xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนอดีต “หมู่บ้านญี่ปุ่น” ชุมชนต่างชาติบนแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ป้ายอนุสรณ์บริเวณทางเข้า
ถึงวันหยุดทั้งทีฉันก็ขอเดินทางออกนอกกรุงเทพฯ เสียหน่อย แต่ก็ไปไม่ไกลนัก เพราะมากันที่ จ.พระนครศรีอยุธยา หรือ อยุธยาเมืองเก่าของเราแต่ก่อน ซึ่งที่นี่นั้นถือว่าเป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์ และยังมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายให้เราได้มาเดินชมกันเพลินๆ

มาอยุธยาคราวนี้ นอกจากจะมาชิมโรตีสายไหมให้อร่อยปากแล้ว ฉันก็ยังตั้งใจที่จะมาเยี่ยมเยือน “หมู่บ้านญี่ปุ่น” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ปัจจุบันยังมีเรื่องราวและร่องรอยให้คนรุ่นหลังได้ศึกษากันอยู่
ภายในอาคารนิทรรศการหมู่บ้านญี่ปุ่น
กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงอยู่เป็นเวลา 417 ปี ซึ่งระยะเวลาในช่วงนั้นก็มีชาวต่างชาติหลายกลุ่มเข้ามาค้าขายและเปลี่ยนสินค้า และเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นชาวโปรตุเกส ชาวฮอลันดา ชาวอังกฤษ หรือแม้แต่ชาวญี่ปุ่น ที่ต่างได้รับพระราชทางที่ดินตั้งชุมชนบ้านเรือนอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน

สำหรับชุมชนชาวญี่ปุ่นในกรุงศรีอยุธยานั้นเริ่มมีขึ้นราวสมันสมเด็จพระมหาธรรมราชา ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 โดยเริ่มต้นมาจากชุมชนเล็กๆ ของพ่อค้าเรือสำเภาชาวญี่ปุ่น ซึ่งภายในหมู่บ้านนั้นสันนิษฐานว่ามีชาวญี่ปุ่นอยู่ 3 กลุ่มด้วยกัน คือ พ่อค้า โรนินหรือนักรบญี่ปุ่นที่เข้ามาเป็นทหารอาสาญี่ปุ่นในอยุธยา และชาวญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์ เดินทางออกจากญี่ปุ่นเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์พระราชทานที่ดินให้ตั้งหมู่บ้าน
แผนที่เส้นทางการเดินเรือในสมัยอยุธยา
ในปัจจุบัน “หมู่บ้านญี่ปุ่น” เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างนักวิชาการไทยและญี่ปุ่น สมาคมไทย-ญี่ปุ่น โดยรัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา (พ.ศ. 2530) และเป็นที่ระลึกในโอกาสครบรอบ 100 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น

โดยที่ตั้งของหมู่บ้านญี่ปุ่นนี้ก็อยู่ในบริเวณที่ตั้งเดิมของชุมชนชาวญี่ปุ่นเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออก ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางตอนใต้ของเกาะเมือง โดยในสมัยนั้น ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเป็นชุมชนชาวโปรตุเกส ส่วนที่ติดกับด้านเหนือของหมู่บ้านญี่ปุ่นจะมีคลองเล็กๆ คั่นเป็นชุมชนอังกฤษและชุมชนฮอลันดา
บรรดาสิ่งของที่ใส่มาใต้ท้องเรือ
เริ่มแรกเมื่อมาถึงหมู่บ้านญี่ปุ่น ฉันก็ซื้อบัตรเพื่อเข้าชมด้านใน โดยมีเจ้าหน้าที่แนะนำวิธีการเดินชมให้รอบๆ ซึ่งจุดแรกเมื่อเข้ามายังอาคารนิทรรศการ ก็จะได้ชมมัลติมีเดียที่นำเสนอความรุ่งเรืองของบ้านเมืองในสมุยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เส้นทางการค้าขาย การเดินเรือต่างๆ
พัดญี่ปุ่น ลวดลายสวยงาม
ส่วนในห้องโถงใหญ่ก็มีแผนที่ขนาดใหญ่ที่จะทำให้เห็นบ้านเรือนในสมัยกรุงศรีอยุธยา ความเป็นมาเป็นไปของบ้านเรือน และเส้นทางการค้าขายและการเดินเรือที่จะทำเป็นมัลติมีเดีย ดูแล้วเข้าใจได้ง่าย ฝั่งตรงข้ามกันก็มีแผนผังลำดับเหตุการณ์ความสำคัญทางประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่าง-ญี่ปุ่นให้ได้อ่านกัน
ดาบญี่ปุ่น
อีกมุมหนึ่งก็จำลองสินค้าและสิ่งของที่ชาวญี่ปุ่นนำขึ้นเรือมาด้วยในคราวที่เดินทางมาทำการค้าขายกับไทย ไม่ว่าจะเป็นหม้อ ไห เขาสัตว์ หนังสัตว์ รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ ของชาวญี่ปุ่นที่ใช้กันในสมัยนั้น อาทิ พัดญี่ปุ่น ที่เขียนลวดลายงดงาม
แบบจำลองของเรือสำเภาชาติต่างๆ
และยังมี ดาบญี่ปุ่น ที่รูปทรงงดงาม จัดแสดงไว้ให้ชม โดยดาบลักษณะนี้นักรบญี่ปุ่นหรือชนชั้นซามูไรจะพกพาเพื่อเป็นอาวุธในการต่อสู่เพื่อรักษาเกียรติยศ เมื่อนักรบญี่ปุ่นเข้ามารับราชการเป็นกองอาสาในกองทัพกรุงศรีอยุธยา ทำให้ทหารอยุธยาเริ่มรู้จักและนิยมดาบแบบญี่ปุ่น จนเกิดการผลิตดาบอยุธยาทรงญี่ปุ่น และใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในกรุงศรีอยุธยาและนครศรีธรรมราช
สวนญี่ปุ่น สงบ ร่มรื่น
ออกจากอาคารนิทรรศการ เดินเลี้ยวมาทางซ้ายมือนิดหน่อยก็จะเห็นภาพจำลองของเรือสำเภาสัญชาติต่างๆ ซึ่งแต่ละชาติก็จะมีความแตกต่างกันทั้งลักษณะการตกแต่ง การใช้งาน เดินดูแล้วก็ลองทายกันเล่นๆ ว่า เรือสำเภาแต่ละลำนั้นมาจากชาติไหนกันบ้าง

