระวังอย่าไปเหยียบหิน เพราะอาจหลุดไหลไปใส่คนที่เดินตามหลังเราได้ เพราะฉะนั้นให้เดินไปตามทางดินหรือทางที่เจ้าหน้าที่เดินนำทางเป็นดีที่สุด อย่าได้เดินออกนอกลู่นอกทางเลย

จากจุดกำลังเลือดม้าเรายังคงเดินกึ่งปีนป่ายต่อไปสู่จุดที่ 5 “ดงเฟิน” บนนี้สภาพป่าได้เปลี่ยนไปเป็นป่าดิบเขา มีต้นไม้ใหญ่บางตาและป่าเฟินขนาดใหญ่ ช่วงนี้ยังคงมีทางชันมากให้เหนื่อยกันอีกประมาณ 100 เมตร
เส้นทางผ่านดงเฟิน เป็นที่โล่งกว้างทัศนียภาพสวยงาม
จากนั้นเส้นทางมีความชันน้อยลง เดินสบายขึ้น นำสู่จุดที่ 6 คือ “ป่าหญ้าคา” ที่เป็นป่าหญ้าคาโล่งกว้าง บนนี้มีทัศนียภาพดีมากสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์อันสวยงามในเบื้องล่างได้ในหลายจุดด้วยกัน อีกทั้งยังมีลมเย็นๆพัดโชย ช่วยพัดปลิดปลิวความเหนื่อยล้าจากการเดินขึ้นมาให้คลายลงไปได้มากโขทีเดียว
วิวทิวทัศน์ของขุนเขาอันสวยงามในเส้นทางเดินจากป่าหญ้าคาสู่แคมป์ 1 ดาวบนดิน
แล้วการเดินทางหันแสนโหดหินของวันแรกก็สิ้นสุดลงเมื่อเราเดินทางมาถึงแคมป์ “ดาวบนดิน” ซึ่งเป็นจุดที่พักตั้งแคมป์ของวันแรก ณ บริเวณที่ราบเล็กๆบนแนวสันเขา ให้เราได้กลางเต็นท์กันท่ามกลางวิวทิวทัศน์อันงดงามบนระดับความสูงราวๆ 1,666 เมตร
กลางเต็นท์นอนท่ามกลางวิวทิวทัศน์อันสวยงามของแคมป์ 1 ดาวบนดิน
บริเวณที่พักแคมป์ดาวบนดินเป็นอีกหนึ่งจุดชมวิวอันงดงาม เมื่อมองลงไปที่เบื้องหน้าจะเห็นทัศนียภาพของผืนป่า ขุนเขา ท้องไร่ท้องนาในเบื้องล่าง ไม่ว่าจะเป็นวิวทิวทัศน์ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง คลองสวนหมาก อำเภอคลองลาน หรือถ้าวันไหนฟ้าเปิดดีๆจะมองได้เห็นถึงตัวเมืองกำแพงเพชรเลยทีเดียว โดยในยามค่ำคืนแสงไฟในอำเภอคลองลานที่เปิดระยิบระยับจะดูงดงามประหนึ่งดาวบนดินอันเป็นที่มาของชื่อแคมป์
เมฆหมอกลอยปกคลุมขุนเขาเมื่อมองไปจากบริเวณแคมป์ 1 ดาวบนดิน
เมื่อจัดแจงเรื่องกางเต็นท์ที่หลับที่นอนดีแล้ว ดวงตะวันยามเย็นค่อยๆทอแสงอ่อนๆโดยมีสายหมอกบางๆลอยมาปกคลุม แถมยังมีปรากฏการณ์หมอกไหลไหวพลิ้ว ให้คนชอบถ่ายรูปได้บันทึกภาพกันอย่างจุใจ

