โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
“อ.แม่แจ่ม” จ.เชียงใหม่ แม้จะมีพื้นที่กว้างใหญ่ แต่บรรยากาศความเป็นเมืองของแม่แจ่มจัดอยู่ในประเภท “Small is Beautiful” เป็น“เมืองเล็กน่ารัก” ที่หลายๆคนเปรียบดังหมู่บ้านในนิทาน
อย่างไรก็ดีภายใต้ชื่อ“แม่แจ่ม” ที่ฟังดูมันช่างแจ่มแจ๋ว แจ่มจรัส แจ่มไปเลย ในอดีตมันช่างสวนทางกับชื่อเมืองในปัจจุบันโดยสิ้นเชิง เพราะชื่อแม่แจ่มในปัจจุบัน เพี้ยนมาจาก“เมืองแจม” ซึ่งคำว่า แจม นั้นหมายถึง แปลว่า อดอยาก ยากจน ขาดแคลน
เมืองแจม มีตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมาว่า ในอดีตที่นี่เคยมีสิงห์ 2 ตัวเป็นพี่น้องกัน หากินอยู่ในป่าใหญ่ แต่ทั้งคู่กลับชอบทะเลาะแย่งอำนาจกันอยู่บ่อยๆ จนกระทั่งพระพุทธเจ้าเสด็จมา จึงทรงแบ่งเขตให้กับสิงห์ 2 ตัว โดยเอาลำห้วยเป็นเครื่องกั้นเขตแดน และเรียกขานกันต่อๆกันมาว่า “ห้วยช่างเคิ่ง” ที่หมายถึงแบ่งครึ่งกัน ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับที่ดอยสะกาน ราษฎรได้นำข้าวปลาอาหารไปถวาย แต่เนื่องจากราษฎรที่เมืองนี้ยากจน จึงถวายอาหารอย่างขาดแคลน เมืองนี้จึงถูกเรียกว่า “เมืองแจม”ก่อนที่ชาวบ้านจะเรียกเพี้ยนเป็น “แม่แจ๋ม” และเป็น“แม่แจ่ม” ดังในปัจจุบัน
ซิ่นตีนจกแม่แจ่ม
เมืองแม่แจ่ม(ปัจจุบัน) เป็นเมืองในหุบเขาแวดล้อมด้วยขุนเขาน้อยใหญ่ มีชุมชนบ้านเรือนปลูกสร้างอยู่กันอย่างหลวมๆ ชาวบ้านอยู่กันอย่างเรียบง่าย แต่ว่ามากมายไปด้วยเสน่ห์กับวิถีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ ชาวบ้านส่วนใหญ่นั้นเปี่ยมไปด้วย รอยยิ้ม น้ำมิตรไมตรี ขณะที่พ่ออุ๊ย แม่อุ๊ยนั้นก็ยังคงแนบแน่นในพุทธศาสนา ในวันพระพ่ออุ๊ยจะนุ่งขาวห่มขาวเข้าวัดทำบุญ ส่วนแม่อุ๊ยจะสวมเสื้อขาว นุ่งซิ่นตีนจกแม่แจ่มอันงดงามเป็นเอกลักษณ์เข้าวัดทำบุญ
ซิ่นตีนจกแม่แจ่ม มีข้อแตกต่างไปจากการทอในท้องถิ่นอื่นๆ คือเป็นการทอหรือจกด้วยการคว่ำลายลงกับกี่ทอผ้าแล้วจกทางด้านหลัง กับการฝึกฝนจนชำนาญของผู้ทอจนเกิดเป็นลวดลายอันประณีตงดงาม ซึ่งเมื่อทอเสร็จแล้วสามารถสวมนุ่งได้ทั้ง 2 ด้าน
ซิ่นตีนจกแม่แจ่มเป็นงานฝีมือที่เกิดจากการสั่งสมภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวแม่แจ่มมาช้านาน ซึ่งวันนี้นอกจากจะเป็นผลงานชิ้นเอกของคนที่นี่แล้ว ยังได้ชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานด้านการทอผ้าในระดับมาสเตอร์พีชของเมืองไทยเลยทีเดียว
ตระการตานาขั้นบันได
ความที่แม่แจ่มมีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นขุนเขา ที่นี่จึงมีสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งซึ่งหลายๆคนรู้จักกันดีนั่นก็คือ “ทุ่งนาขั้นบันได” ซึ่งแม่แจ่มได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งทุ่งนาขั้นบันไดขนาดใหญ่ที่มีความสวยงามเป็นอันดับต้นๆของเมืองไทย
