xs
xsm
sm
md
lg

ท่องฝั่งธนฯ ยล “พระราชวังเดิม” สัมผัสประวัติศาสตร์ราชธานีเก่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง

วันและเวลาได้ล่วงเลยมาถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ ช่วงเวลาแห่งการตะลอนเที่ยวในเมืองกรุงของฉัน แต่ในวันหยุดนี้จะเป็นวันหยุดที่ฉันตื่นเต้นและดีใจเป็นอย่างมาก เพราะฉันจะได้มีโอกาสเข้าไปเที่ยวชม “พระราชวังเดิม” หรือ “พระราชวังกรุงธนบุรี” อันเป็นพระราชวังเก่าเมื่อครั้งสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี และเป็นสถานที่ที่ไม่สามารถเข้าไปเที่ยวชมได้ง่ายมากนัก เพราะอยู่ในเขตกองบัญชาการกองทัพเรือ ซึ่งต้องมีการขออนุญาตในการเข้าไปชม

แต่ก่อนที่จะไปเที่ยวชมพระราชวังเดิม ฉันก็จะขอเล่าถึงประวัติคร่าวๆ ของพระราชวังเดิมให้ได้ฟังกัน “พระราชวังเดิม” หรือ “พระราชวังกรุงธนบุรี” เป็นพระราชวังหลวงของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตที่เคยเป็นที่ตั้งของป้อมวิไชยเยนทร์ ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตำแหน่งของพระราชวังแห่งนี้ สามารถสังเกตการณ์ได้ในระยะไกล จึงเป็นจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ ซึ่งในปี พ.ศ. 2310 ภายหลังจากที่ทรงกอบกู้เอกราชให้ชาติไทย สมเด็จพระเจ้าตากสินได้โปรดให้สร้างพระราชวังขึ้น ณ ที่แห่งนี้ เพื่อใช้เป็นที่ประทับและว่าราชการ เมื่อทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี พร้อมกับปรับปรุงป้อมวิไชยเยนทร์และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นป้อมวิไชยประสิทธิ์

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรงย้ายราชธานีมาอยู่ฝั่งพระนคร พระองค์ทรงสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นเป็นที่ประทับ พระราชวังแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “พระราชวังเดิม” ตั้งแต่บัดนั้น จนกระทั่งในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงพระราชทานพระราชวังเดิมให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ ตามคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานจากนายพลเรือตรี พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (พระยศในขณะนั้น) เมื่อ พ.ศ. 2449 หลังจากโรงเรียนนายเรือย้ายออกไปอยู่สัตหีบ และย้ายมาอยู่ที่สมุทรปราการ กองทัพเรือจึงได้ใช้พระราชวังเดิมแห่งนี้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพเรือ
“ท้องพระโรง” อาคารเดียวภายในพระราชวัง ที่หลงเหลือจากสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ
เมื่อฉันเดินทางมาถึง ฉันได้พบกับทางพี่เจ้าหน้าที่มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม ผู้ที่จะเป็นไกด์พาฉันเดินชมภายในเขตพื้นที่พระราชวังเดิม ซึ่งในพื้นที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของอาคารสำคัญที่มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ในจุดแรกที่ฉันได้ไปชมนั้นคือ “ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” เพื่อมาสักการะและรำลึกพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงกู้เอกราช ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง จนกระทั่งประเทศไทยเป็นปึกแผ่นจนถึงปัจจุบัน ศาลแห่งนี้เป็นศาลที่ถูกสร้างขึ้นแทนศาลหลังเก่าที่มีสภาพทรุดโทรม โดยถูกสร้างขึ้นเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมีกรมพระจักรพรรดิพงศ์ เสด็จมาประทับที่พระราชวังเดิมในระหว่างปี พ.ศ.2424 - 2443 ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ลักษณะประทับยืนทรงพระแสงดาบขนาดเท่าองค์จริง

หลังจากนั้นพี่เจ้าหน้าที่ก็พาฉันเดินต่อมายัง “ท้องพระโรง” ซึ่งเป็นอาคารเดียวภายในพระราชวังเดิม ที่หลงเหลือจากสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ อาคารท้องพระโรงสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2310 พร้อมกับการสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี เป็นอาคารรูปแบบไทยประกอบด้วยพระที่นั่งสององค์เชื่อมกันคือ “พระที่นั่งท้องพระโรง” ด้านทิศเหนือที่ถูกใช้เป็นพื้นที่ออกขุนนาง และ “พระที่นั่งขวาง” ด้านทิศใต้ จะเป็นส่วนราชมณเฑียรอันเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ
“ตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว”
เจ้าหน้าที่เล่าว่า “พระราชมณเฑียรของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ นั้นมีขนาดที่เล็ก เมื่อเปรียบกับพระราชมณเฑียรของพระมหากษัตริย์องค์อื่นๆ เพราะในรัชสมัยของพระองค์ พระองค์ต้องเดินทางไปทำศึก จึงไม่ได้ประทับอยู่ที่พระราชวังเป็นส่วนใหญ่” เมื่อได้ฟังแล้วฉันก็ยิ่งซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านมากกว่าเดิม แม้พระองค์จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ แต่พระองค์ก็ไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ในการรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่นและสุขสงบจนมาถึงปัจจุบัน

