“เพลินวาน” บุกพระนคร เปิด “เพลินวานพาณิชย์” ย้อนอดีตเมืองไทยสมัยเปิดรับวัฒนธรรมของชาติตะวันตก สร้างประวัติศาสตร์ให้กลับมามีชีวิต พร้อมเปิดให้เที่ยวชม 2 แห่งแรก คือ เพลินวานพาณิชย์ ตอน เรด ครอส ทีรูม ทองหล่อซอย 13 และเพลินวานพาณิชย์ ตอน ชุมชนบางรอด ชั้น 3 สยามสแควร์วัน กรุงเทพฯ
นางสาวภัทรา สหวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วนชัย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้ง “เพลินวาน หัวหิน” และล่าสุดคือ “เพลินวานพาณิชย์” กล่าวว่า “เพลินวานพาณิชย์” เกิดจากแนวคิดที่ต่อยอดจาก เพลินวาน หัวหิน โดยพาไปย้อนอดีตในช่วง พ.ศ. 2463 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนของสังคมไทยที่เปิดรับวัฒนธรรมที่แตกต่างของชาติตะวันตก ซึ่งนำไปสู่การวางรากฐานใหม่ของกิจการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟแห่งแรก มหาวิทยาลัยแห่งแรก กรมไปรษณีย์โทรเลข สภาอุณาโลมแดง (สภากาชาด) รวมไปถึงธนาคารออมสิน จึงเกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะทำให้ประวัติศาสตร์กลับมามีชีวิตอีกครั้งในสไตล์ “เพลินวาน” ภายใต้แนวคิด ไทยกิน ไทยดื่ม ไทยเที่ยว ไทยใช้ ไทยทำ ไทยยั่งยืน และเท่อย่างไทยกับ “เพลินวานพาณิชย์” ที่จะเน้นการแต่งในรูปแบบร้านที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวในแบบของไทยสไตล์ยุโรปเป็นหลัก เนื่องจากในช่วงนั้นทางสยามได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมจากการเจริญสัมพันธไมตรีทางการค้าและการพัฒนาประเทศในด้านอุตสาหกรรม ให้ทันสมัยทัดเทียมกับทางชาติยุโรป รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่นำเข้ามาในประเทศไทยจึงมีการผสมวัฒนธรรมของไทย ออกมาเป็นสไตล์ “ฝรั่งแบบสยาม” โดยจะเริ่มนำร่องใน 5 ตอน 5 สไตล์ และพร้อมเปิดให้บริการแล้ว 2 ตอน ดังนี้
สำหรับตอนแรกคือ เพลินวานพาณิชย์ ตอน เรด ครอส ทีรูม ซึ่งตั้งอยู่บนถนนทองหล่อ 13 โดยได้แนวคิดมาจากการที่ชาวพระนครได้ยลโฉมร้านกาแฟครั้งแรกในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ในนาม เรด ครอส ทีรูม ซึ่งบรรดาชนชั้นสูง เจ้าขุนมูลนาย ข้าราชการ นักเรียนนอก และชาวต่างชาติได้เข้ามาตั้งวงเสวนาสังสรรค์ จึงเป็นที่มาของเพลินวานพาณิชย์ ตอน เรด ครอส ทีรูม
