xs
xsm
sm
md
lg

Fast น่าน!!!...เร็ว งาม เชียร์สนั่น มันกระจาย กับประเพณี “แข่งเรือเมืองน่าน”/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com) เฟซบุ๊ก Travel-Unlimited-เที่ยวถึงไหนถึงกัน
ขบวนเรือที่มาร่วมกันในวันงานพิธีเปิด
     “...พายจ้ำพาย พายจนน้ำแตก      หัวเรือแหวก ไปโลดสุดแรง
เร่งเรือไทย ไม่ให้ใครแซง                 โถมสุดแรง เพื่อแม่ย่านาง
เอ้า...เชียร์กันหน่อยเนาะเชียร์กันหน่อย
เอ้า...เชียร์กันหน่อยเนาะเชียร์กันหน่อย...”
(เพลงแม่ย่านาง : วงซูซู)

นอกจากเพลง “บุญแข่งเรือ” ของ “วงกระท้อน” แล้ว เพลง “แม่ย่านาง” ของ “วงซูซู” ก็เป็นอีกหนึ่งเพลงที่นำเสนอบรรยากาศการแข่งเรือในบ้านเราออกมาได้เป็นอย่างดี และทั้ง 2 เพลงต่างก็เป็นเพลงประจำงานแข่งเรือที่เปิดกันกระหึ่ม

ไม่เว้นแม้แต่เมืองสงบงามอย่าง “น่าน” ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่ง Slow Travel อันเนิบช้าแสนชิลล์ แต่ในช่วงงานบุญแข่งเรือทั้งงานย่อย-งานใหญ่ ไล่ไปตั้งแต่ระดับชุมชน อำเภอ ถึงจังหวัด จุดที่ทำการแข่งเรือจะเปลี่ยนจากสงบเป็นคึกคัก เชียร์กันสนั่น มันกันกระจาย ซึ่งชาวน่านปฏิบัติเป็นวิถีสืบต่อกันมาช้านานจนงานแข่งเรือเมืองน่านขึ้นชื่อติดในอันดับต้นๆของเมืองไทย พร้อมถูกยกให้เป็นหนึ่งในคำขวัญจังหวัด ดังความว่า

“แข่งเรือลือเลื่อง เมืองงาช้างดำ จิตรกรรมวัดภูมินทร์ แดนดินส้มสีทอง เรืองรองพระธาตุแช่แห้ง”
แข่งเรือลือเลื่อง ประเพณีอันโดดเด่นของ จ.น่าน
แข่งเรือหัวพญานาค หนึ่งเดียวในไทย

งานแข่งเรือเมืองน่านนอกจากจะเป็นงานประเพณีที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานรื่นเริงและความรักสามัคคีของคนในชุมชนแล้ว ยังเป็นงานประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่ช้านาน โดยในอดีตนิยมแข่งกันในประเพณีออกพรรษา ตานก๋วยสลาก(งานบุญสลากภัต) ส่วนปัจจุบันก็ยังยึดถือในช่วงนั้นอยู่เพราะมีปริมาณน้ำที่เหมาะสม แต่ในบางพื้นที่อาจปรับเปลี่ยนให้ตรงกับวันหยุดสุดสัปดาห์เพื่อหันมาเน้นในเรื่องของการท่องเที่ยว

ตามประวัติไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่างานแข่งเรือเมืองน่านเริ่มขึ้นเมื่อใด แต่ระบุว่ามีมานับร้อยปีแล้ว โดยหลักฐานสำคัญก็คือซากเรือแข่งเก่าแก่ที่ขุดพบ ซึ่งบางลำมีอายุร่วม 200 ปี พร้อมกับมีตำนานเล่าถึงการสร้างเรือต้นแบบของเมืองน่านว่า เรือท้ายหล้า-ตาตอง โดยท้ายหล้าหมายถึง เรือที่ท้ายเรือยังทำไม่เสร็จ ส่วนตาตอง หมายถึงเรือที่มีตาทำด้วยทองเหลือง หรือ อีกนัยหนึ่งคือเรือที่มีตาของไม้
เรือแข่งขุนน่านที่นำมาจัดแสดงไว้บนฝั่งริมน้ำน่าน
ส่วนที่มีหลักฐานอ้างอิงถึงการแข่งเรือน่านนั้นก็คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460 สมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เป็นเจ้าผู้ครองนครเมืองน่านได้มีการจัดแข่งเรือให้กรมสมเด็จเจ้าฟ้าพระนครสวรรค์วรพินิจฯทอดพระเนตร เมื่อคราวเสด็จตรวจราชการเมืองน่าน โดยมีเจ้ามหาพรหมสุรธาดาเจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายที่สมัยนั้นยังดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอุปราช ได้ลงไปฟ้อนในเรือลำที่ชนะเลิศร่วมกับเจ้านายฝ่ายเหนือด้วย

