xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยว “นครชุม” สัมผัสโบราณสถาน เยือนตลาดโลว์คาร์บอนแห่งแรกในเมืองไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ตลาดย้อนยุคนครชุม
"กำแพงเพชร" เป็นจังหวัดภาคเหนือตอนล่างที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ที่หลายคนอาจมองเป็นเพียงทางผ่าน แต่แท้จริงแล้วจังหวัดเล็กๆ นี้ได้ซ่อนมนต์เสน่ห์ ความยิ่งใหญ่ของอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ความสมบูรณ์ของโบราณสถาน และความน่าสนใจไว้มากมาย
คลองสวนหมาก คลองสำคัญแห่งนครชุม
“นครชุม” เป็นตำบลเล็กๆใน อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ที่มีประวัติยาวนานหลาย 100 ปี อยู่ติดลุ่มแม่น้ำปิง ซึ่งมีลำคลองที่สำคัญคือ “คลองสวนหมาก”  เนื่องจากนครชุมในอดีตเป็นเมืองค้าขาย โดยเฉพาะค้าไม้และของจำเป็นอื่นๆ จึงมีทั้งพ่อค้าและแรงงาน จากต่างถิ่นหลากหลายชนเผ่าทั้ง ไทย จีน กระเหรี่ยง มอญ ลาว จึงทำให้มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย นอกจากนั้นยังมีประวัติเล่าขานมากมาย หนึ่งในนั้นคือ “ตำนานชั่วฟ้าดินสลาย” ที่เป็นนวนิยายชื่อดังของ “ครูมาลัย ชูพินิจ” ที่นำบรรยากาศฉากหลังบรรยากาศของเมืองนครชุมและประวัติศาสตร์ของนครชุมแฝงอยู่มาเป็นฉากหลัง พร้อมกับหยิบเรื่องราวของ “พะโป้” ชาวกะเหรี่ยงผู้ได้รับสัมปทานไม้แห่งเมืองกำแพงเพชร ที่มาตั้งบ้านเรือนที่บริเวณปากคลองสวนหมากซึ่งมีชีวิตอยู่จริงมาเป็นตัวละครนวนิยายที่แต่งขึ้น นอกจากนั้นยังมีผลงานของครูมาลัยที่บันทึกเรื่องราวของนครชุม และคลองสวนหมาก ไว้อย่างละเอียดครบถ้วนในหนังสือ “ทุ่งมหาราช”
“บ้านห้าง ร.5” หรือ “บ้านพะโป้” นั้นเป็นอาคารไม้สัก 2 ชั้น รูปแบบไทยผสมตะวันตก
บริเวณหน้าต่างด้านหลังของ“บ้านห้าง ร.5” หรือ “บ้านพะโป้”
“บ้านห้าง ร.5” หรือ “บ้านพะโป้” ซึ่งเป็นคหบดีชาวกะเหรี่ยง ซึ่งมีอาชีพค้าไม้บริเวณปากคลองสวนหมากเมืองนครชุมในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นยังคงหลงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน เป็นอาคารไม้สัก 2 ชั้น รูปแบบไทยผสมตะวันตก โดยได้ซื้อบ้านมาจากพระยาราม ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จประพาสต้น เมืองกำแพงเพชร เมื่อปี พ.ศ. 2449 ได้เสด็จเยือนบ้านพะโป้ จนเป็นที่มาของชื่อบ้านห้าง ร. 5
บรมธาตุมหาเจดีย์ทรงสูงใหญ่ ตั้งอยู่ใน “วัดพระบรมธาตุ”
ป้อมทุ่งเศรษฐี สร้างด้วยก้อนศิลาแลง