ขณะที่พี่เจ้าหน้าที่และฝ่ายจัดทำอาหารนั้นก็ขะมักเขม้นกับการตระเตรียมมื้อค่ำ ก่อไฟ หุงข้าว ทำอาหาร โดยมีลุงๆลูกหาบผู้น่ารักได้มาช่วยทำอาหาร หาฟืน ตักน้ำสำหรับดื่มกินและทำอาหารมาคอยท่าไว้นานแล้ว
หุงข้าวกินกลางป่าด้วยหม้อสนามได้บรรยากาศยิ่งนัก
นั่นจึงทำให้ค่ำคืนนี้พวกนั่งกินอาหารกันท่ามกลางบรรยากาศอันสุดยอดบนแนวสันเขา เบื้องล่างมองเห็นดาวบนดิน เบื้องบนพร่างพราวระยิบระยับไปด้วยดาวประดับฟ้า ท่ามกลางอากาศอันหนาวเย็นแห่งป่าไพรในย่ามรัตติกาล

นับเป็นอีกหนึ่งความประทับใจที่ผมพยายามซึมซับกับมันให้มากที่สุด ก่อนที่มุดเต็นท์เข้านอน

ราตรีสวัสดิ์ นอนหลับฝันดี
แสงยามโพล้เพล้ที่แคมป์ 1 ดาวบนดิน
ยอดเขาเย็น

เช้าวันใหม่ วันที่ 2 ของทริปพิชิตยอดเขาเย็น

ผมตื่นขึ้นมาท่ามกลางสภาพอากาศที่ปิด หมอกลงหนาทึบ หมดสิทธิ์มองเห็นพระอาทิตย์ขึ้น
ออกเดินทางจากแคมป์ 1 สู่แคมป์ 2 ท่ามกลางสายหมอกที่ลงหนาทึบ
สำหรับการเดินทางในวันนี้เป็นการเดินจากจากแคมป์ 1 ดาวบนดิน สู่แคมป์ 2 “ยอดเขาเย็น” มีระยะทางประมาณ 2 กม. เป็นเส้นทางเดินเลาะสันเขาทางเดินค่อนข้างสบายมีชันนิดเดียว โดยหลังหม่ำมื้อเช้ากับข้าวต้มร้อนๆ กับแกล้ม เอ๊ย!!! กับข้าวอร๊อยอร่อย จนอิ่มหนำ คณะเราได้ตั้งขบวนออกเดินทางต่อ โดยตำแหน่งต่างๆยังคงเหมือนเมื่อวานกับที่เดินขึ้นเขามา นั่นคือพี่ต้นกับลุงๆลูกหาบล่วงหน้าไปตระเตรียมสถานที่ก่อน ส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวค่อยๆเดินตามไป มีพี่อดุลย์นำหน้า พี่แขกปิดท้าย
ป่าเมฆในวันที่หมอกลงหนาจากเส้นทางแคมป์ 1 สู่ แคมป์ 2
จากแคมป์ 1 ดาวบนดิน เส้นทางในช่วงแรกมีขึ้นเขาชันนิดหน่อยก่อนจะเป็นทางเดินบนสันเขา ซึ่งในวันนี้มีอีกหนึ่งสภาพป่าให้ทัศนากันนั่นก็คือ “ป่าเมฆ” กับลักษณะของผืนป่าที่ตามลำต้นกิ่งก้านของต้นไม้ใหญ่ๆนั้นถูกปกคลุมไปด้วยมอส ฝอยลม ดูประหนึ่งต้นไม้สวมเสื้อกันหนาว ยิ่งในยามที่หมอกลงหนาทึบ(อย่างในช่วงเช้าของวันที่เราเดิน) ป่าเมฆบนแนวสันเขาแห่งนี้มันช่างดูลี้ลับ งามแปลกตา แต่ทว่าเดินแล้วไม่ร้อน เย็นสบาย สมดังชื่อเขาเย็น และเราก็เย็นไม่แตกต่างกัน
บริเวณจุดพักต้นไม้เดียวดาย
ในเส้นทางเดินป่าวันที่ 2 มีจุดแวะพักให้ถ่ายรูปกัน 2-3 จุด ไม่ว่าจะเป็น จุดกล้วยไม้เอื้องเงิน จุดชมวิวช่องเขา และจุดต้นไม้เดียวดายที่อยู่ใกล้ๆกัน กับต้นไม้(ใหญ่)เดียวดายยืนต้นเด่นตระหงว่านแผ่กิ่งก้านรูปฟอร์มสวยงาม
เอื้องเงิน พบเจอระหว่างทางแคมป์ 1 สู่แคมป์ 2
สายวันนี้เราเดินเลาะเลียบบนสันเขากันแบบเพลินๆสบายๆ ไม่นานก็มาถึงยังแคมป์ 2 “ยอดเขาเย็น” พร้อมๆกับการคว้าตำแหน่ง“ผู้พิชิตยอดเขาเย็น” มาไว้ในครอบครอง แบบไม่เสียเหงื่อสักเท่าไหร่ เพราะยอดเขาเย็นนั้นอยู่ใกล้ๆกับแคมป์ที่พักยอดเขาเย็นเพียงไม่กี่สิบเมตร สามารถเดินขึ้นไปชมวิวพิชิตยอดได้อย่างสบายๆ บนระดับความสูง 1,898 เมตร (อ้างอิงตัวเลขจากเพจอุทยานคลองวังเจ้า ขณะที่การจับGPS ของคณะเรา วัดได้ประมาณ 1,816 เมตร)
กางเต็นท์หน้ากระดานนอนบนสันยอดเขาเย็น
สำหรับจุดกางเต็นท์ที่แคมป์ยอดเขาเย็นเป็นแนวสันยอดเขาเย็นที่มีที่ราบแคบๆให้เรากางเต็นท์นอนกันแบบหน้ากระดาน ซึ่งบริเวณนี้เป็นจุดชมวิวชั้นดี สามารถมองลงไปเบื้องล่างเห็นวิวทิวทัศน์ของทะเลภูเขาของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง อ.อุ้มผาง และถนนสายแม่สอดอุ้มผางได้อย่างสวยงาม แถมถ้าวันไหนฟ้าเปิดสามารถมองได้ไกลไปถึงประเทศเมียนมา(พม่า)โน่น ถือว่าเป็นจุดชมวิว AEC เลยทีเดียว
จุดชมวิวผ่านดงเฟินบริเวณแคมป์ 2 ยอดเขาเย็น
วิวทะเลภูเขาที่นี่จะเริ่มจากฉากหน้าป่าหุบดงเฟิน แนวต้นไม้บนยอดเขา ไล่ระดับแนวขุนเขาผืนป่าตะวันตกในเบื้องหน้าไปอย่างมีมิติเชิงชั้นอันสวยงาม คุ้มค่าต่อการตะลุยป่าดั้นด้นเดินขึ้นมาไม่น้อยเลย

