xs
xsm
sm
md
lg

ทริปเดียวเที่ยวสองประเทศ “สังขละฯ-พญาตองซู” รอดูการกลับมาของ “สะพานมอญ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หมอกฝนปกคลุมเมืองสังขละฯ
สังขละบุรีช่วงนี้กำลังชุ่มฉ่ำไปด้วยสายฝน เป็นช่วงฤดูที่มีทั้งความฉ่ำเย็นและมีสายหมอกอันน่าหลงใหลปกคลุมเมืองอันสงบงามแห่งนี้

“ตะลอนเที่ยว” เดินทางมาอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรีในครั้งนี้ ก็เพื่อมาร่วมงานประเพณีบุญเดือนสิบ ลอยเรือสะเดาะเคราะห์ ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่อันน่าประทับใจของชาวมอญสังขละบุรีที่เพิ่งจัดเสร็จสิ้นไปเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา

นอกจากจะมาร่วมงานประเพณีแล้ว ก็ยังจะได้ท่องเที่ยวในอำเภอสังขละบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง อีกทั้งที่เดินทางมาในครั้งนี้ก็ได้มาเยี่ยมเยียนสะพานไม้มอญที่ชำรุดหักพังหลังจากน้ำป่าไหลหลากพัดเอาสวะ ท่อนซุง ตอไม้ ไปปะทะกับตอม่อสะพานจนทำให้สะพานขาด แต่หลังจากผ่านไปนานนับปีผู้รับเหมาภาคเอกชนที่ตกลงรับซ่อมสะพานก็ยังคงซ่อมแซมไม่เสร็จไม่สิ้น แถมไม้ที่ซ่อมแซมไปแล้วบางส่วนและไม้ที่ผู้รับเหมาทิ้งไว้นั้นเป็นไม้อายุน้อย ยังสด และทำให้แกนของไม้ไม่แข็งพอ เกรงว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของสะพานในอนาคตได้ แต่น่ายินดีที่ว่า ตอนนี้ทางจังหวัดยกเลิกสัญญากับบริษัทเอกชน และให้ทหารช่างร่วมกับชาวบ้านช่วยกันซ่อมแซมสะพานมอญเองตั้งแต่วันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา
สะพานมอญที่ชำรุดกำลังถูกซ่อมแซมโดยชาวบ้านร่วมกับทหาร
สะพานลูกบวบที่ใช้แทนสะพานมอญระหว่างซ่อมแซม
งานนี้ชาวมอญสังขละบุรีบอกว่า ก่อนปีใหม่นี้ คนที่มาสังขละบุรีจะได้เดินบนสะพานมอญที่ซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อยแล้วแน่นอน

แต่ระหว่างนี้ที่ชาวบ้านและทหารกำลังร่วมแรงร่วมใจกันซ่อมแซมสะพานไม้อยู่นี้ ผู้คนที่ต้องการข้ามไปมาระหว่างสองฝั่งแม่น้ำก็ต้องอาศัยสะพานแพลูกบวบซึ่งทำจากไม้ไผ่ที่สร้างไว้ชั่วคราว และตอนนี้สะพานลูกบวบก็เริ่มผุพังไปบ้างแล้วเช่นกัน เวลาเดินต้องคอยระวังให้ดีๆ