ส่วนตอนที่ 2 เพลินวานพาณิชย์ ตอน ชุมชนบางรอด ตั้งอยู่บริเวณชั้น 3 ของสยามสแควร์วัน ที่ถูกถ่ายทอดมาจากเรื่องราวของชุมชนในยุคที่ทหาร GI เข้ามาตั้งฐานทัพในเมืองสยาม ชุมชนริมรั้วลวดหนามจึงคึกคัก คลาคล่ำไปด้วยนายทหารอเมริกัน ผู้ค้าแรงงาน และพ่อค้าแม่ค้า เป็นชุมชนที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของเชื้อชาติและวัฒนธรรม โดยตกแต่งให้มีสีสันของร้านรวงต่างๆ ที่พร้อมให้บริการอยู่ในชุมชนแห่งนี้ อาทิ ร้านตัดผม Smile Club Thailand ของ โทนี่ รากแก่น ร้านไอติมปากหวานของน้ำหวาน ซาซ่า ร้านน้ำพริกรสเด็ดของ กุ้ง กลมกิ๊ก และยังมีร้านอีกหลากหลาย ได้แก่ ร้านเตี๋ยวหน้าคลัง ก๋วยเตี๋ยวเรือ ขนมจีนเจ๊าะแจ๊ะ ขนมหวาน สิบล้อรอรัก และบาร์เครื่องดื่มของตรอกบางยี่ขัน
สำหรับอีก 3 ตอนสุดท้ายที่จะเปิดให้บริการในอนาคตได้แก่ เพลินวานพาณิชย์ ตอน ไปรษณียาคาร ณ บีไฮฟ์ เมืองทองธานี ที่นำเอาเสน่ห์ของการสื่อสารผ่านจดหมาย ในยุคเริ่มกิจการไปรษณีย์เมื่อ พ.ศ. 2423 กับที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกในสยาม หรือที่ชาวบ้านในยุคนั้นเรียกว่า “ไปรษณียาคาร” ดังนั้นจึงจัดทำพื้นที่กว่า 130 ตารางเมตร ให้เป็นเสมือนที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของสยามโดยแท้
เพลินวานพาณิชย์ ตอน Siam Soo ณ เพลินนารี่ มอลล์ วัชรพล ที่ย้อนรำลึกความทรงจำจากของเล่นวันวานอย่างตุ๊กตาไม้จำลองความงามของนางรำชาวสยามมาถ่ายทอด นั่งรถไฟไปรับลมทะเลที่หัวหิน กับ เพลินวานพาณิชย์ ตอน สถานีเพลินวาน ณ หัวหิน ที่มาจากเรื่องราวการขยายเส้นทางรถไฟจากพระนครสู่หัวเมืองใต้จนทำให้ชาวสยามได้ค้นพบเมืองชายทะเลที่สงบและสวยงาม จนกลายมาเป็นสถานที่พักตากอากาศที่ได้รับความนิยมมาจวบจนถึงปัจจุบัน
เพลินวานพาณิชย์ ตอน มหาวิทยาลัยแห่งแรก ณ ไอแอมปาร์ค สามย่าน ที่จะมาต่อยอดการเรียนรู้ผ่านอดีตกับมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยและเชื่อมโยงกับปัจจุบันด้วยแนวคิดและการนำเสนอที่ไม่เหมือนใคร
นางสาวภัทรา กล่าวต่อว่า “ถึงแม้แต่ละตอนจะมีเรื่องราว แนวคิด ที่มา และบรรยากาศที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันและเป็นหัวใจหลักในทุกๆ ตอนของ เพลินวานพาณิชย์ ก็คือ การเป็นร้านกาแฟที่มีความพิถีพิถันในการคัดสรรเมล็ดพันธุ์กาแฟคุณภาพดีที่ปลูกภายในประเทศไทย มาผ่านกรรมวิธีอย่างประณีตจนได้กาแฟสูตรพิเศษเฉพาะของเพลินวาน นอกจากนั้นเมนูคาวหวานของร้านก็มีรสชาติสูตรเฉพาะและความพิเศษไม่มีเหมือนใคร ไม่ว่าจะเป็น ข้าวหน้าไก่ ไข่กระทะ ขนมครก แคสเปอร์ เบอร์เกอร์ ขนมปังตอร์ปิโด ก๋วยเตี๋ยวเนื้อริบอาย ก๋วยเตี๋ยวหมูดำคุโรบุตะ ไอติมปากหวานลงแขก กับอีกหลากหลายเมนูที่คัดสรรทั้งวัตถุดิบคุณภาพคงรสชาติความมีเสน่ห์แบบไทยที่ทุกคนมาแล้วจะต้องติดใจ” ภัทรากล่าวในตอนท้าย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com