xs
xsm
sm
md
lg

ตื่นตาตื่นใจมหกรรมแห่งแสงไฟนับล้านดวง “ไทยแลนด์ เดอะ คิงดอม ออฟ ไลต์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

งาน “ไทยแลนด์ เดอะ คิงดอม ออฟ ไลต์ ปีที่ 2” จัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ - 17 ม.ค. 2559
ทีเส็บ ชวนชมงาน“ไทยแลนด์ เดอะ คิงดอม ออฟ ไลต์ ปีที่ 2” ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ - 17 ม.ค. 2559 ทั่วทั้งย่านราชประสงค์ ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ทุกวัน ภายในงานชวนตื่นตาตื่นใจไปกับมหกรรมแห่งแสงไฟนับล้านดวงที่มาพร้อมกับมิติสีและสันใหม่ของสถาปัตยกรรมแสงไฟ

นายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า “ทีเส็บมุ่งมั่นดำเนินงานให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการจัดงานมหกรรมนานาชาติและเมกะอีเวนต์ระดับโลกและมีงานเข้ามาจัดในประเทศในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงปลายปีได้มุ่งเน้นการนำเสนอมหกรรมเกี่ยวกับเอ็นเตอร์เทนเมนต์ และศิลปะและวัฒนธรรม โดยเฉพาะการจัดงานแสดงแสงไฟที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ อย่าง “ไทยแลนด์ เดอะ คิงดอม ออฟ ไลต์ 2” ที่จัดขึ้น ณ ย่านราชประสงค์ ซึ่งปีนี้พิเศษยิ่งขึ้นด้วยการร่วมมือกับผู้จัดงาน อัมสเตอร์ดัม ไลต์ เฟสติวัล (Amsterdam Light Festival) ผู้เชี่ยวชาญด้านงานแสดงมหกรรมแสงไฟที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ได้นำผลงานศิลปะแห่งแสงไฟ มาร่วมจัดแสดงในส่วนของอินเตอร์เนชั่นแนลโซน

นอกจากนี้ยังมีในส่วนผลงานที่เกิดจากการต่อยอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างไลต์ติ้ง ดีไซเนอร์ระดับโลกอย่าง มิสเตอร์โรจิเอร์ แวน เดอร์ ไฮด์ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ อัมสเตอร์ดัม ไลต์ เฟสติวัล (Amsterdam Light Festival) ร่วมกับไลต์ติ้งดีไซเนอร์ชาวไทย อาจารย์-นักวิจัยพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์จากห้องปฏิบัติงานวิจัย ESIC LAB และนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเพื่อร่วมสร้างสรรค์ผลงานมาสเตอร์พีซในอินเตอร์เนชั่นแนลโซน และเป็นการยกระดับงานไลต์ติ้ง เฟสติวัลของไทยให้มีความทัดเทียมระดับนานาชาติอีกด้วยครับ”
195 บอทเทิลส์ – หัวใจแห่งความเป็นหนึ่งเดียว
สำหรับไฮไลท์ของ “ไทยแลนด์ เดอะ คิงดอม ออฟ ไลต์” ในปีนี้ ได้แก่

195 บอทเทิลส์ - หัวใจแห่งความเป็นหนึ่งเดียว

195 บอทเทิลส์ (195 Bottles) คือ ประติมากรรมแห่งแสงไฟจาก 2 ศิลปินชาวเนเธอร์แลนด์ จาก Tijdmakers ครีเอทีฟสตูดิโอชื่อดังในอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซาสเกีย ฮูเกนดอรน (Saskia Hoogendoorn) และลีเว มาไทน์ (Lieuwe Martijn) ที่นำเสนอผ่านแรงบันดาลใจจากวาทะของ ฟลอร์ วิบาวต์ (Floor Wibaut) อดีตเทศมนตรีเมืองอัมสเตอร์ดัม ที่กล่าวไว้ว่า “มีเพียงหนึ่งประเทศ คือ โลก มีเพียงหนึ่งคน คือ มนุษย์ มีเพียงหนึ่งศาสนา คือ ความรัก” ซึ่งสื่อถึงความรัก ความสมานสามัคคีของสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ซึ่งไม่ควรมีอะไรแบ่งแยก”
195 บอทเทิลส์ – หัวใจแห่งความเป็นหนึ่งเดียว
ซาสเกีย ฮูเกนดอรน กล่าวว่า “ผลงาน 195 บอทเทิลส์ (195 Bottles) ได้ถูกต่อยอดมาจากผลงานต้นฉบับ 178 บอทเทิลส์ (178 Bottles) ที่จัดแสดงในงาน อัมสเตอร์ดัม ไลต์ เฟสติวัล 2014-2015 ที่ผ่านมา โดยประติมากรรมรูปหัวใจนี้ทำจากขวดที่ใส่หลอดไฟ LED ไว้ภายในจำนวน 195 ขวด ซึ่งเป็นตัวแทนของ 195 ประเทศทั่วโลก โดยรูปหัวใจแทนการหลอมรวมคนทั้งโลกให้อยู่ภายใต้ความรักซึ่งกันและกัน โดยผู้ชมทุกคนสามารถมาร่วมถ่ายภาพและแชร์ความรักความปรารถนาดีแก่กันผ่านโซเชียลมีเดีย”