เดินตรงมาทางริมน้ำเจ้าพระยา ที่นี่ก็จะมีการจัดสวนสไตล์ญี่ปุ่น และมีศาลาให้นั่งพักผ่อนหย่อนใจเล่นๆ ซึ่งสวนแบบญี่ปุ่นนี้จะแสดงให้เห็นถึงความงดงามของธรรมชาติ เชื่อมโยงกับปรัชญาและความเชื่อ ทำให้สวนมีความเรียบง่าย สงบ แต่ยังสวยงามเป็นเอกลักษณ์
อีกมุมของสวนสวย
อีกจุดหนึ่งที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาถึงหมู่บ้านญี่ปุ่น ก็คือ “นิทรรศการยามาดะ นางามาซะ (ออกญาเสนาภิมุข) และท้าวทองกีบม้า” ที่จัดแสดงอยู่ในอาคารริมน้ำ ภายในจะมีเรื่องราวของยามาดะ นางามาซะ ขุนนางชาวญี่ปุ่นในราชสำนักอยุธยา เป็นหัวหญ้าชาวญี่ปุ่นและเจ้ากรมอาสาญี่ปุ่นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ต่อมาได้รับการแต่ตั้งให้เป็นออกญาเสนาภิมุข

ออกญาเสนาภิมุข มีบทบาทในการเชื่อมสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่น ได้รับการยกย่องในความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ผู้เป็นเจ้านาย และมีการจัดแสดงรูปปั้นของออกญาเสนาภิมุข รวมถึงชุดนักรบญี่ปุ่นสมัยโบราณไว้ให้ชมกัน
ชุดนักรบญี่ปุ่นโบราณ
อีกมุมหนึ่งก็มีเรื่องราวของ ท้าวทองกีบม้า (มารี ดอญา กีมาร์ เดอ ปีนา) ซึ่งเป็นชาวอยุธยาลูกครึ่งเชื้อสายโปรตุเกส-ญี่ปุ่น อาศัยอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกส ต่อมาได้สมรสกับออกญาวิชาเยนทร์ หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน (เสนาบดีกรมท่าในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) โดยในช่วงปลายชีวิตได้เข้ารับราชการในตำแหน่งท้าวทองกีบม้า หัวหน้าพนักงานวิเสทกลาง (ครัว) ดูแลของหวานแบบเทศ และได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นตำรับขนมตระกูลทอง ไม่ว่าจะเป็น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอาหารของโปรตุเกสนั่นเอง
ท้าวทองกีบม้า ต้นตำรับขนมตระกูลทอง
อีกห้องของนิทรรศการ เป็นห้องชมมัลติมีเดียเรื่อง ยามาดะ นางามาซะ และท้าวทองกีบม้า ที่เล่าเรื่องราวของชาวญี่ปุ่นผู้เข้ามารับราชการในราชสำนักอยุธยา เรื่องราวของเมืองท่าสำคัญของญี่ปุ่นในสมัยนั้น และการเข้ามาเป็นกองทหารอาสาของนักรบชาวญี่ปุ่น

เดินชมหมู่บ้านญี่ปุ่นกันจนทั่วแล้ว ก่อนกลับก็ลองมาแวะนั่งพักในศาลาริมแม่น้ำเจ้าพระยา นั่งรับลมเย็นๆ ให้สบายใจกันก่อนกลับบ้านก็ได้
ชมมัลติมีเดียเรื่องยามาดะ นางามาซะ และท้าวทองกีบม้า
* * * * * * * * * * * * * * * * *

“หมู่บ้านญี่ปุ่น” ตั้งอยู่ที่ ต.เกาะเรียน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น. สอบถามราคาค่าเข้าชมและรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0-3522-4340
* * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น