พิษณุโลก - แม่ทัพภาคที่ 3 นำคณะนายทหาร-หัวหน้าส่วนราชการ ร่วมวันสถาปนาครบรอบ 74 ปี “กองพลทหาราบที่ 4” สดุดีอดีตทหารกล้าผู้ล่วงลับ เผยมีทหารสังกัด พล.ร.4 ต้องสังเวยชีวิตในสงครามโลก ครั้งที่ 1 ที่ฝรั่งเศสมาแล้ว 3 นาย
วันนี้ (2 ธ.ค.) พล.ท.สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล แม่ทัพภาคที่ 3 เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศลให้แก่อดีตผู้บังคับบัญชา และกำลังพลที่ล่วงลับ เนื่องในวันสถาปนากองพลทหารราบที่ 4 ครบรอบ 74 ปี ที่กองบัญชาการกองพลทหารราบที่ 4 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อ.เมือง พิษณุโลก เพื่อสดุดีวีรชนทหารกล้าที่ล่วงลับขณะปฏิบัติหน้าที่รักษาอธิปไตยของผืนแผ่นดินไทย
โดยมี พล.ต.นพพร เรือนจันทร์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 4 พร้อมด้วย ดร.กรรณิการ์ เรือนจันทร์ ประธานสมาคมแม่บ้านทหารบก สาขากองพลทหารราบที่ 4 พร้อมหัวหน้าส่วนราชการจำนวนมากเข้าร่วมพิธีอย่างคับคั่ง
ทั้งนี้ พล.ต.นพพร พร้อมทหารหน่วยขึ้นตรงกองพลทหารราบที่ 4 ได้วางพวงมาลาสดุดีวีรชนทหารกล้า บวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ และพระพี่นางสุพรรณกัลยา พร้อมประกอบพิธีบำเพ็ญกุศล เพื่ออุทิศส่วนกุศล และระลึกถึงวีรกรรมของอดีตนักรบผู้กล้าหาญ ที่เป็นส่วนหนึ่งของกองพลทหารราบที่ 4 ในยุคเริ่มแรก
ทั้งนี้ หากย้อนไป พ.ศ. 2457-2462 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่างฝ่ายพันธมิตร มีอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย เป็นผู้นำ กับฝ่ายอักษะ มีเยอรมนี อิตาลี เป็นผู้นำ ซึ่งประเทศไทยตรงกับสมัย “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” (รัชกาลที่ 6) พระองค์ท่านทรงตัดสินพระทัยส่งทหารอาสาไปร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรจำนวน 2 กอง จำนวน 1,250 คน โดยมี พล.ต.พระพิชัยชาญฤทธิ์ (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้บังคับบัญชา ออกเดินทางจากไทยสู่ยุทธภูมิแวร์ซายส์ ณ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2461 ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรได้มอบภารกิจทหารอาสาของไทยปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยยานยนต์ ได้ปฏิบัติงานอย่างกล้าหาญ เสียสละ อดทน ภายใต้ความกดดัน ผลจากการรบ ทำให้ทหารไทยเสียสละชีพในยุทธภูมิจำนวน 19 นาย และจำนวนนี้เป็นทหารในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกจำนวน 3 นาย คือ
1. พลทหาร เชื่อม เปรมปรุงใจ เกิด 10 ต.ค. 2439 จังหวัดสวรรคโลก เสียชีวิต เมื่อ 15 ก.ค. 2461 ประเทศฝรั่งเศส
2. พลทหาร โป๊ะ ซุกซ่อน เกิด 10 มิ.ย. 2439 จังหวัดสุโขทัย เสียชีวิต เมื่อ 15 ก.ค. 2461 ประเทศฝรั่งเศส
3. พลทหาร พรม แดงแจ้งวรรณ เกิด 4 มี.ค. 2439 จังหวัดพิจิตร เสียชีวิต เมื่อ 14 ก.ค. 2461 ประเทศฝรั่งเศส
โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สร้างอนุสาวรีย์ทหารอาสาขึ้นเป็นอนุสรณ์แก่วีรชนไทยตั้งอยู่มุมท้องสนามหลวงด้านทิศเหนือ ส่วนบริเวณที่ตั้ง พล ร.4 ก็ได้มีการสร้างอนุสรณ์ผู้เสียสละ สงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อจารึกชื่อผู้กล้าหาญทั้ง 3 ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังระลึกถึงว่า เมื่อ 91 ปีที่แล้ว ผู้กล้าทั้งสามเป็นกำลังของกองพลทหารราบที่ 4 สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติ ดังพระบรมราโชวาทในรัชกาลที่ 6 คราวต้อนรับการกลับสู่ มาตุภูมิว่า
“เจ้าไปเพื่อเกียรติของชาติไทย และเผยแพร่ประวัติอันงดงามต่อชาวโลกทั้งหลาย ได้เอาชื่อของข้าไปประกาศที่ยุโรป ถ้าไม่พวกเจ้าทั้งหลายแล้ว ถึงชื่อข้าจะมี ก็มีแต่ในกระดาษเล็กน้อย คนจะไม่รู้จักมาก ที่ชาวยุโรปทุกคน ที่ได้รู้ได้เห็นเรื่องเจ้าทั้งหลาย จำจะต้องนึกต่อเสมอว่า ทหารพวกนี้ คือ ทหารของสมเด็จพระราชาธิบดี ข้าก็พอได้ชื่อด้วย ขณะที่พวกเจ้าอยู่เมืองนอก ข้าคอยฟัง เหตุการณ์อยู่เสมอ นับว่า ฟังอย่างใจเต้น เท่ากับบิดาฟังข่าวของบุตรที่ไปอยู่ทางแดนไกล”
นอกจากท่านผู้กล้าหาญ ได้เผยแพร่ชื่อเสียงดังกล่าวมาแล้ว ประเทศไทยยังได้ความรู้ในกิจการทหารใหม่ๆ เป็นพื้นฐาน ปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัย และยังทำให้ประเทศไทย เป็นที่ยอมรับของประเทศในแดนยุโรปและอเมริกา และรับเข้าเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติ ประเทศต่างๆ ได้ยอมให้ประเทศไทยมีสิทธิดำเนินการทางศาลของตนเองได้ โดยไม่เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ตั้งแต่บัดนั้นมา
จากความเสียสละของอดีตนักรบผู้กล้าหาญ ชมรุ่นหลังเป็นหนี้บุญคุณยากที่จะหาสิ่งตอบแทน แต่จะจดจำ วีรกรรมของท่านและปลูกฝังอบรมอนุชนรุ่นหลังให้สืบทอดเจตนารมณ์ของท่านทั้งหลายสืบไป
อนึ่ง กองพลทหารราบที่ 4 เกิดเมื่อ พ.ศ. 2419-2430 สมัยรัชการที่ 5 ต่อมา 2 ธ.ค. 2484 ระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา พันเอก หลวงหาญสงคราม ผบ.มณฑลทหารบกที่ 4 รับคำสั่งให้จัดตั้งกำลังในรูปกองพลชื่อ “กองพลที่ 4” ที่จังหวัดนครสวรรค์ ทำการยึดพื้นที่ในเขตรัฐฉานในประเทศพม่า ผลการปฏิบัติภารกิจสามารถยึดได้เมืองโก เมืองเสน เมืองพยาค เมืองเชียงแสน เมืองยอง เมืองยู้ เมืองเสี้ยว และพื้นที่บริเวณฝั่งขวาแม่น้ำหลวยได้สำเร็จ จึงได้ถือเอาวันที่ 2 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันสถาปนาหน่วยนับตั้งแต่นั้นมา
ปี 2499 ย้ายที่ตั้งจากจังหวัดนครสวรรค์ มาที่จังหวัดพิษณุโลก เป็นหน่วยขึ้นตรงของ ทบ., ปี 2501 กองพลที่ 4 ขึ้นตรงกับภาคทหารบกที่ 3 ต่อมาเปลี่ยนเป็น กองทัพภาคที่ 3, 16 ก.ย. 2526 เปลี่ยนนามหน่วยจากเดิมมาเป็น “กองพลทหารราบที่ 4” จนถึงปัจจุบัน