สมัยก่อน หากพูดถึง “บุรีรัมย์” เราก็มักจะนึกถึงเมืองในภาคอีสานที่มีปราสาทหินโบราณ หรือแต่ถ้าถามถึงสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ก็นึกไม่ค่อยจะออก แต่พอมาถึงปัจจุบันนี้ บุรีรัมย์กลายมาเป็นจังหวัดที่น่าท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง ที่หลายๆ คนอยากจะไปสัมผัส เพราะนอกจากจะยังคงมีปราสาทหินโบราณให้ชมแล้ว ก็ยังมีปราสาทสายฟ้า เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ จนทำให้เมืองบุรีรัมย์กลายเป็นเมืองแห่งปราสาทสองยุค
แต่นอกจากปราสาทแล้ว ที่นี่ก็ยังมีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ อีกหลายแห่ง ซึ่งทาง “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ “เพ ลา เพลิน” จัดทริปท่องเที่ยวเมืองบุรีรัมย์ ในชื่อ “ท่องเมืองปราสาทสองยุค เรียนรู้แหล่งศึกษา กับ เพ ลา เพลิน” และทำให้ “ตะลอนเที่ยว” ได้มาสนุกสนานและเพลิดเพลินในเมืองที่น่าสนใจแห่งนี้
เปิดประเดิมที่เที่ยวแห่งแรกกันที่ “เพ ลา เพลิน บูติค รีสอร์ท แอนด์ แอดเวนเจอร์ แคมป์” อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งที่นี่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษานอกห้องเรียนสำหรับเยาวชน นักเรียน และบุคคลทั่วไป โดยเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ สถานที่ท่องเที่ยว และที่พักสำหรับคนที่สนใจ
ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้แบบครบวงจรด้านพันธุ์ไม้นานาชนิด สามารถเข้าไปนั่งรถรางชมแปลงเกษตรสาธิต ทั้งการปลูกสตรอว์เบอร์รี่ องุ่น เสาวรส รวมถึงโรงเรือนเพาะปลูกดอกไม้เมืองหนาว ซึ่งก็มีกิจกรรมสนุกๆ ที่สามารถเรียนรู้การเพาะปลูกพืชต่างๆ ได้ง่ายและสนุกสนาน
ส่วนถ้าใครที่ชอบชมดอกไม้สวยๆ ให้สดชื่น แนะนำให้มาที่ “อุทยานไม้ดอก เพ ลา เพลิน” หรือ “The Flora @ เพ ลา เพลิน” ซึ่งจะมีการจัดแสดงพันธุ์ไม้นานาชนิดในธีมต่างๆ แบ่งออกเป็น 6 โรงเรือน โดยโรงเรือนแรกนั้นเป็นโรงเรือนพืชตามฤดูกาล ที่จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนดอกไม้สวยๆ มาให้ชมกันตลอดทั้งปี และหากใครมาที่นี่ในช่วงนี้ ก็จะได้ชมเทศกาลไฮเดรนเยียสายพันธุ์ฮอลแลนด์ ที่ออกดอกเบ่งบาน อวดสีสันสวยงามให้ได้ชมอย่างชื่นใจ ส่วนในช่วงอื่นๆ ของปี ก็จะมีการจัดแสดงดอกไม้สายพันธุ์อื่นๆ ให้ชม อย่างเช่น ช่วงธันวาคม - มกราคม เป็นเทศกาลทุ่งทิวลิปฮอลแลนด์ เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม เทศกาลดอกลิลลี่ เป็นต้น เรียกว่าใครที่ชอบดอกไม้สวยๆ ก็ห้ามพลาดเลยทีเดียว
จากโรงเรือนแรก เดินมาตามทางเรื่อยๆ ก็จะเป็นโรงเรือนที่ 2-6 ซึ่งก็จัดแสดงเป็นสวนในลักษณะต่างๆ คือ สวนอังกฤษ ป่าดึกดำบรรพ์ สีสรร..แห่งธรรมชาติ กินรี มหาพีระมิด และศิลปะอีสานใต้ ซึ่งในแต่ละโรงเรือนก็จะจัดแสดงตามธีมต่างๆ มีต้นไม้ดอกไม้ที่ตกแต่งอย่างสวยงาม อย่างในโรงเรือนป่าดึกดำบรรพ์ ก็จัดแสดงพันธุ์ไม้จำพวกเฟิร์น แล้วก็ยังมีไดโนเสาร์ตัวใหญ่ยืนอยู่ในป่า ดูแล้วให้อารมณ์เหมือนอยู่ในหนังจูราสิกอย่างไรอย่างนั้น
ถ้าหากว่าชมพันธุ์ไม้ต่างๆ แล้วดูสวยถูกใจ อยากได้กลับไปประดับที่บ้าน ที่ เพ ลา เพลิน ก็มีพันธุ์ไม้จำหน่ายให้เลือกซื้อกลับไปปลูกกันได้ตามชอบ “ตะลอนเที่ยว” เองก็ช้อปต้นไม้และของฝากน่ารักๆ กลับมาเต็มสองไม้สองมือเหมือนกัน
