xs
xsm
sm
md
lg

กระบี่ที่แตกต่าง...“เกาะกลาง” เอกลักษณ์ชุมชนบนวิถีพอเพียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แปลงนาปลูกข้าวสังข์หยด
หลายคนอาจจะคิดว่าการไปเที่ยวที่ “กระบี่” มีเพียงแค่ทะเล ภูเขา มีกิจกรรมคือการเล่นน้ำ ดำน้ำ นอนอาบแดด แต่ที่จริงแล้ว จ.กระบี่ ยังมีการท่องเที่ยวอีกหลากหลายรูปแบบที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัส โดยเฉพาะการท่องเที่ยวชุมชน ที่มีความโดดเด่นอย่างมากบนพื้นที่ “ชุมชนเกาะกลาง”

เนื่องจากในปีหน้า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้วางแผนการตลาดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนในกลุ่มตลาดคนไทย โดยมีการเน้นการพัฒนาตัวสินค้าเพื่อให้ชุมชนได้นำเสนอเรื่องราวอัตลักษณ์เด่นของชุมชนต่างๆ ดังนี้ ชุมชนวัฒนธรรมลาวครั่งกุดจอก จ.ชัยนาท, กลุ่มหมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี จ.สมุทรสงคราม, ชุมชนบ้านบางพลับ จ.สมุทรสงคราม, กลุ่มการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ต.ห้วยแร้ง จ.ตราด, อบต.บ้านแซว (ชุมชนท่าขันทอง) จ.เชียงราย, กลุ่มอาชีพทอผ้าบ้านนาต้นจั่น จ.สุโขทัย, กลุ่มผลิตเรือหัวโทง (ชุมชนบ้านเกาะกลาง) จ.กระบี่, ชุมชนวิถีพุทธคลองแดน จ.สงขลา, ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว จ.ตราด และ ชุมชนบ้านเชียง จ.อุดรธานี
ข้าวสังข์หยดหุงสุกร้อนๆ หอมกรุ่น
สำหรับ “ชุมชนเกาะกลาง” จ.กระบี่ เป็นหนึ่งในชุมชนที่ได้รับการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน นั้นก็เนื่องจากความมีเอกลักษณ์ของวิถีชาวบ้านซึ่งคนบนเกาะส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และยังมีวิถีชีวิตของชาวประมงอยู่ด้วย ความน่าสนใจจึงอยู่ที่การเข้าไปเรียนรู้และสัมผัสวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและพอเพียงของคนในชุมชน

นางวิยะดา ศรีรางกูล ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกระบี่ กล่าวว่า “การท่องเที่ยวที่ชุมชนเกาะกลางเป็นอีกมิติหนึ่งที่น่ามาเรียนรู้น่ามาค้นหา อยากจะให้นักท่องเที่ยวทั่วไปไม่ใช่มองว่ากระบี่มีแต่ทะเล กระบี่ยังมีความหลากหลายอีกโดยเฉพาะในเรื่องของวิถีชุมชน ซึ่งค่อนข้างมีความโดดเด่นเรื่องการนับถือศาสนา ส่วนใหญ่จะเป็นชาวมุสลิม และส่วนใหญ่ที่วิถียังคงดั้งเดิมอยู่ก็คือมุสลิม แล้วก็ชาวเล ยังมีความหลากหลายอยู่และคนทั่วไปไม่ค่อยรู้ แต่คิดว่า ถ้านักท่องเที่ยวได้ลงมาสัมผัสแล้วจะมีความสุข จะรู้ว่าความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายก็ทำให้มีความสุขได้”
เรือหัวโทง ปัจจุบันนำมาใช้บริการนักท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวที่ชุมชนเกาะกลาง เริ่มต้นตั้งแต่มาขึ้นเรือหัวโทงบริเวณท่าเรือเจ้าฟ้า อ.เมือง จ.กระบี่ เพื่อข้ามไปขึ้นฝั่งที่ท่าหินบนเกาะกลาง (ใช้เวลาประมาณ 15 นาที) เมื่อถึงบนเกาะกลางแล้ว นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการรถสามล้อพ่วงในการท่องเที่ยวบนเกาะได้ (มีป้ายค่าบริการติดไว้บริเวณท่าเรือ หรือสามารถเหมาได้ทั้งวัน) หรืออีกทางเลือกหนึ่งคือการเช่าจักรยานขี่เที่ยวรอบเกาะ (ระยะทางรอบเกาะประมาณ 11 กิโลเมตร)