นาขั้นบันไดที่แม่แจ่มจะทำปีละครั้ง เริ่มลงกล้าตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม และจะเขียวขจีในช่วงเดือนกันยายน ส่วนในช่วงเดือนตุลาคมจะเริ่มออกรวงท้องแก่ใกล้คลอดเต็มที ครั้นพอถึงช่วงเดือนพฤศจิกายนขึ้นไปก็จะออกรวงย้อมขุนเขาให้เป็นสีเหลืองทองอร่าม จากนั้นก็จะทำการเก็บเกี่ยวในอีกไม่นาน(ช่วงนี้เป็นช่วงที่ทุ่งนาบ้านป่าบงเปียงกำลังออกรวงเหลืองอร่าม)
สำหรับจุดชมนาขั้นบันไดที่น่าสนใจในแม่แจ่มนั้น มีหลายจุดด้วยกัน อาทิ ได้แก่ บ้านกองกาน บ้านแม่ศึก บ้านกองแขก บ้านแม่ลอง และ“บ้านป่าบงเบียง”ที่ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์การเที่ยวชมทุ่งนาขั้นบันไดในบ้านเรา
ในช่วง 4-5 ปีหลังมานี้ พอแม่แจ่มถึงช่วงฤดูทำนา บรรดาช่างภาพและนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งจะมุ่งหน้ามาที่บ้านป่าบงเปียง เพื่อเก็บภาพบรรยากาศของทุ่งนาขั้นบันไดอันกว้างใหญ่ตระการตา สร้างความคึกคักให้กับชุมชนแห่งนี้ไม่น้อยเลย
บ้านป่าบงเปียง มีชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอ ชื่อหมู่บ้านมีชื่อเรียกขานมาจากชื่อไม้ไผ่ ที่ภาษาเหนือ เรียกว่า “ไม้บง” ส่วนคำว่า “เปียง” หมายถึงที่ราบสันเขา ซึ่งในอดีตที่นี่มีไม้ไผ่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นดังป่าไผ่ในท่ามกลางที่ราบสันเขา ส่วนปัจจุบันนั้น เป็นแหล่งทำนาขั้นบันไดที่มีวิวทิวทัศน์อันสวยงาม เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวและผู้รักการถ่ายภาพเป็นจำนวนมาก
ปัจจุบันบ้านป่าบงเปียงมีเส้นทางเข้าถึงเพื่อไปชมทุ่งนาขั้นบันได 2 เส้นทางด้วยกัน คือไปทางดอยอินทนนท์(อช.อินทนนท์)ที่เป็นทางลัด(หากไปจากเชียงใหม่)มีระยะทางสั้นกว่าแต่ทางสมบุกสมบันกว่า มีเป็นทางลูกรังขึ้นเขา-ลงเขา โหดเอาเรื่อง ต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ รถกระบะที่มีแรงขับเคลื่อนสูง หรือรถ 2 แถว จากคนในพื้นที่ผู้ชำนาญเส้นทาง
ส่วนอีกเส้นทางหนึ่งไปจาก อ.แม่แจ่ม เป็นทางลาดยางสลับลูกรัง เส้นทางนี้แม้ไกลกว่าแต่ว่ามีความน่าสนใจตรงที่ ระหว่างทางมีทุ่งนาขั้นบันไดให้ชมกันเป็นระยะๆ ได้แก่ นาขั้นบันไดบ้านทุ่งยาว บ้านป่าตึง บ้านตีนผา และบ้านป่าบงเปียง ที่อยู่ในเส้นทางเดียวกันทั้งหมด ซึ่งจุดชมนาขั้นบันไดทั้ง 4 แห่งนี้ แต่ละแห่งก็มีความสวยงามแตกต่างกันไป
เริ่มจาก“บ้านทุ่งยาว”กับนาขั้นบันไดขนาดย่อม แต่เด่นที่มีฉากหลังเป็นดอยอินทนนท์ ส่วน “บ้านป่าตึง”เป็นทุ่งนาลดหลั่นกว้างไกลสลับกับแปลงข้าวโพด เช่นเดียวกับที่ “บ้านตีนผา” ที่เป็นเขตรอยต่อกับบ้านป่าบงเปียง ซึ่งน่ายลไปด้วยทุ่งนาขั้นบันไดที่ปลูกสลับกับแปลงข้าวโพด แปลงพืชผัก ลดหลั่นไปตามสภาพภูมิประเทศของขุนเขาอันกว้างไกล มองบางมุมคล้ายเป็นดัง“ซาปาน้อยๆ”เลยทีเดียว
จากบ้านตีนผามาสู่บ้านป่าบงเปียงที่อยู่ไม่ไกลกัน นักท่องเที่ยวนิยมเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างหมู่บ้านทั้ง 2 เพราะจากบ้านตีนผาสามารถมองไปเห็นทุ่งนาที่บ้านป่าบงเปียงได้อย่างสวยงาม
