xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยว “ท่าพระจันทร์” รับขวัญท่าเรือเปิดใหม่ หลากหลายของชอป-ของกิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ท่าเรือข้ามฟาก “ท่าพระจันทร์”
หลังจากปิดซ่อมมาเป็นเวลากว่า 2 ปี ในวันนี้ ท่าเรือข้ามฟากท่าพระจันทร์ก็ได้รับการซ่อมแซมจนเสร็จและเปิดให้บริการเรือข้ามฟากไปยังท่าวังหลัง และท่ารถไฟตามปกติ "เที่ยวตามย่าน" ในครั้งนี้จึงจะขอพามาเที่ยวที่ “ย่านท่าพระจันทร์” ย่านเล็กๆ ที่กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหลังจากที่เงียบเหงาไปนานพอสมควร อีกทั้งในละแวกใกล้เคียงของท่าพระจันทร์ก็ยังเป็นที่ตั้งของสถานที่เที่ยวและที่กินน่าสนใจมากมายอีกด้วย
บรรยากาศตกแต่งใหม่ ภายในอาคารท่าเรือข้ามฟาก “ท่าพระจันทร์”
แต่ก่อนจะไปเที่ยวนั้น ก็จะขอเล่าถึงประวัติความเป็นมาให้ได้ฟังกันก่อน บริเวณท่าเรือแห่งนี้เมื่อครั้งอดีต เคยเป็นที่ตั้งของ “ป้อมพระจันทร์” ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายๆ ป้อม ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตามแนวกำแพงพระนครด้านตะวันตก ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ใช้บริเวณพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นท้องสนามหลวง ถนนหน้าพระธาตุ ป้อมต่างๆ รอบกำแพงพระราชวังบวรสถานมงคลจึงถูกรื้อลงหมด รวมถึงป้อมพระจันทร์ด้วย โดยถนนที่ตัดตรงสู่บริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งของป้อมพระจันทร์จึงมีชื่อว่า “ถนนพระจันทร์" และท่าน้ำบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งของป้อมพระจันทร์จึงเรียกว่า “ท่าพระจันทร์”
ท่าพระจันทร์โฉมใหม่
ปัจจุบันบริเวณท่าพระจันทร์ ใช้เป็นท่าเรือข้ามฟากริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่ปลายสุดถนนพระจันทร์ ข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้บริการเรือข้ามฟากในเส้นทางท่าพระจันทร์-วังหลัง (ท่าเรือพรานนก) และท่าพระจันทร์-ท่ารถไฟ (รพ.ศิริราช) ซึ่งภายในอาคารท่าเรือนั้น ได้รับการตกแต่งใหม่หมด ภายในนอกจากเป็นท่าเรือแล้วก็ยังจัดสร้างเป็นร้านขายของต่างๆ อีกด้วย
ร้านค้ามากมาย ที่ ลานคนเมืองท่าพระจันทร์” หรือ “ตลาดท่าพระจันทร์”
เมื่อเดินออกมาจากตัวอาคารท่าเรือท่าพระจันทร์แล้วก็จะพบกับ "ลานคนเมืองท่าพระจันทร์" หรือ "ลานวัฒนธรรม" ลานกว้างบริเวณหน้าประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝั่งท่าพระจันทร์ โดยเป็นที่ตั้งของตลาดท่าพระจันทร์ ที่มีร้านขายสินค้าประเภทเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ และใกล้ๆ กันก็ยังเป็นที่ตั้งของอาคารพาณิชย์ที่มีร้านค้า ร้านหนังสือ ร้านอาหาร ให้ได้แวะซื้อแวะชมหลังจากนั่งเรือหรือกำลังจะไปนั่งเรือข้ามฟาก โดยร้านขายสินค้าจะเปิดขายกันในช่วงสายจนถึงช่วงเย็น

