เมื่อถึงช่วงหน้าร้อน แดดแรงๆ ที่สาดส่องทำให้คิดถึงบรรยากาศทะเลใสหาดทรายขาวขึ้นมาทันใด ในหน้าร้อนนี้ขอพามาเที่ยว "ทะเลสตูล" ที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตรัง (ดูแลตรัง,ส๖ล) ได้จัดทำเส้นทางท่องเที่ยวทางทะเลเส้นใหม่ ที่มีความมหัศจรรย์ไม่แพ้ที่ไหนและน่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยมีไฮไลต์หลักอยู่ที่ "สันหลังมังกร" สันหาดทรายลักษณะเป็นทะเลแหวกกลางทะเล โดยทะเลสตูลนั้นมีทะเลแหวกหลายแห่ง และที่เป็นไฮไลต์มี 8 แห่ง (หรือ 8 ตัว) ด้วยกัน
เราจึงขอแพ็คกระเป๋าตามล่าสันหลังมังกร มู่งสู่จังหวัด “สตูล” จังหวัดที่อยู่ทางใต้สุดของชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย แดนแห่งสวรรค์บนท้องทะเล ภูเขา และท้องฟ้า ที่หลายคนอยากไปสัมผัสสักครั้งในชีวิต และเป็นที่อยู่ของ สันหลังมังกร ที่เราจะไปตามหาว่าเจ้าสันหลังมังกรเป็นเช่นไร
เส้นทางท่องเที่ยวทะเลสตูลนี้เริ่มต้นขึ้นที่ท่าเรือตำมะลัง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ท่าเรือที่เราจะเดินทางเพื่อตามล่าเจ้าสันหลังมังกรกัน ท่าเรือตำมะลังแห่งนี้ เป็นท่าเรือที่สามารถขึ้นเรือต่างๆ ไม่ว่าจะเรือเร็วขนาดใหญ่(เรือเฟอร์รี่) ซึ่งจะรับ-ส่งทั้งสินค้าและผู้โดยสาร และที่สำคัญเป็นที่ขึ้นเรือ เพื่อไปท่องเที่ยวที่เกาะลังกาวีของมาเลเซีย และ เกาะหลีเป๊ะ ของไทย ที่นี่มี "รูปปั้นปูก้ามดาบยักษ์" ซึ่งปูก้ามดาบเป็นสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลนบริเวณใกล้ๆ ท่าเรือ จึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของท่าเรือแห่งนี้
ขึ้นเรือเรียบร้อยแล้วเราก็ล่องไปตาม คลองตำมะลัง ก่อนจะออกสู่ทะเล ระหว่างทางเราจะพบกับวิถีชุมชน ที่เป็นชาวมุสลิม มีหลายเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นชาวไทย ชาวอินโดนิเซีย และชาวมาเลเซียที่อาศัยรวมตัวกันที่นี่ และชมความสวยงามทิวทัศน์ความสมบูรณ์ของต้นไม้ในคลองตำมะลังแห่งนี้
เมื่อล่องเรือไปตามคลองเรื่อยๆ ก็มาถึงจุดท่องเที่ยวจุดแรก จะเห็นนกอินทรีบินผงาดไปมาอยู่บนท้องฟ้าหลายสิบตัว ที่นีเป็นจุดชมนกอินทรีบินโฉบอาหารจากพื้นน้ำได้อย่างใกล้ชิด นกอินทรีนั้นจะมีสีน้ำตาลแดง เป็นพันธุ์เดียวกับที่พบในลังกาวีของมาเลเซีย ซึ่งการจะเห็นนกอินทรีที่มากมายแบบนี้ถือว่าหาได้ยาก แต่จะพบได้ง่ายที่คลองตำมะลังแห่งนี้
ชมความสวยงาม ความแข็งแกร่งของนกอินทรีไปแล้วตอนนี้กำลังมุ่งหน้าจากคลองตำมะลังสู่ท้องทะเลสตูล โดยที่เรามุ่งหน้าไปนี้เป็นเกาะใหม่ที่ยังไม่เคยเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวมาก่อน มีชื่อว่า “เกาะโกยน้อย” คำว่า โกย เป็นภาษามาลายู แปลว่า ขนม ซึ่งก็สามารถเรียกเกาะนี้อีกชื่อว่า เกาะขนมน้อย ที่นี่เป็น 1 ใน 8 สันหลังมังกรที่น่าชม แต่น่าเสียดายที่เรามาช่วงในน้ำขึ้นจึงไม่เห็นสันหลังมังกรที่นี่ แต่ความสวยงามของเกาะโกยน้อยนั้นก็ช่วยบรรเทาความผิดหวังได้ เพราะน้ำทะเลที่เกาะโกยน้อยแห่งนี้มีสีเขียวอมฟ้าน้ำใสสามารถมองเห็นทะลุไปยังทรายที่อยู่เบื้องล่าง มีทางเชื่อมสันทรายข้ามไปอีกฝั่งได้ ถือว่าเกาะโกยน้อยเป็นเกาะเล็กๆ ที่ยังบริสุทธิ์อยู่เพราะยังไม่เปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและไม่มีการปรุงแต่งใดๆ ทั้งสิ้น จึงสามารถสัมผัสกับธรรมชาติความสวยงามของเกาะแห่งนี้อย่างแท้จริง
สัมผัสน้ำทะเลและทรายที่เกาะโกยน้อยแล้วเราจึงมุ่งหน้าสู่จุดดำน้ำที่จะได้สัมผัสน้ำทะเลใสๆ และความสวยงามใต้ท้องทะเล โดยไกด์นำเที่ยวได้บอกชื่อของเกาะแห่งนี้ไว้ว่า “เกาะวรนาท” เป็นจุดดำน้ำชมปะการังและปลาต่างๆ ความสวยงามของจุดดำน้ำแห่งนี้อยู่ที่ความสงบและความร่มรื่นของต้นไม้ และหาดทรายที่เป็นแอ่งในเกาะ รวมทั้งน้ำทะเลใสๆ และปะการังที่สวยงามอยู่ใต้ท้องทะเล