จุดแรกที่ลงไปเรียนรู้กันก็คือ “กลุ่มชาวนาข้าวสังข์หยด” ซึ่งชาวบ้านมีการรวมกลุ่มกันปลูกข้าวพันธุ์ดีที่ทางเกษตรอำเภอฯ ได้นำพันธุ์ข้าวสังข์หยดมาจาก จ.พัทลุง เมื่อนำมาปลูกที่นี่จะมีความพิเศษมากขึ้น เพราะเมื่อหุงแล้วและนุ่มและรสชาติดีกว่าข้าวสังข์หยดที่ปลูกจากที่อื่น ด้วยเหตุผลที่ว่าดินที่เกาะกลางนั้นมีความเค็มของน้ำทะเลผสมอยู่

ข้าวสังข์หยดของชาวเกาะกลาง เป็นข้าวนาปีที่ปลูกกันปีละครั้ง มีคุณค่าทางอาหารสูง และยังเป็นข้าวอินทรีย์ที่มีคุณภาพ ตั้งแต่กระบวนการปลูก การเก็บเกี่ยว และการสีข้าว ก็ทำกันบนเกาะ ด้วยมือของชาวบ้านเอง ข้าวสังข์หยดที่ปลูกที่นี่จึงมีจำนวนจำกัด เพราะชาวบ้านปลูกไว้กินเอง มีขายบ้างก็เฉพาะบนเกาะ แต่ก็จะมีให้ชิมเฉพาะช่วงเดียวในแต่ละปีเท่านั้น ฉะนั้น ใครที่อยากลองชิมข้าวสังข์หยดของเกาะกลางจะต้องเดินทางมาให้ถูกช่วง
เรือหัวโทงจำลอง
จากกลุ่มข้าวสังข์หยด ขึ้นรถสามล้อพ่วงมาต่อกันที่ “กลุ่มเรือหัวโทงจำลอง” ซึ่งที่นี่ได้ทำการจำลองเรือหัวโทงจนกลายเป็นสินค้าโอทอปที่มีชื่อเสียงของ จ.กระบี่

สมัยก่อนนั้น เรือหัวโทงเป็นพาหนะสำคัญในการออกเรือหาปลาของชาวประมง เรือหัวโมงดั้งเดิมมีขนาดตั้งแต่ 7-10 เมตร หัวเรือจะงอนสูงขึ้นเพื่อสู้กับคลื่นลมแรงในทะเล และด้วยภูมิปัญญาของช่างต่อเรือจึงออกแบบหัวเรือให้แอ่นงอนเชิดสูงเพื่อแหวกคลื่นได้ดีและน้ำทะเลไม่ทะลักเข้าเรือ อีกทั้งยังใช้เป็นอุปกรณ์บอกทิศทางสำหรับคนขับเรือพุ่งตรงไปยังเป้าหมายได้ดี
ขั้นตอนการผลิตผ้าปาเต๊ะ
เมื่อยุคสมัยผ่านไป เรือหัวโทงก็ยังคงมีความสำคัญกับชาวประมงอยู่ และยังเพิ่มประโยชน์ใช้สอยในการนำมาเป็นเรือรับ-ส่งนักท่องเที่ยวจากฝั่งมายังเกาะกลาง ฉะนั้นนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวที่เกาะกลางก็จะได้สัมผัสกับเรือหัวโทงอย่างใกล้ชิด