บริเวณจัดแสดงผลงาน : ด้านหน้าศูนย์การค้าเกษร
โฟลติ้ง ไลต์ – จักรวาลแห่งแสงไฟที่ไม่สิ้นสุด
โฟลติ้ง ไลต์ - จักรวาลแห่งแสงไฟที่ไม่สิ้นสุด

โฟลติ้ง ไลต์ (Floating Light) เปรียบดั่งแสงไฟที่ล่องลอยอยู่ในห้วงแห่งจักรวาล ที่เนรมิตเฉดแสงสีในการตีความหมายของความสุขแบบไม่รู้จบ โดยผลงานประติมากรรมแสงไฟจาก วอเตอร์ เบรฟ (Wouter Brave) ศิลปินและสถาปนิกแสงไฟ หนึ่งในศิลปินที่ร่วมจัดแสดงผลงานในเทศกาลงานอัมสเตอร์ดัม ไลต์ เฟสติวัล 2013-2014 ซึ่งมีความเชี่ยวชาญการจัดแสงไฟแบบด้วยเทคนิคการสะท้อนกลับ

วอเตอร์ เบรฟ กล่าวว่า “โฟลติ้ง ไลต์ เป็นประติมากรรมแสงไฟที่จะนำผู้ชมรู้สึกว่าล่องลอยอยู่ในอวกาศในโลกของนามธรรม ให้ความรู้สึกถึงการร่ายรำของแสงไฟที่อยู่รอบตัว ความงดงามของลำแสงที่สะท้อนบนกระจกทำให้เห็นเป็นภาพซ้อนแบบอเนกอนันต์ เมื่อมีลมกระทบหรือผู้ชมเดินผ่าน ลำแสงจะเกิดการเคลื่อนไหว คล้ายกับเราได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเต้นรำของแสงไฟที่งดงาม”

บริเวณจัดแสดงผลงาน : ระหว่างศูนย์การค้าอัมรินทร์ พลาซ่า และศูนย์การค้าเอราวัณ แบงค็อก
ออริกามิ อีเลเฟนท์ – แสงสว่างแห่งการระลึก ความหวัง ความรัก ความสงบสุข
ออริกามิ อีเลเฟนท์ - แสงสว่างแห่งการระลึก ความหวัง ความรัก ความสงบสุข

ออริกามิ อีเลเฟนท์ (Origami Elephants) ผลงานโดย คริส บอสส์ (Chris Bosse) ไดเรกเตอร์ จาก International Architecture Firm LAVA ได้นำ “ช้าง’’ มาแทนสัญลักษณ์ความเป็นประเทศไทย พร้อมแฝงความหมายที่ตีความสู่บริบทของ ความหวัง ความรัก ความสงบสุข โดยผสานศิลปวัฒนธรรมการทำโคมไฟแบบออริกามิ เข้ากับเทคโนโลยีในการประดิษฐ์และดีไซน์รูปทรงสมัยใหม่ ใช้วัสดุในการออกแบบและสร้างสรรค์อย่าง โพลีพร็อพโพลีน และหลอดไฟ LED ที่ใช้กำลังไฟต่ำ แต่ให้เฉดสีสันเสมือนจริง

บริเวณจัดแสดงผลงาน : สกายวอล์ก บริเวณทางเชื่อมเข้าศูนย์การค้าเอราวัณ แบงค็อก
เดอะ เบรน - แหล่งกำเนิดพลังสร้างสรรค์ และนวัตกรรมใหม่ๆ
เดอะ เบรน - แหล่งกำเนิดพลังสร้างสรรค์ และนวัตกรรมใหม่ๆ

เดอะ เบรน (The Brain) ผลงาน นางสาวดรรชนี องอาจสิริ รองประธานกรรมการ บริษัท อองกา อาทฟูล ไลต์ จำกัด บริษัทผู้นำด้านไฟประดับ ได้นำแรงบันดาลใจมาจากการทำงานของระบบสมอง ซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกายมนุษย์ เป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่การพัฒนาไปยังนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของมวลมนุษย์