นอกจากนี้งานแข่งเรือเมืองน่านยังมีเอกลักษณ์ที่สำคัญนั่นก็คือ เรือยาวที่ใช้แข่งนั้น เป็น “เรือหัวพญานาค” หรือ “เรือหัวนาค” ที่มีหนึ่งเดียวในเมืองไทยเฉพาะในจังหวัดน่านเท่านั้น
เรือหัวพญานาคอันสวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของเมืองน่าน
เรือหัวพญานาค สะท้อนให้เห็นถึงวิถีของชาวน่านในอดีตที่มีความนับถือใน “พญานาค” ซึ่งเชื่อว่าพญานาคเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา ดังที่ปรากฏตามวัดวาอาราม โดยเฉพาะที่พญานาคที่วัดภูมินทร์และวัดพระธาตุแช่แห้งนั้น ได้ชื่องดงาม ทรงพลัง อีกทั้งยังดูมีชีวิตชีวายิ่งนัก

เรือหัวพญานาค เป็นเรือแบบโบราณไม่มีกง ตัวเรือขุดจากไม้ซุงท่อนเดียวตลอดลำเรือเป็นรูปร่างเพรียว นิยมใช้ไม้ตะเคียนหรือไม้ตะเคียนทองทั้งต้น เพราะเชื่อว่าทนทานและมีผีนางไม้แรง(นางตะเคียน)คอยดูแลรักษาเรือ ส่วนข้างลำเรือ จะมีการทาสีวาดลวดลายอย่างสวยงาม
ส่วนหัวเรือและหางเรือ
นอกจากนี้ก็ยังมีส่วนประกอบอื่นๆโดยส่วนที่เด่นประกอบหลักที่เด่นๆก็ได้แก่ โขนเรือ โงนท้าย “หางเรือ”หรือ“หางวัลย์”ที่ทำคล้ายหางพญานาค และส่วน“หัวเรือ” ที่แกะสลักเป็นรูปพญานาคชูคอ อ้าปาก อวดเขี้ยวโง้ง ดูงามสง่ายิ่งนัก นับเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นหนึ่งเดียวในเมืองไทย ที่ชาวน่านล้วนต่างภาคภูมิใจ

เป็นวิถีวัฒนธรรมแห่งลำเรือที่ไม่ได้ปรากฏในลำน้ำน่านเท่านั้น หากแต่ยังปรากฏให้เห็นในบริบทอื่นๆอีกเช่น ภาพจิตรกรรม ภาพวาดที่กำแพง(ด้านนอก)ของโรงเรียนนันทบุรีวิทยา หรือถูกนำไปเป็นหัวเสาประดับของป้ายบอกซอย หัวเสาไฟฟ้า ที่บ่งบอกอัตลักษณ์ความเป็นเมืองน่านอย่างเด่นชัดได้อีกทางหนึ่ง
เสาไฟหัวเรือหัวพญานาคที่ประดับอยู่ในตัวเมืองน่าน
อย่างไรก็ดีด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จึงทำให้ช่วงหนึ่งการแข่งเรือที่เป็นงานประเพณีอันดีงาม การเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างชุมชน กลายเป็นการแข่งขันเอาแพ้เอาชนะ เพราะมีเดิมพันสูง หัวเรือก็ได้ปรับเปลี่ยนให้เล็กลง เพรียวลง เพื่อการแข่งขันเป็นสำคัญ ซึ่งนี่สอดรับกับข้อความที่ปรากฏใน www.nanlongboat.com ที่ข้อความบางส่วนอ้างอิงมาจาก หนังสือแข่งเรือปลอดเหล้าจังหวัดน่าน ปี 2554 ความว่า
ขบวนเรือในพิธีเปิดงาน
...ความยิ่งใหญ่ ของการแข่งเรือของชาวจังหวัดน่านไม่เพียงเพราะคุณค่าของประเพณีที่ได้ร่วมสืบสานผ่านกาลเวลามาจนถึงปัจจุบันแต่ยังได้ประกาศความยิ่งใหญ่ในหลายๆประการ ไม่ว่าจะเป็นการมีจำนวนเรือแข่งที่มากที่สุด เรือเก่าแก่และสวยงามโดยมีหัวเรือเป็นพญานาคทุกลำ เป็นประเพณีแข่งเรือชิงถ้วยพระราชทานมากที่สุดในประเทศไทย...