ส่วนเรือหัวโทงจำลอง ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อเป็นของที่ระลึก และสืบสานเรือหัวโทงให้ยังคงอยู่ต่อไป ซึ่งหากนักท่องเที่ยวเข้ามาเรียนรู้ที่นี่ ก็จะได้ทดลองประดิษฐ์ด้วยตัวเอง พร้อมซื้อเป็นของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้านไปด้วย
การสักหอย (ขุดหอย)
มาต่อที่ “กลุ่มแม่บ้านผลิตผ้าปาเต๊ะ” ที่มารวมกลุ่มกันเพื่อผลิตผ้าปาเต๊ะส่งขายเป็นการหารายได้เสริมให้กับครอบครัว หากมาที่นี่จะได้เรียนรู้ขั้นตอนการผลิตผ้าปาเต๊ะตั้งแต่เริ่มต้นจากผ้าสีขาวผืนใหญ่ นำมาปั๊มลายด้วยเทียน แล้วนำมาขึงบนเฟรม แต้มสีสันลงไปบนลวดลายให้งดงาม จากนั้นต้องทิ้งไว้ 24 ชั่วโมงให้สีแห้งดี ก่อนจะนำไปย้อมทั้งผืนแล้วผึ่งให้แห้งอีกครั้ง
หอยแครงที่จับได้จากการสักหอย
พอแดดร่มลมตกในยามเย็น ชาวประมงเกาะกลางก็จะออกไป “สักหอย (ขุดหอย)” กันบริเวณหาดแหลมสน ที่เชื่อมต่อระหว่างปากแม่น้ำกระบี่กับทะเลกระบี่ หาดทรายที่นี่อุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก ในทรายมีหอยหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น หอยหวาน หอยราก หอยแครง หอยเม็ดขนุน เป็นต้น

ขั้นตอนการสักหอย ชาวบ้านจะนำไม้แหลมกลมๆ ยาวพอมือ มาเดินแทงลงบนพื้นทราย การแทงแบบนี้ชาวบ้านเขาเรียกว่า “สักหอย” ซึ่งชาวบ้านแต่ละคนก็จะมีวิธีสังเกตและวิธีหาที่แตกต่างกัน ทำให้สามารถจับหอยได้หลากหลายชนิด และนักท่องเที่ยวเองก็สามารถร่วมสักหอยไปกับชาวบ้านได้ นอกจากจะได้สนุกสนานกับการสักหอยแล้ว ยังได้เรียนรู้วิธีการขุด และวิธีการสังเกตหอยแต่ละชนิดจากชาวบ้านในพื้นที่อีกด้วย
เปิดอวน เตรียมจับสัตว์ที่มาติดอยู่ในโป๊ะน้ำตื้น
นอกจากการสักหอยแล้ว ชาวประมงเกาะกลางยังมีภูมิปัญญาในการทำประมงที่สืบทอดกันมาจากคนสมัยก่อน โดยเฉพาะ “การทำโป๊ะน้ำตื้น” ที่หาชมได้ยาก