อย่างที่บอกในตอนต้นว่า เมืองบุรีรัมย์แห่งนี้เป็นเมืองแห่งปราสาทสองยุค ซึ่งปราสาทในยุคแรกนี้ก็คือ ปราสาทขอมโบราณ ที่เป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางสายราชมรรคา อันเป็นเส้นทางสายสำคัญจากเมืองพระนครมายังเมืองพิมายในยุคอาณาจักรขอม โดยตลอดเส้นทางนั้นมีทั้งปราสาทโบราณต่างๆ รวมถึงธรรมศาลาหรือบ้านมีไฟ ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักสำหรับคนเดินทาง
หนึ่งในธรรมศาลาที่อยู่บนเส้นทางสายนี้คือ “ธรรมศาลาบ้านบุ” ที่ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนบ้านบุวิทยาสรรค์ ทางเดียวกันกับที่จะไปปราสาทเมืองต่ำ ซึ่งตามข้อมูลที่กล่าวถึงในจารึกปราสาทพระขรรค์ ธรรมศาลาที่สร้างขึ้นเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยศิลาแลง ปัจจุบันถูกบูรณะให้สวยงามขึ้น แต่ยังมีส่วนยอดของปราสาทที่ถูกวางไว้ด้านข้าง เนื่องจากตัวปราสาทไม่มีส่วนหลังคาให้ยึดเกาะแล้ว
จากธรรมศาลาบ้านบุ ตรงมาเรื่อยๆ ก็จะถึง “ปราสาทเมืองต่ำ” ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวบ้านในอดีตเรียกขานโดยเป็นการเปรียบเทียบกับปราสาทหินพนมรุ้งที่ตั้งอยู่บนยอดเขาว่าเป็นเมืองสูง ส่วนปราสาทแห่งนี้ตั้งอยู่ในที่ราบใกล้ๆกับปราสาทหินพนมรุ้ง จึงเรียกกันว่าปราสาทเมืองต่ำ
นักวิชาการสันนิษฐานว่า ปราสาทเมืองต่ำ น่าจะสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 16 โดยทำหน้าที่เป็นศาสนสถานของลัทธิฮินดูไศวนิกาย ที่นับถือพระศิวะ หรือ พระอิศวรเป็นเทพสูงสุด จากนั้นก็ค่อยๆสร้างเพิ่มเติมเรื่อยมาก่อนที่จะถูกทิ้งร้างไปในราวพุทธศตวรรษที่ 18 จนใน พ.ศ. 2444 ปราสาทเมืองต่ำก็ถูกค้นพบโดย ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาสำรวจปราสาทในบ้านเรา แต่ว่าก็อยู่ในสภาพปรักหักพัง ทิ้งไว้แต่เพียงร่องรอยของลวดลายแกะสลักหินอันงดงาม ซึ่งถือเป็นร่องรอยความงาม ที่เมื่อ “กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” บิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์ไทย เสด็จมาเยี่ยมชมปราสาทเมืองต่ำเมื่อครั้งที่เสด็จมาตรวจโบราณในมณฑลนครราชสีมา ในปีพ.ศ. 2472 ก็ได้ซาบซึ้งในความงาม จึงได้ออกคำสั่งห้ามให้ผู้ใดทำลายและเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนใดๆของปราสาทแห่งนี้ไปไหนทั้งสิ้น
ปราสาทเมืองต่ำแม้จะมีขนาดไม่ใหญ่โตนัก แต่ก็มีหลายสิ่งที่น่าสนใจ โดยแผนผังของปราสาทแห่งนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ล้อมรอบด้วยกำแพง ภายนอกปราสาทมีสระน้ำล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน เมื่อผ่านซุ้มประตูกำแพงแก้วเข้าไปจะพบกับระเบียงคดและซุ้มประตูอีกชั้นหนึ่ง ลักษณะเป็นปราสาทอิฐ 5 องค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน องค์ปราสาทก่อด้วยอิฐเรียงเป็น 2 แถว แถวหน้า 3 องค์ และแถวหลังอีก 2 องค์ กลุ่มปราสาทอิฐทั้ง 5 องค์ แสดงสัญลักษณ์แทนเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาล
จุดเด่นที่ชวนชมของปราสาทเมืองต่ำมีอยู่หลายจุดด้วยกัน อย่างเช่น บริเวณหน้าบันรูปพระอินทร์ประทับนั่งบนช้างเอราวัณ โดยมีตัวหน้ากาลซึ่งหน้าตาคล้ายสิงห์อยู่ข้างล่าง ท่ามกลางลวดลายสลักรูปดอกไม้ ถัดมาเป็นซุ้มประตูชั้นนอกที่มีประตูสามบาน คือบานเล็กซ้าย-ขวา และบานประตูกลางบานใหญ่เป็นบานสำคัญ