คนที่มาเที่ยวสังขละฯ ไม่ได้ต้องการสัมผัสแค่อากาศสดชื่นและสายหมอก หรือมาเดินเล่นชมวิวที่สะพานไม้เท่านั้น แต่วิถีชีวิตของชาวบ้าน โดยเฉพาะชาวมอญในชุมชนวัดวังก์วิเวการาม ถือเป็นเสน่ห์และแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมายังเมืองชายแดนแห่งนี้
สักการะหลวงพ่ออุตตมะที่วัดวังก์วิเวการาม
ชาวมอญนั่งพับเพียบกับพื้นรอใส่บาตรพระ
ตัวอำเภอสังขละบุรีถูกแยกออกเป็นสองฝั่ง โดยมีแม่น้ำซองกาเลียซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขื่อนเขาแหลม หรือเขื่อนวชิราลงกรณ์กั้นกลาง ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำมักถูกเรียกว่า “ฝั่งไทย” เป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการต่างๆ ร้านค้า และตลาดประจำอำเภอ ส่วนฝั่งตะวันตกมักเรียกว่า “ฝั่งมอญ” เพราะเป็นที่ตั้งของชุมชนมอญขนาดใหญ่ มีวัดวังก์วิเวการามเป็นศูนย์กลางของชุมชน และมีศูนย์รวมจิตใจอยู่ที่ “หลวงพ่ออุตตมะ” อดีตเจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการามที่เปรียบเป็นดัง “เทพเจ้าของชาวมอญ” แม้ว่าท่านจะมรณภาพไปนานหลายปีแล้วก็ตาม ซึ่งหากใครอยากกราบสักการะสังขารที่ไม่เน่าเปื่อยของท่านก็สามารถเดินทางไปยัง “วัดวังก์วิเวการาม” และไปสักการะ “เจดีย์พุทธคยา” เจดีย์สีทองที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัด ใกล้กับแม่น้ำซองกาเลียได้ด้วย

ในตอนเช้าตรู่ก่อนเจ็ดโมงเล็กน้อย “ตะลอนเที่ยว” เดินเล่นอยู่แถวๆ สะพานไม้ทางฝั่งมอญ รอเก็บภาพพระสงฆ์ออกบิณฑบาต บริเวณสะพานไม้นี้เป็นจุดที่มีนักท่องเที่ยวมารอใส่บาตรกันเป็นจำนวนมาก และพ่อค้าแม่ค้าแถวนั้นก็จัดเตรียมชุดใส่บาตรอันประกอบด้วยขันใส่ข้าว ผลไม้ น้ำดื่ม และดอกไม้ไว้ให้ซื้อหาใส่บาตรพระด้วยเช่นกัน แต่หากอยากเห็นภาพการใส่บาตรแบบชาวบ้านจริงๆ ต้องเดินลัดเลาะเข้าไปในหมู่บ้าน ก็จะได้เห็นภาพชาวมอญทั้งชายหญิงนุ่งผ้าโสร่งมีผ้าพาดไหล่ นั่งพับเพียบอยู่กับพื้น มีขันข้าววางอยู่เบื้องหน้า เมื่อพระสงฆ์เดินมาใกล้ก็จะก้มกราบที่พื้น ยกขันข้าวขึ้นจบเหนือหัว แล้วลุกขึ้นตักบาตรพระอย่างตั้งใจ เป็นภาพที่เห็นได้ไม่บ่อยนักในที่อื่นๆ
เด็กๆ พายเรือเล่นในเขื่อนเขาแหลม
โบสถ์วัดวังก์วิเวการามหลังเก่า ขณะนี้น้ำลดจนสามารถลงไปเดินชมได้
มาที่สังขละบุรีแล้วต้องไม่พลาดการนั่งเรือหรือนั่งแพไปชม “วัดเก่า” หรือวัดวังก์วิเวการามหลังเก่า ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณที่เรียกว่า “สามประสบ” ซึ่งหมายถึงจุดที่แม่น้ำ 3 สาย ไหลมารวมกัน ได้แก่ แม่น้ำซองกาเลีย แม่น้ำรันตี และแม่น้ำบีคลี่ แม่น้ำทั้งสามสายไหลรวมต่อกันไปเป็นแม่น้ำแควน้อย ที่ปัจจุบันถูกกั้นด้วยเขื่อนเขาแหลม โดยหลังจากการสร้างเขื่อนและปล่อยน้ำเข้าเขื่อนในปี 2527 ทำให้วัดเก่าจมอยู่ใต้น้ำ และหลวงพ่ออุตตมะได้ขึ้นมาสร้างวัดใหม่บนเนินเขาที่ตั้งปัจจุบัน