ทุ่งนาขั้นบันไดบ้านป่าบงเปียง ตั้งอยู่หลังดอยอินทนนท์ บนความสูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 1,000 เมตร มีแปลงนากว้างไกลกว่า 500 ไร่ โดยจุดที่เป็นไฮไลท์นาขั้นบันไดของที่นี่จะเป็นส่วนที่ปลูกอยู่ติดริมถนนบริเวณบ้านของ“มาฉิโพ” ที่เป็นบ้านโฮมสเตย์เจ้าแรกรุ่นบุกเบิก ซึ่งแต่เดิมมีเพียงหลังเดียว แต่มาวันนี้เมื่อป่าบงเบียงโด่งดังก็มีที่พักเพิ่มขึ้นอยู่ในราวๆประมาณ 10 หลังตามดีมานด์ของคนที่มาเที่ยวเพิ่มมากขึ้น
นาขั้นบันไดบ้านป่าบงเปียงมีมุมสวยๆงามให้เที่ยวชมอยู่หลายจุดด้วยกัน รวมถึงมีกระท่อมหลังน้อยแทรกตัวอยู่ในต้นข้าวได้เหมาะเจาะท่ามกลางขุนเขาสลับซับซ้อน
สำหรับผู้รักการถ่ายภาพผมขอแนะนำให้ไปนอนค้างที่ที่พักหรือโฮมสเตย์แถวนั้น เพื่อถ่ายบรรยากาศยามเย็นของแสงแดดอ่อนๆยามพระอาทิตย์เคลื่อนลอยคล้อยต่ำทอแสงอาบไล้ต้นข้าวดูงดงามดังทุ่งรวงทอง หรือถ่ายบรรยากาศยามเช้าที่วันไหนโชคดีมีทะเลหมอก เราก็จะได้เห็นภาพท้องทุ่งนาสวยงามกว้างใหญ่ มีทุ่งนาสวยงามทอดตัวเด่นอยู่เหนือทะเลหมอกขาวโพลนที่ลอยออยอิ่งอยู่ในหุบเขา
นับเป็นมนเสน่ห์แห่งแม่แจ่มอันแจ่มจรัสที่เห็นแล้วช่างน่าประทับใจกระไรปานนั้น
เที่ยววัด
ใครที่ขึ้นมาแอ่วแม่แจ่ม เมืองนี้ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาดนั่นก็คือการ“เที่ยววัด” โดยผมขอแนะนำ 4 วัดสุดแจ่มแห่งแม่แจ่มที่ต่างก็มีเอกลักษณ์ความงามแตกต่างกันไปให้ทัศนากัน ได้แก่
-“วัดยางหลวง” วัดที่ภายในวิหารมีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร กับ “กู่ปราสาท” หรือที่เรียกว่า“คิชฌกูฏ”หรือ“กิจกูฏ”ที่ตั้งอยู่หลังองค์พระประธาน ซึ่งดูงดงามเปี่ยมศรัทธาไปกับงานพุทธศิลป์ในแบบศิลปะพม่าผสมเชียงแสน สันนิษฐานว่ากู่ปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นมาก่อน แล้วต่อมามีการสร้างพระวิหารครอบอีกที นับเป็นวิหารที่แปลกตาน่าชมไม่น้อยเลย
ภายในวิหารวัดยางหลวงยังมีอันซีนคล้ายกับปรากฏการณ์“เงาพระธาตุ”ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง หากแต่เป็น“เงาวิหาร”(หัวตั้ง)ที่เมื่อปิดประตูหน้าต่างวิหารให้มืดมิดเราจึงจะเห็นภาพเงาวิหาร(หลังข้าง)ที่เป็นอันซีนของวัดยางหลวง ซึ่งทางวัดมีบันทึกว่า อันซีนเงาพระวิหารนี้ถูกค้นพบเมื่อวันศุกร์ที่ 26 มี.ค. 2547 ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 7 เหนือ แต่ไม่ได้ระบุผู้ค้นพบเงาอันชวนพิศวงนี้
-“วัดป่าแดด” ตั้งอยู่ใกล้ๆกับวัดยางหลวง วัดแห่งนี้มีความโดดเด่นเรื่องจิตรกรรมฝาผนังที่ประดับอยู่ภายในวิหาร เป็นงานจิตรกรรมที่วาดขึ้นในราวๆปี 2428-2430 (หลังการสร้างวัดในราวปี 2400) ฝีมือของช่างชาวไทยใหญ่ผู้ผ่านทาง แล้วท่านได้มาแต้ม(วาด)จิตรกรรมฝาผนังขึ้น เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ชาดก รวมถึงภาพแสดงวิถีชาวชีวิตชาวแม่แจ่มเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว ที่ดูแล้วคลาสสิกมาก