และเมื่อเดินผ่านประตูนี้ไปก็จะพบกับ “บาราย” หรือที่เรียกกันว่า “สระหัวนาค” มีลักษณะเป็นสระน้ำขนาดย่อม ที่สร้างตามความเชื่อเรื่องคติจักรวาลคือ บารายที่ขุดรายรอบสี่ด้านของปราสาทนั้นเปรียบดังมหาสมุทรที่รายรอบเขาพระสุเมรุ ส่วนพื้นที่ปราสาทตรงกลางนั้น มีปราสาทอยู่ห้าองค์โดยองค์กลางหมายถึงเขาไกรลาสที่ประทับของพระศิวะ
นอกจากนี้ภายในปราสาทเมืองต่ำยังมีภาพสลักหินบนทับหลังซุ้มประตูด้านตะวันออกรูป “พระอินทร์นั่งประทับบนตัวหน้ากาล” ท่ามกลางลวดลายประดับรอบๆ ที่ดูสวยงามลงตัว ซึ่งเชื่อว่าพระอินทร์จะช่วยป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้าสู่ภายในปราสาท ส่วนซุ้มประตูชั้นในมีซากของฐานบรรณาลัย ที่สันนิษฐานว่าสร้างไว้เพื่อเก็บคัมภีร์ โดยปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานของอาคาร และยังมีลวดลายสลักต่างๆ อีกมากมายให้ได้ยลกันอย่างเพลิดเพลิน
ชมปราสาทเมืองต่ำแล้ว ก็มุ่งหน้าขึ้นเขาไปสู่เมืองสูง (ปราสาทพนมรุ้ง) แต่ระหว่างทางนั้นก็ยังมีกุฏิฤาษีอีก 2 แห่ง นั่นคือ “กุฏิฤาษีบ้านโคกเมือง” และ “กุฏิฤาษีบ้านหนองบัวลาย” ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชน แต่ในสมัยก่อนนั้นสันนิษฐานกันว่า อาจจะเป็นศาสนสถานประจำอโรคยศาล หรือสถานพยาบาลที่สร้างขึ้นเพื่อดูแลรักษาชาวบ้านในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งตัวสถานพยาบาลนั้นอาจจะพุพังไปแล้ว เหลือเพียงศาสนสถาน หรือ กุฏิฤาษี ที่สร้างไว้อย่างมั่นคง
และเมื่อเดินทางขึ้นสู่เขาพนมรุ้ง ก็จะมาถึง “ปราสาทพนมรุ้ง” ที่ตั้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ปราสาทพนมรุ้งเป็นปราสาทที่ได้รับการยอมรับว่างดงามที่สุดในเมืองไทย คำว่า “พนมรุ้ง” หรือ “วนํรุง” เป็นภาษาเขมรแปลว่าภูเขาใหญ่ ตัวปราสาทตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว
ปราสาทพนมรุ้ง เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีการบูรณะก่อสร้างอย่างต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 - 17 ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมได้หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นพุทธศาสนสถานในช่วงนั้น
มาถึงปราสาทพนมรุ้งแล้ว ก็ขอแวะหาข้อมูลความรู้ที่ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว ที่มีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับเมืองบุรีรัมย์และข้อมูลของปราสาทขอมโบราณ เพื่อเตรียมตัวไปสู่การชมปราสาทพนมรุ้งและปราสาทขอมแห่งอื่นๆ ได้ด้วย
ความงดงามและเสน่ห์ของปราสาทพนมรุ้งนั้นมีมากมาย เริ่มตั้งแต่เส้นทางเดินสู่ปราสาทซึ่งเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์และสรวงสวรรค์ ซึ่งทางขวามือก่อนเดินขึ้นบันได จะมี “พลับพลา” เป็นอาคารโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยอาคารนี้เดิมเรียกว่าโรงช้างเผือก สันนิษฐานว่าเป็นพลับพลาเปลื้องเครื่องสำหรับกษัตริย์หรือเจ้านายชั้นสูง ก่อนจะเข้าสู่ภายในปราสาทประธานที่อยู่บนเขา
เมื่อขึ้นไปถึงตัวปราสาทด้านบน ก็มีสิ่งที่น่าสนใจให้ชมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น องค์ปรางค์ประธาน ตัวเรือนธาตุที่ภายในมีห้องครรภคฤหะ ประดิษฐานศิวลึงค์รูปเคารพสำคัญของลัทธิไศวนิกาย โดยมีท่อโสมสูตรหรือร่องรับน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ได้จากพิธีกรรมเซ่นสังเวยองค์ศิวเทพต่อยาวมาให้เห็นอย่างชัดเจน
