xs
xsm
sm
md
lg

นักมวยไทย-ต่างชาติร่วมพิธีบวงสรวง “นายขนมต้ม” ยิ่งใหญ่ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พระนครศรีอยุธยา - นักมวยชาวไทยและนักมวยชาวต่างประเทศกว่า 60 ประเทศ กว่า 600 คน เข้าร่วมพิธีบวงสรวงงาน “ไหว้ครูมวยไทยนายขนมต้ม” ที่หน้าอนุสาวรีย์นายขนมต้ม วีรชนไทยยิ่งใหญ่



เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (17 มี.ค.) ที่บริเวณอนุสาวรีย์นายขนมต้ม ภายในสนามกีฬาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นาย อบจ.) พระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในพิธีบวงสรวงงาน “ไหว้ครูมวยไทยนายขนมต้ม” โดยมีนักมวยทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติกว่า 60 ประเทศ ประมาณ 600 คน เดินทางมาร่วมประกอบพิธีบวงสรวงนายขนมต้ม เนื่องในวันวีรชนไทยนายขนมต้ม ประจำปี 2558 พร้อมด้วยการแสดงริ้วขบวนช้าง และนักมวยไทยอย่างยิ่งใหญ่ ทั้งนี้ เพื่อมุ่งหวังยกย่อง และส่งเสริมศิลปะป้องกันตัวของไทยให้เป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก

ส่วนช่วงค่ำวันนี้ จะมีพิธีไหว้ครูมวยไทย โดยจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปรมาจารย์ครูมวยทำพิธีไหว้ครูมวย ซึ่งนักมวยจากหลายประเทศเข้าร่วมพิธีไหว้ครู และสวมมงคลจากครูมวย ที่บริเวณวัดมหาธาตุ ซึ่งทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พระนครศรีอยุธยา สมาคมสถาบันศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบไทย สมาคมครูมวยไทย และสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดงาน “มหกรรมศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบไทย และไหว้ครูมวยไทยโลก” ขึ้น

นายอภิชาติ กล่าวว่า การจัดงานในปีนี้มีนักมวยชาวต่างชาติเดินทางมาจาก 60 ประเทศ ประมาณ 600 คน ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรม นอกจากนี้ ยังได้ชมการสาธิตศิลปหัตถกรรม การสักยันต์ การตีดาบอรัญญิก การแสดงศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่อง และส่งเสริมศิลปะป้องกันตัวของไทย อันเป็นมรดกโลกที่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของบรรพชนไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวต่างจากชนชาติอื่นด้วย

สำหรับ นายขนมต้ม เป็นนักมวยคาดเชือกชาวกรุงศรีอยุธยา เกิดที่ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรนายเกิด และนางอี่ มีพี่สาวชื่อนางเอื้อย ทั้งพ่อแม่ และพี่ถูกพม่าฆ่าตายหมด และต้องไปอยู่วัดตั้งแต่เล็ก นายขนมต้ม ถูกพม่ากวาดต้อนไปเชลยในระหว่างเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2

เมื่อพระเจ้ามังระ โปรดให้ปฏิสังขรณ์ และก่อเสริมพระเจดีย์ชเวดากอง ในเมืองย่างกุ้งเป็นการใหญ่นั้น ครั้นงานสำเร็จลงในปี พ.ศ.2317 พอถึงวันฤกษ์งามยามดี คือ วันที่ 17 มีนาคม จึงโปรดให้ทำพิธียกฉัตรใหญ่ขึ้นไว้บนยอดเป็นปฐมฤกษ์ แล้วได้ทรงเปิดงานมหกรรมฉลองอย่างมโหฬาร ขุนนางพม่ากราบทูลว่า “นักมวยไทยมีฝีมือดียิ่งนัก” พระเจ้ามังระ จึงตรัสสั่งให้เอาตัวนายขนมต้ม นักมวยดีมีฝีมือตั้งแต่ครั้งกรุงเก่ามาถวาย พระเจ้ามังระ ได้ให้จัดมวยพม่าเข้ามาเปรียบกับนายขนมต้ม โดยจัดให้ชกต่อหน้าพระที่นั่ง

ปรากฏว่า นายขนมต้ม ชกพม่าไม่ทันถึงยกก็แพ้ถึงเก้าคนสิบคนก็สู้ไม่ได้ พระเจ้ามังระ ทอดพระเนตรยกพระหัตถ์ตบพระอุระตรัสสรรเสริญนายขนมต้มว่า “คนไทยนี้มีพิษสงรอบตัว แม้มือเปล่ายังเอาชนะคนได้ถึงเก้าคนสิบคน นี่หากว่ามีเจ้านายดี มีความสามัคคีกัน ไม่ขัดขากันเอง และไม่เห็นแก่ความสุขส่วนตัว และโคตรตระกูลแล้ว ไฉนเลยกรุงศรีอยุธยาจะเสียทีแก่ข้าศึก ดั่งที่เห็นอยู่ทุกวันนี้”

หลังจาก นายขนมต้ม ได้เอาชนะนักมวยพม่าแล้ว พระเจ้ามังระ ได้ปูบำเหน็จแก่นายขนมต้ม โดยแต่งตั้งเป็นข้ารับใช้ในกรุงอังวะ แต่นายขนมต้ม กลับปฏิเสธ และขอให้พระเจ้ามังระ ปลดปล่อยตน และเชลยคนไทยทั้งหมดให้เป็นอิสระเพื่อกลับบ้านเกิด พระเจ้ามังระ ก็ยอมทำตามความประสงค์ ในที่สุด นายขนมต้ม และเหล่าเชลยคนไทยก็ได้รับอิสรภาพ และกลับไปยังบ้านเกิดก็คือแผ่นดินไทยที่มีกรุงธนบุรีเป็นราชธานี โดยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี นามว่า ตากสินมหาราช นายขนมต้ม ก็ได้อาศัยอยู่บ้านเกิดอย่างสงบแต่ไม่ทราบว่าเสียชีวิตไปเมื่อใด

เหตุการณ์ที่นายขนมต้ม ชกชนะนักมวยพม่า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2317 ได้เคยมีการจัดให้วันที่ 17 มีนาคม เป็นวันมวยไทย เพื่อเป็นเกียรติประวัติต่อนักมวยไทย นอกจากนี้ ชาวพระนครศรีอยุธยา ได้พร้อมใจกันสร้าง “อนุสาวรีย์นายขนมต้ม” ไว้ที่บริเวณสนามกีฬากลาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา







กำลังโหลดความคิดเห็น