นอกจากนี้วัดป่าแดดยังมีสิ่งน่าสนใจชวนชม อื่นๆ ได้แก่ “วิหารทรงล้านนา” ฝีมือช่างพื้นบ้านอันทรงเสน่ห์สมส่วน “หอไตรเก่าแก่” ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2450 และ“พระอุโบสถกลางน้ำ”เป็นโบสถ์หลังใหม่ภายในมีภาพจิตกรรมฝาผนังอันสวยงาม
-“วัดพุทธเอ้น” เป็นหนึ่งในวัดไฮไลท์คู่เมืองแม่แจ่ม ที่โดดเด่นไปด้วย“โบสถ์กลางน้ำ”หลังเล็กกะทัดรัดแต่สมส่วนคลาสสิก โบสถ์หลังนี้สร้างด้วยไม้เป็นงานพุทธศิลป์พื้นบ้านอันงดงามมีเอกลักษณ์เป็นเอกอุ หน้าโบสถ์เป็นตาน้ำที่มีน้ำใสไหลรินอยู่ชั่วนาตาปี ชาวบ้านเชื่อว่านี่เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์อันเป็นต้นกำเนิดของการสร้างวัดพุทธเอ้นขึ้น โดยพระภิกษุ 2 รูปที่ธุดงค์ผ่านมาเมื่อครั้งอดีตได้ร่วมมือกับชาวบ้านสร้างวัดแห่งนี้ขึ้น ปัจจุบันแต่ละวันจะมีคนมากรอกน้ำศักดิ์สิทธิ์กันไม่ได้ขาด
ในวัดพุทธเอ้นยังมีพระวิหารหลังงาม ภายในมีประดิษฐานพระประธานดูขรึมขลัง ด้านขวามือ(เมื่อมองเข้าเป็นไป)ประดิษฐานพระเจ้าแสนตอง ส่วนด้านซ้ายมือประดิษฐานพระเจ้าทันใจ นับเป็น 3 องค์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญประจำวัดแห่งนี้ ส่วนด้านหลังวิหารเป็นองค์พระธาตุที่ตรงฐานประดับลวดลายของปี 12 นักษัตร(ล้านนา)
-“วัดกองกาน” เป็นอีกหนึ่งวัดสำคัญมากของ อ.แม่แจ่ม เพราะเป็นที่ประดิษฐาน “พระเจ้าตนหลวง” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองแม่แจ่ม โดยทุกๆปีในช่วงสงกรานต์ชาวแม่แจ่มจะพร้อมใจกันไปสรงน้ำพระเจ้าตนหลวงที่วัดกองกานแห่งนี้
พระเจ้าตนหลวงองค์นี้ เป็นศิลปะล้านนามีหน้าตักกว้างกว่า 9 ศอก สูง 11 ศอก มีขนาดใหญ่ที่สุดใน อ.แม่แจ่ม ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่มีตำนานเล่าขานว่า พระเจ้ามังราย ได้เคยเสด็จทางเรือมาที่วัดแห่งนี้ และเกิดอุบัติเหตุเรือแตก จึงต้องมีการทำไม้คานหามขึ้นเพื่อต่อใหม่ แล้วจึงนำไม้คานมากองรวมไว้ที่บริเวณนี้ เลยเป็นที่มาของวัดกองกาน หมู่บ้านกองกาน ซึ่งมาจากกองคานนั่นเอง
สำหรับใครที่เบื่อวัดพุทธพาณิชย์ ขอหวย เลขเบอร์ ปลุกเสก เครื่องรางของขลัง สร้างสิ่งใหญ่ที่สุดในโลก มุ่งทำบุญแบบศรัทธามาร์เก็ตติ้ง ถ้ามาแม่แจ่มก็จะได้พบกับบรรยากาศของวัดที่แตกต่าง ซึ่งแม้วัดที่แม่แจ่มจะเป็นวัดชุมชนเล็กๆ แต่ว่าก็มีความขลัง มีความสงบงาม
สามารถเรียกขานว่า “วัด” ได้อย่างสบายใจ เต็มปากเต็มคำ
และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์ของสิ่งต้องห้าม...พลาดแห่งเมืองแม่แจ่ม เมืองเล็กๆในหุบเขาที่จัดอยู่ในประเภท “Small is Beautiful”ที่เปรียบดังหมู่บ้านในนิทานของใครหลายๆคน
*****************************************
ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับบ้านป่าบงเบียง สถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทางในอำเภอแม่แจ่ม และแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ โทร.0-5324-8604, 0-5324-8607
*****************************************
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com