นางสาวดรรชนี องอาจสิริ กล่าวว่า “เดอะ เบรน ได้ถ่ายทอดความงดงามของแสงไฟดวงเล็กๆ เปรียบเสมือนการรวมพลังความคิดสร้างสรรค์ และการระดมความคิดของกลุ่มนักออกแบบที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ ให้เต็มไปด้วยสีสันและสุนทรีย์แห่งความงามของแสงไฟ”

บริเวณจัดแสดงผลงาน : ด้านหน้าศูนย์การค้าเกษร
ซินเนอเจติก โลตัส - ท่วงทำนองแสงไฟแห่งชีวิต
ซินเนอเจติก โลตัส - ท่วงทำนองแสงไฟแห่งชีวิต

ซินเนอเจติก โลตัส (Synergetic Lotus) หรือ บัวพรรณแสง เป็นผลงานของ ดร.ปริยกร ปุสวิโร นักออกแบบระบบเทคโนโลยีปฏิสัมพันธ์ (Interaction Design Technologist) และ โจอาคิม ฮันเนอซ์ (Joakim Hannerz) สถาปนิกและนักออกแบบชาวสวีเดน โดยผลงานชิ้นนี้ได้นำแรงบันดาลใจจาก ‘ดอกบัว’ ดอกไม้เชิงสัญลักษณ์อันทรงพลังชนิดหนึ่งของโลก ที่แฝงความหมายงดงามลึกซึ้ง ทั้งเป็นสัญลักษณ์แทนการนับถือเคารพบูชา หรือในบางครั้งถูกตีความในเชิงปรัชญาแห่งชีวิต มนุษย์ ดอกบัว ความหวัง พลัง อารมณ์
ซินเนอเจติก โลตัส - ท่วงทำนองแสงไฟแห่งชีวิต
ดร.ปริยกร ปุสวิโร กล่าวว่า “บัวพรรณแสง ได้นำความงดงามของดอกบัวในธรรมชาติ มาถ่ายทอดผ่านองค์ความรู้ที่ผสมผสานหลักการออกแบบดิจิตอลมีเดียเทคโนโลยี ที่โปรแกรมแสงสีเสียงโดยระบบวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ผสานเข้ากับงานโครงสร้างงานศิลปะ ทำให้ผลงานนี้ไม่ใช่แค่เพียงโชว์เรื่องแสงสีแต่ยังมีเทคนิคอินเตอร์แอคทีฟที่ชักชวนให้ผู้ชมได้เข้ามาร่วมควบคุม ร่วมสัมผัสถึงความงดงามและมุมมองการใช้ชีวิตผ่านแสงสีนับพันๆ ที่เปล่งประกายออกมาจากกลีบดอกบัวงาม นอกจากจะแทนสายพันธุ์ของดอกบัวบนโลกใบนี้ที่มีมากมายแล้ว ยังซ่อนสัญลักษณ์และความหมายแทนการใช้ชีวิตของคนเราในที่บางครั้งไม่สามารถควบคุมทุกอย่างที่เข้ามากระทบกับชีวิตได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ความรู้สึก ความรัก ความลึกลับ รวมไปถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต”

บริเวณจัดแสดงผลงาน : ด้านหน้าศูนย์การค้าเอราวัณ แบงค็อก ฝั่งถนนเพลินจิต
แชร์ฟูล - เก้าอี้แห่งเอกภาพ
แชร์ฟูล - เก้าอี้แห่งเอกภาพ

แชร์ฟูล (Chairful) เป็นผลงานความคิดสร้างสรรค์จากนักศึกษา ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่นำเสนอความแตกต่างของศาสนาบนโลกผ่านมุมมองในการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขของมนุษย์

ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาผู้จัดทำผลงาน แชร์ฟูล กล่าวว่า “ทุกวันนี้โลกของเราเต็มไปความแตกต่างเรื่องความเชื่อ แต่หากเราเปิดใจยอมรับซึ่งกันและกัน ยอมรับในความแตกต่าง และลองเรียนรู้ที่จะเข้าใจคนอื่น ให้เหมือนที่เข้าใจตัวเอง จะนำความสันติมาให้โลกของเราได้อย่างแน่นอน ซึ่งผลงานชิ้นนี้ได้ใช้เก้าอี้ที่มีแสงไฟที่แตกต่างกันเป็นตัวแทนแต่ละศาสนาหรือความเชื่อ เมื่อมีผู้นั่งเก้าอี้แสงไฟจะปรากฏเด่นชัดเพียงหนึ่งสี แต่เมื่อนั่งพร้อมๆ กัน เก้าอี้ที่เปล่งแสงสีของตัวเองจะค่อยๆ หลอมรวมแสงจนกลายเป็นสีเดียวกัน เปรียบเสมือนการรวมความแตกต่างสู่ความเป็นเอกภาพที่มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน”