นอกจากนี้บนแนวสันเขาเย็น ณ แคมป์ 2 ยอดเขาเย็น ยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกชั้นดี รวมถึงมีจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นในฝั่งตรงข้าม หรือจะขึ้นไปดูบนยอดเขาเย็น ซึ่งหากใครโชคดีมากๆ เช้าวันนั้นจะได้เห็นทะเลหมอกขึ้นในฝั่ง อ.อุ้มผางอย่างสวยงาม แต่ย้ำอีกครั้งว่าต้องโชคดีจริงๆ เพราะโอกาสเห็นทะเลหมอกสวยๆบนยอดเขาเย็นนั้นมีไม่มากเท่าไหร่
ทิวทัศน์ทะเลภูเขายามเย็นฝั่ง จ.ตาก เมื่อมองจากจุดชมวิวที่แคมป์ 2 ยอดเขาเย็น
บนแนวสันเขาเย็นแห่งแคมป์ 2 ยอดเขาเย็นที่ผมใช้กางเต็นท์ ตั้งแคมป์ ทำอาหาร ยังมีอีกหนึ่งความพิเศษมากๆนั่นก็คือ บนสันเขาแห่งนี้เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้ากับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างจังหวัดกำแพงเพชรกับจังหวัดตาก ซึ่งผมสามารถนั่งกินข้าวที่จังหวัดตาก(ฝั่งตะวันตก) และเดินมาจิบกาแฟในจังหวัดกำแพงเพชร(ฝั่งตะวันออก)ได้เพียงแค่ก้าวเดียว หรือไม่ก็อาจจะนอนดูดาวให้หัวอยู่จังหวัดกำแพงเพชร เท้าอยู่จังหวัดตากได้อย่างสบายๆ