“อ.แม่แจ่ม” จ.เชียงใหม่ แม้จะมีพื้นที่กว้างใหญ่ แต่บรรยากาศความเป็นเมืองของแม่แจ่มจัดอยู่ในประเภท “Small is Beautiful” เป็น“เมืองเล็กน่ารัก” ที่หลายๆคนเปรียบดังหมู่บ้านในนิทาน
อย่างไรก็ดีภายใต้ชื่อ“แม่แจ่ม” ที่ฟังดูมันช่างแจ่มแจ๋ว แจ่มจรัส แจ่มไปเลย ในอดีตมันช่างสวนทางกับชื่อเมืองในปัจจุบันโดยสิ้นเชิง เพราะชื่อแม่แจ่มในปัจจุบัน เพี้ยนมาจาก“เมืองแจม” ซึ่งคำว่า แจม นั้นหมายถึง แปลว่า อดอยาก ยากจน ขาดแคลน
เมืองแจม มีตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมาว่า ในอดีตที่นี่เคยมีสิงห์ 2 ตัวเป็นพี่น้องกัน หากินอยู่ในป่าใหญ่ แต่ทั้งคู่กลับชอบทะเลาะแย่งอำนาจกันอยู่บ่อยๆ จนกระทั่งพระพุทธเจ้าเสด็จมา จึงทรงแบ่งเขตให้กับสิงห์ 2 ตัว โดยเอาลำห้วยเป็นเครื่องกั้นเขตแดน และเรียกขานกันต่อๆกันมาว่า “ห้วยช่างเคิ่ง” ที่หมายถึงแบ่งครึ่งกัน ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับที่ดอยสะกาน ราษฎรได้นำข้าวปลาอาหารไปถวาย แต่เนื่องจากราษฎรที่เมืองนี้ยากจน จึงถวายอาหารอย่างขาดแคลน เมืองนี้จึงถูกเรียกว่า “เมืองแจม”ก่อนที่ชาวบ้านจะเรียกเพี้ยนเป็น “แม่แจ๋ม” และเป็น“แม่แจ่ม” ดังในปัจจุบัน
ซิ่นตีนจกแม่แจ่ม
เมืองแม่แจ่ม(ปัจจุบัน) เป็นเมืองในหุบเขาแวดล้อมด้วยขุนเขาน้อยใหญ่ มีชุมชนบ้านเรือนปลูกสร้างอยู่กันอย่างหลวมๆ ชาวบ้านอยู่กันอย่างเรียบง่าย แต่ว่ามากมายไปด้วยเสน่ห์กับวิถีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ ชาวบ้านส่วนใหญ่นั้นเปี่ยมไปด้วย รอยยิ้ม น้ำมิตรไมตรี ขณะที่พ่ออุ๊ย แม่อุ๊ยนั้นก็ยังคงแนบแน่นในพุทธศาสนา ในวันพระพ่ออุ๊ยจะนุ่งขาวห่มขาวเข้าวัดทำบุญ ส่วนแม่อุ๊ยจะสวมเสื้อขาว นุ่งซิ่นตีนจกแม่แจ่มอันงดงามเป็นเอกลักษณ์เข้าวัดทำบุญ
ซิ่นตีนจกแม่แจ่ม มีข้อแตกต่างไปจากการทอในท้องถิ่นอื่นๆ คือเป็นการทอหรือจกด้วยการคว่ำลายลงกับกี่ทอผ้าแล้วจกทางด้านหลัง กับการฝึกฝนจนชำนาญของผู้ทอจนเกิดเป็นลวดลายอันประณีตงดงาม ซึ่งเมื่อทอเสร็จแล้วสามารถสวมนุ่งได้ทั้ง 2 ด้าน
ซิ่นตีนจกแม่แจ่มเป็นงานฝีมือที่เกิดจากการสั่งสมภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวแม่แจ่มมาช้านาน ซึ่งวันนี้นอกจากจะเป็นผลงานชิ้นเอกของคนที่นี่แล้ว ยังได้ชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานด้านการทอผ้าในระดับมาสเตอร์พีชของเมืองไทยเลยทีเดียว
ตระการตานาขั้นบันได
ความที่แม่แจ่มมีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นขุนเขา ที่นี่จึงมีสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งซึ่งหลายๆคนรู้จักกันดีนั่นก็คือ “ทุ่งนาขั้นบันได” ซึ่งแม่แจ่มได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งทุ่งนาขั้นบันไดขนาดใหญ่ที่มีความสวยงามเป็นอันดับต้นๆของเมืองไทย