ในช่วงหน้าน้ำ ซากวัดเก่าจะจมอยู่ใต้น้ำราวกับเป็นเมืองบาดาล ส่วนในช่วงที่น้ำในเขื่อนแห้ง นักท่องเที่ยวก็สามารถนั่งเรือไปชมและเดินขึ้นไปสำรวจรอบๆ บริเวณวัดเก่าได้เช่นเดียวกัน ไม่น่าเชื่อว่าในเดือนกันยายนอย่างนี้แต่น้ำในเขื่อนยังคงแห้ง “ตะลอนเที่ยว” ยังสามารถเดินลงไปชมวัดเก่าได้อย่างสบายๆ โดยสิ่งที่ยังหลงเหลือให้ชมก็คือโครงของหอระฆัง และตัวโบสถ์ที่ยังมีลวดลายซุ้มประตูหน้าต่างหลงเหลือ มีร่องรอยของช่องพระประดับผนังด้านในให้เห็น นอกจากนี้ยังมีเศียรพระ มีซากเจดีย์ ซากบันไดนาค ให้เห็นกันที่รอบนอกของตัวโบสถ์
เด็กหญิงตัวน้อยเดินเล่นอยู่ในโบสถ์เก่า
โบสถ์หลังเก่าของวัดสมเด็จ
ยังมีอีกหนึ่งวัดร้างในเขื่อนที่นักท่องเที่ยวไม่ค่อยรู้จัก แต่กลับถูกใจ “ตะลอนเที่ยว” เสียมากมาย นั่นก็คือ “วัดสมเด็จหลังเก่า” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวัดที่ต้องย้ายที่ตั้งเพราะการสร้างเขื่อนเขาแหลม แม้ว่าน้ำจะท่วมไม่ถึงตัววัดก็ตามแต่ก็ต้องย้ายเพื่อความสะดวกและปลอดภัย โดยปัจจุบันได้ย้ายวัดสมเด็จไปอยู่ด้านบนริมถนนใหญ่ หากขับรถเข้าเมืองสังขละฯ จะมองเห็นพระนอนองค์ใหญ่ทางซ้ายมือก่อนที่จะเข้าสู่ตัวอำเภอสังขละบุรี นั่นแหละคือวัดสมเด็จ (ใหม่)

ส่วนวัดสมเด็จหลังเก่านี้ตั้งอยู่ทางฝั่งไทย เมื่อเรือแพจอดเทียบฝั่งจะต้องเดินเท้าขึ้นไปตามเนินอีกประมาณ 300 เมตร จึงจะถึงตัววัด สิ่งที่หลงเหลืออยู่ในบริเวณนี้คืออุโบสถหลังเล็กๆ ซึ่งเหลือเพียงผนังก่ออิฐถือปูนสี่ด้าน และพระประธานที่มีลักษณะคล้ายพระพุทธชินราช แต่ยังคงมองเห็นลวดลายปูนปั้นประดับหน้าบันและตามซุ้มประตูหน้าต่างงดงามไม่น้อย

เล่ากันว่า เมื่อย้ายวัดไปยังที่ตั้งแห่งใหม่นั้น ก็ทำพิธีอัญเชิญพระประธานในโบสถ์ไปด้วย แต่หลังจากนั้น หลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดมีนิมิตว่าองค์พระประธานอยากจะกลับมาประดิษฐานที่เดิม สุดท้ายจึงต้องอัญเชิญท่านกลับมาที่ยังวัดเก่า พระประธานที่เห็นในวัดสมเด็จเก่านี้จึงเป็นพระประธานที่อยู่คู่โบสถ์มาแต่เดิม
บรรยากาศสงบและร่มครึ้ม
พระพุทธรูปองค์เดิมยังคงอยู่ภายในโบสถ์
บรรยากาศรอบๆ โบสถ์เก่าวัดสมเด็จนี้ร่มครึ้มไปด้วยต้นไม้ เป็นป่าย่อมๆ เลยก็ว่าได้ เนื่องจากไม่ค่อยมีคนเข้ามาเท่าไรนัก ต้นไม้ต้นไทรต่างๆ จึงเลื้อยพันไปรอบโบสถ์อย่างอิสระ ให้อารมณ์วัดร้างลึกลับ แต่รู้สึกถึงความสงบนิ่งในจิตใจได้ไม่ยาก ถ้าใครนั่งเรือไปชมวัดเก่าแล้วอย่าลืมบอกให้คนขับเรือแวะพาชมวัดสมเด็จด้วย (เรือหางยาวไปชมวัดเก่า 200 บาท หากแวะวัดสมเด็จจะราคา 500 บาท) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขอให้มาชมกันเป็นหมู่คณะก็จะดีกว่า เพราะบรรยากาศชวนขนหัวลุกได้จริงๆ และไม่มีบ้านเรือนผู้คนอยู่แถวนี้ จึงควรระวังเรื่องความปลอดภัยไว้ก่อน