นับได้ว่าบนนี้เป็นจุดเดียวที่เที่ยว 2 จังหวัด กำแพงเพชร-ตาก ได้อย่างสุดฟิน นับเป็นอีกหนึ่งมนต์เสน่ห์อันโดดเด่นของแนวสันเขายอดเขาเย็นแห่งนี้ ที่ต้องขึ้นไปพิชิตเท่านั้นถึงจะสัมผัสได้ในความประทับใจ
แนวทะเลภูเขายามแสงยามเย็นทะลุเมฆสาดส่อง
ไกลตา ใกล้ใจ

บนแคมป์ 2 ยอดเขาเย็นมีอากาศหนาวเหน็บ ในค่ำคืนวันที่ผมนอนช่วงดึกๆ อุณหภูมิลดต่ำลงเหลือแค่ตัวเลขตัวเดียว เช่นเดียวกับในช่วงเช้ามืด ที่ผมกับเพื่อนๆตื่นก่อนกำหนดนัดชมพระอาทิตย์ขึ้น เพื่อมานั่งผิงไฟ เพราะอากาศหนาวมาก

แล้ววันนี้(วันที่ 3)ก็เป็นเหมือนดังเช่นเมื่อวานที่อากาศปิดสนิท มีหมอกลงหนาทึบ พระอาทิตย์ดวงกลมโตที่ขึ้นยามเช้าทอแสงผ่านม่านหมอกในวันนี้ จึงดูไม่ต่างกระไรจากพระจันทร์วันเพ็ญในท่ามกลางม่านเลือนรางแห่งราตรีรัตติกาล
พระอาทิตย์ขึ้นท่ามกลางม่านหมอกหนาของเช้าวันที่ 3
หลังจากที่อิ่มอร่อยกับอาหารมื้อเช้าฝีมือเชฟต้น จนท.พิทักษ์ป่าที่ทำอาหารได้เยี่ยมมาก(เป็นพ่อครัวหลักทำให้เรากินมาตลอดทั้งทริป) พวกเราก็เก็บเต็นท์ เก็บสัมภาระ ถ่ายรูปทิ้งทวน ล่ำลายอดเขาเย็น ก่อนค่อยๆเดินลงเขาไปตามตำแหน่งเหมือนดังเช่น 2 วันที่ผ่านมา
เดินผ่านป่าเมฆที่มีสายหมอกลงปกคลุมในยามสาย
สำหรับชีวิตขาเดินลงจากยอดเขาเย็นนั้นแม้ในจะไม่เหนื่อยเท่าชีวิตขา(เดิน)ขึ้น แต่ด้วยเส้นทางที่ชัน โดยเฉพาะช่วงลงจากจุดกำลังเลือดม้าสู่จุดผาหินที่ทางชันดิกนั้น มันคือความยากลำบากที่ต้องค่อยๆกระดึ๊บลง นอกจากนี้ด้วยความอ่อนล้าจากการเดินขึ้นในวันแรก บวกกับอาการเข่าล็อก ข้อเข่า ขาเริ่มตึง งอข้อพับลำบาก ทำให้นี่เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญในการเดินลง
เดินลงเขาในวันที่มีสายหมอกลงหนาทึบ
แต่สุดท้ายพวกเราก็ค่อยๆผ่านทางลงในจุดที่ลำบากที่สุดนั้นมาได้ ก่อนจะมาถึงยังทางเดินสบายๆในคลอง 2 เดินต่อไปคลอง 1 แล้วออกจากป่ามายังหน่วยจัดการต้นน้ำขุนวังเจ้า ที่จุดเริ่มต้นของการเดินขึ้นเขาและเป็นจุดสิ้นสุดของการเดินลงจากยอดเขาเย็น
สีสันเล็กๆที่พบเจอระหว่างทาง
หลังจากนั้นพวกเราได้นั่งรถกระบะคันเดิมเดินทางกลับสู่ที่ทำการอช.คลองวังเจ้า ล่ำลายอดเขาเย็นที่แม้บนนั้นจะมีอากาศหนาวเหน็บเสียดแทงกระดูก แต่สำหรับผมการเดินป่าพิชิตเขาเย็นในทริปนี้มันช่างอบอุ่นงดงามกระไรปานนั้น