นาขั้นบันไดที่แม่แจ่มจะทำปีละครั้ง เริ่มลงกล้าตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม และจะเขียวขจีในช่วงเดือนกันยายน ส่วนในช่วงเดือนตุลาคมจะเริ่มออกรวงท้องแก่ใกล้คลอดเต็มที ครั้นพอถึงช่วงเดือนพฤศจิกายนขึ้นไปก็จะออกรวงย้อมขุนเขาให้เป็นสีเหลืองทองอร่าม จากนั้นก็จะทำการเก็บเกี่ยวในอีกไม่นาน(ช่วงนี้เป็นช่วงที่ทุ่งนาบ้านป่าบงเปียงกำลังออกรวงเหลืองอร่าม)
สำหรับจุดชมนาขั้นบันไดที่น่าสนใจในแม่แจ่มนั้น มีหลายจุดด้วยกัน อาทิ ได้แก่ บ้านกองกาน บ้านแม่ศึก บ้านกองแขก บ้านแม่ลอง และ“บ้านป่าบงเบียง”ที่ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์การเที่ยวชมทุ่งนาขั้นบันไดในบ้านเรา
ในช่วง 4-5 ปีหลังมานี้ พอแม่แจ่มถึงช่วงฤดูทำนา บรรดาช่างภาพและนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งจะมุ่งหน้ามาที่บ้านป่าบงเปียง เพื่อเก็บภาพบรรยากาศของทุ่งนาขั้นบันไดอันกว้างใหญ่ตระการตา สร้างความคึกคักให้กับชุมชนแห่งนี้ไม่น้อยเลย
บ้านป่าบงเปียง มีชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอ ชื่อหมู่บ้านมีชื่อเรียกขานมาจากชื่อไม้ไผ่ ที่ภาษาเหนือ เรียกว่า “ไม้บง” ส่วนคำว่า “เปียง” หมายถึงที่ราบสันเขา ซึ่งในอดีตที่นี่มีไม้ไผ่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นดังป่าไผ่ในท่ามกลางที่ราบสันเขา ส่วนปัจจุบันนั้น เป็นแหล่งทำนาขั้นบันไดที่มีวิวทิวทัศน์อันสวยงาม เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวและผู้รักการถ่ายภาพเป็นจำนวนมาก
ปัจจุบันบ้านป่าบงเปียงมีเส้นทางเข้าถึงเพื่อไปชมทุ่งนาขั้นบันได 2 เส้นทางด้วยกัน คือไปทางดอยอินทนนท์(อช.อินทนนท์)ที่เป็นทางลัด(หากไปจากเชียงใหม่)มีระยะทางสั้นกว่าแต่ทางสมบุกสมบันกว่า มีเป็นทางลูกรังขึ้นเขา-ลงเขา โหดเอาเรื่อง ต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ รถกระบะที่มีแรงขับเคลื่อนสูง หรือรถ 2 แถว จากคนในพื้นที่ผู้ชำนาญเส้นทาง
ส่วนอีกเส้นทางหนึ่งไปจาก อ.แม่แจ่ม เป็นทางลาดยางสลับลูกรัง เส้นทางนี้แม้ไกลกว่าแต่ว่ามีความน่าสนใจตรงที่ ระหว่างทางมีทุ่งนาขั้นบันไดให้ชมกันเป็นระยะๆ ได้แก่ นาขั้นบันไดบ้านทุ่งยาว บ้านป่าตึง บ้านตีนผา และบ้านป่าบงเปียง ที่อยู่ในเส้นทางเดียวกันทั้งหมด ซึ่งจุดชมนาขั้นบันไดทั้ง 4 แห่งนี้ แต่ละแห่งก็มีความสวยงามแตกต่างกันไป
เริ่มจาก“บ้านทุ่งยาว”กับนาขั้นบันไดขนาดย่อม แต่เด่นที่มีฉากหลังเป็นดอยอินทนนท์ ส่วน “บ้านป่าตึง”เป็นทุ่งนาลดหลั่นกว้างไกลสลับกับแปลงข้าวโพด เช่นเดียวกับที่ “บ้านตีนผา” ที่เป็นเขตรอยต่อกับบ้านป่าบงเปียง ซึ่งน่ายลไปด้วยทุ่งนาขั้นบันไดที่ปลูกสลับกับแปลงข้าวโพด แปลงพืชผัก ลดหลั่นไปตามสภาพภูมิประเทศของขุนเขาอันกว้างไกล มองบางมุมคล้ายเป็นดัง“ซาปาน้อยๆ”เลยทีเดียว
จากบ้านตีนผามาสู่บ้านป่าบงเปียงที่อยู่ไม่ไกลกัน นักท่องเที่ยวนิยมเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างหมู่บ้านทั้ง 2 เพราะจากบ้านตีนผาสามารถมองไปเห็นทุ่งนาที่บ้านป่าบงเปียงได้อย่างสวยงาม