นครชุมยังมีเรื่องประวัติศาสตร์อีกมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มโบราณสถานนครชุม เขตอรัญญิก ตัวเมืองกำแพงเพชรโบราณ เช่น ป้อมทุ่งเศรษฐี มีลักษณะเป็นป้อมปราการสำหรับการตั้งรบสงครามโดยอยู่บริเวณหัวมุมกำแพง มีช่องเข้าออกที่บริเวณกึ่งกลางกำแพงทั้งสี่ด้าน สร้างด้วยก้อนศิลาแลง นอกจากนั้นภายนอกเมืองออกไปทางทิศเหนือจะพบอาณาบริเวณที่มีโบราณสถานจำพวกวัดวาอารามากมายเช่น วัดหนองพิกุล วัดเจดีย์กลางทุ่ง วัดหนองยายช่วย เป็นต้น




วัดหนองพิกุล วัดที่มีเสน่ห์ในนครชุม
เจดีย์กลางทุ่ง แห่งเมืองนครชุม
บรรยากาศตลาดนครชุม
และไฮไลท์เด็ดแห่งเมืองนครชุม คงหนีไม่พ้น “ตลาดย้อนยุคนครชุม” ซึ่งเป็นถนนคนเดินจำลองตลาดโบราณมาไว้ด้วยการให้พ่อค้าแม่ค้าแต่งกายย้อนยุค นุ่งผ้าแถบผ้าจุงกระเบน ซึ่งทางเทศบาลจะจัดให้มีขึ้นทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ แรกของเดือน เปิดตลาดตั้งแต่ประมาณ 17.00 น. เป็นต้นไปถึงกลางคืน ซึ่งนอกจากจะมีร้านค้าชาวบ้านที่ออกมาขายของกินอร่อยๆ ให้เลือกซื้อหา สินค้าในตลาดส่วนมากจะเป็นอาหารในท้องถิ่น เช่น ขนมครก ขนมรังผึ้ง ผัดไท ขนมเบื้อง และอื่นๆ อีกมากมายปรับให้เข้ายุคสมัย และ ยังมีเวทีแสดงดนตรีสลับกรแสดงพื้นบ้าน คนมาเที่ยวได้ทั้งอิ่มท้องและอิ่มสุขจากเสียงดนตรี
พ่อค้าแม่ค้าแต่งกายย้อนยุค
ภายในตลาดนั้นเต็มไปด้วยอาคารบ้านเรือนโบราณ 2 ชั้น ทำให้ราวกับย้อนยุคไปในสมัยก่อน ไม่เพียงเท่านั้น ความพิเศษของตลาดแห่งนี้คือ เป็นตลาดที่เน้นการท่องเที่ยวเที่ยวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Low Carbon Tourism) ตลาดโลว์คาร์บอนแห่งแรกในประเทศ โดยกลุ่มชาวบ้านได้ช่วยกันใช้ การใช้ภาชนะที่ย่อยสลายได้ทดแทนการใช้ถุงพลาสติก และโฟม เช่น ใบตอง เป็นต้น รวมทั้งปรับเปลี่ยนหลอดไฟจากหลอดไส้มาเป็นหลอดตะเกียบหรือ Led อีกด้วย ภายใต้การสนับสนุนขององค์การบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (อพท.)
ป้ายที่พ่อค้าแม่ช่วยกันใช้ภาชนะที่เป้นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ด้วยความร่วมมือของชาวบ้านนครชุมนั้นเองที่ทำให้เมืองนครชุมเก่าแก่ตลาดโบราณซึ่งเคยคึกคักเมื่อเกือบร้อยปี ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง เต็มไปด้วยกลิ่นอายแห่งความเป็นมิตรที่นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสได้ถึงบรรยากาศวิถีคนในชุมชน วัฒนธรรมท้องถิ่น โบราณสถาน และอาหารพื้นบ้าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ และเป็นแหล่งเรียนรู้การท่องเที่ยวในจังหวัดกำแพงเพชร จากนี้ไปกำแพงเพชรจะไม่ใช่เมืองผ่านอีกต่อไป แต่จะเป็นเมืองที่ควรค่าแก่การมาท่องเที่ยวที่มีความสวยงามและเสน่ห์ในความเก่าแก่ยังคงอยู่
ของกินอร่อยๆที่ชาวบ้านนำมาขาย
นักท่องเที่ยวสนใจติดต่อสอบถามกิจกรรมการท่องเที่ยวได้ที่ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนนครชุม โทร. 08-9640-5287
กำลังโหลดความคิดเห็น