มาสังขละบุรีครั้งก่อนๆ “ตะลอนเที่ยว” ได้เพียงไปสัมผัสบรรยากาศชายแดนและซื้อของฝากของที่ระลึกจำพวกเครื่องประดับที่ทำจากพลอย หยก และหินสี กล้วยไม้สวยๆ และเฟอร์นิเจอร์ไม้ ที่ “ด่านเจดีย์สามองค์” แต่มาคราวนี้เป็นโอกาสดี ได้ข้ามไปเที่ยวยังฝั่งพม่าที่ “เมืองพญาตองซู” ซึ่งเป็นเมืองทางใต้ของรัฐกะเหรี่ยง ภาคตะนาวศรี ด่านจะเปิดตั้งแต่ 6 โมงเช้า-6 โมงเย็นของทุกวัน และเปิดผ่อนผันให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าออกได้เพื่อการท่องเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับ
เณรน้อยออกบิณฑบาตในตลาดพญาตองซู
แม่ค้าขายของสดสารพัดในตลาด
“ตะลอนเที่ยว” ขอแนะนำว่าถ้าใครมาเที่ยวสังขละฯ แล้วไม่ควรพลาดที่จะข้ามไปเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง และการไปเที่ยวนั้นก็ไม่ยากเลยเพราะมีบริการนำเที่ยวจากทางฝั่งไทยที่จัดทำโดย อบต.บ้านพระเจดีย์สามองค์ พาทัวร์เมืองพญาตองซูในราคาเพียงคนละ 200 บาท โดยพาไปยังสถานที่ท่องเที่ยวหลักๆ 3 แห่งด้วยกัน

สำหรับสถานที่เที่ยวแห่งแรกที่ถูกใจ “ตะลอนเที่ยว” มากก็คือที่ “ตลาดเมืองพญาตองซู” ซึ่งเป็นตลาดเช้าขนาดใหญ่ ขึ้นชื่อว่าเป็นตลาดเช้าเราก็ควรจะมาเที่ยวในช่วงเช้า ราว 8-9 โมงจะเป็นช่วงที่ตลาดกำลังคึกคักน่าเดินเที่ยวที่สุด คนที่ชอบถ่ายภาพแนววิถีชีวิตจะต้องถูกใจตลาดแห่งนี้แน่นอน เพราะมีสีสันทั้งคนซื้อและคนขาย แม่ค้าทาแป้งทานาคาหน้าผ่องร้องเรียกลูกค้าให้เข้ามาซื้อของ ลูกค้าเทินตะกร้าไว้บนหัวเดินซื้อของตัวปลิว เณรน้อยและแม่ชีเด็กน้อยเดินบิณฑบาตไปในตลาด ของที่ได้รับในบาตรมีทั้งผลไม้บ้าง แตงกวาบ้าง เทียนบ้าง ดอกไม้บ้าง รวมถึงเงินด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของคนที่นี่
นอกจากอาหารสดแห้งมากมาย ภายในตลาดยังมีการเย็บเสื้อผ้าขาย โดยเฉพาะเสื้อชั้นในของผู้ใหญ่
ชาวพม่าล้อมวงกันกินเครื่องในต้มเสียบไม้ อาหารง่ายๆ ภายในตลาด
ส่วนข้าวของในตลาดก็มีจำพวกผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ธรรมดาๆ จำพวกหมู ปลา ไก่ และไม่ธรรมดาอย่างอ้น หรือสัตว์ป่าบางชนิดที่เราไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนัก นอกจากนั้นก็ยังมีข้าวสาร ซึ่งข้าวในฝั่งพม่าจะมีลักษณะเม็ดอ้วนสั้นป้อมคล้ายข้าวญี่ปุ่น ไม่รู้เหมือนกันว่าเมื่อหุงแล้วจะมีรสชาติอย่างไรเพราะไม่มีโอกาสได้ชิม แถมยังมีร้านขายซีดีเพลงศิลปินพม่าให้เลือกซื้อกันอีกด้วย ส่วนพวกเสื้อผ้า โสร่งก็หาซื้อได้ในตลาดแห่งนี้ “ตะลอนเที่ยว” เดินซอกแซกเข้าไปเจอซอยเล็กๆ ที่ขายเสื้อผ้าเย็บเอง มีหญิงพม่ากำลังนั่งเย็บเสื้อชั้นในผู้ใหญ่อย่างขะมักเขม้น เป็นภาพวิถีชีวิตง่ายๆ สบายๆ ในตลาดที่น่าชม