เมื่อเราดำน้ำดูปะการังจนฉ่ำใจแล้ว เส้นทางต่อไปในทริปนี้คือ “เกาะตะรุเตา” เกาะตะรุเตาเป็นเป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “ตะโละเตรา” ในภาษามลายู แปลว่า มีอ่าวมาก ตะรุเตาเป็นอุทยานแห่งชาติที่อยู่ในทะเลอันดามัน เป็นที่จะสัมผัสถึงสวรรค์และนรกแห่งตะรุเตาได้ดีทีเดียว สวรรค์ของตะรุเตาคงจะหนีไม่พ้นความสวยงามใสของท้องทะเลและหมู่เกาะที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีสภาพธรรมชาติที่น่าสนใจแก่การท่องเที่ยวในเชิงธรรมชาติ และสัมผัสเส้นทางประวัติศาสตร์ “คุกนรก” และแหล่งซ่องสุมของ “โจรสลัดตะรุเตา" เนื่องจากเมื่อก่อนเกาะตะรุเตาเป็นเกาะซึ่งตั้งอยู่กลางท้องทะเลลึกห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่ คลื่นลมในฤดูมรสุมรุนแรง เต็มไปด้วยจระเข้และฉลาม เกาะแห่งนี้จึงได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลไทยให้ใช้เป็นสถานที่กักกันนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ รวมถึงนักโทษการเมืองต่างๆ มาไว้ที่เกาะแห่งนี้
เราลงจากเรือบริเวณสะพานท่าเทียบเรือ "อ่าวตะโละวาว เกาะตะรุเตา" จากท่าเทียบเรือเพื่อเดินไปชมเส้นทางประวัติศาสตร์ที่มีสถานที่น่าสนใจมากมายไม่ว่าจะเป็น “ตึกแดง” ที่เคยเป็นคุมขัง สร้างขึ้นด้วยเหล็กที่ดูดความร้อนและเย็นได้อย่างมาก มีขนาดความสูงไม่มากนัก ไม่สามารถยืนได้ มีประตูเดียว และช่องรูเล็กๆ เพื่อให้อาหารและหายใจ ตึกแดงแห่งนี้เป็นที่กล่าวถึงความน่ากลัวที่นักโทษบนเกาะตะรุเตาแห่งนี้ไม่อยากสัมผัสเลยทีเดียว และอีกทีน่าสนใจอีกแห่งนั้น คือ “เรือนนักโทษ” เป็นเรือนที่ทำมาจากไม้ ตั้งอยู่บนเนินเขาเล็กๆ เงียบสงบ บรรยากาศดูน่าวังเวง ถูกสร้างจำลองขึ้นจากสถานที่จริงเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสถึงประวัติศาสตร์บนเกาะแห่งนี้
รับรู้ประวัติศาสตร์ไปแล้ว เราออกเรือมุ่งหน้าไปยังสิ่งที่เราตามล่าหาและรอคอยมาทั้งวัน ไฮไลต์ที่สุดของทริปนี้ คือ “สันหลังมังกร” ซึ่งถือเป็นมังกรตัวที่ 1 เป็นตัวที่ถือว่ายาวที่สุดในบรรดาสันหลังมังกรทั้งแปดตัว โดยมีความยาวประมาณ 4 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างเกาะหัวมันกับเกาะสาม ในตันหยงโป โดยช่วงน้ำที่ลดลงนั้นน้ำจะกระทบเข้าหากันจะคล้ายเกร็ดที่แวววาวเมื่อมองดูไกลๆ เหมือนมังกรกำลังลุกฮือ จากนั้นค่อยๆ เผยให้เห็นสันทรายทอดแนวยาวอยู่กลางทะเล เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่อยู่ในจังหวัดสตูลที่เดียวเท่านั้น ความพิเศษของสันหลังมังกรอยู่ที่สันทรายที่เต็มไปด้วยเปลือกหอยนานาชนิดที่ถูกน้ำทะเลพัดทับถมมองเห็นแวววาว เมื่อเดินทอดน่องไปตามสันทรายก็เหมือนเดินอยู่บนสันหลังมังกรที่แวววาวจากแสงแดดที่ส่องลงมากระทบสันทรายแห่งนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าประทับใจและมหัศจรรย์ในเมืองไทยที่อยากชวนทุกคนไปสัมผัสสักครั้งในชีวิต
เมื่อเราตามล่าสันหลังมังกรมาทั้งวันแล้วก็เดินทางมุ่งหน้ากลับพร้อมกับแสงพระอาทิตย์ยามเย็น และยังได้สัมผัสชีวิตของชาวเลที่ตันหยงโป ที่กำลังออกหากั้ง เป็นทริปที่นอกจากประทับใจที่ได้ยลโฉมกับสันหลังมังกรที่เลื่องลือแล้วยังได้สัมผัสกับประวัติศาสตร์และวิถีชุมชนของชาวบ้านในจังหวัดสตูลดินแดนที่ถือว่าเป็นสวรรค์และสงบในท้องทะเลแห่งอันดามันแห่งนี้
นักท่องเที่ยวที่สนใจสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทาง แหล่งท่องเที่ยว และรายละเอียดต่างๆ ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตรัง (ดูแล จ.ตรัง และสตูล) โทร. 0-7521 5867, 0-7521-1085
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com