บริเวณจัดแสดงผลงาน : สกายวอล์ก บริเวณทางเชื่อมเข้าศูนย์การค้าอัมรินทร์ พลาซ่า
อิน เดอะ มิดท์ ดรีม – ท่ามกลางความฝันที่ปรารถนา
อิน เดอะ มิดท์ ดรีม - ท่ามกลางความฝันที่ปรารถนา

อิน เดอะ มิดท์ ดรีม (In the Midst of Dreams) ผลงานจากนักศึกษา ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่นำเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับคำอธิษฐานมานำเสนอในมุมมองที่เป็นจริง ผสมผสานเทคนิคพิเศษที่จะสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมให้ได้เพลิดเพลินร่วมกับผลงาน
อิน เดอะ มิดท์ ดรีม – ท่ามกลางความฝันที่ปรารถนา
ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาผู้จัดทำผลงาน อิน เดอะ มิดท์ ดรีม กล่าวว่า “ผลงานชิ้นนี้จะนำแนวคิดเรื่องความเชื่อและคำอธิษฐานของมนุษย์มาเป็นแนวคิดหลัก โดยจะนำผู้ชมเข้าสู่โลกที่เต็มไปด้วยความฝันและความปรารถนา ซึ่งมีสมหวังและผิดหวังผสานกันไปตามจังหวะการใช้ชีวิตและโอกาสที่เข้ามา โดยผู้ชมสามารถร่วมสนุกด้วยการเลือกสัมผัสเสาไฟเปรียบเสมือนการอธิษฐานขอพร พร้อมกับลุ้นว่าไฟจะติดที่เสาต้นใดเปรียบดั่งคำอธิษฐานที่จะสมหวังหรือผิดหวัง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีความหวังแล้ว ต้องลงมือทำ เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในอนาคต”

บริเวณจัดแสดงผลงาน : ระหว่างศูนย์การค้าอัมรินทร์ พลาซ่า และศูนย์การค้าเอราวัณ แบงค็อก
ไลต์ อัพ เดอะ เนเจอร์ – แสงสว่างท่ามกลางธรรมชาติ
ไลต์ อัพ เดอะ เนเจอร์ - แสงสว่างท่ามกลางธรรมชาติ

ไลต์ อัพ เดอะ เนเจอร์ (Light up the Nature) ผลงานสุดสร้างสรรค์ที่จะนำผู้ชมได้สัมผัสความงดงามของแสงไฟไปพร้อมๆ กับความงามของธรรมชาติสีเขียวกลางใจเมือง โดยฝีมือของนักศึกษา ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นำเสนอแนวคิดที่ผสานความสวยงามของธรรมชาติมาแต่งแต้มด้วยสีสันของแสงไฟอันงดงามจนได้ชิ้นงานที่ลงตัว
ไลต์ อัพ เดอะ เนเจอร์ – แสงสว่างท่ามกลางธรรมชาติ
ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาผู้จัดทำผลงาน ไลต์ อัพ เดอะ เนเจอร์ กล่าวว่า “ปัจจุบัน คนเมืองมีโอกาสได้อยู่กับธรรมชาติน้อยลง ดังนั้นผลงานนี้จึงเป็นการดึงธรรมชาติเข้ามาสู่เมืองมากขึ้น ผ่านทุ่งต้นกกสีเขียวที่มาแทนสัญลักษณ์แห่งธรรมชาติ และในอีกแง่มุมหนึ่งสื่อถึงความสามัคคีของคนในชาติ เพราะต้นกกเป็นพืชที่มีใบเรียงชิดอัดแน่นเป็นกอทำให้ยึดเกาะผืนดินได้ดี เปรียบเหมือนคนในชาติที่มีความสามัคคีย่อมผ่านเหตุการณ์ไม่ดีไปได้ พร้อมทั้งหลอดไฟที่ส่องสว่างที่ปลายใบเปรียบเสมือนการแสดงพลังความคิดสร้างสรรค์และความสามารถของคนไทย ดั่งคำพูดที่ว่า “คนไทยความสามารถก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก”

บริเวณจัดแสดงผลงาน : สกายวอล์ก บริเวณทางเชื่อมเข้าศูนย์การค้าอัมรินทร์ พลาซ่า

ทั้งนี้ผู้สนใจร่วมชมและตื่นตาตื่นใจไปกับความงดงามของผลงานประติมากรรมแห่งแสงไฟ จากไลต์ติ้งดีไซเนอร์ต่างชาติ ดีไซเนอร์คนไทย และกลุ่มนักศึกษาได้ในโซนอินเตอร์เนชั่นแนลได้ ภายในงาน “ไทยแลนด์ เดอะ คิงดอม ออฟ ไลต์ ปีที่ 2” ทั่วย่านราชประสงค์ได้ ตั้งแต่วันนี้ - 17 มกราคม 2559 ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ทุกวัน
*****************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น