ใกล้ๆ กันนั้นเป็นที่ตั้งของ “ตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” ตำหนักหลังนี้ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และใช้เป็นที่ประทับระหว่างปี พ.ศ. 2367 - 2394 ตัวอาคารเป็นอาคารสองชั้น ถูกสร้างขึ้นจากไม้สักและปูนในสถาปัตยกรรมเป็นแบบตะวันตก ปัจจุบันอาคารแห่งนี้ ชั้นบนถูกใช้เป็นที่จัดแสดงเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ และชั้นล่างจัดแสดงนิทรรศการเงินตราเครื่องถมทองและเครื่องถ้วยโบราณของไทย
“ตำหนักเก๋งคู่หลังเล็ก” ตกแต่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน
หลักจากนั้นฉันก็เดินมาชม “ตำหนักเก๋งคู่” เป็นอาคารชั้นเดียวสองหลังที่มีขนาดเล็กและใหญ่ตั้งอยู่ขนานกัน ได้แก่ “ตำหนักเก๋งคู่หลังเล็ก” ที่ถูกตกแต่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน แต่มีการปรับเปลี่ยนประตูหน้าต่างเพื่อให้เข้ากับสภาพอากาศของประเทศไทย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดฯ ให้ซ่อมแซมพร้อมกับให้สร้างพระตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่ขนานกับอาคารเก๋งคู่หลังเล็กที่อยู่ทางทิศเหนือในรูปแบบที่สอดคล้องกับอาคารหลังนี้ ปัจจุบันอาคารนี้ใช้เป็นที่จัดแสดงเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจทางด้านการรบของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
“ตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่”
หลักจากชมตำหนักหลังแรกเสร็จแล้ว ฉันก็เดินมาชมต่อที่ “ตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่” ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างไทยและจีน อาคารหลังนี้ในส่วนของหลังคาได้มีการเขียนสีตกแต่งเป็นลวดลายแบบจีน กรอบหน้าต่างมีการจำหลักลายประดับแบบไทย ปัจจุบันใช้เป็นที่จัดแสดงภาพนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจในด้านการทำนุบำรุงบ้านเมืองในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ
กระดูกศีรษะปลาวาฬ ภายใน “ศาลศีรษะปลาวาฬ”
ถัดมาฉันก็เดินมาชม “ศาลศีรษะปลาวาฬ” ซึ่งเป็นที่จัดแสดงกระดูกศีรษะปลาวาฬที่ขุดพบโดยบังเอิญเมื่อครั้งขุดบูรณะครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2538 และก็เดินต่อมาชม “เรือนเขียว” อาคารแห่งนี้สร้างขึ้นในช่วงเวลาที่มีการปรับปรุงพระราชวังเดิมให้เป็นโรงเรียนนายเรือ และใช้เป็นสถานพยาบาลของโรงเรียนนายเรือ

ปิดท้ายการตะลุยเที่ยวในเขตพระราชวังเดิมในครั้งนี้ ฉันได้เดินมาชม “ป้อมวิไชยประสิทธิ์” ป้อมแห่งนี้ เมื่อครั้งอดีตมีชื่อว่า "ป้อมวิไชยเยนทร์" หรือ "ป้อมบางกอก" สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี พระองค์จึงโปรดให้ทรงสร้างพระราชวังในบริเวณป้อมแห่งนี้ พร้อมกับปรับปรุงป้อม และพระราชทานนามใหม่ว่า "ป้อมวิไชยประสิทธิ์" ปัจจุบันป้อมวิไชยประสิทธิ์ใช้เป็นที่ยิงสลุตในพิธีสำคัญต่างๆ ในจุดนี้สามารมองเห็นทัศนียภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างกว้างไกล
บรรยากาศที่ “ป้อมวิไชยประสิทธิ์”
ฉันได้ชมอาคารต่างๆ ก็รู้สึกประทับใจเป็นอย่างมากที่มีโอกาสเข้ามาเยี่ยมพะราชวังเดิม แต่ฉันก็นึกเสียใจเล็กน้อยเพราะฉันไม่สามารถถ่ายรูปบริเวณด้านในอาคารได้ เพราะเป็นข้อห้ามของทางกองบัญชาการกองทัพเรือ สุดท้ายนี้ฉันขอรับรองว่าทุกอย่างที่จัดแสดงในทุกอาคารนั้นมีคุณค่าและสวยงามไม่ควรพลาดไปเที่ยวชมด้วยตัวเอง พระราชวังเดิมจึงเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ และควรมาเที่ยวสักครั้งหนึ่ง

***************************************************************************************************

การเดินทาง รถโดยสารประจำทางสาย 19, 57 หรือใช้บริการเรือข้ามฟาก ท่าเตียน-วัดอรุณราชวราราม
ติดต่อสอบถามและนัดหมายเข้าชมได้ที่ มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม โทร. 0-2475-4117
กรมกิจการพลเรือน โทร. 0-2475-4821 และ 0-2475-4445
การเข้าชมควรเป็นกลุ่มไม่ต่ำกว่า 20 คน ทำหนังสือขอเข้าชมล่วงหน้าและไม่เสียค่าใช้จ่าย ภายในอาคารทุกอาคารของพระราชวังเดิมห้ามถ่ายรูป

**********************************************************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 


กำลังโหลดความคิดเห็น