"ช่วงเวลานับร้อยกว่าปีที่มีการแข่งเรือเมืองน่านสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันผ่านการเปลี่ยนแปลงมาเป็นระยะๆแต่การเปลี่ยนแปลงที่ทำลายคุณค่าเรือแข่งมากที่สุดคือกระแสการแข่งขันเพื่อชัยชนะและการพนัน....ห้วงเวลาที่ผันแปรได้กัดเซาะคุณค่าความหมายของเรือแข่งไปเป็นเพียงการค้าพาณิชย์......จนน่าใจหายว่าคุณค่าที่ดีงามที่สืบทอดกันมานั้นจะสืบทอดกันต่อไปได้หรือไม่หรือจะเหลือเพียงแต่ แข่งขัน เพื่อชัยชนะด้วยวิธีใดก็ตาม...
ประชันฝีพายสุดกำลัง
และนั่นจึงทำให้หลายคนอดวิตกเป็นห่วงไม่ได้ว่าประเพณีแข่งเรือน่านที่ดีงามกำลังแปรเปลี่ยนเพี้ยนไป ด้วยเหตุนี้หลายหน่วยงานจึงร่วมณรงค์กันอย่างเข้มแข็งในช่วง 5-6 ปีหลังมานี้ ทั้งการแข่งขันเรือปลอดเหล้าปลอดการพนัน ซึ่ง ณ วันนี้ถือว่าได้ผลอยู่ในระดับหนึ่ง

แข่งเรือหัวพญานาค สุดมันที่ลำน้ำน่าน

ปีนี้

เมื่อวันที่ 24-26 ต.ค.ที่ผ่านมา ณ ลำน้ำน่าน กลางเมืองน่าน บริเวณสนามแข่งเรือน่าน(ริมสะพานพัฒนาภาคเหนือ) ได้มีการจัดงาน “ประเพณีแข่งเรือจังหวัดน่าน ชิงถ้วยพระราชทาน ปลอดเห้า-เบียร์ ประจำปี 2557” ขึ้นอีกครั้ง เป็นการจัดแข่งในนัดปิดสนาม ซึ่งนี่เป็นอีกปีหนึ่งที่ผมมีโอกาสได้ไปร่วมชมร่วมเชียร์มาด้วย
แม้ร้อนก็บยั่น จะขอเชียร์เรือของชุมชนตน
การแข่งเรือน่านปีนี้เป็นอีกหนึ่งปีที่จัดใหญ่ ทั้งนี้เพื่อประชาสัมพันธ์ เมืองน่านในฐานะที่ถูกรับเลือกจากทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ให้เป็น "1 ใน 12 เมืองต้องห้าม...พลาด" ที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ต.ค. นี้
ฝีพายเวียดนามมาร่วมแข่งด้วย(แต่ใช้เรือเมืองน่าน)
ส่วนอีกหนึ่งนั้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับเออีซีที่จะมาถึงในปี พ.ศ. 2558 นี้ นั่นจึงทำให้ปีนี้มีการจัดแข่งเรือ 3 แผ่นดิน ไทย-ลาว-เวียดนาม ภายใต้แนวคิด “วัฒนธรรม 5 สายน้ำ 3 ประเทศ คาน-ฮุ่ง-หิน-ดา-น่าน” ซึ่งมี นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มาเป็นประธานเปิดงาน(อย่างเป็นทางการ)ในเช้าวันที่ 25 ต.ค. โดยมี ททท. เป็นผู้สนับสนุนโครงการอีกแรง
ประชันฝีพายผ่านโค้งน้ำน่านยามเย็น
สำหรับงานทั้ง 3 วันนั้น เต็มไปด้วยความสนุกคึกคัก ตามริมน้ำน่านจะมีการจอดเรือที่ใช้แข่งอยู่เรียงราย เมื่อถึงเวลาต้องแข่งจึงจะพายไปยังจุดสตาร์ท โดยเรือพวกนี้เป็นเรือที่ถอดหัวได้ ส่วนเรือที่จอดโชว์อย่าง “เรือพญาฆึ” แห่งวัดศรีพันต้น ที่ได้ชื่อว่าเป็นเรือยาวที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทยนั้นก็ส่วนงามอลังการ หรือเรือขุนน่านที่จอดโชว์ไว้ในร่มเงาของอาคารริมฝั่งน้ำ นอกจากนี้ก็ยังมีเรือยาวที่ใช้แข่ง ที่บางลำก็ถอดหัวออก บางลำใส่หัวไว้ให้ถ่ายรูปกันอย่างเพลิดเพลิน
เรือพญาฆึ วัดศรีพันต้น
ในส่วนของการแข่งขันนั้น มี 2 ประเภทหลักๆ คือ ประเภท“ขบวนเรือสวยงาม” ที่ไม่ใช่การแข่งความเร็ว แต่การประกวดเรือสวยงามที่ประดับประดาไปด้วยดอกไม้ สิ่งตกแต่งต่างๆ ที่ส่วนใหญ่นิยมจำลองสัญลักษณ์เมืองน่านอย่าง งาช้างดำ วัดภูมินทร์ ภาพปู่ม่าน-ย่าม่าน(วัดภูมินทร์) พระธาตุแช่แห้งมาประดับในขบวนเรือ ขณะที่เรือบางลำก็ดูล้ำเหลือหลายมีการทำเป็นพญานาคพ่นน้ำ แถมด้วยการปล่อยฟองสบู่ดูแล้วฟรุ้งฟริ้งในภาษาของวันรุ่นกันเลยทีเดียว