การทำประมงโป๊ะน้ำตื้นนั้น (โป๊ะ หมายถึง เครื่องมือประมงที่ตั้งอยู่ปากแม่น้ำ หรือในทะเล บริเวณที่มีกระแสน้ำขึ้น น้ำลง เป็นเครื่องมือประเภทดักจับ เช่นเดียวกับลอบและโพงพาง แต่ไม่สามารถยกขึ้น-ลงได้) ประกอบไปด้วยส่วนของลูกขัง (ใช้ขังปลา กุ้ง ปู ที่มาตามกระแสน้ำ) และส่วนปีก 2 ปีก เป็นทางนำให้สัตว์เข้าสู่ลูกขัง โดยใช้ไม้ยาว 4 - 5 เมตร ปักเป็นหลัก ห่างกัน 50 - 80 เซนติเมตร ให้เป็นรูปสามเหลี่ยมเปิดออก 1 ด้าน แล้วใช้อวนขึงกับหลักไม้ให้ด้านที่เปิดออกรับทิศที่กระแสน้ำไหลลงโป๊ะ ซึ่งวิธีการทำนั้นจะทำในช่วงที่น้ำลงเต็มที่ ชาวประมงจะนำเรือเข้าไปจอดใกล้ๆ โป๊ะ (หรือหากน้ำลดลงมาก สามารถเดินไปที่โป๊ะได้เลย) แล้วใช้สวิงไล่ช้อนปลาที่เข้ามาติดในโป๊ะ ส่วนมากสัตว์ที่จับได้ก็จะมี ปลาจาระเม็ด ปลาหมึกกล้วย ปลามง ปลาสาก ปลาทราย ปูม้า กุ้งแชบ๊วย เป็นต้น
ยามเย็นที่หาดแหลมสน เกาะกลาง
นอกจากจะไปเที่ยวตามกลุ่มการเรียนรู้ต่างๆ แล้ว หากมาที่เกาะกลางแห่งนี้ สิ่งที่ไม่ควรพลาดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การนอนพักที่โฮมสเตย์ของชาวบ้าน ที่จะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวบ้านจริงๆ นอนโฮมสเตย์แบบที่เป็นธรรมชาติ ไม่ต้องปรุงแต่ง นอนพักสบายๆ ในบรรยากาศเงียบสงบ ลองลิ้มรสชาติฝีมือมะ (แม่) เจ้าของบ้าน ที่จะปรุงอาหารพื้นบ้านอร่อยๆ มาให้ลองชิมกัน (คลิก!! อ่านเรื่องของกินบนเกาะกลาง)

ในนช่วงเช้าตรู่ ภายหลังจากที่ชาวมุสลิมทำการละหมาดในยามเช้าแล้ว ก็ออกไปสัมผัสบรรยากาศร้านน้ำชา ซึ่งเป็นที่พบปะสังสรรค์กันในยามเช้าของชาวเกาะกลาง ที่ร้านมีทั้งการไปนั่งจิบน้ำชา พูดคุยเรื่องราวข่าวสารต่างๆ กินอาหารเช้าหลากหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็นข้าวหมกไก่ ข้าวยำ ขนมจีน และยังเป็นที่ชุมนุมกันของคนเลี้ยงนกกรงหัวจุก ที่จะหิ้วกรงนกมาแขวนเรียงกันไว้หน้าร้าน ก่อนจะนั่งพูดคุยกันอย่างออกรส
ที่นอนในโฮมสเตย์ของชาวบ้าน
การท่องเที่ยวชุมชนเกาะกลาง รวมไปถึงการท่องเที่ยวในชุมชนอื่นๆ ความมีเสน่ห์อยู่ตรงที่การเข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตจริงๆ ของชาวบ้านว่าเป็นอยู่อย่างไร ความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายนั้นก็มีความสุขได้โดยไม่ต้องปรุงแต่ง เป็นวิถีชีวิตอันเรียบง่ายและพอเพียงแบบที่คนเมืองหลายคนถวิลหาและอยากเข้าไปสัมผัส
ร้านค้ายามเช้า เป็นที่สังสรรค์กันในหมู่คนรักนกกรงหัวจุก
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ชุมชนเกาะกลางยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกคนที่ต้องการเรียนรู้และสัมผัสวิถีชีวิตของชาวเกาะกลาง โดยนักท่องเที่ยวควรเข้าใจและเคารพในวิถีชีวิตของชาวเกาะกลาง ดังนี้
-ไม่นำสิ่งเสพติดและของมึนเมาขึ้นมาบนเกาะ
-ไม่นำอาหารประเภทหมูขึ้นมาบนเกาะ
-ไม่นำสุนัขขึ้นมาบนเกาะ
-สุภาพสตรีควรแต่งกายสุภาพ ไม่ควรใส่สายเดี่ยวหรือกางเกงขาสั้นมากเกินไปจนเห็นต้นขา
-ไม่แสดงพฤติกรรมเชิงชู้สาวในที่สาธารณะ

ติดต่อการท่องเที่ยวบนเกาะกลาง โทร. 08-5788-4546, 08-1569-0224, 08-6072-7860 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกระบี่ โทร. 0-7561-2811-2
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น