ทุ่งนาขั้นบันไดบ้านป่าบงเปียง ตั้งอยู่หลังดอยอินทนนท์ บนความสูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 1,000 เมตร มีแปลงนากว้างไกลกว่า 500 ไร่ โดยจุดที่เป็นไฮไลท์นาขั้นบันไดของที่นี่จะเป็นส่วนที่ปลูกอยู่ติดริมถนนบริเวณบ้านของ“มาฉิโพ” ที่เป็นบ้านโฮมสเตย์เจ้าแรกรุ่นบุกเบิก ซึ่งแต่เดิมมีเพียงหลังเดียว แต่มาวันนี้เมื่อป่าบงเบียงโด่งดังก็มีที่พักเพิ่มขึ้นอยู่ในราวๆประมาณ 10 หลังตามดีมานด์ของคนที่มาเที่ยวเพิ่มมากขึ้น
นาขั้นบันไดบ้านป่าบงเปียงมีมุมสวยๆงามให้เที่ยวชมอยู่หลายจุดด้วยกัน รวมถึงมีกระท่อมหลังน้อยแทรกตัวอยู่ในต้นข้าวได้เหมาะเจาะท่ามกลางขุนเขาสลับซับซ้อน
สำหรับผู้รักการถ่ายภาพผมขอแนะนำให้ไปนอนค้างที่ที่พักหรือโฮมสเตย์แถวนั้น เพื่อถ่ายบรรยากาศยามเย็นของแสงแดดอ่อนๆยามพระอาทิตย์เคลื่อนลอยคล้อยต่ำทอแสงอาบไล้ต้นข้าวดูงดงามดังทุ่งรวงทอง หรือถ่ายบรรยากาศยามเช้าที่วันไหนโชคดีมีทะเลหมอก เราก็จะได้เห็นภาพท้องทุ่งนาสวยงามกว้างใหญ่ มีทุ่งนาสวยงามทอดตัวเด่นอยู่เหนือทะเลหมอกขาวโพลนที่ลอยออยอิ่งอยู่ในหุบเขา
นับเป็นมนเสน่ห์แห่งแม่แจ่มอันแจ่มจรัสที่เห็นแล้วช่างน่าประทับใจกระไรปานนั้น
เที่ยววัด
ใครที่ขึ้นมาแอ่วแม่แจ่ม เมืองนี้ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาดนั่นก็คือการ“เที่ยววัด” โดยผมขอแนะนำ 4 วัดสุดแจ่มแห่งแม่แจ่มที่ต่างก็มีเอกลักษณ์ความงามแตกต่างกันไปให้ทัศนากัน ได้แก่
-“วัดยางหลวง” วัดที่ภายในวิหารมีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร กับ “กู่ปราสาท” หรือที่เรียกว่า“คิชฌกูฏ”หรือ“กิจกูฏ”ที่ตั้งอยู่หลังองค์พระประธาน ซึ่งดูงดงามเปี่ยมศรัทธาไปกับงานพุทธศิลป์ในแบบศิลปะพม่าผสมเชียงแสน สันนิษฐานว่ากู่ปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นมาก่อน แล้วต่อมามีการสร้างพระวิหารครอบอีกที นับเป็นวิหารที่แปลกตาน่าชมไม่น้อยเลย
ภายในวิหารวัดยางหลวงยังมีอันซีนคล้ายกับปรากฏการณ์“เงาพระธาตุ”ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง หากแต่เป็น“เงาวิหาร”(หัวตั้ง)ที่เมื่อปิดประตูหน้าต่างวิหารให้มืดมิดเราจึงจะเห็นภาพเงาวิหาร(หลังข้าง)ที่เป็นอันซีนของวัดยางหลวง ซึ่งทางวัดมีบันทึกว่า อันซีนเงาพระวิหารนี้ถูกค้นพบเมื่อวันศุกร์ที่ 26 มี.ค. 2547 ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 7 เหนือ แต่ไม่ได้ระบุผู้ค้นพบเงาอันชวนพิศวงนี้
-“วัดป่าแดด” ตั้งอยู่ใกล้ๆกับวัดยางหลวง วัดแห่งนี้มีความโดดเด่นเรื่องจิตรกรรมฝาผนังที่ประดับอยู่ภายในวิหาร เป็นงานจิตรกรรมที่วาดขึ้นในราวๆปี 2428-2430 (หลังการสร้างวัดในราวปี 2400) ฝีมือของช่างชาวไทยใหญ่ผู้ผ่านทาง แล้วท่านได้มาแต้ม(วาด)จิตรกรรมฝาผนังขึ้น เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ชาดก รวมถึงภาพแสดงวิถีชาวชีวิตชาวแม่แจ่มเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว ที่ดูแล้วคลาสสิกมาก