เป็นความอบอุ่นงดงามจากเรื่องราวดีๆที่น่าประทับใจมากมาย ทั้งจากจุดหมายและเรื่องราวระหว่างทาง

รวมถึง“มิตรภาพ”ที่พานพบแล้วผูกพัน
ยิ้มได้เมื่อใช้ชีวิตขาลงกลับมาสู่พื้นราบที่หน่วยฯขุนวังเจ้า อีกครั้ง
นั่นจึงทำให้หลังจากขึ้นไปพิชิตยอดเขาเย็น กลับลงมาสู่ผืนป่าคอนกรีตแห่งเมืองหลวง ภาพความทรงจำของเขาเย็นที่ผมจากมา“ไกลตา” ยังคงอยู่“ใกล้ใจ”ในห้วงคิดคำนึง ชวนให้ระลึกถึง
ยากที่จะลืมเลือน...

*****************************************
ลูกหาบผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของทริปนี้
เขาเย็น อช.คลองวังเจ้า จ.กำแพงเพชร เปิดยอดเขาเย็นที่ระดับกว่า 1,800 เมตร “อย่างเป็นทางการ” ให้นักท่องเที่ยวเดินป่าระยะกลางขึ้นไปพิชิตในเส้นทาง “ขุนวังเจ้า-ยอดเขาเย็น” ระยะทาง 13 กม.(ขึ้น-ลง)ใช้เวลา 3 วัน 2 คืน

สำหรับทริปพิชิตเขาเย็นจะเปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. - 31 มี.ค. และรอบพิเศษในช่วงวันสงกรานต์ แต่เนื่องจากหลังการเปิดเขาเย็นอย่างเป็นทางการในฤดูกาลแรกได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างสูง ทางอช.คลองวังเจ้าจึงขยายเวลาเป็น 1 พ.ย. 58 - 30 เม.ย. 59(เฉพาะฤดูกาลนี้)

โดยการขึ้นเขาเย็นแต่ละครั้งรับจำกัดจำนวนไม่เกินครั้งละ 30 คน ซึ่งทางอช.คลองวังเจ้าคิดเป็นแพกเกจเหมารวม ทริปละ 10,000 บาท จำนวนนักท่องเที่ยวไม่เกิน 10 คน แพกเกจนี้ รวม 1.ค่าธรรมเนียมเข้าอช.คลองวังเจ้า 2. ค่ารถรับ-ส่ง 3.ค่าเจ้าหน้าที่ดูแลคณะ แต่ไม่รวมค่าลูกหาบ โดยค่าลูกหาบคิดราคา 400 บาท/คน/วัน (น้ำหนักลูกหาบไม่เกิน 25 กก.) ผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมที่ อช.คลองวังเจ้า โทร. 093-7900-935, 091-2897-196 ,www.facebook.com/Khlongwangchao

นอกจากนี้นักท่องเที่ยวผู้สนใจยังสามารถสอบถามข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับทริปพิชิตเขาเย็น น้ำตกเต่าดำ อช.คลองวังเจ้า ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทางในจังหวัดกำแพงเพชร เพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานสุโขทัย (ดูแลพื้นที่สุโขทัย กำแพงเพชร) โทร.0-5561-6228-9

หมายเหตุ : ชื่อเรียกจุดพักต่างๆในเส้นทางยังไม่ใช่ชื่ออย่างเป็นทางการ แต่เป็นชื่อที่เจ้าหน้าที่เรียกขานตามสภาพพื้นที่และภูมิประเทศ

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง “เต่าดำ”งามล้ำ...อลังการม่านน้ำตกกลางผืนไพรแห่ง“กำแพงเพชร”/ปิ่น บุตรี
*****************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น