(คลิกติดตามเรื่องกิน “ย่านท่าพระจันทร์” ได้ที่ลิงค์นี้)
บรรยากาศภายใน “ตรอกพระจันทร์กลาง
เสน่ห์ของท่าพระจันทร์ไม่ได้มีเพียงเท่าที่เห็น ถ้าอยากสัมผัสท่าพระจันทร์ให้ใกล้ชิด ต้องเดินเข้าไปตามตรอกซอกซอยต่างๆ เช่น ใกล้ๆ กับลานคนเมืองฯ เป็นที่ตั้งของ “ตรอกพระจันทร์กลาง” ที่ภายในนั้นเป็นที่ตั้งของร้านอาหารอร่อยๆ มากมายให้ได้เลือกแวะชิม และเป็นที่รู้จักกันดีว่ามีหมอดูแม่นๆ รับดูดวงอยู่ในซอยนี้ด้วย โดยหากใครที่กำลังอยากตรวจดวงชะตาแล้วละก็ มีให้เลือกทั้งแบบไพ่ยิปซี ดูลายมือ หรือทำนายจากวันเกิด ซึ่งมีหลากหลายวิธีให้ได้เลือกสำหรับผู้ที่สนใจ
ร้านพระเครื่องภายใน “ตรอกมหาธาตุ”
ส่วนตรอกถัดมาคือ “ตรอกนคร” และ "ตรอกสนามพระ" ที่อยู่ติดๆ กัน และมีเดินทางเชื่อมถึงกันหมด ในตรอกเหล่านี้เต็มไปด้วยร้านขายพระเครื่องและพระพุทธรูป พระเครื่ององค์เล็กๆ วางเกลื่อนกลาดอยู่บนแผง เช่นเดียวกับพระพุทธรูปองค์เล็กองค์ใหญ่ที่วางเรียงไว้ สร้างบรรยากาศที่ขรึมขลังแต่ก็เต็มไปด้วยชีวิตชีวาของพ่อค้าแม่ขายและนักส่องพระที่เดินกันเต็มตรอก เช่นเดียวกับที่ “ตรอกมหาธาตุ” ที่อยู่ห่างออกมาอีกหน่อยก็เป็นศูนย์รวมพระเครื่องระดับประเทศเช่นกัน โดยภายในซอยเป็นที่ตั้งของร้านพระเครื่อง ที่ไล่เรียงตั้งแต่ร้านขนาดใหญ่ไปจนถึงแผงขนาดเล็กแบกะดิน มีหลากหลายวัตถุมงคลให้บูชา มีราคาตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักล้าน และยังมีร้านขายกรอบพระ สร้อยพระ ให้ได้ซื้อกันด้วย
พระมณฑปพระบรมสารีริกธาตุ  “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร”
ในละแวกท่าพระจันทร์แห่งนี้ ก็ยังเป็นที่ตั้งของ “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร” โดยเป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยาที่เรียกว่าวัดสลัก และต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2326 ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์พร้อมกับการก่อสร้างพระราชวังบวรสถานมงคล และได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดนิพพานาราม เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ใช้วัดนิพพานารามเป็นสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎกใน พ.ศ. 2331 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดพระศรีสรรเพชญ”

พระองค์ได้พระราชทานนามวัดใหม่อีกครั้ง ใน พ.ศ. 2346 ว่าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรมหาวิหาร ต่อมาใน พ.ศ. 2439 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดงานพระศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชโอรสขึ้นที่วัดแห่งนี้ และได้ โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการบูรณะวัดมหาธาตุและพระราชทานนามว่า “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์” ซึ่งภายในวัดนั้นเงียบสงบมีโบราณสถานต่างๆ ให้ได้ชม อีกทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ให้ผู้ที่แวะเวียนมาได้สักการะ และในทุกๆ วันพระก็จะมีการจัดกิจกรรมประติบัติธรรม ให้ได้ผู้ที่สนใจได้ร่วมกิจกรรมกันด้วย
ซากรากฐานกำแพงพระนคร ภายใน “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”
มาถึงท่าพระจันทร์แล้วต้องเข้าไปชมบรรยากาศของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์เสียหน่อย แม้ว่าจะไม่ได้เต็มไปด้วยนักศึกษาเหมือนในครั้งอดีตเพราะย้ายไปที่ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตหมดแล้ว แต่ก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจให้ชมไม่น้อย หากใครที่ต้องการจะชมแนวกำแพงพระนครเมื่อครั้งอดีต ก็สามารถเข้ามาชมได้ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริเวณศูนย์อาหารของมหาวิทยาลัย ซึ่งได้มีการจัดแสดงแนวฐานรากกำแพงพระนครไว้ให้ชมและศึกษา อีกทั้งภายในมหาวิทยาลัยก็ยังเป็นที่ตั้งของ ลาน 60 ปี ที่มีจุดเด่นตรงที่มีรูปเหมือนของ อ.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสนการ อยู่เบื้องหน้าตึกโดมยอดแหลมอันเป็นเอกลักษณ์ บริเวณนี้มีเก้าอี้ไว้สำหรับนั่งพักผ่อนพร้อมชมวิวทิวทัศน์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สามารถเห็นทัศนียภาพได้อย่างกว้างไกล
ที่นั่งและบรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยา ภายใน “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”
เที่ย่านท่าพระจันทร์แห่งนี้ ก็ยังเป็นจุดเชื่อมโยงไปยังสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นย่านวังหลัง ที่สามารถใช้บริการเรือข้ามฟากไปได้อย่างสะดวก และสถานที่ท่องเที่ยวรอบๆ สนามหลวง อาทิ วัดพระแก้ว ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร ก็เพียงแค่เดินย้อนเลียบถนนพระจันทร์ขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ไกลมาก จึงถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งย่านที่น่าสนใจในการมาท่องเที่ยว และไม่ควรมองข้าม

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ๆ ย่านท่าพระจันทร์
ย่านวังหลัง : ใช้บริการเรือข้ามฟากลงท่าวังหลัง(คลิกได้ที่ลิงก์นี้)
สถานที่ท่องเที่ยวรอบๆ “สนามหลวง” : เดินย้อนเลียบถนนพระจันทร์ขึ้นไป(คลิกได้ที่ลิงก์นี้)
พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน : ใช้บริการเรือข้ามฟากลงท่ารถไฟ(คลิกได้ที่ลิงก์นี้)

****************************************************************************************************************************************************************

การเดินทางมาย่านท่าพระจันทร์ : รถโดยสารประจำทางสาย 32, 53, 124, 203, 201, 508, 524
เรือด่วนเจ้าพระยาลงท่าวังหลังหรือท่ารถไฟ และใช้บริการเรือข้ามฟากมาลงท่าพระจันทร์

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น