นอกจากนี้วัดป่าแดดยังมีสิ่งน่าสนใจชวนชม อื่นๆ ได้แก่ “วิหารทรงล้านนา” ฝีมือช่างพื้นบ้านอันทรงเสน่ห์สมส่วน “หอไตรเก่าแก่” ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2450 และ“พระอุโบสถกลางน้ำ”เป็นโบสถ์หลังใหม่ภายในมีภาพจิตกรรมฝาผนังอันสวยงาม
-“วัดพุทธเอ้น” เป็นหนึ่งในวัดไฮไลท์คู่เมืองแม่แจ่ม ที่โดดเด่นไปด้วย“โบสถ์กลางน้ำ”หลังเล็กกะทัดรัดแต่สมส่วนคลาสสิก โบสถ์หลังนี้สร้างด้วยไม้เป็นงานพุทธศิลป์พื้นบ้านอันงดงามมีเอกลักษณ์เป็นเอกอุ หน้าโบสถ์เป็นตาน้ำที่มีน้ำใสไหลรินอยู่ชั่วนาตาปี ชาวบ้านเชื่อว่านี่เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์อันเป็นต้นกำเนิดของการสร้างวัดพุทธเอ้นขึ้น โดยพระภิกษุ 2 รูปที่ธุดงค์ผ่านมาเมื่อครั้งอดีตได้ร่วมมือกับชาวบ้านสร้างวัดแห่งนี้ขึ้น ปัจจุบันแต่ละวันจะมีคนมากรอกน้ำศักดิ์สิทธิ์กันไม่ได้ขาด
ในวัดพุทธเอ้นยังมีพระวิหารหลังงาม ภายในมีประดิษฐานพระประธานดูขรึมขลัง ด้านขวามือ(เมื่อมองเข้าเป็นไป)ประดิษฐานพระเจ้าแสนตอง ส่วนด้านซ้ายมือประดิษฐานพระเจ้าทันใจ นับเป็น 3 องค์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญประจำวัดแห่งนี้ ส่วนด้านหลังวิหารเป็นองค์พระธาตุที่ตรงฐานประดับลวดลายของปี 12 นักษัตร(ล้านนา)
-“วัดกองกาน” เป็นอีกหนึ่งวัดสำคัญมากของ อ.แม่แจ่ม เพราะเป็นที่ประดิษฐาน “พระเจ้าตนหลวง” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองแม่แจ่ม โดยทุกๆปีในช่วงสงกรานต์ชาวแม่แจ่มจะพร้อมใจกันไปสรงน้ำพระเจ้าตนหลวงที่วัดกองกานแห่งนี้
พระเจ้าตนหลวงองค์นี้ เป็นศิลปะล้านนามีหน้าตักกว้างกว่า 9 ศอก สูง 11 ศอก มีขนาดใหญ่ที่สุดใน อ.แม่แจ่ม ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่มีตำนานเล่าขานว่า พระเจ้ามังราย ได้เคยเสด็จทางเรือมาที่วัดแห่งนี้ และเกิดอุบัติเหตุเรือแตก จึงต้องมีการทำไม้คานหามขึ้นเพื่อต่อใหม่ แล้วจึงนำไม้คานมากองรวมไว้ที่บริเวณนี้ เลยเป็นที่มาของวัดกองกาน หมู่บ้านกองกาน ซึ่งมาจากกองคานนั่นเอง
สำหรับใครที่เบื่อวัดพุทธพาณิชย์ ขอหวย เลขเบอร์ ปลุกเสก เครื่องรางของขลัง สร้างสิ่งใหญ่ที่สุดในโลก มุ่งทำบุญแบบศรัทธามาร์เก็ตติ้ง ถ้ามาแม่แจ่มก็จะได้พบกับบรรยากาศของวัดที่แตกต่าง ซึ่งแม้วัดที่แม่แจ่มจะเป็นวัดชุมชนเล็กๆ แต่ว่าก็มีความขลัง มีความสงบงาม
สามารถเรียกขานว่า “วัด” ได้อย่างสบายใจ เต็มปากเต็มคำ
และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์ของสิ่งต้องห้าม...พลาดแห่งเมืองแม่แจ่ม เมืองเล็กๆในหุบเขาที่จัดอยู่ในประเภท “Small is Beautiful”ที่เปรียบดังหมู่บ้านในนิทานของใครหลายๆคน
*****************************************
ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับบ้านป่าบงเบียง สถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทางในอำเภอแม่แจ่ม และแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ โทร.0-5324-8604, 0-5324-8607
*****************************************
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com