และอีกหนึ่งส่วนที่ถือเป็นสีสันความงามอันโดดเด่นในขบวนเรือสวยงามสำหรับผมก็คือ เหล่าสาวงามที่มาร่ายรำหรือร่วมในขบวนเรือ ซึ่งสาวน่านเหล่านี้บอกได้เลยว่า งามขนาด
เรือสวยงามที่เข้าประกวด
มาดูการแข่งขันเรือประเภทที่สองกันบ้างนั่นก็คือ การแข่งเรือประชันความเร็ว ชิงถ้วยพระราชทาน ที่แบ่งเป็น เรือใหญ่ เรือกลาง เรือเล็ก และเรือเร็วเอกลักษณ์ โดยแต่ละประเภทก็มีจำนวนฝีพายแตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ก็ยังมีการประกวดกองเชียร์ด้วย ซึ่งเรือของแต่ละชุมชนต่างก็มีชาวชุมชนของตัวเองมาร่วมเชียร์อย่างสนุกสนานคึกคักครึกครื้น ร้องรำทำเพลงกันอย่างสุดมัน บางหมู่บ้านยกวงดนตรีมาร้องเพลงสดๆกันเลยทีเดียว
ประชันสุดฝีมือ
ส่วนอีกหนึ่งความมันคู่ประเพณีแข่งเรือก็คือ “นักพากย์” ที่แต่ละคนพากกันอย่างสุดมันสุดติ่งกระดิ่งแมว ไม่เว้นแม้แต่แม่หญิงนักพากย์ที่เห็นประกาศประชาสัมพันธ์อยู่ดีๆ แต่พอเรือแข่งเท่านั้นแหละเธอเปลี่ยนเป็นคนละคนเลย ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งสีสันของการแข่งเรือที่ถ้าขาดไปเสน่ห์จะลดน้อยถอยลงไปมากโข

ใครที่เคยได้ยินมาว่าวิถีชาวน่านนั้นเนิบๆ ต่อนหย่อน แต่ถ้าได้มาเห็นการแข่งเรือการจ้วงพายของเหล่าฝีพาย นี่มันคือ Fast น่าน ชัดๆ
เรือลำสีเหลืองเริ่มแซง
อย่างไรก็ดี เท่าที่ผมสอบถามพูดคุยกับชาวบ้าน กองเชียร์ หรือแม้แต่กระทั่งฝีพาย ส่วนใหญ่พูดไปในทางเดียวกันว่า พวกเขาที่มาดูแข่งเรือ มาเชียร์เรือ(ของชุมชนตัวเอง) มาเป็นฝีพายแข่งเรือ ไม่ได้เน้นที่ผลแพ้-ชนะ(แต่ถ้าชนะก็ยินดี) หากแต่เน้นการได้ร่วมประเพณี ความสนุกสนานรื่นเริง การรวมมือกันของชุมชน และพบปะเพื่อนต่างชุมชน

“ผลแพ้-ชนะ เราไม่เน้น แต่เราเน้นสามัคคีในชุมชน เน้นสืบสานงานประประเพณี” นายท้ายเรือของชุมชนหนึ่งบอกกับผม
ลีลานายท้ายเรือพญามึ
ครับและนั่นก็คือบางส่วนบางตอนของประเพณีแข่งเรือเมืองน่าน กับการแข่งเรือหัวพญานาคอันเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในเมืองไทย ที่ตอนนี้ผลการแข่งขันนัดปิดสนามได้ประกาศไปเป็นที่เรียบร้อยว่าเรือชุมชนไหน หมู่บ้านไหนสามารถคว้าแชมป์ไปครอง แต่นั่นดูจะไม่ใช่ประเด็นหลักสำหรับผม

เพราะสำหรับผมแล้วประเพณีแข่งเรือเมืองน่าน คือวิถี คือภูมิปัญญา คือมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดตามต่อกันมานับแต่บรรพบุรุษ

ขณะที่เรือหัวพญานาคนั้นก็ไม่ใช่เรือแข่งธรรมดา แต่นี่คือ “นาวาศิลป์” อันงดงาม ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และมีรากเหง้าทางวัฒนธรรมอย่างเต็มเปี่ยม
บึ้ด จ้ำ บึ้ด
*****************************************
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น