และไฮไลต์อีกอย่างหนึ่งของปราสาทพนมรุ้งที่โดดเด่นกว่าที่ไหนก็จะเป็น “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” ที่ยังคงมีรายละเอียด และความงดงามในการแกะสลักให้เห็นอย่างเด่นชัด และเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของปราสาทหินพนมรุ้ง คือในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 (นับแบบไทย) หรือช่วงเดือนเมษายนของทุกปีพระอาทิตย์ในยามเช้าจะสาดแสงลอดทะลุซุ้มประตูของตัวปราสาททั้ง 15 ช่อง เป็นแนวเดียวกัน
นอกจากการมาเยือนปราสาทขอมโบราณแห่งนี้แล้ว ในตัวเมืองบุรีรัมย์ก็ยังมีกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมแบบโบราณนี้ด้วย ซึ่งก็อยู่ที่ “ศาลหลักเมือง” ที่สร้างขึ้นโดยใช้สถาปัตยกรรมเลียนแบบมาจากปราสาทพนมรุ้ง มองดูแล้วก็โดดเด่นเห็นได้ชัดเจนมากเมื่อมาตั้งอยู่ในตัวเมือง
ภายในตัวศาลได้ตั้งเสาหลักเมืองตรงกลางองค์ปรางค์ พร้อมกับอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระเสื้อเมือง เทพารักษ์ และพระทรงเมือง มาปกปักรักษาคุ้มครอง ป้องกันให้บ้านเมืองอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข
แต่สิ่งที่ศาลหลักเมืองบุรีรัมย์มีความแตกต่างจากศาลหลักเมืองที่อื่นคือ ที่นี่จะมีหลักเมือง 2 เสา เสาต้นแรกคือเสาต้นที่เตี้ยกว่า สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างเมื่อสมัยที่สร้างเมืองแปะ (เมืองเก่าที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้สร้างขึ้นในพื้นที่บริเวณนี้) ส่วนเสาต้นที่สอง สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นเมื่อเมืองแห่งนี้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดบุรีรัมย์
ใกล้ๆ กับศาลหลักเมืองก็ยังมี “ศาลเจ้าจีน” ที่ประดิษฐานรูปเหมือนของเจ้าพ่อหลักเมืองเป็นองค์ประธาน ด้านซ้ายเป็นเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ยะ ด้านขวาเป็นเทพเจ้ากวนอู ให้เราได้เข้าไปสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล
ได้ไปเที่ยวปราสาทยุคขอมโบราณแล้ว “ตะลอนเที่ยว” ก็ขอไปต่อกันที่ปราสามยุคที่สอง นั่นคือ “ปราสาทสายฟ้า” หรือที่ “สนามฟุตบอลไอ-โมบาย สเตเดียม” ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ธันเดอร์ คาสเซิล สเตดียม” สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสนามเหย้าของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ด
ที่นี่เป็นสนามหญ้าระดับมาตรฐานบนพื้นที่ 150 ไร่ เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2554 และสามารถจุผู้ชมได้สูงสุด 32,600 คน ใครที่เป็นคอฟุตบอลรับรองว่าเมื่อได้เข้ามาชมที่สนามแห่งนี้ ก็จะรู้สึกหึกเหิมไปกับกลิ่นอายของการแข่งขันฟุตบอล
ส่วนที่ด้านหลังของสนามฟุตบอล ก็จะเป็น “สนามบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต” สำหรับผู้ที่ชื่นชอบความเร็วของการแข่งขันมอร์เตอร์สปอร์ต ซึ่งที่นี่สามารถแข่งขันในระดับโลกได้ทุกรายการ เพราะถูกออกแบบมาให้เป็นสนามระดับมาตรฐาน FIA Grade 1/FIM Grade A และถ้าใครได้ขึ้นไปยืนอยู่บนแกรนด์แสตน จะสามารถมองเห็นการแข่งขันได้ถึง 180 องศา เรียกว่าสามารถมองเห็นกันได้ชัดเจนทุกโค้งของสนาม ให้อารมณ์ตื่นเต้นระทึกใจอย่างเต็มที่
มาเที่ยวบุรีรัมย์ครั้งนี้ ได้ตื่นตาไปกับปราสาทสายฟ้าของยุคใหม่ และยังได้สัมผัสกับอารยธรรมโบราณที่ปราสาทขอม แถมยังได้ชมดอกไม้สวยๆ ให้เพลินใจ เรียกว่าเป็นการมาท่องเที่ยวที่ครบรสชาติจริงๆ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com