เดินถ่ายรูปในตลาดจนพอใจ รถก็พาเรามาแวะที่ร้านขายของปลอดภาษีสักครู่หนึ่ง มีของขายจำพวกชานมพม่า เหล้า บุหรี่ปลอดภาษี จากนั้นก็เดินทางต่อไปที่ “วัดเสาร้อยต้น” ซึ่งอยู่ห่างจากตลาดไปไม่ไกลมากนัก วัดนี้มีความสำคัญตรงที่เป็นวัดที่หลวงพ่ออุตตมะมาสร้างไว้เมื่อ 23 ปีก่อน ที่เรียกว่าวัดเสาร้อยต้นเพราะศาลาหลังใหญ่ของวัดซึ่งมีความสูง 3 ชั้นนั้นใช้เสาไม้ขนาดใหญ่จำนวนมากถึง 150 ต้น บริเวณชั้น 2 มีพระพุทธรูปศิลปะพม่าให้สักการะกันด้วย
พระประธานในศาลาวัดเสาร้อยต้น
ศาลาขนาดใหญ่มีเสาไม้ถึง 150 ต้น
มุมยอดฮิตของนักท่องเที่ยวที่วัดเสาร้อยต้นนั้นอยู่บริเวณลานวัดอันกว้างใหญ่ ซึ่งมีรูปปูนปั้นของพระพุทธเจ้าประทับยืนบนดอกบัว ในมือถือบาตรและมีพระอรหันต์ถือบาตรเดินเรียงแถวยาวตามหลังนับได้ 128 องค์ มองดูแล้วอลังการผสมผสานกับความน่าศรัทธาไม่น้อยเลยทีเดียว

ส่วนอีกหนึ่งสถานที่ที่เราแวะไปชมก็คือ “พระเจดีย์สีทอง” ซึ่งเป็นองค์เจดีย์ชเวดากองจำลอง ประดิษฐานอยู่บนยอดเขาเตี้ยๆ ลูกหนึ่ง ซึ่งเลือกได้ว่าจะเดินขึ้นบันไดมา 225 ขั้น หรือจะให้รถขึ้นมาส่งถึงองค์เจดีย์เลยก็ได้เช่นกัน โดยนอกจากจะได้กราบสักการะพระเจดีย์และพระพุทธรูปประจำวันเกิดแล้ว ก็ยังจะได้ชมทิวทัศน์ของภูเขาน้อยใหญ่ทั้งทางฝั่งไทยและฝั่งพม่า มองเห็นเจดีย์สร้างอยู่ตามเนินเขาหลายแห่ง แสดงถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของคนพม่า นอกจากนั้นมองลงมายังเห็นรูปปูนปั้นของพระอรหันต์ยืนเรียงเป็นแถวยาวของวัดเสาร้อยต้นได้อีกด้วย

มาสังขละฯ คราวนี้ได้เที่ยวเต็มอิ่ม แถมยังประทับใจจนต้องบอกต่อ ถ้าใครมาเที่ยวคราวหน้าอย่าลืมแวะตามแหล่งท่องเที่ยวที่ “ตะลอนเที่ยว” นำเสนอมานี้ รับรองต้องประทับใจเหมือนกันแน่นอน
รูปปั้นพระสงฆ์เดินเรียงแถวบิณฑบาตยาวเหยียดที่วัดเสาร้อยต้น
สักการะเจดีย์ชเวดากองจำลองอยู่บนเขา
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สอบถามรายละเอียดการไปเที่ยวเมืองพญาตองซูได้ที่ โทร.08-7162-0358, 09-3028-3757 หรือสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และงานประเพณีที่น่าสนใจในอำเภอสังขละบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกาญจนบุรี โทร.0-3451-1200, 0-3451-2500
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น